โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ในเรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะทำให้มีการเริ่มต้นการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโครงการนี้อย่างเร็วที่สุด
โดยมีเนื้อหาคือ “ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจของจีนในงานออกแบบรายละเอียด งานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างและงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและสถาปนิก และให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุ”
ถ้าเราดูประเด็นมาตรา 44 ที่ออกมานั้น จะพบว่ามีความพยายามของรัฐบาลในการเร่งรัดโครงการ โดยมีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการส่งสัญญาณเป็นระยะๆ จากการเจรจากับฝ่ายจีนมาเกือบ 3 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรจากการเจรจาที่ผ่านมา ซึ่งมาตรา 44 นี้ สร้างข้อกังวลให้กับหลายภาคส่วน อย่างเช่น สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้นเป็นข้อท้วงติงที่รัฐบาลควรรับฟังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตได้
ปัญหาเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบของการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น และการใช้มาตรา 44 นี้คงเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเพียงบางส่วน แต่ปัญหาหลักที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการคือความพยายามที่จะดำเนินโครงการโดยใช้ขั้นตอนการทำงานที่ไม่เคยใช้ในไทยมาก่อน
คืออนุมัติให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการก่อนที่จะมีรายละเอียดทั้งหมดในการพิจารณา
ปกติแล้ว การพิจารณาอนุมัติให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการ โครงการต้องมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้วทั้งในเรื่องของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเงิน การออกแบบรายละเอียดส่วนใหญ่ (อาจจะไม่ทั้งหมด) และการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จึงสามารถนำรายละเอียดทั้งหมดมาประกอบการจัดสรรงบประมาณและเริ่มต้นก่อสร้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ผ่านมา เช่น การลงทุนรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการเหล่านี้มาโดยตลอด
การตัดสินใจอนุมัติโครงการโดยที่ยังไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด มีโอกาสที่จะทำให้การตัดสินใจผิดพลาด และถ้ามีปัญหาเมื่อเริ่มดำเนินโครงการทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการจัดการเดินรถในอนาคต การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจะเกิดความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหานั้นๆ มากกว่าปกติ
ในกรณีของโครงการนี้ ปัญหาที่น่าจะยังไม่ได้ข้อสรุป คือ การทับซ้อนของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างช่วง กรุงเทพฯ (บางซื่อ) ถึงอยุธยา ซึ่งจะมีทั้งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระบบของจีน (กรุงเทพ-นครราชสีมา) และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระบบญี่ปุ่น (กรุงเทพ-เชียงใหม่) ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการใช้โครงสร้างพื้นฐาน (ราง) ร่วมกันหรือไม่อย่างไร
ซึ่งประเด็นนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถ้ามีการอนุมัติให้เริ่มก่อสร้างโครงการโดยที่รายละเอียดของโครงการยังไม่แล้วเสร็จ
จากสัญญาณที่รัฐบาลส่งผ่านมาตรา 44 ในครั้งนี้ รวมถึงข้อตกลงที่ทางรัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลญี่ปุ่น หมายถึงประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงอย่างน้อย 2 ระบบ นั่นคือระบบของจีนและระบบของญี่ปุ่น โดยในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์นั้น การมีเทคโนโลยีทั้งสองระบบในประเทศจะมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงกว่าการมีระบบเดียว รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายในอนาคตจะทำได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น จนสุดท้ายอาจต้องมีการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีเดียวในอนาคต ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่ไม่ควรที่จะเสียตั้งแต่ต้น
คำถามที่ต้องการคำตอบก่อนจะมีการอนุมัติโครงการให้เริ่มมีการก่อสร้างโครงการนี้ คือ
1) ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูงจริงหรือไม่ ทั้งนี้ การจะตอบคำถามนี้จะเกี่ยวข้องกับคำถามอื่นๆ ที่จะตามมาด้วย
2) ถ้าประเทศไทยจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูง เราควรมีรถไฟความเร็วสูงถึง 2 ระบบหรือไม่ หรือจะเหมาะสมกว่าที่มีรถไฟความเร็วสูงเพียงระบบเดียว
3) มีการศึกษารายละเอียดต่างๆ พร้อมแล้วหรือไม่ ทั้งในส่วนของการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและการเงิน การออกแบบรายละเอียด และการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการอนุมัติให้เริ่มก่อสร้างโครงการก่อนที่จะมีรายละเอียดจะมีปัญหาหรือไม่
4) การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและการเงินที่ผ่านมา มีผลเป็นอย่างไร มีจำนวนคาดการณ์ผู้โดยสารอย่างไร รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการทางการเงิน และเงินอุดหนุนของภาครัฐในอนาคตสำหรับโครงการนี้
5) มีการพิจารณาความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมือง รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่มีสถานีรถไฟความเร็วสูงผ่าน โดยมีโครงการรองรับหรือไม่อย่างไร
แม้ว่ารัฐบาลจะส่งสัญญาณผ่านการใช้มาตรา 44 แต่มาตรา 44 นี้ เป็นเพียงการเร่งรัดโครงการโดยการยกเว้นกฎระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรค ไม่ได้หมายถึงการตัดสินใจดำเนินโครงการ
รัฐบาลควรพิจารณาตอบคำถามข้างต้นก่อนที่จะอนุมัติโครงการและเซ็นสัญญาว่าจ้างต่างๆ ต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงรูปแบบการลงทุนต่างๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการยิ่งขึ้น