รถไฟฟ้า เป็น 1 ในตัวเลือกของระบบขนส่งสาธารณะที่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากประหยัดเวลา ทำให้ไม่ต้องไปทนแดด ทนฝน ทนรถติดบนท้องถนน ดีใจจังที่มีรถไฟฟ้าให้เราใช้มาตั้ง 16 ปีแล้ว และตอนนี้ก็มีการก่อสร้างรถไฟฟ้ามากมาย เพื่อรองรับจำนวนคนใช้บริการที่มากขึ้น และจะทำให้ในอนาคตประเทศเราจะเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ว้าว ดีใจจังเลย แต่ระหว่างนี้ก็มาเตรียมตัวกันก่อนว่าเราจะต้องเจออะไรบ้างบนรถด่วนขบวนบนฟ้าแห่งนี้
The MATTER จะพาไปดูว่า 16 ปีมานี้ รถไฟฟ้าทำอะไรให้คนไทยอย่างเราดีใจที่ได้ใช้กันบ้าง และผู้ใช้บริการควรทำใจ เอ้ย! ปรับตัวยังไงเพื่อให้ได้รับความสะดวกอย่างไม่ต้องตะขิดตะขวงใจใดๆ
ต่อแถว แลกแบงก์เป็นเหรียญ เดินไปต่อแถวอีกรอบ หยอดเหรียญซื้อบัตร รับบัตร เสียบบัตรแล้วขึ้นขบวนไปดูพร้อมกันเลย
1. บัตร rabbit ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษ
เรื่องด่วนเรื่องร้อนคงหนีไม่พ้นเรื่องที่รถไฟฟ้าไม่ให้ใช้บัตรเครดิตเติมเงินบัตรแรบบิทเพียงอย่างเดียวแล้ว ต้องเติมเงินพร้อมเติมเที่ยวเท่านั้นถึงจะใช้ได้ เพราะทางบริษัทฯ ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทบัตรเครดิต จึงต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ที่ควรจะได้อะเนอะ เนื่องจากตัวบัตร rabbit สามารถนำไปใช้อย่างอื่น เช่นซื้ออาหาร ซื้อตั๋วหนังต่างๆ ไม่ใช่แค่ขึ้นรถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่อย่างสิงคโปร์เพื่อนบ้านที่เจริญกว่าเรา ก็สามารถใช้บัตรเครดิตในการขึ้นขนส่งสาธารณะ คล้ายกันกับที่ลอนดอน หรือซิดนีย์
โอเค บางประเทศเขาก็ไม่ให้ใช้บัตรเครดิตเติมเงิน แต่บัตรโดยสารบ้านเขาคือใช้ได้หมดทุกอย่าง อย่างเช่นพม่าเองก็มีบัตรแบบนั้น จริงๆ บัตร rabbit นี่ก็เกือบจะใช่แล้วนะ แต่ก็ยังไม่สามารถไปได้ทุกที่ แค่รถไฟฟ้ากับรถไฟใต้ดินก็ใช้ด้วยกันไม่ได้แล้ว แต่เห็นเขาว่าเดือนมิถุนายนนี้เราจะมีบัตรแมงมุมที่ใช้ด้วยกันได้ แต่จะสามารถนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้ด้วยหรือไม่อันนี้ต้องติดตาม
2. เครื่องหยอดเหรียญแสนจะทันสมัย
‘คิดยังไง?.. รถไฟฟ้า BTS เปิดตัวมา 16 ปีแล้ว จะซื้อตั๋วต้องเอาแบงก์ไปแลกเหรียญมาหยอดตู้ แถมไม่รับเหรียญ 2 บาท’ นี่เป็นหนึ่งในกระทู้ยอดฮิตที่มีคนเข้าไปตั้งคำถามเกี่ยวกับรถไฟฟ้า และตู้ที่ไม่รับแบงค์นี่เอง คือสาเหตุที่เราจะต้องไป ‘ต่อแถว’ เพื่อแลกเหรียญก่อนจึงจะมา ‘ต่อแถว’ ซื้อบัตรได้ อาจจะมีบางสถานีที่สามารถซื้อตั๋วได้เลย แต่ถ้าคุณขี้เกียจต่อแถวซ้ำๆ บางสถานีพนักงานจะขายตั๋วให้คุณได้เลย ราคา 42 บาท เพียงเท่านั้นคุณก็ไม่ต้องต่อแถวซ้ำซ้อน แหม จะไปสถานีเดียวเนอะ 15 บาท อีก 27 บาทที่จ่ายไป ถือว่าจ่ายค่าประหยัดเวลาแล้วกัน
จริงอยู่ที่บางสถานีอาจจะมีตู้ที่รับธนบัตร แต่ก็มีเพียงไม่กี่สถานีเท่านั้น ส่วนกรณีเหรียญ 2 บาท ทาง BTS ก็ยังคงไม่มีการปรับปรุงตู้หยอดเหรียญทั้งที่เหรียญ 2 บาทนั้นก็มีใช้ทั่วไปมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วนี่ปีไรนะ อ่อ 2560 ก็ยังไม่มีช่องให้หยอด นี่ไม่อยากจะนับรวมกับที่เวลาหยอดเหรียญรุ่นใหม่ๆ ลงไปแล้วไม่รับด้วยนะ ต้องให้หยอดซ้ำๆ หลายรอบ หยอดขนาดนี้ถ้าเป็นคนคงเป็นแฟนกันไปละ
3. จับจ่ายความสบายในราคาโกอินเตอร์
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ‘ใช้เงินแก้ปัญหา’ แล้วคุณคิดว่าการใช้บริการจากรถไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกสบายและเพื่อการหลีกเลี่ยงรถติดนั้น เป็นการใช้เงินแก้ปัญหารึเปล่า? คำตอบที่ออกมาก็คงมีทั้งใช่และไม่ใช่ แต่ถ้าเกิดมีคนมาบอกคุณว่าค่าบัตรโดยสาร BTS ของประเทศไทยแพงกว่าที่อื่นล่ะ แบบนี้คำตอบในคำถามแรกก็คงสั่นคลอนอย่างแน่นอน
ความจริงที่ไม่สมมุติก็คือ ค่าโดยสาร BTS ของไทยเราทั้งถูกกว่าและแพงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอย่าง สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น โดยที่จะถูกกว่าในระยะการเดินทางสั้นๆ แต่จะแพงกว่าค่อนข้างมากในระยะการเดินทางที่ไกล ซึ่งถ้าสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าเหล่าประเทศที่ยกตัวอย่างมาเนี่ย อยู่ในหมวดประเทศที่พัฒนาไปไกลกว่าเราแล้วทั้งนั้น แต่ค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะของเรากลับโกอินเตอร์ราคาสูสีกับเค้าเลยเนอะ เอาน่า ไม่เป็นไรๆ demand supply ไง แพงหน่อยแต่สบายใจก็ถือว่าคุ้มแหละ
4. มีวิศวกรซ่อมบำรุงอยู่เสมอ
ก็ไม่ปฏิเสธนะว่ารถไฟฟ้ามันทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ประหยัดเวลา แต่ถ้ามันเกิดเสียขึ้นมาล่ะก็..พังกันหมดค่ะ เข้างานสาย ไปไม่ทันเวลานัด สารพัดปัญหา เราอาจจะรู้สึกว่า ทำไมเสียบ่อยจัง ถ้านับตามสถิติปี 2556-2558 มีการขัดข้องทั้งหมด 11 ครั้ง และเมื่อปีที่แล้วคิดว่าหลายคนคงจำกันได้ ที่มีอยู่วันนึงรถไฟฟ้าใช้ไม่ได้ทั้งวัน ต้องใช้เวลาซ่อมราง 1 วันเต็มๆ ไม่นับรวมกับที่เสียยิบๆ ย่อยๆ แม้จะมีวิศวกรคอยตรวจซ่อมบำรุงกันทุกวันก็เถอะ แต่ทำเป็นเล่นไปเมื่อเช้าก็เสียนะ ทำให้รถที่ไม่ค่อยตรงเวลาอยู่แล้วมาช้าไปอีก 5 นาที อย่างว่าแหละอยู่เมืองศิวิไลซ์ก็ต้องทำใจกับเหตุสุดวิสัยแบบนี้ เฮ่อ
5. โฆษณาดี๊ดีมีทั้งภาพทั้งเสียง แถมยังมีเต็มไปหมดเลย
ไม่ว่าจะสถานที่หรือการใช้บริการใดๆ ก็ตาม หากคำต่อท้ายที่ตามมาขึ้นชื่อว่า ‘สาธารณะ’ แล้ว แสดงว่าคนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งกฎหลักๆ ในการอยู่ร่วมกันก็ไม่มีอะไรมาก ก็แค่เกรงใจส่วนรวม ไม่ทำอะไรอึกทึกโวยวายและเสียงดัง ก็หมายถึงกรุณาเห็นใจคนอื่นด้วยนั่นแหละ แต่ถ้าหากผู้ตั้งกฎให้ความสงบสุขนี้ละเมิดมันซะเองล่ะจะเป็นยังไง
ถ้าใครใช้บริการของสถานีรถไฟฟ้า BTS บ่อยๆ ก็คงเคยเห็นและได้ยิน วีดีโอโฆษณาบนสถานีและภายในขบวน รู้สึกกันบ้างมั้ยว่ามันเสียงดัง แน่นอนว่ามีคนที่รู้สึกจนถึงขนาดมีแคมเปญ “กรุณาปิดเสียงโฆษณา ภายในสถานีและรถไฟฟ้า” แคมเปญชื่อดังแคมเปญหนึ่งของ Change.org ที่ต้องการให้สถานียกเลิกการเปิดโฆษณาเสียงดัง อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ใช้บริการเอง (เริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนตอนนี้มีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึง 10,548 โดยเป้าหมายคือ 15,000 คน)
จริงๆบน BTS ก็มีปุ่มรูปกระดิ่งตรงประตู เพื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่ BTS ให้มาลด/เพิ่ม เสียงได้เวลาที่มันดังหรือเบาไป (แต่ใครจะกล้าเนอะ) ซึ่งถ้าหากจะมองหาตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหานี้ ญี่ปุ่นก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่เราจะสามารถนำความคิดของเค้าไปต่อยอดได้ ย้อนกลับไปในปี 2012 การใช้สื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าสาธารณะ NFC (Near Field Communication) คือสิ่งที่พวกเค้าหยิบมาใช้เพื่อความสะดวกของประชาชน แถมยังเป็นการเคารพสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองด้วย วิธีการคือภายในสถานีจะมีเครื่องรับ felica อยู่ที่ราวแขวน แล้วเราก็แค่นำสามาร์ตโฟนของเราไปทาบกับเจ้าสิ่งนี้ แล้วตัวโฆษณาก็จะเด้งมาที่ตัวสมาร์ตโฟนของเราเองเลย ง่ายๆ ไม่รบกวนใคร
6. อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ
บางครั้งเราก็อาจจะลืมคิดถึงหรือทำใครบางคนตกหล่นหายไป ทั้งๆ ที่เค้าก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมเหมือนกับเรา BTS ก็เช่นกัน (ตัดเข้าดื้อๆ อย่างนี้ก็ได้เหรอ)
ถึงแม้จะให้บริการความสะดวกรวดเร็วต่อเพื่อนมนุษย์มาเป็นเวลานาน แต่รถไฟฟ้าขบวนนี้อาจจะลืมใส่ใจผู้พิการหรือทุพพลภาพไปหน่อย อย่าง ‘ลิฟต์’ ที่มีไม่เพียงพอให้ใช้ ซึ่งถ้าใครยังจำได้ในอดีตไม่นานมานี้เอง กทม. เคยวาดฝันสวยหรูไว้ว่าจะเนรมิตลิฟต์ให้เกิดขึ้นใน BTS ทั้ง 23 สถานี ลงวันที่ 21 มกราคม 2558 ตัดภาพมาปัจจุบัน มีนาคม 2560 มีลิฟต์เพิ่มขึ้นมาเพียง 3 สถานีเท่านั้น แถมยังได้ข่าวว่าบางสถานีก็ไม่เปิดให้ใช้อีกต่างหากแน่ะ
7. สถานีกว้างไกล (น่าจะ) ได้ใช้ทั่วถึง
ถ้าไม่มีอะไรขัดข้องในอีก 4-5 ปี ข้างหน้า โครงการยักษ์ใหญ่อย่างรถไฟฟ้าในเมือง 10 สาย ที่เคยเป็นเพียงฝันอันแสนหวานมาอย่างยาวนานของคนเมืองกรุงและชาวปริมณฑลก็จะกลายเป็นความจริงสักที แต่ตอนนี้ หลายๆ โครงการก็เป็นฝันร้ายที่ยังเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะมันสร้างปัญหาและความลำบากให้กับชาวบ้านในละแวกนั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน’ ที่เป็นแหล่งชุมชนหนาแน่นไปด้วยร้านค้าและหมู่บ้านจัดสรร แต่ยังขาดการคมนาคมที่สะดวกจึงทำให้คนต้องใช้รถส่วนตัวกันซะเยอะ แน่นอนว่าการก่อสร้างมันย่อมส่งผลต่อการจราจรแน่ๆ ยิ่งมาเจอรถไฟฟ้าที่สร้างเท่าไหร่ๆ ก็ยังไม่เสร็จ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์นี้แย่เข้าไปอีก เหมือนกับ ‘ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ’
หรือโครงการรถไฟฟ้าสีแดง ‘สถานีหลักหก’ ที่มีปัญหาด้านการออกแบบการกั้นรั้วที่หากสร้างเสร็จก็จะส่งผลให้ชุมชนแถวนั้นตาบอดหรือไม่สามารถออกไปสู่โลกภายนอกได้เลย แต่บางสถานีที่สร้างเสร็จแล้วกลับไม่ค่อยมีคนใช้อย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงอันว้าเหว่ นี่ก็น่าสงสารนะ รออีกนิดละกันเนอะพวกเรา ทำใจลำบากวันนี้เพื่อสุขสบายกันในวันข้างหน้าไงทุกคน
อ้างอิงข้อมูลจาก