ใครเคยไปนั่งรถไฟลาว-จีนกันมาแล้วบ้าง?
ความนิยมของการท่องเที่ยวในประเทศลาวและจีน ในหมู่คนไทยเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น หลังจากพ้นช่วงเวลาที่ทั่วโลกหยุดชะงัก และมีการเปิดตัวรถไฟความเร็วปานกลางที่วิ่งจากลาวไปจีน ร่นเวลาเดินทางข้ามจังหวัดข้ามประเทศที่เดิมทีใช้เวลาหลายวันให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
แต่เจ้าขบวนรถไฟนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่การวิ่งผ่านสองประเทศเท่านั้น ยังมีการสร้างวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง (Kunming Railway Vocational and Technical College) เพื่อฝึกอบรบผู้คนที่สนใจอยากเข้าทำงานที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ ซึ่งเป็นแนวทางในการผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบแรงงานที่อาศัยความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครคุนหมิงและประเทศต่างๆ ตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง นั่นทำให้วิทยาลัยแห่งนี้มีทั้งนักศึกษาชาวจีนและชาวต่างชาติเข้าไปร่ำเรียน
คราวนี้ เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง ที่ประเทศจีน และได้พูดคุยกับนักเรียนทุนต่างชาติที่เรียนอยู่ ณ วิทยาลัยแห่งนี้ จึงอยากพาทุกคนไปร่วมกันสำรวจสถานศึกษาแห่งนี้ เพื่อดูว่า อนาคตในการพัฒนาเส้นทางรถไฟจีนกับประเทศต่างๆ รวมถึงไทยเองนั้น มีหน้าแบบไหนกัน
วิทยาลัยนี้สอนอะไร?
หลังจากรถไฟลาว-จีน เปิดบริการไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2021 และจีนกลับมาเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา กระแสการนั่งรถไฟเที่ยวลาวแล้วต่อเข้าไปยังจีนก็กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาในเหล่านักเดินทางชาวไทย … รถไฟซึ่งเป็นพาหนะหลักของการเดินทางก็กลายมาเป็นที่สนใจของผู้คนกันมากขึ้น
ถึงอย่างนั้นบทความนี้ก็ไม่ได้จะพาเที่ยวด้วยรถไฟหรอกนะ (ถ้าใครสนใจลองชมคลิปที่เราเคยขึ้นรถไฟลาวจีนดูได้) แต่จะพาไปดู วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอนุปริญญา ที่จะผลิตบุคลากรซึ่งมีความสนใจด้านระบบราง มีระยะเวลาในการเรียน 3 ปี
วิทยาลัยนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 มีรัฐบาลท้องถิ่นเทศบาลนครคุนหมิงให้การสนับสนุน โดยอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) และถือเป็นการเปิดประตูคุนหมิงสู่เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวิทยาลัยนี้มีที่ตั้งอยู่ 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตหยางฟู (Yangfu) และเขตชาวชิบา (Xiaoshiba) ซึ่งเป็นวิทยาเขตที่เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม มีพื้นที่ของวิทยาเขตราว160 ไร่ รวมพื้นที่ราว 160 ไร่ มีอาจารย์ 1,400 คน และนักศึกษาอีก 6,700 คน
ส่วนสาขาที่เปิดสอนนั้นมี 5 สาขาวิชาด้วยกัน ได้แก่ วิศวกรรมไฟฟ้า การขนส่งทางราง เครื่องกลไฟฟ้า สารสนเทศและการสื่อสาร และการขนส่งในระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งแต่ละแผนกก็จะมีหน้าที่ที่ต่างกันออกไป
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเปิดสอนวิชาเรียนที่น่าสนใจอีกมากถึง 24 วิชาเรียน ที่ครอบคลุมทุกเรื่องเกี่ยวกับรถไฟ เรียกได้ว่า มีให้เรียนรู้กันตั้งแต่หัวขบวนยันท้ายขบวน ไปจนถึงการทำทางต่างๆ ให้รถไฟวิ่งผ่าน
จากประสบการณ์ที่เคยได้นั่งรถไฟลาวจีนที่ประเทศลาวนั้น ยิ่งทำให้เราเปรียบเทียบภาพที่เคยพบเจอกับอุปกรณ์การเรียนรู้แบบจำลองในวิทยาลัยดังกล่าว ที่บอกเลยว่า ทำออกมาได้เหมือนมากๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า ตั้งใจทำออกมาให้ดูเหมือนจริงที่สุด เพราะแนวทางสำคัญในการเรียนรู้ก็คือ การให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์จริง เพื่อให้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
ยกทุกอย่างของรถไฟ มาไว้ในวิทยาลัย
ไม่เกินจริงที่จะพูดว่า หากเอาอุปกรณ์การสอนมาเรียงต่อกัน ก็คงกลายเป็นระบบรถไฟทั้งหมดแล้ว เพราะที่นี่มีระบบทุกอย่างสำหรับรถไฟ ตั้งแต่ห้องเรียนที่มีจอคอมพิวเตอร์พร้อมหน้าจอแสดงการสับเปลี่ยนระบบต่างๆ ชานชลาของสถานี ไปจนถึงอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่สร้างอยู่นอกอาคาร
เจ้าหน้าที่แจ้งกับเราว่า ภูมิประเทศของลาวมีภูเขาค่อนข้างเยอะ ทำให้ต้องเจาะภูเขาทำทางวิ่งทะลุในหลายพื้นที่ ดังนั้นแล้ว การศึกษาเรื่องการทำอุโมงค์ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับระบบรถไฟ
แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด ก็คือโปรแกรมจำลองการขับรถไฟ (simulator) ซึ่งจะให้ผู้เรียนได้ฝึกการขับเคลื่อนรถไฟเหมือนจริงที่สุด โดยในห้องนั้นจะมีจอจำลองการขับรถไฟขนาดใหญ่ แผงควบคุม และแผ่นเหยียบที่ต้องใช้ในการขับรถไฟจริง
“คันโยกหนึ่งสำหรับเคลื่อนรถไฟไปข้างหน้า อีกคันโยกสำหรับการหยุดรถ” คำกล่าวจากนักเรียนที่เดิมทีกำลังฝึกขับรถไฟอยู่ แต่ต้องกลายมาเป็นผู้สอนจำเป็นให้กับเรา
ส่วนแผ่นเหยียบด้านล่างก็หน้าตาคล้ายกับคลัช เบรค คันเร่ง ของรถยนต์แบบเกียร์ธรรมดา แต่ฟังก์ชั่นในการทำงานนั้นต่างกันลิบลับ เพราะสำหรับการขับรถไฟนั้น แผ่นเหยียบฝั่งซ้ายสุดจะต้องเป็นที่ที่เราเอาเท้าซ้ายไปวางแตะตลอดทุก 30 วินาที เพื่อให้ผู้คุมระบบรถไฟมั่นใจว่า เราไม่ได้สติหลุดหรือแอบหลับอยู่ ส่วนตรงกลาง คือแผ่นเหยียบในกรณีที่ขบวนรถไฟกำลังแล่นผ่านพื้นที่ที่ดินค่อนข้างลื่น เนื่องจากภูมิประเทศในละแวกนี้มีฝนตกค่อนข้างบ่อย ส่วนทางฝั่งขวาสุดก็เป็นแผ่นสำหรับขับขบวนในช่วงเวลาที่ลมแรง
พอลองนั่งขับเองแล้วก็พบว่า ไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อย แถมเรายังทำรถไฟปล่อยสัญญาณฉุกเฉินหาแผนกควบคุมเพราะจังหวะในการออกรถผิดพลาดอีกต่างหาก
ฟังคำนักเรียนลาวที่ได้มาเรียนเรื่องรถไฟที่จีน
“ม่วน (สนุก) เพราะว่าบ้านเราไม่มีรถไฟ แล้วนี่ก็เป็นสิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ แล้วก็เหมาะกับการเรียนรู้” ดวงสมร ชาวลาววัย 42 ปีที่มาเรียนรู้อยู่ในวิทยาลัยแห่งนี้ กล่าว
การจะมาเรียนที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเรียนการสอนทั้งหมดจะเป็นภาษาจีน นั่นแปลว่า ผู้เรียนต้องมีความรู้ด้านภาษาจีนมาก่อน .. แต่ดวงสมรมีความรู้ภาษาจีนเป็นศูนย์ในช่วงแรกเริ่ม
“เราเริ่มเรียนภาษาจีนตั้งแต่ท้ายเดือน 11 ปี 2021 เรียนแบบออนไลน์ แล้วก็มาเรียนที่จีนวันที่ 16 มกราคมปีต่อมา”
ก่อนหน้านี้ ดวงสมรเคยทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคนิควิชาชีพมิตรภาพเวียงจันท์ ประเทศลาว ก่อนที่วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิงจะเปิดรับสมัครนักเรียนต่างชาติ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับ สปป.ลาว เริ่มต้นจากการมอบทุนการศึกษาแก่อาจารย์ชุดแรกทั้งหมด 40 คน เพื่อให้ได้กลับไปสอนที่วิทยาลัยเทคนิควิชาชีพทางรถไฟแห่งแรกใน สปป. ลาว ซึ่งจะเปิดการเรียนการสอนในเดือนกันยายนนี้
ดวงสมรเสริมว่า สำหรับการเรียนเพื่อกลับไปเป็นครูที่ลาวนั้น จะเป็นโปรแกรมระยะสั้นที่ใช้เวลาเรียนแค่ 1 ปีครึ่ง และทั้ง 40 คนที่มาเรียนกันอยู่นี้ ก็ใช่ว่าจะกลับไปเป็นครูได้เลย แต่จะมี 22 คนที่เป็นว่าที่ครู ต้องกลับไปเรื่องบรรจุที่ลาวจึงจะสามารถเป็นครูได้อย่างเต็มตัว และอีก 18 คน ซึ่งเดิมมีอาชีพเป็นครูอยู่แล้ว ก็สามารถกลับไปสอนได้เลย ซึ่งดวงสมรเองก็อยู่ในกลุ่ม 18 คนนี้
“เราได้ทุนร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ทางโครงการเขารับผิดชอบหมด เพราะเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียน ในการใช้ชีวิต เขารับผิดชอบให้หมด สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เขารับผิดชอบให้หมด เราไม่ได้จ่ายอะไรเลย ครอบคลุมหมดเลย”
อย่างไรก็ดี ทุนดังกล่าวไม่ได้ให้ผู้เรียนเป็นคนเลือกเองว่าจะเรียนอะไร แต่จะจัดสรรให้ตามที่รัฐบาลมองว่าเหมาะสม อย่างดวงสมรก็ได้มาเรียนวิชาการขนส่งทางราง ซึ่งโชคดีที่ตัวเธอเองก็ชื่นชอบในด้านนี้อยู่แล้ว แต่ก็เป็นจุดที่ผู้เขียนสงสัยว่า หากไม่ได้ชอบสาขาที่เรียนนั้น จะมีโอกาสเลือกเองได้หรือไม่
นอกจากนี้ การจะได้มาซึ่งทุนดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดวงสมรมองว่าคุณสมบัติก่อนจะได้มาเข้าเรียนนั้นค่อนข้างจำเพาะเจาะจง ยิ่งกว่านั้น พอได้ทุนมาแล้วก็ยังเจอกับกำแพงภาษาที่แม้ว่าตอนนี้เธอจะทุ่มเรียนจนไต่มาถึงระดับ HSK 4 แต่ดวงสมรก็ยังมองว่า ตัวเองต้องเร่งพัฒนาทักษะนี้อีกเยอะมาก
“เราฟังได้ดีกว่าพูด พูดแล้วเราออกเสียงไม่ค่อยถูก แล้วโครงสร้างภาษาก็ต่างกับบ้านเรา แต่ภาษามันก็ช่วยขยายฐานความสามารถของเรา ขยายโลกทัศน์จากสิ่งที่เราไม่เคยเห็น เพราะประเทศจีนเขาพยายามขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนา เราก็ได้มาเห็นวิธีการฝึกสอน คือสอนและให้ปฏิบัติจริง โดยการเรียนในห้องเรียนจำลอง เสร็จแล้วเขาก็ส่งเราไปสถานที่จริง ในโซนที่มันไม่อันตราย แต่ถ้าโซนไหนอันตรายเขาก็จะช่วยเราดูก่อน”
คนไทยจะได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไหม?
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า วิทยาลัยนี้อาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศตามนโยบาย BRI นั่นแปลว่า จริงๆ แล้วไทยควรจะมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย
หยิน กวง รองประธานวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะการรถไฟคุณหมิง กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะการรถไฟแห่งมณฑลยูนนาน ได้สนับสนุนรัฐบาลจีนในการพัฒนาบุคลากรในระบบขนส่งมวลชนทางรางแล้วหลายรุ่น ทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ระบบรางของจีนนั้นเป็นระบบที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุดและเป็นความภาคภูมิใจของคนจีนที่ได้นำนวัตกรรมและฝีมือของจีนสู่สายตาโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนรถไฟความเร็วสูงรุ่นล่าสุด CR 400 ที่รัฐบาลจีนได้นำมาใช้บริการแล้วในหลายมณฑล ขณะที่มณฑลยูนนานให้บริการรถไฟ ทั้งหมด 6 รุ่นครอบคลุมระบบรางใต้ดิน รางบนดิน รถไฟฟ้าความเร็วสูง วิทยาลัยฯ จึงมีชื่อเสียงและได้รับความยอมรับจากรัฐบาล และประชาชนจากนานาชาติเข้ารับการศึกษาการขนส่งระบบรางทั้งระบบปีละหลายหมื่นคน”
แล้วไทยจะได้มีโครงการแบบนี้ไหม? รองประธานวิทยาลัยกล่าวว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน อย่างมาก ทางการยูนนานจึงอนุมัติงบประมาณให้กับวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาต่างประเทศ 10 คนเข้าเรียนหลักสูตรการขนส่งมวลชนระบบราง ในปี 2566
“เราได้ประสานไปยังศึกษาธิการ จ.ขอนแก่น เพื่อประกาศให้ทุนนักเรียนขอนแก่นซึ่งจบการศึกษาระดับชั้น ม.6 ได้ส่งเอกสารสมัครเข้าเรียนและขอรับทุนในปีการศึกษา 2566 โดยไม่ต้องมีพื้นฐานภาษาจีนก็ได้ เนื่องจากก่อนเข้ารับการศึกษาจะต้องเรียนภาษาจีนก่อนเป็นเวลา 6 เดือนและสอบวัดระดับพื้นฐานภาษาจีนตามที่รัฐบาลจีนกำหนด”
คำถามต่อมาก็คือ แล้วความคืบในการสร้างรถไฟไทย-จีน นั้นไปไกลจริงหรือ? ก็ต้องบอกว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2569 โดยประกอบด้วย 15 สัญญา ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอการลงนาม 3 สัญญา
นั่นแปลว่า อาจจะต้องใช้เวลากันอีกสักพักกว่ารถไฟไทย-จีน จะสำเร็จและออกวิ่งเหมือนอย่างที่ลาว แต่ก็น่าสนใจว่า การเข้ามาของทั้งรถไฟ และวิทยาลัยที่สอนเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับรถไฟให้คนไทยด้วยกันเองนี้ จะช่วยเปลี่ยนประเทศเราไปได้ขนาดไหน
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก
หนังสือคู่มือ Kunming Railway Vocational And Technical College: International Student Brochure