‘บุญรอดบริวเวอรี่’ ชื่อนี้เป็นที่คุ้นหูของหลายๆ คน ด้วยความเป็นหนึ่งในเจ้าของตลาดขนาดยักษ์ ทำให้บางคนก็ตั้งคำถามกับความยิ่งใหญ่ของบริษัทแห่งนี้ว่าพวกเขาทำธุรกิจอะไรกันบ้าง
เพราะจากข้อมูลของตลาดเบียร์ไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี โดยที่ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ มีการสำรวจว่า บุญรอดบริวเวอรี่กินส่วนแบ่งตลาดมากถึงราว 60% เป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของไทย จากการเป็นเจ้าของแบรนด์เบียร์แมสอย่าง ‘ลีโอ’ และเบียร์ที่เกาะตลาดพรีเมียมอย่าง ‘สิงห์’
เราจึงอยากชวนไปดูว่าในอาณาจักรของบุญรอดนี้ มีสินค้าอะไรที่เรารู้จักบ้าง
แต่ก่อนจะไปดู เราชวนรู้จักที่มาที่ไปของบริษัทนี้เล็กน้อย
โดยในปี พ.ศ.2453 พระยาภิรมย์ภักดี หรือ บุญรอด เศรษฐบุตร ได้เริ่มธุรกิจเดินเรือเมล์ขาว ‘บางหลวงจำกัด’ เพื่อให้การข้ามฝั่งระหว่างธนบุรีและกรุงเทพมหานครสะดวกมากขึ้นสำหรับชาวเมือง แต่สักพักก็เริ่มมีคู่แข่งทางธุรกิจมากขึ้น ประกอบกับรัฐเตรียมสร้างสะพานเชื่อมเมือง 2 ฝั่ง พระยาภิรมย์ภักดีจึงมองหาลู่ทางธุรกิจใหม่
เหมือนโชคชะตาจะมองเห็น เขาได้พบกับมิสเตอร์ไอเซนโฮเฟอร์ ผู้จัดการห้างเพาส์ปิกเคนปัก และได้ลองชิมเบียร์จากเยอรมนีแล้วนึกถูกใจ นั่นจุดประกายให้เขามองเห็นว่า เครื่องดื่มมีฟองชนิดนี้ น่าจะขายในไทยได้ดี จึงยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2474 และจดทะเบียนบริษัทในปีถัดมา
พ.ศ.2477 หลังโรงเบียร์สร้างเสร็จช่วงต้นปี บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ เปิดตัวเบียร์ยี่ห้อ ‘โกลเด้นไคท์’ และ ‘สิงห์’ ช่วงเดือนกรกฎาคม ขายในราคาขวดละ 32 สตางค์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอาณาจักรฟองเบียร์สิงห์ เมื่อราว 80 กว่าปีก่อน
ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน เครือบุญรอดฯ ไม่ได้ทำแค่ธุรกิจแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ขยายพรมแดนสู่ธุรกิจอีกหลายแขนง พร้อมบริษัทลูกอีกกว่า 150 บริษัท
ปัจจุบัน ธุรกิจของเครือบุญรอดฯ แบ่งออกเป็น 6 สาย
ประกอบด้วย
- ธุรกิจเบียร์-โซดา
- ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วหรือ ‘บางกอกกล๊าส’
- ธุรกิจภูมิภาค ภายใต้ ‘สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง’
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ‘สิงห์ เอสเตท’
- ธุรกิจซัพพลายเชน ‘บุญรอดซัพพลายเชน’
- ธุรกิจอาหาร ‘ฟู้ด แฟคเตอร์’
แต่บุญรอดบริวเวอรี่ ซึ่งผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โซดา และน้ำดื่มเป็นหลัก ก็ยังเป็นภาคธุรกิจที่สามารถทำรายได้ให้กับเครือบุญรอดฯ ได้เยอะที่สุดในแต่ละปี อย่างในปี 2562 ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าบอกว่า บุญรอดบริวเวอรี่ทำรายได้รวมไปกว่า 10,258,621,733 บาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 4,194,403,504 บาท
ซึ่งธุรกิจภายใต้บุญรอดบริวเวอรี่นั้น ประกอบไปด้วย 3 เสา คือ เบียร์และแอลกอฮอล์ – เครื่องดื่ม – ขนมขบเคี้ยวและอาหาร
โดยจากที่ ‘ปิติ ภิรมย์ภักดี’ เจอเนอเรชันที่ 4 ของภิรมย์ภักดี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฟู้ด แฟคเตอร์ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า ช่วงปี 2560-2562 ที่ผ่านมาเครือบุญรอดฯ ได้ปรับทัพโครงสร้างองค์กรใหม่ และนำสินค้าที่เป็นหมวดอาหารซึ่งเคยแยกกันบริหาร และแต่ละบริษัททำรายได้ราว 400-500 ล้านบาท/ปี มาอยู่ภายใต้บริษัทฟู้ด แฟคเตอร์
โดยธุรกิจอาหารต่างๆ ของเครือบุญรอดนั้น ได้แก่ ธุรกิจข้าวถุงพันดี, ร้านอาหารเอส33, ร้านฟาร์มดีไซน์, ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji, โรงงานผลิตสินค้ากลุ่มอาหารเฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี และเฮสโก โซลูชั่น, โรงงานผลิตเครื่องดื่มวราฟู้ดส์ เป็นต้น
และยังเดินหน้าธุรกิจซัพพลายเชน ดูแลการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ (จัดหาวัตถุดิบ-ผลิต) ยันปลายน้ำ (การขาย-การกระจายสินค้า-การจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค) ควบคู่กันไปด้วย เพื่อบริหารต้นทุนการทำธุรกิจให้ต่ำลง
โดยคาดว่าภายในปี พ.ศ.2565 ธุรกิจอาหารจะไม่ใช่เจ้าป่าที่เชื่องช้า และสามารถทำกำไรให้บริษัทได้มากถึง 5,000 ล้านบาทต่อปี
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://foodfactors.co.th/food-factors-1-6-pillar-th/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/815076
https://www.thebangkokinsight.com/229588/