ในบางห้วงเวลา เราล้วนรู้สึกไม่เป็นเจ้าของชะตากรรมตัวเอง
ไม่มีเงินพอจะกิน ไม่มีกินพอจะฝัน ไม่มีฝันพอจะเห็นอนาคต มีบางอย่างไม่เป็นอย่างหวังและไม่มีอะไรง่ายเลย ทำไมโลกไม่ใจดีกับเราขนาดนี้ เราก้าวผิดตรงไหนหรือเปล่า? โลกทำให้เรารู้สึกอย่างนั้น บ่อยเสียจนเราอยากจะยอมแพ้ แล้วยื่นคันบังคับชีวิตให้ใครสักคนใช้ชีวิตแทนเราไปเลยดีกว่า และในบางครั้ง นั่นเองที่เป็นคือสิ่งดึงดูดของไลฟ์โค้ช
ถึงเราจะต้องทำหน้าที่ก้าวเท้าเดินไปบนเส้นทางชีวิตของตัวเองอยู่ แต่เมื่อมองไปทางไหนก็ไม่เห็นทางเดินต่อ อย่างน้อยถ้ามีใครสักคนมาบอกทิศทางที่เราจะเดินไปได้สักหน่อยก็ยังดี ซึ่งนอกจากหมอดูแล้ว ‘ไลฟ์โค้ช’ คืออีกหนึ่งคนที่บอกอยู่ในชื่อว่า พวกเขาคือผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิต และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการโฆษณาว่า พวกเขารู้ความลับอะไรบางอย่าง หรือมีทางออกที่เราแต่ละคนตามหาอยู่ในเกมชีวิตของพวกเรา
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราหลุดเข้าไปในวังวนของการเสพคอนเทนต์ไลฟ์โค้ชบ่อยๆ เข้า คำสอนของพวกเขา เช่น
“ความสำเร็จ เริ่มต้นที่ตัวเอง”
“ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เราก็ต้องตื่นเช้ามาทำงานอยู่ดี”
“คุณจน เพราะคุณทำงานไม่หนักพอ”
“เราทุกคนมีเวลาเท่าๆ กัน”
“ตัดเรื่องไร้สาระ แล้วเดินต่ออย่าหยุด”
“เปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาตัวเองไปสู่สิ่งอื่น”
แล้วลองหันกลับมามองที่ตัวของเราว่า จากคำพูดเหล่านั้น เราเข้าใกล้ความสามารถในการควบคุมชีวิตตัวเองมากขึ้นขนาดไหน? บ่อยครั้งคำตอบของเราคือ ไม่ใกล้ขึ้นเลยแม้แต่น้อย แถมยังรู้สึกว่าตัวเองตัวหดเล็กลงเหลือเท่าไรฝุ่นเสียด้วยซ้ำ ถามคำถามเดิมซ้ำๆ ว่าเราก้าวผิดไปหรือเปล่า? หรือเรายังทำตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตบอกไม่มากพอ? แต่ก่อนที่ทุกคนจะโทษตัวเอง เราเคยลองมองย้อนกลับไปหรือโทษคำสอนเหล่านั้นแล้วหรือยัง?
มายาคติของ Bootstrapping
ไลฟ์โค้ชแต่ละคนมีแนวคิดที่ต่างกัน แต่อย่างที่เราว่ากันไป โดยมากแล้วใจความใหญ่ที่ทำให้พวกเขาดึงดูดผู้ชมได้ มักเป็นวิธีการที่ทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตของเราอยู่ในมือเรา ซึ่งแนวคิดที่พวกเขามักใช้ในการสื่อสารและก่อร่างความรู้สึกเหล่านั้น คือแนวคิดชื่อว่า Bootstrapping
Bootstrapping ได้ชื่อมาจากสำนวน “Pull yourself up by your own bootstraps” หรือในภาษาไทยคือ “ยืนบนลำแข้งของตัวเอง” โดยความหมายของมันคือ การบอกว่าหนทางที่นำไปสู่ชีวิตแบบที่เราต้องการนั้น อยู่ที่ตัวของเราเอง เราต้องไม่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือจากภายนอกหรือสภาพแวดล้อมของเรา ซึ่งแม้ว่ามันจะไม่ใช่แนวคิดที่ถูกรวบรวมหรือนิยามทางวิชาการเอาไว้ แต่เรากลับเห็นมันบ่อยครั้งจนพอที่จะบอกได้ว่า สิ่งที่คนคนนี้พูดคือ Bootstrapping
ในระดับหนึ่งแนวคิดนั้นก็เป็นความจริง ทุกสิ่งมีจุดเริ่มต้น และหากเราต้องการให้อะไรเกิดขึ้น เราเองก็อาจต้องเป็นผู้ที่ทำให้เกิดสิ่งนั้น เรื่องนั้นจึงไม่อาจเถียงได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามองลึกลงไปกว่านั้นสักหนึ่งระดับ เราก็จำเป็นต้องตั้งคำถามกับวิธีคิดดังกล่าว เพราะเราเห็นตัวอย่างในโลกความเป็นจริงที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดเหล่านั้น
หากการทำงานหนักนำไปสู่ความสำเร็จ ทำไมพนักงานร้านสะดวกซื้อที่ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่คิดเงิน เช็กสต็อก นำอาหารไปอุ่นไมโครเวฟ จำยี่ห้อบุหรี่ ถูพื้น ฯลฯ ถึงได้มีรายได้น้อยกว่าซีอีโอของบริษัทเดียวกัน? หากการทำงานหนักและการมีความเชื่อที่มั่นคงนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่ว่าพนักงานก่อสร้างควรจะเป็นคนรวยที่สุดในประเทศไทยไปแล้วอย่างนั้นหรือ? ดังนั้นโลกที่เราพบเจอ และโลกที่วาดแนวคิด Bootstrapping จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่แนวคิด Bootstrapping มองข้าม คือช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมทุนนิยม พวกเขาอาจมองว่าคนจน จนเพราะไม่พยายาม หรือเพราะไม่วางแผนการเงินให้ดี แต่ไม่ใช่เพราะว่าประเทศของเราไม่มีสวัสดิการที่ดีพอ ไม่ใช่เพราะว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ หรือไม่ใช่เพราะว่าทุนนิยมกำลังสร้างช่องว่างระหว่างชนชั้นที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยมองว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงข้ออ้าง
คุณกับเขามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน มีมือเท่ากัน ทำไมจะทำไม่ได้?
หากมองแบบนั้นไปนานๆ จากแนวคิดที่ควรจะยกระดับตัวเองได้ ก็ดูเหมือนว่ามันจะยกความผิดของความล้มเหลวลงมาที่เราทั้งหมด จนกัดกร่อนใจยิ่งกว่าเดิมเสียอีก
ปัญหาในส่วนที่ไม่ได้พูด
ปัญหาของแนวคิด Bootstrapping ไม่ใช่เพียงเพราะเมื่อมองภาพกว้างของสังคมแล้วมันไม่สมเหตุสมผล แต่เป็นเพราะเมื่อเราพิจารณาไปถึงผลข้างเคียง และที่มาที่ไปของมันต่างหาก
หนึ่งในเป้าหมายของการเป็นไลฟ์โค้ช คือการสร้างวิธีคิด และการปลูกฝังความคิดที่บอกว่า โลกของเราอยู่ในมือเราเท่านั้น มันถูกสร้างและปลูกฝังไว้บ่อยมากจนพอจะนำไปสู่วิธีคิดที่บิดเบี้ยวได้ และส่วนที่แนวคิดไม่ได้พูดแต่กลับทึกทักเอาไว้ คือปัญหาเชิงระบบ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อชีวิตของเรา เป็นมุมมองที่หากเราอยู่กับมันไปนานๆ ย่อมนำไปสู่แนวคิดทางการเมืองที่น่าตั้งคำถามได้ เพราะหากไม่คิดว่าปัญหาเชิงระบบสำคัญ เราจะโหวตการแก้ปัญหารูปแบบนั้นหรือไม่? หากมองว่าไม่ว่าระบบจะแย่ขนาดไหน สิ่งเดียวที่แรงงานต้องทำคือขยันขึ้นไปอีก เราจะคิดและพูดเกี่ยวกับสิทธิแรงงานหรือเปล่า? เราจะนึกถึงการปลดแอกชนชั้นทางสังคมออกจากระบบหรือไม่ หากเป้าหมายของเราคือการขึ้นไปเป็นจ่าฝูง?
เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว แนวคิด Bootstrapping ดูจะคุ้นหูแปลกๆ ดังนั้นทางออกของความเหนื่อยยาก คือการเป็นผู้นำ และหนทางเหล่านั้นจะเป็นหนทางที่เราต้องฟันฝ่าด้วยตัวเอง อย่าให้ห้วงเวลาของความอ่อนแอทำให้เราไหวติง เราต้องอดทน พูดให้น้อย รู้สึกให้น้อย และทำให้มาก ซึ่งแท้จริงแล้วเราแทบจะขีดเส้นโยงระหว่าง Bootstrapping กับค่านิยมชายตามขนบได้เลย
มีงานวิจัยที่พาเราไปเข้าใจความเป็นชายได้คือ The Structure of Male Real Norm โดยเอ็ดเวิร์ด ธอมสัน (Edward Thompson) นักวิจัยจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโฮลีครอส เป็นงานวิจัยเมื่อปี 1986 ที่พูดเกี่ยวกับบรรทัดฐานความเป็นชาย ซึ่งเขายกรูปแบบอุดมคติความเป็นชาย (Toxic Masculinity) เอาไว้ด้วยการวางมันอยู่บน 3 เสาหลักคือ
-
- สถานะ (Status)
- ความถึกทน (Toughness)
- การต่อต้านความเป็นหญิง (Anti-Femininity)
งานวิจัยดังกล่าวมีข้อสรุปว่า ในกลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อมโยงระหว่าง 3 เสาหลักอยู่อย่างน้อยนิด ซึ่งแปลความได้ว่า ความเป็นชายในชีวิตประจำวันนั้นกว้างขวางกว่าที่เคยเชื่อกันแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า 3 เสาหลักจะหายไปไหน และที่น่าแปลกคือไม่ว่าจะหันไปมองไลฟ์โค้ชไทยหรือต่างชาติ บ่อยครั้งมากๆ ที่แนวคิดของพวกเขาจะเป็นแผนภาพเวนน์ฯ (Venn Diagram) ที่ทับกับโมเดลความเป็นชายแม้จะตกสมัยไปแล้วตั้งแต่ปี 80s
เช่นเดียวกับการปลูกฝังแนวคิดปฏิกิริยานิยมโดยไม่รู้ตัว การพูดคุยถึงแนวคิดที่ข้างเคียงกับความเป็นชายตามขนบบ่อยๆ ย่อมนำมาซึ่งผลข้างเคียงอันเป็นพิษของมันด้วยเสมอ
โลกอยู่ในมือของเราไหม?
การใช้ชีวิตในโลกขวบปีปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความตึงเครียด และความสิ้นหวัง ซึ่งไลฟ์โค้ชรู้จุดอ่อนเหล่านี้ของความเป็นมนุษย์ วิธีการที่พวกเขาใช้ในการสื่อสารและแนะนำ จึงอาจทำหน้าที่เป็นยาแก้ไปตามอาการของเราได้บ้างในบางคน แต่จะใช้มันเพื่อดำเนินชีวิตให้ความเจ็บปวดนั้นหายขาด เราอาจต้องเปลี่ยนแปลงมากกว่าการกระทำส่วนตัวเปล่า?
เราทุกคนรู้ว่ามีบางอย่างกำลังผิดพลาดกับโลกใบนี้ ไลฟ์โค้ชเองก็รู้ ทั้งความขัดแย้ง เศรษฐกิจ สงคราม หรือการเมืองห่วยแตกถ้วนหน้า โลกกำลังมอดไหม้ และไหม้ลงเพราะอำนาจที่อยู่เหนือการควบคุมของเราคนเดียว ฉะนั้นหากลองพิจารณาหาทางออก แน่นอนว่าเราอาจเดินอยู่ในสมดุลระหว่างการพัฒนาตัวเอง ซึ่งเราก็อาจมองไปยังภาพใหญ่และระบบที่กำลังทับถมเราอยู่ด้วยได้หรือเปล่า? เพราะถ้าทำเช่นนั้นแล้ว อย่างน้อยเราก็จะรู้ว่าโลกนั้นอยู่ในมือเราจริงๆ
การจะอยู่รอดอย่างมีสุขและสำเร็จในระยะยาว เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงมันไปด้วย
อ้างอิงจาก