เทียบกับตอนเราเป็นเด็ก ในโลกปัจจุบันความแกร่งต่างจากเดิมยังไง? เพราะในห้วงเวลาหนึ่งภาพของความแข็งแกร่งนั้นง่ายและไม่ซับซ้อน
หากเราต้องเลือกภาพแทนของความแกร่งในอดีตเราคงเลือกภาพของนักรบ อัศวิน พระราชา หรือสิงโต ในโลกที่โมเดิร์นขึ้นหน่อยอาจเป็นพระเอกหนังแอ็กชั่นบู๊ล้างผลาญ หรืออาจจะเป็นนางเอกก็ได้หากเธอคนนั้นพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถต่อกรกับตัวโกงได้ในรูปแบบเดียวกันกับที่ตัวละครนำชายเรื่องอื่นทำ
แต่เท่าที่จำความได้ ครั้งล่าสุดที่เราได้ยินคนจำนวนมากพูดว่าสักคนนั้น ‘แกร่ง’ คือเมื่อ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักกิจกรรมเรื่องสภาพแวดล้อมชาวสวีเดนอายุ 19 ปีกล่าวสปีชเรียกร้องวัยเยาว์ของเธอคืนจากผู้ใหญ่ที่เพิกเฉยต่อการทำลายสภาพแวดล้อมจนโลกมาอยู่ในจุดที่มันเป็นอยู่
หรือความแกร่งนั้นอาจนึกไปถึงพนักงานสตาร์บัคส์สาขาแรกในสหรัฐฯ ที่รวมตัวตั้งสหภาพแรงงานสำเร็จ อาจเป็นผู้ได้รับความเสียหายนับล้านจากการล่วงละเมิดทางเพศที่บอกเล่าประสบการณ์ที่อ่อนไหวที่สุดของพวกเขาในมูฟเมนต์ #MeToo และกรณีใกล้ตัวที่สุดคือไม่กี่วันก่อน เราเห็นคลิปวิดีโอที่ผู้หญิงคนหนึ่งยืนประจันหน้ากับผู้ชายที่มาตอแยเธอไม่เลิก ผู้คนยกย่องความแกร่งของเธอ และในขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์ผู้ชายในคลิปว่าเขาดูเปราะบางที่พยายามใช้ความรุนแรงและไม่ให้เกียรติย์ผู้อื่นเพียงเพราะโดนแตะอีโก้ในตัวเอง
ปัจจุบันความหมายของ ‘ความแกร่ง’ ไม่เหมือนในอดีตตรงไหน? หรือความหมายของมันเปลี่ยนไปยังไง? เราชวนไปสำรวจนิยามความแกร่งที่ลื่นไหลกว่าเดิมในเวลานี้
‘แกร่งดั่งชาย’ เริ่มต้นมายังไง?
หากเราจะมองหาว่าไอเดียความแกร่งแบบชายๆ นี้มาจากไหน คงต้องบอกว่าเป็นวาทกรรมของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เชิดชูผู้นำชายในอดีตในการพาสังคมและชุมชนของพวกเขาผ่านห้วงเวลาที่โหดร้ายมาได้ด้วยความเป็นผู้นำ กำลัง ความแน่วแน่ “เวลาที่ยากลำบากสร้างผู้ชายที่แข็งแกร่ง ผู้ชายที่แข็งแกร่งสร้างห้วงเวลาที่สุขสบาย เวลาที่สุขสบายสร้างผู้ชายที่อ่อนแอ ผู้ชายที่อ่อนแอสร้างห้วงเวลาที่ยากลำบาก” เป็นโควตจากนิยายชีวิตหลังวันสิ้นโลก Those Who Remain: A Postapocalyptic Novel โดย จี. ไมเคิล ฮอปฟ์ (G. Michael Hopf) นักเขียนอนุรักษ์นิยมอดีตนาวิกโยธินสหรัฐ
โดยโควตนี้มักถูกผูกเข้ากันกับภาพทหาร ซึ่งในเรื่องนั้นกำลังเล่าถึงสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของคน ที่ยิ่งยากลำบากแค่ไหน ความแกร่งจะยิ่งทวีคูณ ความแข็งแกร่งเชิงการทหารหรือผู้นำที่พร้อมจะลงมือทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำสามารถนำพาอารยธรรมและสังคมผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นๆ ไปได้ และเมื่อใดแนวคิดเสรีนิยมมากลายเป็นแนวคิดที่ใช้ปกครอง นั่นคือเวลาที่อารยธรรมตกต่ำ
แต่ถ้าจะให้พูดจริงๆ มันเป็นไอเดียค่อนข้างพิลึกถ้าเอามาปรับใช้กับชีวิตประจำวันว่าไหม? ระหว่างพนักงานที่ทำงานห้าวันต่อสัปดาห์ ที่ยอมถือตำแหน่งมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง เพื่อค่าแรงขั้นต่ำ กับคนที่ทำงานแบบเดียวกันแต่เงินเดือนสูงกว่าพร้อมสวัสดิการ คุณภาพงานของใครจะออกมาดีกว่ากัน? ในความเป็นจริงคือ ‘ความแกร่งแบบชายๆ’ ไม่ใช่สิ่งที่โลกมองหาอีกต่อไป การใช้กำลัง การครอบครอง การอดทน ความตั้งมั่น ไม่ใช่ทางออกของทุกปัญหา ในเกือบทุกแง่มุมชีวิตเราต้องอาศัยการเจรจา การประนีประนอม ประชาธิปไตย ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความแกร่งแบบที่อยู่บนฐานแนวคิดชายๆ
และไม่ใช่แค่ในปัจจุบัน เบรต เดเวโร นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการทหารโรมเขียนในบทความของเขาในเว็บไซต์ Foreign Policy ว่าในประวัติศาสตร์กลุ่มผู้คนที่รวมตัวเป็นรัฐและลงทุนในการทำไร่นานั้นมีโอกาสจะขยายอารยธรรมได้กว้างขวางกว่ากลุ่มที่ไม่เป็นรัฐ อยู่กันในขอบชายแดนและไม่ทำไร่นาเสมอเนื่องด้วยจำนวนประชากรที่สูงกว่าและความมีระบบระเบียบในการจัดการชุมชนของกลุ่มชาวนา “ในสถานการณ์เช่นนี้ ‘ชายผู้แข็งแกร่ง’ ที่ถูกสร้างโดย ‘เวลาที่ยากลำบาก’ พ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า”
เรื่องนี้เกี่ยวกับความหมายของความแข็งแกร่งในปัจจุบันยังไง? เช่นเดียวกันกับในอารยธรรมก่อนหน้าเรา พละกำลังและกองกำลังทหารไม่ใช่ทุกอย่างของสังคมเรา และหากความแกร่งแบบชายๆ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เราสามารถให้มันครองพื้นที่ของความแกร่งเพียงหนึ่งเดียวนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่?
คำตอบของโลกปัจจุบันคือ ‘ไม่’ ความแกร่งนิยามเดิมที่เราคุยกันมานั้นเป็นผลพวงจากระบอบปิตาธิปไตยที่ผูกขาดความแกร่งเข้ากับอัตลักษณ์เพศชาย (male trait) นั่นคือความแกร่งเชิงพละกำลังและความไม่สะทกสะท้านทางความรู้สึกที่ใช้เป็นโล่ปกป้องเกียรติยศ นักปรัชญาและวิดีโอครีเอเตอร์ นาตาลี วินน์ พูดเกี่ยวกับความแข็งแกร่งรูปแบบนี้ว่า Hard Masculinity โดยเธอพูดว่า “มันคือระบบป้องกันและข่มขู่เพื่อแสดงความแกร่ง(แบบชายๆ) และซ่อนความอ่อนไหว ซึ่งเราเปลี่ยนชื่อมันเป็น Toxic Masculinity ไปแล้วเพราะมันทำลายล้างและใช้การไม่ได้”
ซึ่งเธอพูดถึงประเด็นนี้จากการที่เธอกำลังพูดถึงหนังสือเรื่อง Odyssey โดยนักกวีกรีก โฮเมอร์ ว่าตัวละครเอกโอดิสเซียสฆ่าและทารุณคนจำนวนมากในข้อหาที่คนเหล่านั้นดูหมิ่นเกียรติยศของเขา ซึ่งการกระทำรูปแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Homeric Violence หมายถึงความรุนแรงที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับเกียรติยศ อีโก้ และชื่อเสียงมากกว่าชีวิตผู้อื่น เป็นเรื่องน่าขมขื่นที่แนวคิดและการกระทำรูปแบบดังกล่าวยังเกิดขึ้นในสังคมให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบัน ซึ่งความน่าสนใจคือมันไม่ถูกมองว่าเป็นความแข็งแกร่งอีกต่อไป กลับกัน เรากลับมองว่ามันคือความอ่อนแอและเปราะบาง
หน้าตาของความแข็งแกร่งในปัจจุบันเป็นแบบไหน?
เป็นคำตอบที่อาจจะตอบตรงๆ ได้ลำบาก แต่เราอาจตอบได้ผ่านการรู้ก่อนว่าอะไรบ้างที่ไม่ได้เป็น ‘ความแกร่ง’ อีกต่อไป
ในงานวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นชาย ความคาดหวังของสังคม และพฤติกรรมสร้างความรุนแรงชื่อ “Be a Man”: The Role of Social Pressure in Eliciting Men’s Aggressive Cognition โดย อดัม สตานาแลนด์ และ ซาร่า ไกเธอร์ บัณฑิตคณะจิตวิทยาและนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยดยุค สหรัฐอเมริกา พวกเขาได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาชายที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาจำนวน 195 คน และผู้ชายวัย 18-56 จำนวน 391 คน
โดยวิธีการทดลองคือการทำควิซเกี่ยวข้องกับความรู้เรื่องเพศ และการเหมารวมเรื่องเพศ เช่น ผู้ชายชอบรถ ชอบการซ่อมแซมของในบ้าน และให้ลองเติมคำในช่องว่าง เพื่อจะวัดว่าความเป็นชายของพวกเขาว่าออกมาจากภายนอกหรือภายใน และสุดท้ายพวกเขาโดนบอกว่าแบบสุ่มๆ ว่าพวกเขาได้คะแนนสูงหรือต่ำกว่าผู้ชายปกติ ไม่ว่าสิ่งที่พวกเขาเขียนจะออกมายังไง รวมถึงการบอกว่า “คุณไม่แมนเท่าผู้ชายทั่วไป” ด้วย
ซึ่งผลลัพท์ที่ออกมาพบว่าผู้ชายที่สร้างความหมายของความเป็นชายมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ความกดดันจากสังคมที่เขาต้อง “ทำตัวแมนๆ” เพื่อความยอมรับจากคนรอบข้าง จะรู้สึกถูกโจมตีความเป็นชายมากกว่ากลุ่มตัวอย่างของผู้มีความเป็นชายจากไอเดียภายในตัวเอง ถึงขั้นที่ว่ากลุ่มตัวอย่างที่รู้สึกถูกโจมตีบางคนขู่ผู้วิจัยกลับที่คะแนนตัวเองน้อยเกินไปหลังจากได้ยินว่าได้เท่าไร
ผลสรุปนี้สามารถเป็นภาพแทนที่กว้างขึ้นได้ว่าความเป็นชายที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อที่บีบบังคับมักก่อให้เกิดความรุนแรงต่อผู้อื่นได้มากกว่าความเป็นชายที่วางอยู่บนความเป็นตัวเอง บทสรุปนี้เป็นเครื่องมือที่เราสามารถนำไปวิเคราะห์และปรับใช้ได้ตั้งแต่การมองหาลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้นำในองค์กร การมองหา red flags ในความสัมพันธ์ ไปจนวิธีการเลี้ยงเด็กผู้ชายที่มีสุขภาพใจที่ดี
และนั่นคือสิ่งที่ความแข็งแกร่งปัจจุบันไม่ได้เป็น ความ ‘แกร่ง’ ที่มาจากความเชื่อที่ไม่ยืดหยุ่น หรือจากความคาดหวังว่าคนที่เกิดมาในร่างกายแบบหนึ่งๆ ต้องแข็งแรงด้วยวิธีใดวิธีเดียว และไม่ใช่การปกป้องความเปราะบางภายในด้วยการกระทำที่จะทำลายผู้อื่น แต่ความแกร่งคือความต้องการจากภายในโดยไม่เบียดบังใคร และความต้องการเช่นนี้ไม่สามารถที่จะถูกนิยามออกมาได้ว่าแบบใดคือความแกร่งที่แท้จริง เพราะมันไม่ได้มีความหมายเดียวอีกต่อไป และไม่มีใครสามารถผูกขาดมันเอาไว้ได้
เมื่อความแกร่งแบบชายๆ มีผลแง่ลบต่อผู้ชายเสียเอง
นอกจากผลกระทบต่อคนรอบกายและสังคม ในงานวิจัยจำนวนมากยังเชื่อมโยงความกดดันของกรอบความเป็นชายเข้ากับปัญหาทางสุขภาพจิตผู้ชายเองด้วย ตัวอย่างเช่นงานวิจัย Expression of masculinity and associations with suicidal ideation among young males โดย ทาเนีย คิง นักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ศึกษาเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความเป็นชายและความคิดอยากจบชีวิตตัวเอง โดยใช้วิธีวัดความเชื่อฟังต่อแนวคิดความเป็นชาย (Conformity to Masculine Norms) เช่น การใช้ความรุนแรง การไม่พึ่งพาผู้อื่น การต้องชอบเพศตรงข้าม (ทั้งหมดเข้าข่าย ‘ความแกร่งแบบชายๆ’) จากชายวัย 15 – 18 จำนวน 829 คน ซึ่งใช้เวลา 12 เดือนในติดตามผล
ปรากฏว่าผู้ชายที่เชื่อฟังต่อแนวคิดความเป็นชายในด้านความรุนแรงและการไม่พึ่งพาผู้อื่นนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะรายงานว่าตนมีความคิดอยากจบชีวิตตัวเอง นำไปข้อสรุปว่ากรอบความเป็นชายในปัจจุบันนั้นแคบและไม่ยืดหยุ่นพอ สร้างความกดดันให้แก่วัยรุ่นชายอย่างมากจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต ผู้วิจัยแนะนำว่าควรเสนอทางเลือกการเป็นชายในรูปแบบที่หลากหลายขึ้นให้เด็กและวัยรุ่นชาย
รวมถึงต้องผ่อนปรนแนวคิดการต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเองตลอดเวลา
และส่งเสริมการหาความช่วยเหลือจากผู้อื่น
การจะขุดและปรับแปลงแนวคิดความเป็นชายที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มสร้างอารยธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้และเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่นหลักสูตร +M โดย ผศ. ไซมอน ไรซ์ เป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นมาเพื่อปลูกฝังความเป็นชายในแง่บวกให้แก่เยาวชน โดยไม่ได้โยนความเป็นชายทั้งก้อนทิ้งไปเลย แต่เป็นการวางกรอบของมันให้ไม่เป็นภัยต่อตัวเองและคนรอบข้าง
หรือหากเรามองในมุมมองของการเปลี่ยนความคิดของผู้ใหญ่ นักคิดและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีจุดประสงค์หลักในการ “เปลี่ยนความคิดผู้ชายขวาจัด” เช่น นาตาลี วินน์ (ContraPoint), แฮร์ริส บรูวิส (Hbomberguy), Salari ฯลฯ ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชายเป็นอย่างมาก และในบางเคสสามารถทำให้ผู้ชายเหล่านั้นสลัดความคิดเดิมๆ แล้วเปลี่ยนตัวเองไปเป็นฝ่ายที่มองเห็นผลเสียของการสมาทานความแกร่งแบบชายๆ ได้จริงๆ
ฉะนั้นก็ไม่สายเกินไปที่เราจะมานิยามความแกร่งกันใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริง เพียงแต่ว่าผลของมันจะไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน
อ้างอิงข้อมูลจาก
bmcpsychiatry.biomedcentral.com