ความรุนแรงทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยไม่แบ่งเพศ
และไม่กี่ปีที่ผ่านมาการเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวต่างๆ สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ ตัวอย่างเช่น #MeToo ที่เป็นการเคลื่อนไหวที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาไปจนถึงคนมีชื่อเสียงทุกๆ วงการทั่วโลกแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าปัญหาที่โลกกำลังประสบอยู่นี้ใหญ่ขนาดไหน
ในขณะที่การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่แบ่งแยกเพศแต่อย่างใด เนื่องจาก #MeToo นั้นพูดถึงการเปลี่ยนแปลงใน rape culture และค่านิยมที่ทำให้ความรุนแรงทางเพศ ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวโดยมากเป็นผู้หญิงมากที่สุด และเป็นผู้ชายน้อยกว่ามาก ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะจากสถิติโดยองค์กร Centers for Disease Control and Prevention เล่าว่าผู้หญิงจำนวนราวๆ 1 ใน 5 และผู้ชายราวๆ 1 ใน 14 ผ่านประสบการณ์การถูกข่มขืนสำเร็จ
แม้เราจะมองว่าเพศทุกเพศควรเท่าเทียมกัน สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือในปัจจุบันค่านิยมทางสังคมกับสภาพแวดล้อมของเราสร้างความแตกต่างและช่องว่างระหว่างเพศแต่ละเพศ และเป็นไปไม่ได้เลยที่การเคลื่อนไหวเดียวจะสามารถครอบคลุมทุกความเจ็บปวดของทุกๆ เพศด้วยรายละเอียดที่ตอบโจทย์ทุกคนได้ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องที่เคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับความรุนแรงระหว่างเพศเป็นหลัก ฉะนั้นการเกิดขึ้นของมูฟเมนต์ย่อยๆ ที่มุ่งไปสู่ความเจ็บปวดของแต่ละเพศนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
หนึ่งในมูฟเมนต์นั้นที่โผล่ขึ้นมาอีกครั้งคือ #MenToo ที่กลับมาเมื่อเกิดบทสนทนาเกี่ยวกับความรุนแรงในครัวเรือนต่อผู้ชายที่เริ่มมาจากคดีความระหว่างจอห์นนี่ เด็ปป์ (Johnny Depp) และแอมเบอร์ เฮิร์ด (Amber Heard)
#MenToo คล้ายกันกับ #HimToo คือการเคลื่อนไหวที่เพ่งเล็งไปที่อคติทางเพศต่อผู้ชาย โดยมักพูดถึงความเชื่อว่าผู้ชายมักเป็นผู้กระทำเมื่อเกิดความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศจนกว่าจะมีหลักฐานที่แสดงความบริสุทธิ์ และข้อกล่าวหาการข่มขืนโดยเป็นเท็จ (false rape accusation)
เมื่อมองไปยังสถิติเราจะเห็นชุดข้อมูลที่หลากหลาย ข้อมูลโดยองค์กรสนับสนุนผู้ชายผู้เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ 1in6 บอกว่าผู้ชายราวๆ 1 ใน 6 เป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ บางที่บอกว่า 1 ใน 4 และอีกมากมายที่มากหรือน้อยกว่านี้ เป็นการวาดภาพให้เห็นชัดขึ้นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน แต่ประเด็นที่สำคัญพอๆ กันกับสถิตินี้คือดอกจันที่มักมาพร้อมกับมัน นั่นคือ ‘สถิติข้างต้นอาจคลาดเคลื่อนและต่ำกว่าที่เป็น’
ในงานวิจัย Accuracy of adult recollections of childhood victimization part 2. Childhood sexual abuse โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัลบานี และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค พบว่าผู้ชายที่มีประวัติการถูกล่วงละเมิดทางเพศเพียง 16% นับว่าตัวเองตัวเองถูกล่วงละเมิดทางเพศ ต่างจากผู้หญิงในสถานการณ์เดียวกันที่มีถึง 64%
แน่นอนว่าเหตุผลของประเด็นนี้เป็นเรื่องของบุคคลและไม่มีสาเหตุตายตัว แต่หนึ่งในความเป็นไปได้คือค่านิยมทางสังคมที่วางอยู่รอบๆ การล่วงละเมิดทางเพศกับเพศชายทำให้เกิดสถิติเช่นนี้ออกมา หนึ่งในบทบาททางเพศเดิมๆ (traditional gender role) ของผู้ชาย คือผู้ชายนั้นต้องก้าวร้าว วางตัวเหนือกว่าผู้อื่น ไม่ขี้ฟ้อง ไม่ถูกทำร้ายได้ง่ายๆ ทั้งทางกายและทางใจ ฯลฯ
เมื่อเทอร์รี่ ครูว์ (Terry Crew) นักแสดงฮอลลิวูดออกให้การเมื่อมีการเคลื่อนไหว #MeToo ว่าเขาเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศในวงการบันเทิงเช่นกัน ผลตอบรับโดยคนในวงการส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ชาย คือการตั้งคำถามว่าในตอนที่โดนทำไมคนที่มีร่างกายกำยำอย่างเขาถึงไม่ทำอะไรตอบโต้
การปลูกฝังคุณค่าเหล่านี้ตั้งแต่เกิดสามารถมีผลต่อการก่อร่างตัวตนของเขาได้ และโดยไม่รู้ตัว ตัวตนนี้เองสามารถทำให้ผู้ชายไม่พูดเรื่องการโดนล่วงละเมิดทางเพศ เพราะการยอมรับเรื่องเหล่านั้นทำลายบทบาททางเพศที่พวกเขาเชื่อ มากไปกว่านั้น แม้ผู้ชายจะกล้าพูด หากสังคมรอบตัวของเขาเชื่อในบทบาททางเพศนี้ด้วย ผลตอบรับมักเป็นการปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ผู้ชายจะโดนล่วงละเมิดทางเพศ
แต่การเคลื่อนไหวนี้มีแง่มุมอื่นๆ หรือไม่?
หากมองในแง่หลักการ การเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นก้าวที่สามารถสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้นทั้งสำหรับผู้ชายที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ และอาจนำไปสู่การพูดคุยถึงความเป็นชายที่เป็นไปในแง่บวกมากขึ้น แต่เช่นเดียวกับทุกการเรียกร้อง ขอบเขตและการถกเถียงสามารถล้ำเส้นไปสู่อย่างอื่นได้เสมอ
อีกหนึ่งสิ่งที่ #MenToo เรียกร้องคือเรื่องข้อกล่าวหาการข่มขืนโดยเป็นเท็จ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับที่การเคลื่อนไหวฝั่งผู้ชายเช่น Men’s Rights Activists เรียกร้องอยู่เสมอเพื่อต่อต้านแนวคิดการ Believe Victim โดยมักมีการอ้างอิงว่า ชีวิตผู้ชายจำนวนมากถูกทำลายโดยข้อกล่าวหาประเภทนี้
ในความเป็นจริงแล้วตามที่นักอาชญาวิทยา บียันก้า ฟิเลบอร์น (Bianca Fileborn) เขียนในงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ข้อกล่าวหาการข่มขืนโดยเป็นเท็จนั้นเกิดขึ้นน้อยมากๆ อยู่ที่ราวๆ 5% ซึ่งหนึ่งในวิธีการบอกว่าข้อกล่าวหาเป็น ‘เท็จ’ นั้นมาจากการที่มีหลักฐานไม่เพียงพอหรือผู้กล่าวหาไม่น่าเชื่อถือมากพอ ซึ่งในหลายๆ กรณีของคดีความเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ หลักฐานมักหายาก
เธอเขียนต่อว่าหลายๆ ครั้งสถิติของข้อกล่าวหาการข่มขืนโดยเป็นเท็จนั้นถูกนำไปบิดเบือนว่ามันเกิดขึ้นมากกว่าที่เป็น และการบิดเบือนเหล่านั้นสามารถนำไปสู่ผลที่เป็นภัยต่อเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง เนื่องจากความกลัวที่จะไม่มีใครเชื่อ หรือแย่ยิ่งกว่านั้นคือการถูกโยนความผิดให้ เป็นปัจจัยให้เหยื่อไม่กล้าแจ้งความ
และหากนั่นคือผลของเรื่องที่เราเรียกร้องอยู่ ในกรณีนี้เรากำลังใช้ความเคลื่อนไหวต่อสู้กับอะไร? ค่านิยม? วัฒนธรรมการข่มขืน? หรือผู้ถูกกระทำ?
บ่อยครั้งที่การเคลื่อนไหวมีจุดมุ่งหมายในการขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น แต่บางครั้งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ การเคลื่อนไหวอาจถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการโจมตีกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังเรียกร้องสิทธิของตัวเองอยู่ ซึ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่สมควรเกิดขึ้นเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก