จากไอดอลที่ให้แฟนคลับได้เห็นหน้าค่าตา ทำการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ต ผ่านรายการทีวี หรือมีผลงานเพลงใหม่ๆ ปล่อยออกมาให้ฟังกันประจำ คงเป็นเรื่องยากสำหรับแฟนคลับไอดอล K-Pop เกาหลี เมื่อไอดอลคนโปรดต้องพักจากการเป็นนักร้อง เปลี่ยนจากจับไมค์ ไปจับอาวุธ เข้ากรม ใส่เครื่องแบบทหาร รับใช้ชาติเป็นเวลา 18 เดือน หรือ 1 ปี 6 เดือน
นี่เป็นประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ กับการถกเถียงว่าวงไอดอลที่สร้างชื่อเสียงให้เกาหลีในระดับโลกอย่าง ‘BTS’ ที่การแสดงต่อหน้าเหล่า ARMY (ชื่อแฟนคลับของวง) จะกลายเป็นการต้องเข้ากรมหรือไม่ ในเมื่อกำหนดการรับใช้ชาติของสมาชิกในวง เริ่มใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หรือพวกเขาจะได้รับการยกเว้นผ่อนผัน จากชื่อเสียง และคุณูปการไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรมที่ได้ทำให้กับประเทศ
ซึ่งตอนนี้ กฎหมายการยกเว้นการรับใช้ชาติ หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘BTS Law’ ก็กำลังจะมีการพูดถึงในรัฐสภา แต่ก็มีทั้งเสียงที่สนับสนุน และต่อต้าน ไปถึงการมองว่ากฎหมายนี้เป็นเหมือนการให้สิทธิพิเศษด้วย
การเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติของเกาหลี และกฎหมาย ‘BTS Law’
ด้วยประเทศเกาหลีใต้ ที่ถึงแม้ว่าจะมีการทำข้อตกลงสงบศึกชั่วคราวกับเกาหลีเหนือ แต่ทั้งสองประเทศนั้น ยังคงอยู่ในสถานะการทำสงคราม ทำให้เกาหลีใต้ยังคงเป็นหนึ่งประเทศที่มีระบบการบังคับการเกณฑ์ทหาร โดยกำหนดให้ชายชาวเกาหลีใต้ทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 – 28 ปี และต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 18 เดือน (ระยะเวลาแตกต่างกันตามสังกัด) เว้นแต่พวกเขาจะมีเหตุผลพิเศษในการยกเว้น โดยเหตุผลนั้นแบ่งเป็นสองประเภทคือ 1) มีความบกพร่องหรือความทุพพลภาพ และ 2) อยู่ในสาขาศิลปะหรือกีฬาเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและส่งเสริมศักดิ์ศรีของชาติ
จริงๆ แล้ว สมาชิกวง BTS บางคนนั้นก็มีอายุเกิน 28 ปีมาแล้ว แต่ที่ยังไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารนั้นเป็นเพราะว่าในปี ค.ศ.2020 BTS ได้รับการผ่อนผันเข้าเกณฑ์ทหาร เมื่อรัฐสภาผ่านกฎหมายอนุญาตให้ศิลปินป็อปคัลเจอร์ที่ผ่านการรับรองจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ว่าเป็นผู้ที่มีบทบทสำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมภาพลักษณ์ของเกาหลี ทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก สามารถผ่อนผันการเข้ารับราชการทหาร ได้ถึงอายุ 30 ปี
ส่งผลให้ คิม ซอกจิน (Kim SukJin) หรือ ‘JIN’ และมิน ยุนกิ (Min YoonGi) หรือ ‘SUGA’ สองสมาชิกที่มีอายุมากที่สุดในวงนั้นยังไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่ถึงอย่างนั้นการดีใจของเหล่า ARMY ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะกฎหมายนี้เป็นเพียงแค่การยืดระยะเวลา และในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2022 นี้ จิน จะมีอายุครบ 30 ปี ซึ่งถือเป็นกำหนดที่ต้องรับใช้ชาติอย่างไม่สามารถยืดหรือผ่อนผันไปได้อีกแล้ว จนต้องมีการนำร่างกฎหมาย BTS Law หรือการยกเว้นการเกณฑ์ทหารมาพูดคุยกันอีกครั้ง
กฎหมาย BTS Law หรือร่างกฎหมายนี้ คือการแก้ไขกฎหมายการรับราชการทหารเพื่ออนุญาตให้ศิลปิน K-Pop ที่มีคุณูปการสำคัญในประเทศได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหารนั้น โดยจริงๆ แล้วร่างกฎหมายนี้ เคยถูกเสนอมาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2021 แต่ทางคณะกรรมการล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลง แต่ในเดือนเมษายนนี้ กฎหมายถูกนำมาพูดคุย และทบทวนในสภาอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันของรัฐสภา ซอง อิลจง (Seong IlJong) แห่งพรรค People Power Party ได้ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคของเขา และพรรครัฐบาล Democratic กำลังร่วมมือกันหารือถึงความจำเป็นในการทบทวนเรื่องนี้อย่างโดยเร็ว
“เนื่องจากมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมและผลประโยชน์ของชาติ ผมไม่คิดว่าจะมีความขัดแย้งระหว่างพรรครัฐบาล และฝ่ายค้าน” อิลจงกล่าว พร้อมเสริมว่าทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนในเชิงบวกต่อร่างกฎหมายนี้ และร่างกฎหมายนี้อาจผ่านการอนุมัติในระหว่างการประชุมรัฐสภาชุดพิเศษที่จะจัดในเดือนนี้ ก่อนที่วาระของประธานาธิบดีมุน แจอิน (Moon JaeIn) จะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม
ด้าน HYBE ค่ายต้นสังกัดของวง BTS เอง ก็ออกมาพูดถึงร่างกฎหมายนี้ว่า ขอให้รัฐสภาหาข้อสรุปในประเด็นนี้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในระหว่างการแถลงข่าวคอนเสิร์ตของวงที่ลาสเวกัส ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยทางค่ายเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจก่อนที่วาระของ ประธานาธิบดีมุน แจอินจะสิ้นสุดลง ทั้งฝ่ายสื่อสารของค่ายยังมองว่า หากมีการเลื่อนลงคะแนนเสียงต่อร่างกฎหมายนี้จะส่งผลให้เกิดการอภิปรายอย่างไม่รู้จบ รวมถึงเสริมว่าสมาชิกทั้ง 7 คนของวงมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะจัดการปัญหา แต่ทั้ง 7 ก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย
ทางสมาชิกวงเอง ไม่เคยเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายหรือได้รับสิทธิพิเศษ โดยก่อนหน้านี้เอง สมาชิกวงก็ออกมาพูดถึงการแก้ไขกฎหมาย ทั้งกฎหมายผ่อนผัน และการยกเว้นการรับใช้ชาติว่า พวกเขายินดีที่จะรับใช้ชาติ และปฏิบัติตามหน้าที่ให้กองทัพด้วย
การยกเว้นการรับใช้ชาติ และมุมมองของชาวเกาหลีต่อกฎหมายนี้
ศิลปิน K-Pop ไม่ใช่กลุ่มอาชีพแรก ที่ได้รับการยกเว้นการรับใช้ชาติ อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า โดยภายใต้กฎหมายฉบับปัจจุบัน ผู้ชนะเลิศการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ นักดนตรีคลาสสิกนักเต้นบัลเล่ต์ หรือ นักดนตรี gugak ที่เป็นดนตรีเกาหลีดั้งเดิม ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติจะได้รับการยกเว้นจากรับใช้ชาติ ตัวอย่างเช่น ซน ฮึงมิน (Son HeungMin) นักฟุตบอลชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเล่นให้กับ Tottenham Hotspur ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารในเดือนกันยายนปี ค.ศ.2018 เมื่อทีมชาติเกาหลีเอาชนะญี่ปุ่นเพื่อคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ หรือก่อนหน้านั้น นักเปียโนชาวเกาหลีใต้ชื่อดัง โช ซองจิน (Cho SungJin) ก็ได้รับการยกเว้นเช่นกัน หลังจากที่เขาชนะการแข่งขันเปียโนโชแปงนานาชาติ XVII ในปี ค.ศ.2015
The Center for Military Human Rights Korea (CMHRK) ศูนย์ที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของทหารในเกาหลีใต้นั้น ได้ให้ข้อมูล และความเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย BTS ไว้กับผู้เขียนว่า เกาหลีใต้นั้นได้ริเริ่มให้มีการยกเว้นการรับใช้ชาติตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 ในสมัยของ อดีต ประธานาธิบดีปาร์ค จุงฮี (Park ChungHee) เพื่อรักษาทรัพยากรมนุษย์ในตลาดแรงงานในประเทศ เช่นอาชีพแพทย์ ช่างเทคนิค ฯลฯ และเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่า เกาหลีใต้มีทรัพยากรบุคคลที่ยอดเยี่ยมในด้านกีฬาและศิลปะ
“เนื่องจากไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายที่ชัดเจนว่าเหตุใดวิชาชีพบางประเภทจึงควรได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว ทางเราจึงมองเห็นว่า จะเป็นการดี และสมเหตุสมผลกว่าที่เราจะเริ่มการพูดคุยกันว่า การยกเว้นยังเป็นสิ่งที่ประเทศต้องการหรือไม่ ถ้ายังจำเป็น เราควรจะออกแบบอย่างไร? ถึงกระนั้น ฟังดูชอบด้วยกฎหมายที่ศิลปิน K-Pop ควรได้รับสิทธิประโยชน์ของการยกเว้นทางทหารเช่นเดียวกับกีฬาประเภทอื่นๆ และนักดนตรีคลาสสิก ดังนั้นหากเกาหลีจะรักษาระบบนี้ไว้ ก็ถือว่าสมเหตุสมผลที่จะเปิดโอกาสให้รวม ศิลปิน K-Pop และบุคคลอื่นใดที่ยกย่องสาธารณรัฐเกาหลีตามคำกล่าวอ้างของกฎหมาย
โอกาสผ่านกฎหมาย BTS มีค่อนข้างสูง แม้ว่า ณ จุดนี้จะบอกได้ยาก แต่รัฐสภาอาจตรากฎหมายดังกล่าวได้ ถึงกระนั้น ทางเราคิดว่ามันขึ้นอยู่กับประเด็นทางเพศ และความรู้สึกของผู้ชายคนอื่นๆ ที่แม้ว่าความสำเร็จของพวกเขาจะไม่ใช่แค่ในด้านดนตรี K-Pop เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมด้านสังคม การเมือง และวัฒนธรรมอื่นๆ รวมถึงยังมีมุมมองที่หนักแน่นอื่นๆ ซึ่งมองว่า BTS ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าความรักชาติ” ทั้งศูนย์ CMHRK ยังเสริมว่า นอกจากการถกเถียงเรื่องการยกเว้นการเกณฑ์ทหารแล้ว ควรมีการมองถึงประเด็นชีวิตความเป็นอยู่ของทหารที่ควรจะดีขึ้น และการรับราชการทหารควรมีระยะเวลา และภาระตามสมควร
เพื่อไม่ให้การรับราชการทหารเสียเปรียบ
ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
แต่ถึงอย่างนั้น ร่างกฎหมายนี้ก็มีคนที่มองว่าเป็นพรีวิลเลจ และไม่เห็นด้วยเช่นกัน อย่างชเว พนักงานออฟฟิศวัย 32 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Observer ว่า “ชายชาวเกาหลีใต้ทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านการป้องกันประเทศ” และ “เป็นความจริงที่ BTS ส่งเสริมชื่อเสียงให้กับประเทศ แต่มาตรฐานสำหรับการประเมินชื่อเสียงของประเทศนั้นครุมเครือเกินไป” ทั้งเขายังมองว่า ถ้าศิลปิน K-Pop ได้รับการยกเว้นจากการรับราชการทหาร โดยเริ่มจากวง BTS นั้น น่าจะมีอีกหลายเคสที่เป็นการใช้ช่องทางนี้ในทางที่ผิด “ฉันคิดว่ามันสำคัญที่จะต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้คนดังเหล่านี้สามารถทำงาน และรับใช้ชาติได้”
ชอน นักศึกษามหาวิทยาลัย วัย 25 ปี ที่ผ่านการรับใช้ชาติมาแล้ว ก็ได้บอกกับผู้เขียนว่า เขาเห็นด้วยว่า BTS ได้สร้างรายได้ และชื่อเสียงให้กับประเทศมากมาย แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็มองว่า BTS ควรเข้ารับใช้ชาติ เพื่อความเท่าเทียมของผู้ชายทุกคน และหากสมาชิกวงเข้ารับใช้ชาติพร้อมกันทั้งหมด 7 คน เพื่อที่จะได้เสร็จสิ้นหน้าที่ และกลับมาเป็นศิลปินพร้อมๆ กันน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดมุมมองของเขา
“หาก BTS รับใช้ชาติ จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับกองทัพ รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพให้กับเกาหลีใต้ด้วย” นี่คือความเห็นของลี นักวิชาการ และอาจารย์มหาวิทยาลัย วัย 55 ปี ที่บอกกับผู้เขียนเอง โดยเขามองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีแนวโน้มที่จะผ่าน แต่ส่วนตัวแล้ว เขาก็มองว่าหาก BTS เข้ารับราชการทหารนั้น จะทำให้แฟนคลับของวงหันมาสนใจเรื่องของกองทัพเกาหลีใต้มากขึ้น ทั้งในระยะเวลาที่ BTS รับใช้ชาตินั้น ก็น่าจะนำสันติภาพมาสู่เกาหลีใต้ในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นเหมือนการโปรโมทในทางอ้อมด้วย
ในด้านของกระแสของประชาชนชาวเกาหลี ต่อร่างกฎหมายการยกเว้นนี้ ก็หลากหลาย และแตกต่างกันไป โดยผลการสำรวจของ Gallup Korea ในเดือนเมษา พบว่าจากการสำรวจประชากร 1,004 คน ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ประมาณ 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยกับร่างกฎหมายยกเว้นการเกณฑ์ทหารสำหรับศิลปิน K-Pop และ 33% ไม่เห็นด้วย โดยผู้ชายในวัย 30 ปีมีคะแนนถึง 81% เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
ขณะที่ประเด็นการรับใช้ชาติของ BTS นั้น โพลของ Realmeter ที่สำรวจชาวเกาหลี 500 คนทั่วประเทศพบว่า 65.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าพวกเขาเห็นด้วยว่าสมาชิกของ BTS ควรรับราชการทหารทางเลือก ในขณะที่ 30.2% ไม่เห็นด้วย และ 4.3% แสดงว่าพวกเขาไม่แน่ใจ
โดยการสำรวจความเห็นนี้ มีการเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา โดยตัวผลสำรวจมีระดับความเชื่อมั่นของโพลมากถึง 95% ทั้งตัวเลขยังแสดงให้เห็นว่าอัตราการสนับสนุนสมาชิก BTS ในการรับราชการทหารทางเลือกนั้นสูงในทุกกลุ่มอายุ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอายุ 20 และ 50 ปี ซึ่งเกือบ 70% สนับสนุนแนวคิดนี้การสำรวจยังเผยให้เห็นอีกว่า 74.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า BTS จะสามารถช่วยปรับปรุงสถานะของเกาหลีใต้ และการเสริมสร้างวัฒนธรรมด้วยหน้าที่ทางเลือก
รั้วค่ายทหารเกาหลีใต้ ที่ยังคงมีปัญหาอีกมากมายซุกอยู่ใต้พรม
“ระบบการรับราชการทหารของเกาหลีใต้ จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก หากร่างกฎหมาย BTS ผ่าน เพราะกฎหมายนี้เองมีข้อจำกัดต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบ” นี่คือความคิดเห็นของศูนย์ CMHRK แต่ถึงอย่างนั้นทางศูนย์เองก็ได้พูดถึงประเด็นจำนวนประชากร และอัตราการเกิดที่ตกต่ำของเกาหลีใต้ ว่าส่งผลกระทบต่อระบบเกณฑ์ทหาร รวมถึงการปฏิรูประบบการรับราชการทหารอาจมีอิทธิพลมากขึ้นต่อกฎหมาย BTS ด้วย
“เนื่องจากจำนวนประชากรอายุน้อยของเกาหลีใต้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรักษาขนาดกำลังคนในปัจจุบัน ขณะนี้ผู้คนกำลังพิจารณาที่จะเปลี่ยนระบบไปรับราชการทหารโดยสมัครใจ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ตลอดจนจีน และสหรัฐฯ จึงไม่ง่ายเลยที่จะยุติระบบทหารภาคบังคับ”
นอกจากนี้เอง คนไทยเรามักรับรู้เรื่องราวของการเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้ จากไอดอลที่ต้องพักงาน ไปรับใช้ชาติ แต่ถึงอย่างนั้น ศูนย์ CMHRK ก็ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในค่ายทหารอยู่ เนื่องจากยังมีการล่วงละเมิด และปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ การทำร้ายร่างกาย หรือการใช้อำนาจของทหารระดับสูง
“CMHRK เชื่อว่าทหารควรได้รับสิทธิเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ เว้นแต่ว่าการรับราชการทหารและภารกิจนั้น จะมีเลเวลของการกำหนดควบคุมไว้” ทางศูนย์ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาในรั้วทหาร ผ่านซีรีส์เกาหลี เรื่อง D.P. ที่ฉายทาง Netflix ว่า เป็นการ ก็สะท้อนให้เห็นเรื่องจริงของระบบการรับราชการเกาหลีใต้ “ยังคงมีการทุบตี การล่วงละเมิดทางเพศ และทางวาจา และการทุจริตอื่นๆ ในกองทัพเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นอำนาจที่ไม่ได้รับการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างเหมาะสมในประเทศนี้ ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ.2021 มีทหารถึง 83 นายที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 โดยอย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้มันซ่อนอยู่เบื้องหลังชื่อของ ‘ความมั่นคงของชาติ’ และ ‘เกาหลีเหนือ’”
สุดท้ายนี้ การควบคุม หรือจับตาของพลเรือนต่อกองทัพไม่ได้หมายถึงการปรับปรุงสวัสดิการของทหารที่รับราชการในประเทศเท่านั้น แต่จากประสบการณ์ของประชากรส่วนใหญ่ ชีวิตของทหารส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคมโดยรวม ความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในด้านความมั่นคง กองกำลังติดอาวุธ ตั้งอยู่บนความหวังว่าผู้ที่ได้รับการปฏิบัติในฐานะผู้ถือสิทธิจะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของสังคมประชาธิปไตยที่สงบสุข” ศูนย์ CMHRK กล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก