วันที่ 1 กันยายนที่จะถึงนี้คือฤกษ์ส่งทหารกองประจำการผลัดที่ 1 ประจำปี 2563 (1/63) เข้าหน่วย ซึ่งวันดังกล่าวจะกลายเป็นวันที่ผู้สมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือผู้ที่จับได้ใบแดงไม่! มี! วัน! ลืม! เพราะแม้ช่วงเวลานั้นจะผ่านพ้นไปนานแล้ว แต่ฉันก็ยังจำวันแรกและชีวิตการฝึกในฐานะทหารใหม่ได้ชัดเจน
คืนก่อนวันส่งตัว ฉันนอนไม่หลับแม้แต่นิดเดียว จิตใจจดจ่ออยู่ที่อนาคตอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ว่าชีวิตในค่ายทหารจะเป็นอย่างไร จะถูกทำโทษหรือไม่ จะโดนเพื่อนแกล้งหรือเปล่า ฯลฯ รู้สึกตัวอีกที ท้องฟ้าก็เริ่มฉายแสงรำไร ฉันจึงเลิกข่มตานอนและลุกไปอาบน้ำ
ปกติแล้ว ฉันอาบน้ำเร็วที่สุดในบ้าน แต่เช้าวันนี้กลับยืดยาน ฉันปล่อยให้น้ำจากฝักบัวเหนือหัวไหลรินเกินความจำเป็น แต่ช่างปะไร อีกไม่นานเสรีภาพในการอาบน้ำของฉันก็จะถูกริดรอน เช่นเดียวกับเสรีภาพด้านอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าวันนี้ฉันใช้น้ำเปลืองกว่าเดิมนิดหน่อย คงไม่มีใครว่าอะไร
แม่เตรียมของใช้จำเป็น เช่น แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว แป้งฝุ่น และยาสามัญประจำบ้านใส่เป้สะพายหลังใบเล็กไว้ให้ฉัน ก่อนขับจักรยานยนต์ออกไปเปิดร้านขายของ แต่ฉันก็ปล่อยไว้บนเตียงตามเดิม เพราะสุดท้ายแล้ว ฉันก็เอาสิ่งของจากโลกภายนอกเข้าหน่วยไม่ได้อยู่ดี
พ่อขับรถยนต์มาส่งฉันที่อำเภอ บทสนทนาระหว่างทางไม่มีอะไรพิเศษ ครอบครัวเราไม่ค่อยแสดงความห่วงใยต่อกันอย่างโจ่งแจ้งมาแต่ไหนแต่ไร ฉันต้องขึ้นรถบัสหน้าอำเภอตอนเจ็ดโมงครึ่ง เพื่อไปคัดเลือกตัวที่หน่วยใหญ่อีกจังหวัดหนึ่ง ถึงจะรู้ว่าจะถูกส่งไปประจำการที่หน่วยใด ด้วยความที่ไม่อยากให้พ่อรอ ฉันจึงบอกให้พ่อกลับก่อนและเดินไปรวมแถวกับว่าที่ทหารใหม่คนอื่นๆ
กว่ารถบัสจะมาถึงก็เกือบแปดโมง แม้ฉันพยายามคิดแง่บวกว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี แต่ความจริงแล้ว ฉันก็แค่อายที่จะยอมรับว่าฉันกลัว พ่อแม่และญาติพี่น้องของคนอื่นๆ เดินมาส่งลูกหลานตัวเองถึงประตูรถ พวกเขากอดลากันอย่างอาวรณ์ บางคนน้ำตาอาบแก้มเปียกโชก ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็ดูเป็นช่วงเวลาแสนอบอุ่น รู้อย่างนี้ฉันบอกให้พ่อรออีกสักหน่อยก็คงดี
รถบัสค่อยๆ เคลื่อนตัว หลายคนในรถโบกมือลาครอบครัวอย่างเศร้าสร้อย ทุกคนต่างกังวลกับสังคมใหม่ที่กำลังเดินทางไปเจอ ฉันเหลือบมองกลุ่มคนที่โบกมือลากลับมาจากด้านนอก และสะดุดตากับรถฟอร์จูนเนอร์สีดำอันคุ้นเคย พ่อกำลังยืนพิงกระบะรถและหันหน้ามาทางรถบัสเหมือนคนอื่นๆ ฉันดีใจที่เห็นหน้าพ่ออีกครั้งจึงส่งยิ้มให้ แต่ดูเหมือนว่าพ่อจะไม่เห็น และแล้ว… ฉันก็น้ำตาไหลเช่นกัน
รถบัสส่งฉันที่หน่วยใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแจงว่าใครจะถูกส่งเข้าหน่วยใด เพราะกองทัพบกมีหน่วยทหารหลายเหล่า เช่น ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ฯลฯ โดยทหารเจ้าหน้าที่จะแบ่งกลุ่มพวกฉันตามลักษณะภายนอก พวกเขาคัดคนตัวสูง สุขภาพดี หุ่นเฟิร์ม และไม่มีรอยสักส่งเข้าหน่วยทหารรักษาพระองค์ ซึ่งฉันไม่รู้เหมือนกันว่าเกณฑ์จำเพาะเช่นนี้มีที่มาจากอะไร
ด้วยความที่ฉันผอมเพรียวและสายตาสั้นเลยถูกแยกมาอยู่กลุ่มคนทั่วไป ซึ่งเสียงซุบซิบรอบข้างต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โชคดีแล้วที่พวกเราถูกคัดออก” เนื่องจากหน่วยทหารรักษาพระองค์ขึ้นชื่อว่าเคร่งครัดด้านระเบียบวินัยมากที่สุด
แม้จะมารอตั้งแต่สิบโมง แต่กว่าฉันจะรู้ผล
ว่าต้องประจำการที่หน่วยใดก็ตอนสามทุ่มกว่าๆ
ซึ่งฉันโชคดีที่ถูกส่งเข้าหน่วยทหารราบในจังหวัดบ้านเกิด รถบรรทุกทหารนำฉันและผองเพื่อนที่ได้อยู่หน่วยเดียวกันกลับจังหวัดเดิมที่ฉันเพิ่งจากมาเมื่อตอนเช้า บรรยากาศบนรถเงียบเชียบ ทุกคนเหมือนคิดอะไรอยู่ตลอดเวลา ฉันเองก็เช่นกัน เพราะความจริงที่ฉันไม่อยากให้มาถึงกำลังคืบใกล้เข้ามาทุกๆ กิโลเมตรที่รถเคลื่อนผ่าน
ทหารรุ่นพี่รอตัดผมทหารใหม่อยู่ในอาคารศูนย์ประชุม เนื่องจากต้องตัดผมให้คนร่วมร้อย พวกเขาจึงรีบไถบัตตาเลี่ยนเบอร์ศูนย์ซึ่งสั้นที่สุด ส่งผลให้ฉันและเพื่อนๆ หัวโล้นประหนึ่งผู้ร่วมพิธีอุปสมบทหมู่ช่วงเข้าพรรษา เมื่อตัดผมเสร็จ ก็ถึงคราวที่ทหารใหม่ต้องแก้ผ้าล่อนจ้อนและเปลี่ยนเป็นชุดที่กองทัพบกเตรียมไว้ นั่นคือเสื้อยืดคอวีสีเขียวกากีและกางเกงขาสั้นสีดำ (กางเกงในก็ยังต้องเป็นยี่ห้อกองทัพบก!)
ส่วนสิ่งของอื่นๆ ที่นำติดตัวมาต้องใส่ถุงพลาสติกและฝากให้หน่วยเก็บไว้ทั้งหมด พอได้รับของใช้ส่วนตัว ซึ่งมีตั้งแต่เครื่องแบบทหาร ชุดลำลอง อุปกรณ์อาบน้ำ ไม้แขวนเสื้อ มีดโกนหนวด ถังและแปรงซักผ้า ผงซักฟองหนึ่งห่อ ผ้าห่ม หมอน และมุ้งแล้ว ครูฝึกก็พาทหารใหม่ไปเก็บของที่โรงนอน
โรงนอนมีลักษณะเป็นโถงกว้าง มีเตียงเรียงต่อกันตามจำนวนทหารใหม่ทั้งหมด แต่ละเตียงมีตู้สำหรับเก็บของ และพัดลมเพดานเรียงห่างๆ อยู่ด้านบน แต่อนิจจา พัดลมเหนือหัวฉันเปิดไม่ติด! ทำให้ฉันนอนอย่างร้อนรุ่มตลอดการฝึกทหารใหม่
หลังจากรู้ว่าใครนอนเตียงไหนแล้ว ครูฝึกก็สั่งให้หยิบอุปกรณ์อาบน้ำและเดินเรียงแถวไปยืนล้อมอ่างน้ำทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ในห้องอาบน้ำ จากนั้นบอกให้พวกฉันถอดเสื้อผ้าอย่างรวดเร็ว พลางตะโกนเสียงดังว่าให้เวลาอาบน้ำเพียงสามนาที เสร็จก็เสร็จ ไม่เสร็จก็ต้องแต่งตัวทั้งที่ฟองยาสระผมยังเต็มหัวเข้านอน อาจเพราะทุกอย่างเกิดขึ้นฉับพลันและชุลมุน ฉันเลยไม่เขินอายแม้จะต้องโชว์ร่างเปลือยเปล่าต่อหน้าคนจำนวนมาก
คืนแรกหลับไม่ยากอย่างที่ฉันคิด อาจเพราะฉันเพลียจากการไม่ได้นอนคืนก่อน ทำให้หลับทันทีที่ครูฝึกเป่านกหวีดเป็นสัญญาณนอน แต่เพื่อนที่นอนเตียงข้างฉัน หรือที่ทหารใหม่เรียกกันว่าบัดดี้ กลับนอนสะอื้นและพลิกไปพลิกมาจนฉันกึ่งหลับกึ่งตื่นตลอดคืน แต่ฉันก็ไม่ว่าอะไร เพราะเข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไร
การฝึกทหารใหม่ใช้เวลา 10 สัปดาห์
สัปดาห์แรกล้วนวุ่นวายกับงานเอกสาร
แต่ละวันมีเอกสารให้กรอกหลายสิบแผ่น ทั้งประวัติส่วนตัว ใบสมัครบัญชีธนาคารสำหรับรับเงินเดือน และเอกสารแสดงความยินยอมให้ย้ายทะเบียนบ้านมาที่หน่วย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันค่อยๆ ปรับตัวกับชีวิตทหารใหม่ทีละนิด
เมื่อเอกสารกองพะเนินถูกกรอกจนหมด ก็หมายถึงเวลาแห่งการฝึกทหารใหม่เต็มรูปแบบ! โดยตลอดห้วงฝึก ทหารใหม่จะถูกควบคุมและจับตามองแทบทุกฝีก้าว ไม่สามารถใช้ชีวิตเสรีเหมือนยามที่อยู่โลกภายนอก ชีวิตประจำวันจะหมุนวนตามระเบียบปฏิบัติประจำ หรือที่เรียกกันอย่างย่อว่ารปจ.
นั่นคือตื่นนอนตอนตีห้า ออกกำลังกายตอนตีห้าครึ่ง อาบน้ำตอนหกโมง กินข้าวเช้าตอนเจ็ดโมง ฝึกภาคเช้าตอนแปดโมง กินข้าวเที่ยงตอนเที่ยง นอนกลางวันตอนเที่ยงครึ่ง ฝึกภาคบ่ายอีกทีตอนบ่ายโมงครึ่ง กินข้าวเย็นตอนหกโมง อาบน้ำตอนหนึ่งทุ่ม อบรมภาคค่ำตอนสองทุ่ม และนอนตอนสามทุ่ม
การทดสอบสมรรถภาพทางกายตอนเช้ามีทั้งหมดสี่อย่าง ได้แก่ วิ่ง ดึงข้อ ลุกนั่ง และดันพื้น โดยสาเหตุที่ต้องฝึกฝนทักษะเหล่านี้ทุกวัน ก็เพื่อให้ทหารใหม่ผ่านการประเมินด้านสภาพร่างกายช่วงการฝึกสัปดาห์สุดท้าย และหน่วยถูกประเมินว่ามีประสิทธิภาพในการฝึกทหารใหม่ให้แข็งแรงตามเกณฑ์ที่กำหนด
ทั้งนี้ เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ ฉันต้องวิ่งระยะทาง 2 กิโลเมตรให้เร็วกว่า 12 นาที, ดึงข้อ (การใช้มือทั้งสองข้างกำคานเหนือหัว แล้วดึงลำตัวขึ้นจนใบหน้าสูงกว่าคานดังกล่าว) 7 ครั้ง, ลุกนั่ง (การกึ่งนั่งกึ่งนอน โดยลำตัวครึ่งล่างขนานกับพื้น ส่วนลำตัวครึ่งบนตั้งฉาก จากนั้นก็เอนลำตัวครึ่งบนขึ้น-ลง นับเป็นหนึ่งครั้ง) 40 ครั้ง ภายใน 2 นาที, และดันพื้น (วิดพื้น) ให้ได้ 35 ครั้ง ภายใน 2 นาที
ซึ่งแน่นอนว่า ฉันไม่ผ่านเลยสักอย่าง! เพราะชีวิตปกติทำงานในสำนักงาน ไม่ได้ออกกำลังกายจริงจัง โดยผลกรรมของการทดสอบไม่ผ่านก็คือ ทุกคืนหลังจากเพื่อนๆ ที่ทดสอบผ่านเข้านอน ฉันและคนที่ไม่ผ่านต้องเข้าคอร์สพิเศษจนถึงสี่ทุ่มครึ่ง
หรือบางคืนอาจลากยาวไปจนถึงห้าทุ่ม
ซึ่งเป็นการออกกำลังกายท่านั้นๆ ซ้ำจนกว่ากล้ามเนื้อจะคุ้นชิน
แต่หลังจากเข้าคอร์สพิเศษได้แปดสัปดาห์ ในที่สุด ฉันก็ผ่านทุกการทดสอบ! ทำให้ได้นอนเต็มอิ่มจริงๆ เพียงสองสัปดาห์เท่านั้น ทั้งนี้ สุดท้ายแล้วก็มีคนที่ทดสอบไม่ผ่านจนกระทั่งฝึกจบเช่นกัน แต่ก็แค่ไม่กี่สิบคน ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีผลกระทบอะไร เพราะเป็นเพียงการทดสอบเพื่อสังเกตความพัฒนาทางกายภาพของทหารใหม่เท่านั้น แต่ถ้าทดสอบไม่ผ่าน ก็ต้องทุกข์ทนกับการนอนดึกตลอดสิบสัปดาห์
ถัดจากการออกกำลังกายก็คือการอาบน้ำและกินข้าว เนื่องจากทหารใหม่กินข้าววันละสามมื้อเท่านั้น และมีมื้อพิเศษก่อนนอนเป็นขนมปังราคาถูกกับน้ำอัดลมอีกหนึ่งมื้อ ทำให้ทุกมื้อที่อาหารตกท้องสำคัญมาก เพราะไม่สามารถกินอะไรนอกเหนือช่วงเวลาดังกล่าวได้ ทว่า ต้องบริหารการกินให้พอดี ไม่อิ่มเกินไป แต่ก็ไม่น้อยเกินไป เพราะต้องใช้พลังงานอย่างหนักหน่วงตลอดวัน
ด้วยความที่ทหารใหม่รู้ถึงความสำคัญของอาหารแต่ละมื้อเป็นอย่างดี ทุกคนจึงพร้อมใจกินให้เงียบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเพียงแค่เสียงช้อนขูดถาดหลุมที่ใช้ใส่อาหารดังขึ้นเพียงครั้งเดียว อาจหมายความว่า พวกฉันต้องวิ่งออกไปตั้งแถวเพื่อกลับโรงนอนทันที! มิหนำซ้ำ ยังอาจถูกทำโทษด้วยการสั่งให้เดินไปดันพื้นไปจนเหนื่อยหอบ ด้วยเหตุผลที่ครูฝึกอ้างว่า “ถ้าทหารกินเสียงดังยามศึกสงคราม ข้าศึกก็ได้ยินกันพอดี” ซึ่งฉันคิดว่าไม่สมเหตุสมผลเท่าไร
หรือถ้าหากสิบเวร (ทหารยศตั้งแต่สิบตรีจนถึงจ่าสิบเอก มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในแต่ละวัน) ใจดีหน่อย เขาก็อาจให้กินต่อได้ แต่มักเป็นการกินอย่างไม่อภิรมย์ เช่น การเทของหวานและกับข้าวทุกอย่างรวมกัน แล้วใช้มือขยำกิน เป็นต้น
แม้ว่าอาหารแต่ละวันจะซ้ำซาก เพราะมีเมนูเหมือนเดิมทุกวัน เช่น มื้อเช้าวันจันทร์คือไข่พะโล้กับมะเขือผัดพริก, มื้อเย็นวันศุกร์คือผัดกะหล่ำปลี แกงเลียงปลาทู และเต้าส่วน (มื้อกลางวันและมื้อเย็นมีของหวานเพิ่มอีกหนึ่งอย่าง) แต่ทหารใหม่ก็จัดการอย่างราบคาบ ทั้งยังเติมเพิ่มกันอย่างไม่บันยะบันยังเท่าที่ทำได้ในเวลาอันน้อยนิด ภายใต้ความเป็นระเบียบและเงียบเชียบ ซึ่งถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งพลาดขึ้นมาละก็… ยิ้มแห้งแน่นอน
สาเหตุที่ทหารใหม่ตั้งใจกินข้าวอย่างเป็นระเบียบมาจากการฝึกล้วนๆ เนื่องจากถ้าทำผิดระเบียบจนอดกินข้าวหนึ่งมื้อ ก็จะไม่มีพลังงานไว้สู้กับการฝึกที่อัดแน่นทั้งภาคเช้า ภาคบ่าย และการอบรมภาคค่ำ ทั้งนี้ รูปแบบการฝึกแต่ละวิชาขึ้นอยู่กับครูฝึกแต่ละคน บางคนใจดี รีบสอนให้เสร็จแล้วปล่อยนอนก็มี, บางคนใจโหด แค่ทหารใหม่ทำพลาดเล็กน้อยก็ลงโทษกันหนักหนา
การลงโทษทหารใหม่ที่ครูฝึกนิยมคือการให้ออกกำลังกายอย่างหนัก
เพราะไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นข่าวฉาวว่าลงไม้ลงมือกับทหารใหม่
โดยวิธีลงโทษที่นิยมมากที่สุดคือการพุ่งหลัง ซึ่งเป็นการยืนตัวตรงแล้วกระโดดเอาแขนทั้งสองข้างลงไปยันกับพื้น ในขณะที่ยืดขาออกไปข้างหลังจนสุดให้อยู่ในท่าดันพื้น จากนั้นกระเด้งตัวกลับเป็นท่ายืนตรงอีกครั้ง ถึงจะนับหนึ่งครั้ง โดยจำนวนครั้งที่ต้องทำขึ้นกับความหนักเบาของความผิด ซึ่งมักเริ่มต้นที่ 100 ครั้ง และเพิ่มขึ้นได้สูงสุดจนถึง 1,000 ครั้ง (เท่าที่ฉันเคยโดน)
วิชาที่ทหารใหม่ต้องฝึกมีหลากหลาย มีทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ภาควิชาการคือการเจาะลึกรายละเอียดต่างๆ เช่น ทหารราบคือหน่วยที่ต้องรบด้วยการเดินเท้า หรือปืนที่ทหารราบใช้คือรุ่นอะไร และมีระยะยิงไกลกี่เมตร เป็นต้น ส่วนภาคปฏิบัติจะแบ่งเป็นสถานี อาทิ สถานีการฝึกท่ามือเปล่า (ท่าแสดงความเคารพต่างๆ) และสถานีการฝึกท่าพร้อมอาวุธ (ท่าแสดงความเคารพหรือท่ายืนเมื่อถืออาวุธประจำกายอยู่)
ฉันชอบสถานีลาดตระเวนหาข่าวมากที่สุด ในสถานีนี้ ทหารใหม่จะถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยแต่ละกลุ่มต้องส่งตัวแทนออกไปสืบว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังวางแผนอะไร ในขณะที่สมาชิกที่เหลือรอฟังความคืบหน้าจากวิทยุสื่อสาร ซึ่งกว่าจะสอดแนมได้ว่าศัตรูกำลังทำอะไร ฉันในฐานะหน่วยสอดแนมต้องมุดท่อ คลานในพงหญ้า หรือซุ่มอยู่ในน้ำเพื่อพรางตัวอย่างสมบุกสมบัน เพราะถ้าศัตรูจับได้ ก็จะถูกจับเป็นตัวประกัน ทำให้เพื่อนๆ ในกลุ่มถูกลงโทษขั้นต่ำ 100 ครั้ง
ทั้งนี้ สถานีที่ฉันเกลียดเข้าไส้คือสถานียิงปืนและสถานีขว้างระเบิด เพราะทั้งสองสถานีไม่เหมาะกับคนสายตาสั้นอย่างฉัน อีกทั้งการยิงปืนที่บรรจุลูกกระสุนจริงยังทำให้ฉันลนลาน และปฏิบัติผิดขั้นตอนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เวลาที่ฉันเลิ่กลั่กจึงมักถูกลงโทษอย่างจริงจังจนเหนื่อยหอบ ทำให้ฉันฝังใจและเกลียดสถานียิงปืนโดยปริยาย ส่วนสถานีขว้างระเบิดนั้น ด้วยความที่พละกำลังแขนฉันไม่เพียงพอ ทำให้ขว้างไม่เข้าเป้า หรือขว้างเบี่ยงไปทางเพื่อนๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งโชคดีที่สถานีนี้ใช้ระเบิดปลอม!
อาจเพราะฉันเป็นคนที่ใช้ชีวิตเต็มที่อยู่ตลอดเวลา จากตอนแรกที่กังวลว่าจะปรับตัวไม่ได้จนนอนไม่หลับ ก็กลายเป็นค่อยๆ ยอมรับและปรับตัวต่อชะตากรรมในฐานะทหารใหม่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีปัจจัยหลักๆ ที่ช่วยให้ฉันสู้กับชีวิตอันสูญสิ้นอิสรภาพตลอดการฝึกอยู่ด้วยกันสองปัจจัย
ปัจจัยแรกคือเพื่อนๆ แม้ว่าแต่ละคนจะมีพื้นเพต่างกันสุดขั้ว บางคนทำงานได้เงินเดือนครึ่งแสน บางคนเข้า-ออกเรือนจำเป็นว่าเล่น บางคนเป็นพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ (แต่เขาบอกว่าเลิกแล้ว!) บางคนทำไร่ไถนา บางคนก็ดมกาวตั้งแต่เด็กจนสติเลอะเลือน แต่ทุกคนก็เข้าอกเข้าใจกันดี เนื่องจากประสบชะตากรรมเดียวกัน
เวลาที่ฉันคิดถึงบ้านหนักเข้า เพื่อนๆ ก็จะคอยปลอบ หรือเวลาที่ใครคนหนึ่งทำผิดจนโดนลงโทษเดี่ยว ซึ่งก็มีบางครั้งที่ถึงเนื้อถึงตัวอยู่บ้าง เพื่อนๆ ก็จะเข้าไปให้กำลังใจ สุดท้ายแล้ว พอรู้สึกว่าไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้อยู่คนเดียว มันก็ทำให้มีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมา
ส่วนปัจจัยที่สองก็คือการผ่านไปของเวลา ฉันระลึกอยู่เสมอว่าเวลาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตลอด เพราะฉะนั้น ทุกนาทีที่ผ่านไปก็หมายความว่าชีวิตในกรงที่มองไม่เห็นแห่งนี้ใกล้จะหมดลงเช่นกัน ทุกครั้งที่ทหารใหม่ตั้งแถวเดินไปไหนก็ตาม จะมีเพลงที่ต้องร้องกำกับการก้าวเท้า ซึ่งมีอยู่เพลงหนึ่งที่ฉันชอบเป็นพิเศษ เพลงนั้นมีชื่อว่าจากยอดดอย
ถ้าว่ากันตามจริง จากยอดดอย เป็นเพลงที่มีความหมายเลี่ยนพิกล และยังปลุกจิตสำนึกให้รักชาติอย่างสุดซึ้ง แต่ทุกครั้งที่ฉันร้องประโยคสุดท้ายของเพลง โดยเฉพาะตอนที่เดินกลับจากการกินข้าวเย็น ซึ่งหมายความว่าการฝึกกลางแดดจ้าและเหน็ดเหนื่อยประจำวันจบลงอย่างไม่เป็นทางการแล้ว โดยเนื้อเพลงท่อนนั้นมีอยู่ว่า ‘ขอให้รอ วันรุ่ง ของพรุ่งนี้, ฟ้าคงมี พรชัย ให้กับเรา’
ซึ่งก็จริงตามนั้น เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น วันใหม่ก็จะเริ่มขึ้น และก็จะวนเวียนต่อไปเรื่อยๆ จนถึงสักวันหนึ่งที่ฟ้าจะมีพรชัยให้กับฉัน หรือก็คือวันที่การฝึกจบลงนั่นเอง!
ถึงว่าที่ทหารใหม่ทุกคน…
ฉันรู้ว่ามันน่าหงุดหงิดที่ประเทศไทยยังมีการเกณฑ์ทหารอยู่ แต่ในเมื่อมันยังมีอยู่ เรายังต้องปฏิบัติตามต่อไป ฉันก็ขออวยพรให้ทุกคนเข้มแข็ง เพราะสุดท้ายแล้วมันก็จะผ่านพ้นไป ทั้งนี้ ถ้าหากคุณคิดว่าระบบเหล่านี้ควรยุติเสียที ก่อนที่จะถูกยึดบัตรประชาชน รายชื่อของคุณอาจช่วยเปลี่ยนแปลงอนาคตให้คนรุ่นหลังได้ ด้วยการส่งสำเนาบัตรประชาชนไปร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ตามขั้นตอนจากเว็บไซต์ iLaw