“คุณคิดว่า ‘ขบวนเสด็จ’ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่?”
ถ้อยความคำถามอย่างเรียบง่าย ปรากฏอยู่บนกระดาษขาวแผ่นใหญ่ ที่ถูกนำออกมากาง ณ ลานน้ำพุ หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน สิ่งที่หญิงสาวผู้ถือป้ายกระดาษต้องการ ก็แค่เพียงความคิดเห็นของประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมา
คาดเดาได้ไม่ยาก ว่ากระดาษแผ่นนั้น กับการออกไป ‘ทำโพล’ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 จะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ใครบางคนต้องถูกจองจำในเรือนจำนานกว่า 3 เดือน แม้จะยังไม่มีคำตัดสินของศาลว่าทำผิดกฎหมายจริงๆ หรือไม่ก็ตาม
หนึ่งในนั้น คือ ใบปอ–ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ นักกิจกรรมจากกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ ผู้ร่วมถือป้ายในวันนั้น
และอีกคน คือ บุ้ง–เนติพร เสน่ห์สังคม พี่คนโตของกลุ่ม ตัวตั้งตัวตีที่ชักชวนเพื่อนๆ ที่รู้จักกัน ให้มาร่วม ‘ตั้งคำถาม’ ผ่านการทำโพล จนเกิดเป็นการรวมกลุ่มของทะลุวัง
94 วัน คือจำนวนวันทั้งหมดที่บุ้งและใบปอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นว่าทั้งสองคนทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จนมีคำสั่งเพิกถอนประกันตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565
และเมื่อมองการคุมขังครั้งนี้ รวมไปถึงการยกคำร้องขอประกันตัวหลายต่อหลายครั้ง ว่าไม่เป็นธรรม ทั้งสองจึงประกาศอดอาหารตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว รวมทั้งสิ้นกว่า 64 วัน จนสุดท้ายศาลมีคำสั่งให้ประกันเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565
หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อทั้งสองฟื้นฟูสภาพร่างกายจนออกจากโรงพยาบาลแล้ว The MATTER จึงติดต่อไปเพื่อขอคุยกับบุ้งและใบปอ สิ่งที่เราอยากรู้มากที่สุด คือ เหตุผลที่ทำให้ทั้งสองคนออกมาเคลื่อนไหว และเหตุผลอะไร (ถ้ามี) ที่ผู้มีอำนาจใช้จองจำพวกเธอ
ทั้งสองตกลงมาพูดคุยกับเราในช่วงบ่ายวันศุกร์วันหนึ่ง มีเวลาพอให้ละเลียดถามไปทีละคำถาม ก่อนเงื่อนไขประกันจะสั่งให้อิสรภาพของพวกเธอจะต้องถูกจำกัดอยู่แต่ในเคหสถาน*
[ *เงื่อนไขการประกันตัวเดิมที่ศาลกำหนดคือ ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19.00 น. ถึง 6.00 น. ของวันถัดไป แต่หลังจากวันที่ 5 กันยายน 2565 เงื่อนไขก็ถูกเปลี่ยนเป็น 16.00-6.00 น. พร้อมทั้งให้ติดกำไล EM เพิ่มเติม ]
1.
ก่อนจะตาสว่าง
“เมื่อก่อนบุ้งเคยทําเรื่องที่มันผิดร้ายแรงมากเลย คือ เคยสนับสนุน กปปส.” บุ้งเป็นฝ่ายเริ่มเล่าก่อน
น่าจะพอบอกได้ว่า บุ้งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ค่อยได้มีใครเห็นหน้าค่าตามาก่อนมากนัก จนกระทั่งเธอและใบปอประกาศอดอาหารในเรือนจำ ถึงจะพอเริ่มเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาบ้าง ก่อนจะเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุดในช่วงที่เธอมีอาการวิกฤตจนต้องส่งตัวไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
นี่เป็นเพราะความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มว่าจะไม่ ‘เปิดหน้า’ (ที่สุดท้ายก็ไม่เป็นผลอยู่ดี) “บุ้งจะอยู่ข้างหลัง ก่อนหน้านี้บุ้งจะไม่ได้อยู่ข้างหน้า เป็นคนถือโพลกับน้องๆ แต่เป็นคนที่ดูแลอยู่ข้างหลังมาโดยตลอด”
แต่ความมุ่งมั่นอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการตั้งคำถามของเธอ ก็ไม่แพ้คนอื่นๆ ในกลุ่มเลย ทั้งหมดนี้ ปูมหลังของเธอในอดีตก็เป็นส่วนสำคัญ บุ้งเกิดมาครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นผู้พิพากษา ทำให้เธอเข้าข่ายสิ่งที่คนในวงการจะเรียกว่า ‘ลูกหลานตุลาการ’
ในครอบครัวเขาก็จะสอนให้เราเห็นความยุติธรรม มันจะมีคำสอนของคุณพ่อที่บอกว่า อาชีพของพ่อเป็นอาชีพที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ฉะนั้น ลูกต้องซึมซับมันไปนะ
แต่ในขณะเดียวกัน การที่เธอ ‘คลุกคลีวิ่งเล่นอยู่ในศาล’ มาโดยตลอด ก็ทำให้เห็นถึงความผิดปกติในวงการตุลาการอยู่มาก สุดท้ายจึงเกิดเป็นคำถามในใจว่า ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้กับประชาชนได้จริงๆ ใช่ไหม
เวลาล่วงเลย เมื่อความจริงค่อยๆ เปิดเผยขึ้นในใจเธอเรื่อยๆ กระบวนการ ‘ตาสว่าง’ ของบุ้งจึงเริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ที่ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมของเธอที่ผ่านการรับรู้มาจากข่าวช่องฟรีทีวี
จนทำให้ปักใจเชื่อไปว่า เหตุการณ์ครั้งนั้น มีเรื่องอย่าง ‘ชายชุดดำ’ หรือคนเสื้อแดง ‘เผาบ้านเผาเมือง’ หรือแม้แต่เหตุการณ์ ‘Big Cleaning Day’ ภายหลังการสลายการชุมนุม ที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นเรื่อง ‘สนุก’ จนทำให้คนในวงการบันเทิงต่างพากันหลั่งไหลมาทำความสะอาดถนนที่เปื้อนเลือดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2553
แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บุ้งบอกว่า “มันเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนคนธรรมดาจะถือสไนเปอร์ แล้วไปยิงหัวใครได้” โดยเฉพาะเมื่อได้รับรู้ข้อมูลจากคณะก้าวหน้าในวาระครบรอบ 10 ปี การสลายการชุมนุม ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดมากขึ้นว่า การรับรู้ที่ผ่านมาไม่สมเหตุสมผลแค่ไหน
“พอได้ข้อมูลทั้งหมดปุ๊บ บุ้งมานั่งประมวลผลกับตัวเองว่า เฮ้ย กูทําอะไรลงไป ก่อนหน้านี้ทําอะไรลงไป ถ้ากลับกัน เป็นคนรักของเราอยู่ตรงนั้น แล้วเขาไม่สามารถที่จะพิสูจน์อะไรได้เลยว่า คนที่เรารักตายยังไง เขาไม่สามารถทวงความยุติธรรมกลับคืนมาได้เลย อย่างนี้เราจะมีชีวิตต่อไปยังไง”
เช่นเดียวกับใบปอ ที่ยอมรับว่าตัวเองก็เคยสนับสนุน กปปส. มาก่อน
“เมื่อก่อนก็เคยเป็นสลิ่ม” ใบปอเล่า “แต่ว่าตอนนั้นยังเด็ก และพ่อแม่ก็พูดให้ฟัง ในใจเราสนใจทางการเมืองมาอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเป็นของอีกฝั่งหนึ่ง เราก็ได้รับสารมาจากพ่อแม่”
ไม่ต่างจากกรณีของบุ้งมากนัก ใบปอเปิดใจว่า ครอบครัวของเธอเองก็เป็นส่วนสำคัญที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ออกมาเคลื่อนไหว หากแต่ไม่ใช่ในเชิงสนับสนุน “เรายังถูกตีกรอบ มีอะไรหลายอย่างที่ยังกดเรา ไม่ให้เราสามารถออกมาเคลื่อนไหว ก็เพราะครอบครัวกับเราเห็นต่างทางการเมืองกัน” เธอว่า
“พ่อแม่ค่อนข้างเข้มงวด และปิดกั้นการแสดงออก เราเห็นเลยว่า อันนี้มันเหมือนเป็นเผด็จการในบ้าน ก่อนที่เราจะเห็นเผด็จการในประเทศ เราไม่สามารถแสดงออกอะไรได้ เราไม่สามารถมีจุดยืนของตัวเองได้ แม้กระทั่งในบ้านเรา”
ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างใบปอกับที่บ้านสั่งสมทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เธอโตขึ้น และได้ไป ‘เห็น’ อะไรหลายๆ อย่าง ที่ไม่เข้ารูปเข้ารอยกับความเชื่อที่มีมาแต่เดิม
เป็นที่ยุคสมัยเราด้วย ที่โซเชียลมีเดียมันไปเร็ว ข่าวมันไปเร็ว ทวิตเตอร์มันก็มีข้อมูลข่าวสารเพิ่มเยอะขึ้น มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราเปิดใจที่จะรับฟัง ที่จะอ่าน แล้วก็ตั้งคำถามขึ้นมา
จนกระทั่งเหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นจุดเปลี่ยน คือ การสวรรคตของในหลวง ร.9 ที่ปรากฏว่า หลังจากนั้นก็จะมีทั้งกระแสที่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ และฝ่ายที่ขัดแย้ง อย่างหลังนี้เองที่ทำให้ใบปอฉุกคิดและตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมพวกเราถึงกล้าที่จะทำเช่นนั้น และทำไมคนส่วนมากในขณะนั้นจึงด่าทอพวกเขาอย่างรุนแรง
จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อเธอย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักศึกษาที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประจวบเหมาะกับการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญๆ ของปีนั้น เช่น #ม็อบ10สิงหา ที่สุดท้ายจบลงด้วยการปะทะที่แยกดินแดง และมีนักโทษการเมืองถูกจับกุมตัวเป็นจำนวนมาก
“การที่เราออกมา มันทำอะไรได้มากกว่าการที่เราอยู่เฉยๆ” คือความรู้สึกของใบปอ ณ วินาทีนั้น “เราพังกรอบของตัวเองทุกอย่าง ออกจากบ้าน เพื่อมาเคลื่อนไหว”
2.
‘ทะลุวัง’
โชคชะตาของบุ้งและใบปอมาบรรจบกัน เพราะความรู้สึกร่วมถึงความจำเป็นที่ต้อง ‘ลงมือทำ’ บางสิ่งบางอย่าง ผ่านการเคลื่อนไหว
พอเราตาสว่างปุ๊บ เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราอยากทําอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อชดใช้ในสิ่งที่เราทําผิดพลาดไปในอดีต
บุ้งเล่าต่อถึงคำพูดของทนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและแกนนำคนสำคัญ ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยไปเข้าร่วมเวิร์คช็อปด้านความปลอดภัยสำหรับการเคลื่อนไหว ในฐานะที่เธอยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ในขณะนั้น
“การตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ต้องทำได้ในระบอบประชาธิปไตย” คือคำพูดของทนายอานนท์ เป็นคำพูดที่ยัง ‘ติดอยู่ในใจ’ ของบุ้งมาตลอด
การตั้งคำถาม คือเทคนิคหนึ่งที่ทนายอานนท์ให้ไว้ เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้นักเคลื่อนไหวออกมา ‘พูด’ ได้ โดยที่ไม่ต้องโดนดำเนินคดี โดยที่อันที่จริง บุ้งก็ย้ำด้วยว่า การตั้งคำถามนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย – ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
“มันน่าสนใจมากเลย แสดงว่าเราสามารถตั้งคําถามอะไรก็ได้สิ” เธอยังจำปฏิกิริยาของตัวเองในวันนั้นได้ ต่อมา ความรู้สึกนี้ของเธอก็ยิ่งถูกตอกย้ำอีก หลังจากที่ไปเห็นการทำกิจกรรมของนักเรียนแต่ละโรงเรียน ที่ครั้งหนึ่งมารวมตัวกันในม็อบนักเรียนเลว โดยแต่ละฝ่ายจะยก ‘โพล’ มาตั้งเรียงรายตามข้างถนน มีทั้งโพลยกเลิกชุดนักเรียน โพลยกเลิกทรงผม และโพลผ้าอนามัย
“อยากทำจังเลย” บุ้งคิด
จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่ม จากการที่บุ้งชักชวนเพื่อนๆ ให้มาร่วมกันทำโพลในลักษณะนี้ ซึ่งก็มีใบปอเป็นหนึ่งในนั้น จนสุดท้ายกลายมาเป็นกลุ่มที่ชื่อ ‘ทะลุวัง’
ออกไปทำโพลครั้งแรก ก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว “ประชาชนมาติดกันเยอะมาก เป็นพันคนเลย” บุ้งเล่า
ลานหน้าห้างสยามพารากอน คือสถานที่ที่พวกเธอไปในวันนั้น – วันที่ 5 ธันวาคม 2564 – คำถามก็เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ตรงประเด็น ‘สนับสนุน ม.112’ หรือ ‘ยกเลิก ม.112’
แต่กว่าที่จะออกมาอย่างที่เห็นในแต่ละครั้ง บุ้งและใบปอก็เปิดใจว่า “ทะลุวังทำงานกันหนักมาก” เพราะไม่เพียงตั้งคำถาม แต่จุดประสงค์ของทะลุวัง คือ ต้องการให้รายละเอียดถึงประเด็นต่างๆ ที่ทะลุวังพูดถึงด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการทำการบ้านก่อนเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ “หนักมาก ไม่ได้นอนกันเลย” บุ้งว่า
เราเชื่อว่าสมัยนี้ การตั้งคําถามมันเกิดขึ้นตลอดอยู่แล้ว แต่คือ มีคําถามเกิดขึ้นแล้วจะมีอะไรต่อ มีความรู้อะไรที่ทําให้เขารู้สึกว่า อ๋อ สิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เขาตั้งคําถาม มันได้รับคําตอบ เราก็อยากให้คําตอบ
“แล้วก็อยากให้เขาเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นมากกว่าแค่เห็นป้ายหรือได้ฟังคําปราศรัย อย่างน้อยโพลของเรา เขาได้มีส่วนร่วม เป็นเสียงของเขาจริงๆ ได้เข้ามาร่วมติดสติกเกอร์ อันนี้คือการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ ที่เราอยากให้มันเกิดขึ้น” ใบปออธิบาย
และไม่เพียงตั้งคำถาม – 28 ธันวาคม 2564 วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ช่วงหัวค่ำขณะที่ขบวนเสด็จกำลังจะมาถึง สมาชิกทะลุวังยังได้รวมตัวกันไปยืนถือป้าย ‘ยกเลิก 112’ และตะโกนให้ยกเลิก ม.112 ที่อนุสาวรีย์วงเวียนใหญ่ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้บุคคลเสื้อเหลืองในบริเวณนั้นพยายามเข้ามารุมทำร้ายอย่างรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บ
เหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้ใบปอ และสมาชิกทะลุวังในขณะนั้น คือ ตะวัน–ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ สายน้ำ–นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ ถูกตำรวจ สน.บุปผาราม แจ้งข้อหา 2 ข้อหา คือ “ส่งเสียงดังหรือกระทำการอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน” และ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร” โดยให้เปรียบเทียบปรับ คนละ 1,000 บาท
“มันก็เป็นการจุดประเด็นเรื่องขบวนเสด็จแล้วว่า วันนั้นเราก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง เป็นเยาวชนคนหนึ่ง ทำไมถึงไปรับเสด็จไม่ได้ เพียงเพราะไม่ใส่เสื้อเหลืองเหรอ หรือเพียงเพราะอะไร” ใบปอเล่าว่า กรณีดังกล่าวจะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ทะลุวังออกมาทำโพลครั้งถัดไป
8 กุมภาพันธ์ 2565 ทะลุวังกลับมาอีกครั้งที่ลานหน้าห้างสยามพารากอน “คุณคิดว่า ‘ขบวนเสด็จ’ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่” คือคำถามที่พวกเธอต้องการถาม กิจกรรมดังกล่าวถูกขัดขวางตลอดทาง โดยพนักงานห้างและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งตอนที่พยายามจะส่งผลโพลไปที่วังสระประทุมหลังเสร็จกิจกรรม แผ่นกระดาษก็ถูกตำรวจแย่งเอาไปทำลาย
ต่อมา วันที่ 10 มีนาคม 2565 ตำรวจ สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อหาตาม ม.112 และ ม.116 จากการทำโพลเรื่องขบวนเสด็จในวันนั้น บุ้งและใบปอคือส่วนหนึ่งที่ได้รับหมายเรียกและแจ้งข้อหา พร้อมกับประชาชน 3 คน และเยาวชนอีก 1 คน (ขณะที่ตะวัน ที่ไปร่วมถือโพลด้วยในวันนั้น ก็ถูกแจ้งข้อหาไปก่อนหน้านี้แล้ว)
ก่อนที่ทั้งหมดจะได้รับการประกันตัว พร้อมกำหนดเงื่อนไขต่างๆ และให้ติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ในวันเดียวกัน
“พอมาถึงที่มาถึงโพลเรื่องขบวนเสด็จ เรารู้สึกว่าตํารวจพยายามที่จะหาวิธีการจัดการในการทําโพลนี้แล้ว” ใบปอว่า
อาจจะไม่ได้เป็นเพราะโพล แต่เป็นเพราะคําถามที่เราถาม มันจี้ใจเขาเกินไป
หลังจากนั้น ก็มีความพยายามของตำรวจ สน.ปทุมวัน อีกครั้ง ในการที่จะให้ศาลไต่สวนคำร้องขอถอนประกันบุ้งและใบปอในคดีดังกล่าว
สุดท้าย ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ถอนประกัน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565
ศาลให้เหตุผลว่า บุ้งและใบปอทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จากการทำโพลอีกครั้งหนึ่ง โดยมีคำถามว่า “คุณยินดีที่จะยกบ้านของคุณให้กับราชวงศ์หรือไม่” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 รวมทั้งมีการโพสต์เชิญชวนบนเพจของทะลุวัง ซึ่งศาลอ้างว่า การเชิญชวนครั้งนั้นทำให้ประชาชนมารวมตัวกัน จนเป็นเหตุปะทะกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
“การกระทำของผู้ต้องหาจึงถือได้ว่า เป็นการเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอันเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อห้ามตามที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา” ศาลระบุ
นั่นหมายความว่า บุ้งและใบปอต้องถูกควบคุมตัวเข้าสู่ทัณฑสถานหญิงกลาง นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
3.
64 วันที่อดอาหาร 94 วันที่ถูกจองจำ
“สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้มันลดน้อยลงทุกวัน ถ้าเราพร่ำบอกว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน เราก็อยากให้ทุกคนออกมาสู้ตามสิทธิของเจ้าของประเทศที่แท้จริงเช่นกัน
“ฝากด่าพวกมันและสู้ต่อด้วยนะ แล้วใบปอจะรีบออกมาสู้ต่อนะ”
ใบปอโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง วันเดียวกับที่รู้ว่าต้องเข้าเรือนจำ
เย็นวันเดียวกัน เรายังเห็น พลอย–เบญจมาภรณ์ นิวาส เยาวชนวัย 17 ปี และสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ออกมาโกนหัวประท้วงหน้าเรือนจำ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุ้ง ใบปอ และนักโทษการเมืองในเรือนจำทั้งหมด
“เพราะว่าเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำไม่ผิด การที่เราออกมาตั้งคำถาม ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อความเป็นมนุษย์ มันไม่ใช่เรื่องที่ผิด สิ่งที่ตำรวจกำลังทำกับเรานั่นแหละที่ผิด คือความไม่ชอบธรรม คุณมาทำกับเยาวชนขนาดนี้ได้ยังไง ทั้งๆ ที่แค่ออกมาพูด ออกมาตั้งคำถามอย่างเดียว” พลอยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER หลังจากโกนหัวในวันนั้น
บุ้งและใบปอถูกคุมขังในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับตะวัน ที่ถูกศาลอาญาสั่งถอนประกันในคดี ม.112 ไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 และ เก็ท–โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่ถูกตำรวจจับกุมในคดี ม.112 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ก่อนที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว
การยื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้ทั้งตะวันและเก็ทจะประกาศอดอาหารเพื่อยืนยันถึงสิทธิที่ตัวเองมีก็ตาม แต่ในที่สุด ตะวันก็ได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 หลังอดอาหารไป 37 วัน ส่วนเก็ทก็ได้ประกันตัวตามมาหลังจากนั้น เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565
“ตอนแรกตั้งใจไว้เลยว่า ถ้าเราต้องเข้าไปในนั้น จะไม่อดอาหาร เราจะรักษาตัวเองให้แข็งแรงมากๆ เพื่อที่จะออกมาสู้ต่อ” ใบปอเล่า “แต่พอถึงจุดหนึ่ง เพื่อนทุกคนได้ประกันออกไปหมดแล้ว แล้วเหลือเรา 2 คน เราติดมาเดือนนึงแล้ว ไม่ได้ประกันหลายครั้งมากแล้ว รู้สึกว่ามันต้องทําอะไรสักอย่างแล้ว”
บุ้งและใบปอจึงประกาศประท้วงด้วยการอดอาหาร นับตั้งแต่ศาลยกคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บุ้งไม่ได้ประเมินร่างกายตัวเองก่อนว่า บุ้งจะ fit in กับการต่อสู้รูปแบบนี้มั้ย เพราะว่าบุ้งกินของหวานไม่ได้ นมบุ้งก็กินไม่ได้”
เพียงไม่กี่วัน สุขภาพของทั้งสองก็ทรุดลงเรื่อยๆ
โดยเฉพาะบุ้ง ที่เริ่มทรุดหนักหลังอดอาหารไปแล้วร่วม 20 วัน – เช้ามืดของวันที่ 22 มิถุนายน 2565 บุ้งถูกส่งตัวเข้าสถานพยาบาลในเรือนจำครั้งแรก ด้วยอาการแสบท้อง หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก และอาเจียน ก่อนที่จะนำตัวไปพบแพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อเวลา 1.00 น. ของวันนั้น
อาการของบุ้งเข้าขั้นวิกฤต เมื่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยการวินิจฉัยของแพทย์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ว่า มีภาวะโพแทสเซียมต่ำ จนอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายได้ โดยที่ ณ ช่วงเวลาเดียวกันนั้น บุ้งยังเข้าโรงพยาบาลเป็นครั้งที่ 2 รวมครั้งนี้เป็นเวลาถึง 5 วัน
จนกระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 โลกภายนอกได้เห็นหน้าค่าตาบุ้งและใบปอเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกคุมขัง หลังศาลอาญากรุงเทพใต้เบิกตัวทั้งสองมาที่ศาลเพื่อตรวจพยานหลักฐานในคดีทำโพลขบวนเสด็จ
แต่เมื่อมาถึง ก็ปรากฏว่า บุ้งและใบปอมีอาการปวดท้องรุนแรงกะทันหัน เจ้าหน้าที่อาสาพยาบาลประจำศาลจึงตัดสินใจส่งตัวทั้งสองไปที่โรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินทันที ก่อนที่จะส่งกลับไปตรวจละเอียดที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกครั้ง
“มันมีจุดที่มีผู้คุมเขาก็พยายามมาบอกให้เรากินข้าว มันเริ่มไม่ไหวแล้ว” ใบปอเล่า
แล้วหนูก็บอกว่า เราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เรามาอยู่จุดนี้ เราเลือกแล้ว เราตัดสินใจแล้ว และไม่คิดที่จะหยุดเลย เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่เรายืนหยัดว่า เรายังคงสู้อยู่ข้างในนี้ ถึงแม้ว่าเราจะถูกคุมขัง แต่เราก็ยังสู้ เราก็ไม่ยอมถอย
รวมกว่า 2 เดือนที่อดอาหาร น้ำหนักของบุ้งลดไปกว่า 17 กิโลกรัมนับตั้งแต่ถูกคุมขัง ส่วนใบปอลดลง 7 กิโลกรัม ที่ผ่านมาทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวทั้งสองคนโดยไม่ได้รับการประกันตัวถึง 7 ครั้ง และมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งอีก 1 ครั้ง
แม้พวกเธอย้ำว่ายังไหวเพียงใดก็ตาม แต่ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็ทำให้แรงกดดันจากภายนอกสะสมขึ้นเรื่อยๆ
ภาพของบุ้งและใบปอปรากฏต่อสาธารณะอีกครั้ง หลังจากที่ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หยิบยกเรื่องการคุมขังพวกเธอขึ้นอภิปรายในสภาฯ ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565
สิ่งที่ ส.ส.เบญจา ทำ ภายหลังการอภิปรายในประเด็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพผู้เห็นต่าง คือการนำเพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกล ชูภาพบุ้งและใบปอกลางสภาฯ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งสอง และนักโทษทางการเมืองทุกคน ก่อนจะกล่าวว่า
ไม่ควรมีใครต้องถูกคุมขัง ไม่ควรมีใครต้องตายหรือย้ายประเทศ เพียงเพราะเค้าแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือแสดงออกที่แตกต่างจากท่านผู้นำ หรือเพียงเพราะพวกเค้าต้องการต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่มาจากการทำรัฐประหาร เพื่อล้มล้างการปกครอง
ท้ายที่สุด ผ่านมา 94 หลังถูกคุมขัง จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็อนุญาตให้ประกันตัวบุ้งและใบปอ หลังจากยื่นคำร้องเป็นครั้งที่ 8
สิ้นสุดการถูกฝากขัง พร้อมกับมหากาพย์การยื่นประกันตัวที่ถูกยกคำร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า การถูกคุมขังครั้งนี้ยังเป็นเหตุให้บุ้งและใบปอกลายเป็นผู้ทำลายสถิติใหม่ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ควรต้องเกิดขึ้น นั่นคือ เป็นผู้อดอาหารประท้วงที่ยาวนานที่สุด ในระลอกการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 8 ปีที่ผ่านมา หรือหลังการรัฐประหารปี 2557
แต่การต่อสู้ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ทั้งสองยืนยันว่า จะผลักดันและเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในอนาคตอันใกล้ก็คือ การเรียกร้องให้นักโทษการเมืองทุกคนที่ยังอยู่ในเรือนจำให้ได้รับสิทธิการประกันตัวอย่างเป็นธรรม
“ไม่ใช่แค่คดี ม.112 ทุกคดีที่เขาออกมาเรียกร้องสิทธิ แล้วเขาต้องถูกจับ เขาควรได้สิทธิการประกันตัว เพื่อออกมาสู้คดีตามสิทธิของมนุษย์คนหนึ่ง” ใบปอย้ำ “ตอนนั้นที่เรายังไม่ได้ประกัน เพื่อนๆ อย่างตะวัน เก็ท และทุกคน ก็คอยช่วยให้เราได้ออกมา แล้วตอนนี้พอเราออกมาแล้ว เราก็อยากจะช่วยทุกๆ คนให้ออกมาเหมือนกับเราตอนนี้เหมือนกัน”
4.
ความฝันของคนธรรมดา ที่อยากเห็นสังคมเปิดกว้างหลากหลาย
“คิดว่าชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร?” เราลองถาม เมื่อการสัมภาษณ์ใกล้จะสิ้นสุดลง หวังจะเห็นตัวตนที่ลึกลงไปของหญิงสาวทั้งสอง
แม้จะผ่านประสบการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าเฉียดตายในเรือนจำ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่คนทั่วไปคงไม่ได้สัมผัส แต่จากสิ่งที่ถูกถ่ายทอดแสดงออกมาผ่านโซเชียลมีเดีย ชีวิตของพวกเธอไม่ได้ต่างอะไรกับคนอื่นๆ ที่ยังสนุกกับชีวิต สนุกกับแมว ชอบฟังเพลง และแชตคุยกับเพื่อน
“ชีวิตเกิดมาใช้ชีวิตแล้วกันค่ะ ไม่ต้องมีใครมากด ไม่ต้องมีกรอบมาตี ก็รู้สึกว่ามันคือชีวิตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยังไงมันก็คือชีวิตของเรา” ใบปอตอบ
ส่วนบุ้งบอกกับเราว่า ‘สัญชาตญาณเอาตัวรอด’ นั่นแหละ คือตัวตั้งที่เป็นโจทย์หลักในชีวิต “เกิดมาทําไม จุดประสงค์นี้ก็อาจจะยังตอบไม่ได้ แต่ว่ายังไม่อยากตายไวๆ นี้ เพราะยังอยากอยู่รอดูต่อไปในอนาคต ว่ามันจะมีอะไรที่มันตื่นเต้นในชีวิตเราอีก มันมีอะไรที่เราทําเพื่อคนอื่นได้มากกว่านี้อีก”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความฝันที่บุ้งและใบปอยังอยากเห็นในช่วงชีวิตของพวกเธอ ก็คือ การได้อยู่ในสังคมที่เปิดกว้างและเป็นพื้นที่ปลอดภัย รองรับอิสระในการพูดได้ทุกเรื่อง นั่นก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้พวกเธอเลือกออกมาเคลื่อนไหว โดยมีเป้าหมายอันใกล้ คือการยกเลิกกฎหมาย ม.112
“มันต้องอยู่ร่วมกันได้เพราะว่ามนุษย์เรามันหลากหลายเหลือเกิน” บุ้งว่า “อยากที่จะให้มันเปิดกว้างและพูดกันได้อย่างเสรี ตรงไปตรงมา ด้วยหลักเหตุและผล อาจจะมีอารมณ์บ้าง เพราะมันก็มีคนเจ็บปวดกับเรื่องนี้ กับกฎหมายฉบับนี้ เพียงแต่ว่ามันทุกคนมันต้องพูดได้”
และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง – ถ้าสังคมเปิดกว้างอย่างแท้จริง – คำถามบนแผ่นกระดาษของทะลุวัง ก็คงเป็นคำถามธรรมดาๆ ที่ใครต่อใครจะถามก็ได้ และคงไม่มีใครต้องตกหล่นลงไปในรอยร้าวของกระบวนการยุติธรรม แบบเดียวกับที่บุ้งและใบปอ และอีกหลายต่อหลายคน ต้องเผชิญ