กลายเป็นประเด็นใหญ่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อชาวออสเตรเลียตื่นมาไถฟีดแล้วไม่เจอโพสต์จากสำนักข่าวใดๆ ใน Facebook และสำนักข่าวต่างๆ ก็ไม่สามารถโพสต์เนื้อหาอะไรได้เลย!
การแบนเนื้อหาข่าวของ Facebook ในวันนั้น เป็นการตอบโต้ ‘News Media Bargaining Code’ หรือร่างกฎหมายที่ให้แพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องจ่ายเงินให้สำนักข่าว เมื่อมีการนำเนื้อหาข่าวมาแสดง โดยในคำแถลงการณ์ของ Facebook ได้ระบุว่า “ร่างกฎหมายที่ได้มีการเสนอนั้น มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มและผู้ใช้ในการเผยแพร่เนื้อหาข่าว และทำให้เราเหลือเพียงทางเลือกที่สุดโต่ง ระหว่างยอมรับร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเพิกเฉยต่อความสัมพันธ์ที่แท้จริง หรือเลือกที่จะระงับการเผยแพร่ข่าวสารของเราในออสเตรเลีย สุดท้ายเราก็ต้องเลือกอย่างหลัง และนั่นเป็นการตัดสินใจที่ลำบากใจมากสำหรับเรา”
ที่มาที่ไปของร่างกฏหมายฉบับนี้ เริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางปี ค.ศ.2020 เมื่อรัฐบาลออสเตรเลียได้ตั้ง Competition and Consumer Commission (ACCC) หรือหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค และมอบหมายให้ร่างกฎหมายข้อบังคับดังกล่าว เพื่อหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่สำนักข่าวท้องถิ่นถูกแพลตฟอร์มออนไลน์เอาเปรียบ ด้วยการใช้เนื้อหาไปสร้างรายได้เข้าบริษัทตัวเอง เพราะเกือบ 1 ใน 3 ของรายได้โฆษณาบนโลกออนไลน์ในออสเตรเลีย ที่มีมูลค่าราว 9 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือกว่า 170,000 ล้านบาทนั้น ตกไปอยู่ในมือของเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Google ขณะที่อัตราการโฆษณาผ่านช่องทางสื่อดั้งเดิมก็ลดลง รัฐบาลออสเตรเลีย รวมถึงบริษัทสื่อเจ้าของเนื้อหาจึงมองว่ากำลังไม่ได้รับความเป็นธรรม และนำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อบังคับให้เจ้าของแพลตฟอร์มจ่ายเงินค่าเนื้อหาให้กับสื่อท้องถิ่น
เมื่อมีการพูดถึงร่างกฎหมายดังกล่าว ณ ตอนนั้น Facebook และ Google ก็ได้ตอบกลับอย่างทันทีว่าจะไม่จ่ายเงินให้สำนักข่าวในออสเตรเลียอย่างแน่นอน โดยทางให้เหตุผลว่ากฏหมายดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม รวมถึงไม่ควรให้แพลตฟอร์มเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาทางการเงินของสำนักข่าว
ช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ จึงเป็นการงัดข้อกันไปมาระหว่างแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Google กับ ACCC ของรัฐบาลออสเตรเลีย มีทั้ง Facebook ที่มีการออกมาขู่ว่าจะระงับการให้บริการบ้าง Google ที่บอกว่าอาจต้องปิด Google Search โดยกล่าวว่ากฎหมายนี้อาจส่งผลกระทบต่อบริการฟรีอื่นๆ ของ Google รวมถึงกระทบเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะจะมีแต่เนื้อหาที่ Google จ่ายเงินให้เท่านั้นที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มบ้าง ทาง ACCC เอง ก็มีการสอบสวน Google Play และ App Store เรื่องการขายพ่วง พร้อมเรียกข้อมูลเพิ่มเติมจากทาง Google และ Apple
ระหว่างที่ข้อพิพาทระหว่างกับรัฐบาลออสเตรเลียยังดำเนินอยู่ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Google ก็ได้ชิงเปิดตัว Google News Showcase ในออสเตรเลีย หลังจากที่เคยประกาศระงับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยหวังว่าจะช่วยดึงนักข่าวและสำนักข่าวให้ยืนเคียงข้างและต้านกฎหมาย News Media Bargaining Code นี้
Google News Showcase คือบริการที่ให้ผู้ผลิตเนื้อหาและสำนักข่าว สร้างเนื้อหาให้อ่านได้จบบน Google โดย Google จะจ่ายเงินให้สำนักข่าวเป็นการลงทุนระยะยาว 1 พันล้านดอลลาร์ เปิดใช้แล้วในอังกฤษ เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แคนาดา และญี่ปุ่น มีสำนักข่าวเข้าร่วมกว่า 450 สำนัก ส่วนการเปิดตัวที่ออสเตรเลียนั้น มีสำนักข่าวที่เข้าร่วมโครงการแล้ว อย่างเช่น The Conversation, The Canberra Times, The Illawarra Mercury และ The Saturday Paper โดย Google ยังบอกด้วยว่า ในปี ค.ศ.2018 Google ได้สร้างมูลค่าให้กับสำนักข่าว 200 ล้านดอลลาร์ และ Google ได้รับประโยชน์เพียง 10 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งไม่นับเป็นผลกำไรแต่อย่างใด
ขณะที่ Facebook เองก็ยืนยันว่า ที่ผ่านมา ข่าวใน Facebook สร้างรายได้ให้ไม่ถึง 4% ของเนื้อหาทั้งหมดในหน้าฟีด และบริษัทสื่อเองก็ได้ประโยชน์จากการนำเนื้อหาไปลงใน Facebook โดยอ้างถึงรายได้กว่า 407 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือเกือบ 9,500 ล้านบาท ที่สื่อได้รับจากการใช้ Facebook
การปิดกั้นสื่อในวันนั้นทำให้ Facebook ถูกหลายฝ่ายวิจารณ์อย่างหนัก แม้แต่จากผู้ใช้งานเองว่าการปิดกั้นข่าวนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 และวัคซีน ทางด้านรัฐบาลก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าการกระทำของ Facebook อาจทำให้ข่าวลวงเพิ่มขึ้น และประชาชนก็ไม่สามารถเข้าถึงข่าวที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองข้อเท็จจริงมาแล้วโดยสื่อมวลชนอาชีพ ล่าสุด รัฐบาลและผู้บริหาร Facebook ก็ได้นั่งโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อตกลงกันอีกครั้งแล้ว
ประเด็นเรื่อง News Media Bargaining Code นี้ ไม่ได้ส่งผลแค่ในประเทศออสเตรเลียเท่านั้น แต่เมื่อใดที่ข้อกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้ เป็นไปได้ว่าหลายประเทศทั่วโลกจะเริ่มร่างกฎหมายข้อบังคับในลักษณะนี้ตาม อย่างล่าสุดคณะนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป ก็เริ่มมีความคิดที่จะนำร่างกฎหมายของออสเตรเลียมาปรับใช้ ด้วยเห็นว่าช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับสำนักข่าวและผู้ผลิตเนื้อหา
จริงอยู่.. ที่เรามักรู้สึกว่าเจ้าของแพลตฟอร์มรายใหญ่อย่าง Facebook และ Google เป็นผู้ผูกขาด ชี้ชะตา และกำหนดกติกาในหลายๆ อย่าง แต่ก็อาจมองได้ในอีกมุมว่าสำนักข่าวหรือผู้ผลิตเนื้อหาเองก็ได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มในการสร้างการรับรู้และเข้าถึงผู้คน เพื่อหารายได้ในทางอื่นๆ เช่นกัน จึงเป็นที่น่าคิดว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหน ที่กฏหมายในลักษณะเดียวกันกับออสเตรเลียนี้จะริเริ่มใช้ในประเทศไทย และบรรดาสื่อหรือผู้ผลิตเนื้อหาของประเทศไทย จะมีความเห็นว่าอย่างไรกันบ้าง รวมถึงผู้ใช้และผู้เสพข่าวอย่างเราๆ อาจต้องสูญเสียอะไรไปบ้างจากเวทีต่อสู้ครั้งนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก