เพราะทุกวันนี้ ชีวิตเรามีแต่การตัดสินใจ ไม่ว่าจะเลือกเดินทางยังไง ขึ้น BTS หรือ ต่อรถเมล์ เลือกกินข้าวร้านไหน แม้แต่เลือกที่จะรัก จะเริ่มความสัมพันธ์ ไปจนถึงเลือกจบความสัมพันธ์ด้วย
ในทุกๆ ทางเลือกเหล่านี้ เราอาจะไม่รู้ว่าทุกการตัดสินใจของเรา มักเกี่ยวพันกับ ‘เศรษฐศาสตร์’ ไปหมด และศาสตร์ๆ นี้ ไม่ใช่เพียงตัวเลข สูตรคณิตศาสตร์ยากๆ ที่เรามักมองว่าอยู่ไกลเกินกว่าจะเข้าใจ
The MATTER คุยกับแอดมินเพจ The Invisible Economist เพจที่มีคอนเทนต์เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์หลากหลาย ที่ประยุกต์ข้อมูล ทฤษฎีต่างๆ ทางศาสตร์นี้มาจับกับเรื่องในชีวิตประจำวันทั่วไป ถึงการทำคอนเทนต์เศรษฐศาสตร์กับเรื่องใกล้ตัว ทั้งเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ ไปจนถึงทิศทางของเศรษฐศาสตร์อนาคตกัน
อะไรเป็นที่มาของการเปิดเพจเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์
เนื่องจากเวลาสอนหนังสือ เวลาเล่าเรื่องเราจะมีไอเดียในการสอนอยู่แล้ว เราเลยมาเปิดเป็นเพจที่มีคอนเทนต์เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะ และเราตั้งใจจะเล่าเรื่องออกมาแบบสนุกๆ ที่อยากให้คนทั่วไปมีโอกาสได้เห็นมาขึ้นด้วยครับ
จากที่เห็นคอนเทนต์ส่วนใหญ่ จะเป็นการนำเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์กับเรื่องทั่วไป อย่างนั้นแล้วคิดว่าเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำตัวเราแค่ไหน
จริงๆ แล้ว เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใกล้ตัวมากครับ เพราะว่าทุกครั้งที่เราตัดสินใจอะไรบางอย่าง เราได้ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในการคิดวิเคราะห์ต้นทุนกับประโยชน์เสมอ อย่างเช่นว่า ‘ทำไมเพจ The MATTER ถึงเลือกสัมภาษณ์เพจผม?’ ก็ต้องคิดว่ามีเพจให้เลือกเยอะแยะมาก แต่ทำไมถึงเลือกสัมภาษณ์เพจนี้ แล้วจะได้ประโยชน์อะไร หรือว่าไม่มีทางเลือกแล้ว หรืออย่างเช่นว่า เรากำลังทำอะไรอยู่? ทำไมถึงเลือกกินข้าวเมนูนี้? ทำไมถึงเลือกขับรถมาเส้นทางนี้? เพราะว่าฝนตก หรือเส้นอื่นรถติด ก็เป็นไปได้ ซึ่งการตัดสินใจทุกอย่างเป็นการใช้หลักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว เพียงแต่คนส่วนมากไม่ได้คิดถึงมันเท่านั้นเอง
อย่างนี้แปลว่าเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข หรือเศรษฐกิจอย่างเดียว
ถูกต้องแล้วครับ จริงๆ คนทั่วไปจะมองว่าเศรษฐศาสตร์ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเลข การเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP หรือว่าเงินเฟ้อ แต่คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์จะรู้ว่า น้อยมากที่เราจะพูดถึงเรื่องพวกนี้ในคาบเรียน ส่วนมากเราจะพูดถึงการตัดสินใจเรื่องอื่นๆ เป็นหลัก อย่างเช่นว่าเราอาจจะสนใจว่า ทำไมคนถึงเลือกทำงานแบบนี้ หรือเลือกเรียนคณะนี้ โดยการที่เราตัดสินใจเลือกคณะที่เรียน ก็ถือเป็นการตอบสนองสู่ตลาดแรงงานอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะเรามองว่าการที่เราทำงานในสาขานี้ เราจะได้เงินเดือนดี หรือเป็นงานที่เราชอบ
เศรษฐศาสตร์ค่อนข้างเป็นเรื่องที่กว้างมาก แต่ส่วนหนึ่งคือการเรียนในมัธยมอาจะไม่ค่อยได้เปิดมุมมองด้านนี้ให้กับเด็กๆ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ได้เรียนก็จะไม่ค่อยรู้ว่า เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่กว้างกว่าที่คิด
ถ้าเราจะนำเศรษฐศาสตร์ไปวิเคราะห์เรื่องใกล้ตัว มันต้องใช้หลักอะไรในทางเศรษฐศาสตร์บ้าง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกครั้งที่มีการตัดสินใจ แปลว่าเราไม่สามารถได้ทุกๆ อย่างพร้อมกัน ซึ่งเราก็ต้องอยากจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง หลักการพื้นฐานก็คือว่า แล้วทางเลือกไหนจะทำให้เราเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เราเอง แต่คำว่าดีที่สุดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะนิยาม เช่น สนใจเรื่องของตัวเราเอง สนใจเรื่องของคนอื่น หรือสนใจเรื่องของความยุติธรรม
พอเราสนใจว่าเราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ก็ต้องเกิดการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละอย่าง คำถามคืออะไรบ้างที่เราต้องเอามาคำนึง เช่น ถ้ามีตัวเลือก 2 ตัว ก็สามารถเอามาเทียบกันเลย เช่น เลือกไปปาร์ตี้ หรือไปคอนเสิร์ต ตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็จบ แต่ถ้ามันมีเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นมา เช่นเราไม่รู้ว่าไปปาร์ตี้แล้วจะสนุกไหม ก็จะเป็นการตัดสินใจบนความเสี่ยงขึ้นมาอีก เพราะเราอยู่บนโลกที่มีความเสี่ยง มีปัจจัยที่เรายังไม่รู้แน่นอน แต่ถ้าเรามีปัจจัยที่เราสนใจ และรู้แน่นนอน โจทย์ก็จะง่ายขึ้น
อย่างคอนเทนต์นึงของเพจที่พูดถึงเมียน้อย เคสนั้นก็ถือเป็นการตัดสินใจที่มีพื้นฐานบนความเสี่ยง และอยู่ที่ว่าเราจะรับความเสี่ยงมากแค่ไหนเท่านั้นเอง ถ้าหากเราสามารถเปรียบเทียบความน่าจะเป็นทุกสถานการณ์แล้ว เปรียบเทียบได้ก็จบ แต่ในการตัดสินใจ เราก็อาจจะสนใจว่าบางสิ่งบางอย่างอาจจะเปลี่ยนไป เช่นถ้าเราเลือกตัวเลือกที่ 1 คนอื่นก็อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรม เราก็ต้องตอบสนองต่อพฤติกรรมของเขาอีก นั่นก็เป็นเรื่องของทฤษฎี Game Theory ต่อไป
ดังนั้นถ้าเรามีโจทย์อะไรอันนึง แล้วจะใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาตอบ หรือใช้หลักการมาจับ ก็มีตัวพื้นฐานของมันอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องคิดว่าจะคิดในมุมที่ลึกซึ้งแค่ไหน และมันก็จะขยายต่อไปได้เรื่อยๆ
เห็นว่าในเพจทำเรื่องเกี่ยวกับความรักด้วย ทำไมถึงเลือกเรื่องนี้
จุดประสงค์คือ เราต้องการทำให้เห็นว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว แล้วพอพูดถึงเรื่องใกล้ตัว ถ้าไปพูดถึงเรื่องหุ้น การลงทุน หรือว่าการรับสมัครงาน สำหรับบางคนก็อาจจะค่อนข้างไกลตัว ผมเลยรู้สึกว่าเรื่องของความรักเป็นเรื่องที่ทุกคนสัมผัส และเข้าใจได้ เราก็รู้สึกว่าการพูดเรื่องอะไรง่ายๆ ที่ทุกคนเคยมีความรู้สึกร่วมกับเรื่องนั้นๆ จะทำให้คนเข้าใจ แล้วคิดตามได้ง่ายกว่า แล้วค่อยมาสรุปว่าเรื่องพวกนี้มันจะไปประยุกต์กับเรื่องอื่นๆ ได้ไหมครับ
ทำไมถึงทำคอนเทนต์เรื่อง ‘เมียน้อย’ มีที่มา มีทฤษฎี และผลสรุปอย่างไร
ยอมรับว่าได้แรงบันดาลใจมาจากละคร ซึ่งผมก็ดูแล้วก็คิดตามว่า คนเราก็กล้าที่จะเสี่ยงที่จะทำอะไรผิดๆ แบบนี้เหมือนกัน ตัวคอนเทนต์เราไม่ได้ไปตัดสินว่าอะไรดีไม่ดี หรือไปยุ่งเรื่องศีลธรรม ซึ่งในมุมมองที่ถ้าเราไม่สนใจประเด็นเรื่องของศีลธรรมเลย ก็มีคำถามว่า การตัดสินใจพวกนี้ มีเหตุ มีผลไหม จึงเป็นที่มาของหัวข้อนี้
เนื้อหาที่เอามาใช้เป็นหลัก เรียกว่าเป็นการตัดสินใจบนความเสี่ยง ว่าเราเสี่ยงที่จะแอบทำอะไรที่มีความผิด เพื่อหวังประโยชน์ระยะสั้น แล้วประโยชน์ที่ได้ในระยะสั้น คุ้มกับเรื่องในระยะยาวหรือเปล่า
เปรียบเทียบเหตุการณ์ เช่น ถ้าผมขับรถอยู่ แล้วรถติด ผมอยากแซงซ้าย ผมอาจจะแซงซ้ายก็ได้ เพราะมีโอกาสต่ำมากที่จะโดนจับ แต่บางครั้งมันก็มีโอกาสที่แซงซ้าย แล้วมีรถจอดอยู่ แล้วผมชน คือเรื่องพวกนี้บางทีมันไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่เราจะเห็นว่า การตัดสินใจบางครั้ง เราไม่ได้มองผลลัพธ์ระยะยาวทั้งหมด เราไม่รู้ข้อมูลทั้งหมด เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกระทำของเราจะเป็นยังไง เราถึงตัดสินใจบนความเสี่ยงนี้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าในความเสี่ยงนี้ สถานการณ์ที่แย่ๆ ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
ดังนั้น การจะทำความผิดอาจจะคุ้มค่าถ้าผลประโยชน์ที่เราได้รับสูงกว่าต้นทุนที่เราต้องเสียไป อย่างกรณีเมียน้อยเราเลือกว่า เราอยากจะมีความสุขกับผู้หญิงบางคน แต่ว่าในบางกรณีเราอาจจะสูญเสียความรักจากภรรยา หรือโดนสังคมประณาม ก็อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับความเสี่ยงตรงนี้ได้หรือเปล่า ถ้ามองเป็นเรื่องของการลงทุน คงประมาณว่า ผมจะยอมลงทุนในหุ้นบางตัว เพราะผลตอบแทนดี แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงเหมือนกัน
แล้วกับความรักในเรื่องอื่นๆ เช่นความโสด มีปัจจัยอะไรที่เศรษฐศาสตร์จะประยุกต์ได้
ในเพจเราเคยทำคอนเทนต์เรื่องความโสด และกลายเป็นโพสต์ที่มีคนแชร์มากที่สุดอันหนึ่งไอเดียของเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากที่มีอยู่วันหนึ่งผมขึ้นรถไฟฟ้า และได้ลองมองดูคนรอบๆ ตัวในขบวนรถว่า มีซักกี่คนที่เราจะจีบได้ และอยากเข้าไปจีบ อย่างแรกผมก็ตัดผู้ชายออก ต่อไปดูช่วงอายุ ตัดอายุที่มากไป และน้อยไป ก็จะเหลือคนในช่วงอายุประมาณหนึ่ง ทีนี้ต่อไปผมก็ลองเลือกจากสไตล์ที่ผมชอบ เช่น ผมสั้น ผมยาว หน้าตาประมาณนี้ สรุปเหลือแค่คนเดียว พอเรามาดูต่อที่การแต่งตัว ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ จบ จึงเป็นที่มาของโพสต์ที่ว่า ‘ทำไมคนถึงโสด’ ซึ่งผมสรุปว่า การที่เราโสด ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีใครจริงๆ เพราะถ้าอยากมีแฟน ตามหลักการแล้ว เราสามารถเดินไปขอไลน์จากใครก็ได้ในขบวนรถไฟ และสามารถขอสานสัมพันธ์ใครซักคนต่อได้ แต่จริงๆ แล้วคนเราก็ยัง ‘เลือก’ อยู่ในระดับนึง จึงเป็นที่มาว่าเราโสด ไม่ใช่เพราะเราซวย แต่เราโสดเพราะว่า เราเลือกว่าเรายังไม่เจอคนที่คุ้มค่ารู้สึกจะเข้าหามากกว่า
พูดถึงเรื่องความโสด ก็ต้องมีเรื่องของ ‘การเท’ หลักเศรษฐศาสตร์ประยุกต์เรื่องนี้ได้ไหม
ถ้าเราเจอคนที่น่าสนใจ แล้วลองเดทกันซักพักนึง มันก็มีความเป็นไปได้อยู่ 2 อย่างครับ คือชอบ อยากจะคุยต่อ และอีกอย่างคือไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกัน ก็แยกย้ายกันไป จึงเป็นที่มาของอีกบทความนึงที่พูดถึงเรื่อง ‘การเท’ ซึ่งจะเรียกว่าการเท หรือจีบแล้วหนีหายอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะจริงๆ คือผู้ชายสังเกตว่าคนนี้ดีพอที่เขาอยากจะรู้จัก ยอมเสี่ยงในการใช้เวลา ใช้เงิน เสียสละโอกาสทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อมาใช้เวลากับผู้หญิงคนนี้ เพื่อจะเรียนรู้ว่าเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ถ้าไม่เวิร์กก็ไม่มีประโยชน์อะไรแล้วที่จะยังคุยต่อ เพราะฉะนั้นมันเริ่มต้นว่าผู้ชายเข้าหา แล้วผลลัพธ์ของผู้ชายคือได้เรียนรู้แล้วว่ามันไม่เวิร์กจริงๆ ก็ต้องยุติความสัมพันธ์
ทีนี้ถ้าหากว่ามีผู้ชายเข้ามาหาปุ๊ป แล้วมี outcome บางอย่างคือ มีโอกาสคบแล้วรอด กับคบแล้วไม่รอด เวลาคนที่มองตัวผลลัพธ์มักจะไปมองที่มันไม่รอดมากกว่า ก็เลยเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมผู้ชายถึงเท เพราะว่าจริงๆ แล้ว การเทก็ยังดีกว่าการไม่จีบเลยและปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเลยมากกว่าครับ
แล้วการแอบรักในมุมเศรษฐศาสตร์ละ มีที่มายังไง
เรื่องแอบรักน่าจะเป็นเรื่องคลาสสิคของใครหลายๆ คน ปกติแล้วผู้ชายเห็นผู้หญิงน่าสนใจ ก็อยากรู้จัก เลยชวนกันไปเดทได้ แต่เรื่องของการแอบรักจะพบว่า มันมักจะเกิดในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือที่ทำงาน คือเป็นสังคมที่เจอหน้ากันประจำอยู่ทุกวัน ซึ่งถ้าย้อนไปสมัยเด็ก ผมก็เคยแอบชอบเพื่อนคนนึง ถามว่าตอนนั้นทำไมผมถึงแอบชอบอยู่เฉยๆ ไม่สารภาพ เพราะผมตัดสินใจแล้วว่า มันมีต้นทุนบางอย่างอยู่ในกรณีที่มันล้มเหลว เช่นโดนล้อแน่ และเราอาจจะมองหน้าเพื่อนไม่ติดด้วย คือตัวผลลัพธ์มันไม่ใช่แต่ได้หรือไม่ได้ แต่มันยังหมายถึงที่พยายามหรือเคยอยู่มาทั้งหมดจะพังไปกว่าเดิม
ดังนั้นสังเกตว่าเรื่องแอบรักจะเป็นเรื่องที่เกิดในสังคมเล็กๆ ไม่กระจายตัวมาก และอิทธิพลของใครบางคนจะส่งผลต่อเราได้ เรื่องของการแอบรักมักจะไม่มีอิทธิพลมากในสังคมขนาดใหญ่ เพราะถ้าผมสนใจคนแปลกหน้า ผมชวนเค้าไปกินข้าว ถ้าไม่เวิร์ก ก็แยกย้ายกันไป ทุกอย่างจะไม่มีปัญหาใดๆ แต่ถ้าเรายังต้องเจอหน้าเขาอยู่ทุกวัน แล้วมีปฏิกิริยาหรือเพื่อนร่วมงานเห็น อาจจะเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าไม่คุ้ม เพราะเราต้องเสียอะไรบางอย่างมากเกินไป โดยเฉพาะการแอบรักเพื่อน ที่เราพูดอะไรบางอย่างออกไป เราอาจจะเสียเพื่อนเลย
ประเด็นการมีคนคุยเยอะ กับเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์กันได้ไหม
เรื่องของการมีคนคุยเยอะๆ เป็นเรื่องที่มองได้หลายมุมมาก และเป็นเรื่องที่มีศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จริงๆ แล้วการคุยหลายๆ คน เป็นเหมือน ‘การซื้อประกันอย่างนึง’ เพราะถ้าหากเราไม่รู้ว่าใครจะเวิร์ก กรณีที่ทางเลือกที่ 1 ไม่รอด เรายังมีทางเลือกที่ 2 หรือ 3 อยู่ แต่ว่าเราจะเก็บไว้กี่ทางเลือกก็ขึ้นอยู่กับว่าต้นทุนของการรักษาทางเลือกเยอะแค่ไหน
พูดง่ายๆ คือ ถ้าหากทุกครั้งที่ไปเดท ต้องกินข้าว ดูหนัง ต้องเสียเงินไป 2,000-3,000 บาท การคบ 5 คนพร้อมกันอาจจะสิ้นเปลืองมาก เพราะฉะนั้นเราอาจจะเลือกคุยแค่ 1-2 คน แต่ถ้าหากว่ามันต่ำมากอย่างในสมัยนี้ที่แค่คุยไลน์กัน ตื่นเช้ามาทักกันว่ากินข้าวหรือยัง ก็เป็นต้นทุนที่ต่ำมาก จึงไม่แปลกใจที่จะเลือกคุยหลายๆ คนมากขึ้น ดังนั้น การเลือกคุยหลายๆ คน อาจจะเป็นการตอบสนองต่อการที่ต้องใช้เวลาในการจีบ และเราก็ยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไง
ถ้าหากเราจีบแค่คนๆ เดียว แล้วรอเลย 10 กว่าปี แต่ไม่รอด เท่ากับว่า 10 กว่าปีนี้เราพลาดโอกาสในการคุยกับคนอื่นไปอีกกี่คน บางครั้งพอมองถึงต้นทุนเวลา ก็เป็นอะไรที่ต้องคิดหนักเหมือนกัน
ผมไม่ได้สนับสนุนให้คุยหลายๆ คนพร้อมกันนะครับ แต่ผมแนะนำว่าให้คุยทีละคน และถ้าไม่ใช่ก็จบความสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด สิ่งที่สำคัญของการคบหรือการไปเดทกันก็คือ เราต้องการศึกษาข้อมูลว่าเราจะคบกันแล้วไปรอดไหม ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ ควรจะไปทำความรู้จักเพื่อค้นหาปัญหาที่เป็น deal breaker เพื่อให้รู้ว่าคนนี้ไม่ใช่ หาข้อมูลตรงนี้ ตัดใจ และเริ่มต้นกับคนใหม่จะดีกว่า
ทำเพจมาสักพัก คิดว่าคนพอเข้าใจคอนเซ็ปต์เศรษฐศาสตร์จากคอนเทนต์ของเพจมากขึ้นไหม
ผมไม่ได้คาดหวังตั้งแต่แรก ว่าเพจจะมีคนติดตาม และแชร์กันในระดับนึง เพราะตัวคอนเทนต์ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเฉพาะในกลุ่มคนตลาดเล็ก ผมก็แปลกใจที่มีการแสตอบรับที่ดี และผู้อ่านหลายๆ คนก็พยายามเข้าใจคอนเทนต์แม้ว่าจะไม่ชอบเลข ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกประสบความสำเร็จ คือการการทำให้คนรู้สึกว่าสมการที่ซับซ้อนในเศรษฐศาสตร์ จริงๆ แล้วมันมีเรื่องราวของมันอยู่ มันไม่ใช่อะไรที่เขียนมาให้ยุ่งยากอย่างเดียว ผมก็หวังว่าจะได้เขียนอะไรขึ้นมา ที่ทำให้คนรู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์สนุกด้วย
นอกจากเรื่องเศรษฐศาสตร์กับความรักแล้ว ช่วงหลังมานี้มีเรื่องวงการการศึกษาว่ามหาวิทยาลัยเอกชนปิดสาขาเศรษฐศาสตร์ คิดว่าปัญหานี้มาจากอะไร เพราะเศรษฐศาสตร์เริ่มไม่ตอบโจทย์คนรึเปล่า
ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย หรืออยู่ในแวดวงการศึกษามากพอที่จะไปสรุปได้ว่าเพราะหลักสูตรดีหรือไม่ดี แต่ต้องสังเกตอย่างหนึ่งว่า หลักสูตรเศรษฐศาสตร์เป็นอะไรที่ไม่ง่าย เพราะว่าต้องมีการคำนวณในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ไม่แปลกใจที่เด็กจำนวนหนึ่งจะไม่ชอบ และมองว่าไม่ใช่แนวทางที่ต้องการเรียน อีกอย่างหนึ่งเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่สาขาที่จบมาแล้วมีอาชีพตายตัว
อย่างเช่นถ้าจบวิศวกรรมศาสตร์ก็เป็นวิศวกร หรือจบแพทยศาสตร์ไปเป็นหมอ แต่คนจบเศรษฐศาสตร์จะได้อะไรที่เป็นแนวความคิดมากกว่า แล้วเค้าจะไปประกอบอาชีพอะไรที่ใช้แนวคิดตัวนี้ได้ ให้เกิดประโยชน์ให้ตลาดแรงงานอยากได้แรงงานฝีมือที่มีแนวคิดพวกนี้ ถ้างั้นต้องถามคำถามว่า จริงๆ แล้ว ตลาดแรงงานในประเทศไม่ได้ให้คุณค่ากับความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ด้วยหรือเปล่า
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่านักเรียนตอบสนองต่อตลาดแรงงาน ถ้าตลาดแรงงานบอกว่า ฉันต้องการคนที่มาทำงานธนาคาร นั่งทำบัญชีเป็นงานกิจวัตร บวกลบเลขได้ ทำเอกสารได้ อย่างนั้นก็อาจจะไม่ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ และถ้าไม่ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์แล้ว ตลาดแรงงานบอกว่าเธอจบเศรษฐศาสตร์มา ฉันไม่สนใจ ไม่มีทักษะอะไรที่ฉันต้องการ นักเรียนก็ไม่รู้ว่าจะเรียนเศรษฐศาสตร์ไปเพื่ออะไร
ผมกลับมองว่า จริงๆ ภายใต้เทคโนโลยียุคใหม่ มีการขายของออนไลน์มากขึ้น ถึงแม้เด็กจะไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์โดยตรง แต่การที่เขาได้รู้หลักเศรษฐศาสตร์ก็จะมีประโยชน์มากเหมือนกันในการทำธุรกิจ แม้อาจจะไม่ได้เห็นตรงๆ ก็ตาม แต่ก็มีต้นทุนแฝงอะไรบางอย่างที่เราต้องคิดถึงเหมือนกัน
หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยน ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอด
เปรียบเทียบว่า สมมติผมเป็นโค้ชทีมฟุตบอลของโรงเรียน ผมต้องฝึกให้เด็กเลี้ยงบอล ส่งบอล เป็นทักษะธรรมดา แต่ถ้าผมบอกว่าอยากให้ทีมของผมเล่นเหมือนทีมบาเซโลนา ที่มีการผ่านบอลเร็วได้ ผมก็ไม่สามารถบอกเด็กได้ว่า ต้องเล่นแบบนี้เลยตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่ผมต้องสอนเด็กในคลาสคือ เบสิคการเลี้ยงบอลอยู่ดี ดังนั้นกับหลักเศรษฐศาสตร์ก็เหมือนกัน กว่าครึ่งหนึ่งของหลักสูตรถูกจัดมาเพื่อปูตัวพื้นฐานเป็นหลัก เพราะเป็นการฝึกฝนที่ทุกคนต้องผ่านก่อน
แต่ในส่วนของครึ่งหลัง หลักสูตรก็ต้องถามว่า เรามองตลาดยังไง ตลาดแรงงานต้องการอะไรจากเด็กยุคใหม่บ้าง ต้องการทฤษฎีจ๋าๆ หรือต้องการการประยุกต์ ถ้าหากว่าต้องการส่งนักเรียนเพื่อไปเรียนต่อก็ต้องเน้นที่ตัวทฤษฎี แต่ถ้าอยากส่งให้ไปทำงานก็อาจจะต้องไปฝึก Soft skill ต่างๆ เช่นฝึกการพรีเซนต์ การทำ excel หรือถ้าเราเห็นว่าช่วงนี้ด้านเทคโนโลยีเน้น Big data เราก็ต้องจัดสรรให้เข้ากับนักเรียน ให้ตรงกับที่ตลาดแรงงานต้องการ
ข้อดีอย่างนึงของเศรษฐศาสตร์ คือเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างประยุกต์ได้กับทุกๆ เรื่อง เราสามารถใช้เศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ได้ เช่นเราจะออกกฎหมายยังไงเพื่อลดอาชญากรรมและปรับแรงจูงใจของคน หรือว่าเราอาจจะเอาไปรวมกับสาธารณสุข เพื่อดูว่าเราต้องมีนโยบายสุขภาพยังไง หรือบังคับให้คนซื้อประกันสุขภาพแบบที่สหรัฐฯ ทำ ที่ทุกคนต้องมีประกัน เป็นต้น
เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้างมาก และจะทำได้หลายๆ อย่าง คิดว่าการประยุกต์ไม่ใช่ปัญหา คำถามคือต้องมองว่าทักษะเพิ่มเติมอะไรเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการในอนาคตมากกว่า
ปัจจุบันมี AI และคอมพิวเตอร์ที่คำนวณหลายๆ อย่างให้เราได้ งั้นเศรษฐศาสตร์ยังเป็นศาสตร์ที่จำเป็นต้องเรียนรู้หรือเปล่า
ถ้าไปนึกถึงช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ตอนนั้นมีเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำเข้ามาใหม่ คนก็ถามกันว่า ถ้ามีเครื่องจักรที่สามารถทำงานที่ใช้แรงงานเยอะๆ ได้ คนจะตกงานหรือเปล่า หรือจะไปทำอะไรกันต่อ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้แปลว่าคนจะตกงานครับ เพราะแรงงานก็ย้ายไปทำงานอย่างอื่นแทน ทำงานควบคุมเครื่องจักร เพื่อให้เครื่องจักรทำงานที่เราต้องการ นอกจากนี้ชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีชีวิตที่แย่ลง เพราะจากที่เคยต้องไปทำงานคลุกฝุ่น ก็สบายขึ้น ใช้เครื่องจักรมาทำงานทุ่นแรงแทน
กลับมาเรื่องนี้ว่า การที่มี AI และมีเครื่องมือที่ดีขึ้น ไม่ได้แปลว่าเครื่องมือจะมาทดแทนคนอย่างเดียว สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าคนจะปรับตัวไปใช้เครื่องมือนี้ยังไงมากกว่า สิ่งหนึ่งที่ผมเห็น AI ทำ แล้วยังเชื่อว่ามันจะทำไม่ได้ในเร็วๆ นี้ มี 2 อย่างคือ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ และการตั้งคำถาม ซึ่งเราจะเห็นว่า AI ค่อนข้างจะเก่งมากในเรื่องการเอาข้อมูล หรือการใช้ Big data มาศึกษาเรื่องใหญ่ๆ แล้วก็ยังหาความสัมพันธ์ได้ แต่เวลาพูดถึงเรื่องของความสัมพันธ์ มักจะเป็นการพูดถึงค่าเฉลี่ยเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องถูกต้อง 100% ทีนี้การที่ AI พยายามมองหาค่าเฉลี่ย ก็จะต้องตัดเรื่องของความแตกต่าง เพราะฉะนั้นโดนนัยยะนึง เรื่องของความคิดสร้างสรรค์หรือสร้างความเป็นเอกลักษณ์ หรืออะไรที่นอกกรอบ AI อาจจะยังคิดไม่ค่อยได้
อีกอย่างคือเรื่องของการตั้งคำถาม ที่ AI จะมีประโยชน์มากเวลาเราอยากรู้อะไร แล้ว AI สามารถตอบให้เราได้ แต่ความสามารถในการตั้งคำถามมันยังต้องใช้คนอยู่ อันนี้ก็เป็นหัวข้อที่น่าสนใจว่า แล้วจะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่ฝึกคิด ฝึกตั้งคำถาม แล้วรู้ว่าจะทำอย่างไร ในการใช้ทักษะ และเครื่องมือใหม่ๆ ในการค้นหาคำตอบครับ