การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ไม่ได้มีเพียงแค่การหาเสียงต่อสู้กันบนเวที หรือเคาะประตูบ้านเพื่อเอาชนะใจฐานเสียง แต่ยังรวมไปถึง การใช้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่แข่งขันกันด้านข้อมูลข่าวสาร
เมื่อชีวิตของใครหลายคน กำลังผูกพันกับโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะการอ่านข่าว แชร์เรื่องราวจากเนื้อหาบน Facebook หรือค้นหาข้อมูลที่ต้องการจะใช้ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองจาก Google จึงไม่แปลกนักที่เราจะเห็นบรรดาพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เน้นการกระจายข่าวสารทั้งด้านนโยบาย และจุดยืนของพรรคตัวเองผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้
แต่ถึงอย่างนั้น ประสบการณ์การเลือกตั้งจากหลายประเทศ ได้มีตัวอย่างให้เราเห็นแล้วว่า ท่ามกลางข่าวสารจำนวนมากมายในโลกโซเชียลมีเดีย มันก็มักจะมี ข้อมูลที่บิดเบือน (disinformation) ให้เห็นอยู่บ่อยๆ
ในกรณีของต่างประเทศ ข้อมูลที่บิดเบือนเหล่านี้ มักมีเป้าหมายเพื่อดิสเครดิตฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบ รวมถึงสร้างข้อมูลผิดๆ เพื่อให้คนบางกลุ่มเกิดความเข้าใจผิดได้ หรือในบางครั้ง มันมักจะถูกใช้เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมที่ขัดแย้งกันอยู่แล้ว กลายเป็นขัดแย้งกันหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง
สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า disinformation บนโลกออนไลน์นั้นเข้ามามีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของผู้คนอยู่ไม่น้อยเลย และมันยังลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษ ขึ้นมาสอบสวนเรื่องราวดังกล่าว ซึ่งยังยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้
กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า แล้วกับการเลือกตั้งไทยล่ะ Facebook กับ Google มีนโยบายและเครื่องมือต่างๆ เพื่อจัดการกับบรรดาข่าวปลอมที่อาจจะเกิดขึ้น (หรือเกิดขึ้นไปแล้ว) อย่างไรบ้าง?
Facebook กับการรับมือข่าวปลอมบน Newsfeed
ก่อนหน้านี้ The MATTER ร่วมคณะสื่อมวลชนไทย ได้มีโอกาสพูดคุยถึงแนวทางการปรับปรุง Newsfeed เพื่อสู้กับข่าวปลอม กับ Jason Rudin และ Antonia Woodford ซึ่งเป็น Product Manager ของ Facebook ที่สำนักงานใหญ่ใน Menlo Park ประเทศสหรัฐฯ ทั้งสองคนอธิบายว่า ที่ผ่านมา Facebook มักย้ำเสมอถึงขั้นตอน 3 ของการจัดการ Newsfeed ให้มีคุณภาพ (ตามนิยมของ Facebook)
1) Remove : ลบเนื้อหาที่ผิด Community Standard ออก
Facebook บอกว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ได้ปิดบัญชีที่ปลอมเป็นคนอื่นไปแล้ว 754 ล้านบัญชีทั่วโลก และบัญชีจำนวนมากถูกปิดทิ้งไปตั้งแต่ขั้นตอนลงทะเบียน (ด้วยการตรวจจับจากเทคโนโลยีที่ Facebook มีอยู่) นอกจากบัญชีปลอมแล้ว เนื้อหาที่ส่งเสริมความรุนแรง ชักชวนให้ก่ออาชญกรรม หรือการก่อการร้ายที่ละเมิด Community Standard ก็จะต้องถูกลบออกไปจาก Newsfeed ด้วยเหมือนกัน
2) Reduce : ลดจำนวนการเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นข่าวปลอมและ Click-bait
เรื่องนี้มีข้อสังเกตกันว่า เนื้อหาที่มีความไวรัลสูง ณ ขณะนั้นจะถูกจับตาเป็นพิเศษ แต่มันก็มีข้อจำกัดเหมือนกันเพราะบางทีอัลกอริทึมยังแยกได้ยากว่า ข่าวไหนเป็นจริงหรือปลอม หรือข่าวนั้นมีความเห็นปะปนอยู่รึเปล่า หนึ่งในเกณฑ์ที่จะชี้วัดว่า จะลดการเข้าถึงหรือไม่นั้น คือปัจจัยว่าเนื้อหาดังกล่าวถูกกด Report เยอะแค่ไหน ถ้าถูก Report เยอะๆ แล้วเหตุผลมีน้ำหนักพอมันก็อาจจะถูกลดการเข้าถึงได้
3) Inform : แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเพจต่างๆ ให้คนอ่านรับทราบ เพื่อพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของข่าวนั้นๆ
เช่น เพิ่มความโปร่งใสของโฆษณาและเพจ Facebook ได้เพิ่มข้อมูลแปะแนบไปกับลิ้งค์ต่างๆ ของเพจ รวมถึงเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของเพจให้มากขึ้น เพื่อให้คนติดตามได้รู้ว่า เพจดังกล่าวเคยเปลี่ยนชื่อไหม หรือตอนนี้กำลังใช้เงินเพื่อ Boost โพสต์อะไรบ้าง หรือใครเป็นผู้ร่วมลงโฆษณา
นอกจากนี้ Facebook ยังได้ย้ำถึงเรื่อง การลงทุนกับ Machine Learning ให้ช่วยตรวจโฆษณาที่ไม่เหมาะสม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงทุนไปกับ Machine Learning มากขึ้น เพื่อพัฒนาให้มันสามารถตรวจสอบข่าวปลอมต่างๆ ได้ดีขึ้น
ก่อนหน้านั้น ยังเคยมีประกาศว่า จะไม่อนุญาตให้เพจต่างๆ นำเสนอข่าวปลอมซ้ำๆ เพื่อการโฆษณาบน Facebook อีกต่อไป ก่อนหน้านี้ Facebook ยังได้ออกนโยบายด้วยว่า จะบล็อกโฆษณาจากเพจที่ปล่อยข่าวปลอม/บิดเบือนบ่อยๆ
ด้าน เคธี ฮาร์บาธ ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองระดับโลกและการประสานงานภาครัฐของ Facebook บอกว่า Facebook มีความตั้งใจที่จะป้องกันความโปร่งใสด้านการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารของการเลือกตั้งในปี 2562 นี้และสนับสนุนให้เป็นสังคมที่รับรู้ข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องมากขึ้น
“เรามีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ ในการป้องกันพฤติกรรมหลอกลวงทุกประเภทบนแพลตฟอร์มของเรา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง การบิดเบือนความจริง การหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง การกลั่นแกล้งหรือการรังแก ความรุนแรง การคุกคาม หรือการแทรกแซงการเลือกตั้ง การต่อสู้กับข่าวปลอมมีความสำคัญต่อความโปร่งใสและความปลอดภัยต่อการเลือกตั้งในประเทศไทย” ฮาร์บาธ อธิบาย
Google และการจัดการข่าวปลอม
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ Google ประเทศไทย สายใย สระกวี อธิบายว่า ตอนนี้กำลังพัฒนาความร่วมมือกับ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) เพื่อคิดค้นวิธีที่จะนำเสนอข่าวสาร ‘ที่ถูกต้อง’ ไปปรากฎบนหน้าแรกๆ ของการค้นหา
สิ่งที่ Google ยอมรับคือ ยังไม่สามารถควบคุมเนื้อหาได้ทั้งหมด เนื่องจากฟังก์ชั่นของ Google นั้นทำงานในฐานะเป็น Search Engine ไม่สามารถไปสกัดที่ต้นทางของเนื้อหาได้ หากแต่สิ่งที่กำลังจะทำกันอยู่ คือร่วมกับหน่วยงานกลางที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น SONP ที่จะช่วยกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสารต่างๆ และยืนยันข้อมูลเหล่านั้นว่าตรงตามข้อเท็จจริงรึเปล่า
ในนโยบายระดับโลก สิ่งที่ Google ทำคือการสร้างความร่วมมือกับองค์กรสื่อต่างๆ ในแต่ละประเทศที่กำลังมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ในชื่อโครงการ Google News Initiatives เพื่อสนับสนุนการทำงาน และให้เครื่องมือต่างๆ กับสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือเพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้อ่าน ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ ‘ถูกต้อง’ ก่อนแหล่งข้อมูลที่บิดเบือน
ข้อสังเกต : ความร่วมมือ Third Party-Checker เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ แต่ในไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก
ในหลายประเทศ ทาง Facebook และ Google ได้เพิ่มสิ่งที่เรียกว่า ‘Third Party-Checker’ ขึ้นมา เพื่อช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข่าวๆ นั้นที่ปรากฎบน News Feed ของเรามันเป็นข่าวจริงแค่ไหน? ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางสำคัญไม่น้อย ที่จะช่วยให้ข้อมูลกับผู้ใช้งาน Facebook ได้ อย่างในสหรัฐฯ จะใช้หน่วยงานที่ค่อนข้างได้รับการยอมรับ คือ PolitiFact, Associated Press และ Factcheck.org
ประเทศในละแวกบ้านเราที่มีฝ่ายที่ 3 ช่วยตรวจสอบ และฟันธงเรื่องข่าวปลอมแล้ว คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนของไทยนั้น ณ วันนี้ยังไม่มี Third Party-Checker เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ