ในปัจจุบันไม่ต้องเป็นครู เราก็ ‘สอน’ ได้
การ ‘สอน’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการไปเป็นคุณครูในโรงเรียน หรือเป็นติวเตอร์สอนพิเศษ แต่คือการวางตัวอยู่เหนือใครสักคนหรือหลายๆ คน ด้วยการใช้ความรู้และข้อมูลบางอย่างเป็นเครื่องมือ เพื่อสั่งสอนพวกเขาในประเด็นต่างๆ ที่คนถูกสอนอาจจะไม่ได้เรียกร้อง หรืออาจจะรู้อยู่แล้ว เพียงแต่ช่องทางการสื่อสารของพวกเขาไม่มากพอจะอธิบายได้ภายในเวลาสั้นๆ
ตั้งแต่ความคิดเห็นถากถางในกระทู้พันทิป คอมเมนต์เฟซบุ๊ก โควตในทวิตเตอร์ (ปัจจุบันคือ x.com) ฯลฯ นักสอนและอินเทอร์เน็ตเป็นของคู่กันมาเสมอ ส่วนหนึ่งอาจมาจากธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ เมื่อเรายิ่งมีความมั่นใจก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่ความมั่นใจนั้นๆ จะนำไปสู่สถานะทางสังคมที่สูงขึ้น แต่อีกส่วนอาจมาจากวิธีที่อินเทอร์เน็ตทำงานกับเรา
อินเทอร์เน็ตทำให้เรารู้สึกฉลาดขึ้น?
ความมหัศจรรย์ของโลกปัจจุบันคือ เมื่อเราไม่รู้อะไรสักอย่าง เราสามารถหยิบโทรศัพท์ของเราแล้วหาอ่านเกี่ยวกับมันได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที ตั้งแต่สูตรอาหาร อาการป่วย คำถามทางปรัชญา ประวัติศาสตร์โลก ฯลฯ อินเทอร์เน็ตมีคำตอบเกือบทุกอย่างที่เราจะอยากรู้ได้ และเมื่อมีใครถามมา หากเราใช้มันเป็นประโยชน์ เราแทบไม่จำเป็นต้องตอบว่า “ไม่รู้” อีกต่อไปเลย และความสามารถในการจะ ‘รู้’ ในอะไรก็ได้เช่นนั้นเองก็อาจมอบความมั่นใจให้กับเรา
หนึ่งในงานวิจัยที่พูดเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตและความมั่นใจในความรู้ของตัวเองมีชื่อว่า Searching for Explanations: How the Internet Inflates Estimates of Internal Knowledge โดยแมทธิว ฟิชเชอร์ (Matthew Fisher) แมเรียล โกดดู (Mariel Goddu) และแฟรงก์ คีล (Frank Keil) นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเยล ในงานวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามด้วยคำถามที่ใครๆ ก็คิดว่าตัวเองน่าจะรู้ แต่การอธิบายออกมายาก เช่น
- ทำไมถึงมีปีอธิกสุรทิน (Leap Year)
- ทำไมถึงมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- ทำไมมีข้างขึ้นข้างแรม
- ทำไมถึงมีไทม์โซน
- ซิปทำงานยังไง
- ทำไมลูกกอล์ฟถึงต้องมีรอยบุ๋ม
- ไพ่โจ๊กเกอร์มีไว้ทำอะไร
- กระจกผลิตยังไง
งานวิจัยนี้หักมุมตรงที่ว่า ผู้วิจัยจะจับกลุ่มตัวอย่าง 202 คน แยกออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งจะได้รับการอนุญาตให้ใช้อินเทอร์เน็ตหาข้อมูลได้ อีกกลุ่มหนึ่งไม่อนุญาตให้ใช้อินเทอร์เน็ต และหลังจากนั้นทั้ง 2 กลุ่มต้องตอบคำถามประเด็นอื่นๆ ที่นอกจากวัดความรู้แล้ว ยังมีบางหัวข้อที่ต้องหาคำตอบจากภายใน หลังจากนั้นผู้วิจัยจะวัดว่ากลุ่มตัวอย่างมองการตอบคำถามของตัวเองอย่างไร
ผลการทดลองพบว่า กลุ่มคนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ประเมินตัวเองว่ามีความรู้สูง เมื่อเทียบกันกับกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต “ในสมองของเรา เรามองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่เก็บสะสมความทรงจำของเรา เป็นกรอบความรู้อันกว้างขวางที่เราเข้าถึงได้ ผลการทดลองบอกกับเราว่า การหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการนึกได้ว่า เรานำความรู้มาจากข้างนอกมากขนาดไหน” ผู้วิจัยเขียนสรุป
ดังนั้นการ ‘รู้’ อะไรสักอย่างจากอินเทอร์เน็ต อาจคล้ายกับการที่เราให้คอนแทคต์ (Contact) ทำหน้าที่เป็นผู้จดจำเบอร์โทรศัพท์ของผู้คนมากกว่าที่เราคิด
รู้ แปลว่าเข้าใจแล้วหรือยัง?
เวลาเราต้องการหาข้อมูลอะไรสักอย่างบนอินเทอร์เน็ต เราใช้เวลาหามันนานขนาดไหน?
คำตอบคงขึ้นอยู่กับประเด็นที่หา แต่หากเป็นการหาเพื่อการถกเถียง หรือการโพสต์ข้อความใดลงบนโซเชียลมีเดีย โดยที่เราไม่ต้องหากินกับมัน หรือต้องทำมันเพื่อแลกกับเกรด เราคงไม่ใช้เวลากับมันมากนัก ถูกไหม? แค่จะสอนคนในเน็ต เราจำต้องไปไล่อ่านเปเปอร์ 40 หน้าเพื่อมาเขียนตัวหนังสือไม่ถึง 1 ใน 4 ของสิ่งที่อ่านนั้นจริงๆ เหรอ? เพราะกว่าจะอ่านเสร็จ โลกออนไลน์ก็คงเปลี่ยนเรื่องเถียงกันไปแล้ว
อีกทั้งงานวิชาการอาจไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงง่าย บ้างถูกวางไว้หลัง Pay-wall บ้างอยู่ในเว็บไซต์ห่วยๆ ที่หาทางไปถึงงานนั้นๆ ไม่ได้ บ้างสูญหาย และที่สำคัญคือนอกจากเราจะสนุกเพราะความรักในการหาความรู้แล้ว เปเปอร์วิชาการส่วนมากอาจจะอ่านไม่สนุกด้วยภาษาที่มักแข็งทื่อ หรือกระบวนการอ้างอิงที่ทำให้ตัวหนังสือทั้งหมดลายตาจนอ่านไม่รู้เรื่อง บางครั้งการที่มีใครสักคนบอกว่า ‘งานวิชาการบอกว่า…’ จึงมักมาจากเวอร์ชั่นที่ถูกย่อยแล้วของสื่อสักเจ้าหนึ่ง หรือฟังต่อๆ มาจากนักสอนสักคนที่เราหาไม่เจออีกแล้ว
ทั้งหมดที่กล่าวมาหมายความว่าอะไร? บ่อยครั้งเมื่อเราบอกว่าเรารู้สิ่งใด มันอาจไม่ได้หมายความว่า เราเข้าใจมันเสมอไป บางครั้งข้อมูลที่เราได้รับมาจากอินเทอร์เน็ต ก็คล้ายคลึงกับการรับสารมาจากเกมกระซิบที่คนแรกมีข้อมูลทั้งหมด และผ่านการกระซิบเล่าต่อ ทำให้ข้อมูลค่อยๆ หล่นหายกลางทางไปเรื่อยๆ จนสิ่งที่เหลืออยู่ขาดส่วนสำคัญไปมาก และอาจไม่เหลือเค้าเดิมของเรื่องเดิมแล้ว
หนึ่งในตัวอย่างของการรับความรู้เช่นนี้ คือทฤษฎี 7 Years Cycles of Life ทฤษฎีที่บอกว่าคนเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกๆ 7 ปี พัฒนาขึ้นโดยรูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ซึ่งหลายๆคนมักผ่านตาในเว็บไซต์ฮีลสุขภาพใจหลากหลายแห่ง แต่เมื่อเราขุดคุ้ยลงไป สิ่งแรกที่เราพบคือสไตเนอร์กลับไม่ใช่นักจิตวิทยาหรือนักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นผู้ใช้ไสยเวท (Occultist) ที่พัฒนาทฤษฎีดังกล่าวจากเทพเจ้าและดวงดาว ไม่ใช่วิทยาศาสตร์แต่อย่างใด โดยสื่อหรือนักสอนน้อยคนนักที่จะเจาะลึกให้เราไปถึงสิ่งที่เขาเป็น และข้อมูลนั้นๆ บ่อยครั้งก็หล่นหายไปกลางทาง
มากกว่าความรู้ ยังมีบริบท
สิ่งต่างๆ ในโลกของเรามีมากกว่ามิติเดียว เราอาจมีความรู้ เราอาจมีความเข้าใจในทฤษฎี แต่มากไปกว่านั้นอาจมีสิ่งที่เรียกว่า บริบท ช่วงวัย ประสบการณ์ชีวิต สถานะทางสังคม เพศ ฯลฯ ความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการสอน ในขณะเดียวกันความรู้ก็ไม่ใช่ทุกอย่าง และการที่ใครสักคนแสดงออกขัดกับสิ่งที่เรารู้ก็อาจไม่ใช่เพราะเขาไม่รู้ แต่เป็นเพราะบริบทชีวิตของเขาแตกต่างไปจากเรา
การ ‘สอน’ นั้นบ่อยครั้งมาจากความประสงค์ดี แต่หลายๆ ครั้งเมื่อโลกไวเกินไป เมื่อเราต้องอาศัยการทึกทักเกี่ยวกับคู่สนทนาของเรามากๆ มันกลับกลายเป็นว่า มันมักขาดการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนที่เรากำลังสื่อสารด้วยอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และบ่อยครั้งอินเทอร์เน็ตไม่เอื้อให้เรามี
หลายครั้งตัวตนของเขา ก็เป็นเพียงตัวหนังสือไม่กี่ตัวอักษรที่เราเห็นอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์
อ้างอิงจาก