มีจริงหรือ รักแรกพบเพียงสบตาแค่หนึ่งครั้ง?
เชื่อว่าทุกคนเคยมีประสบการณ์ ‘รักแรกพบ’ หรือ ‘เกลียดแรกพบ’ กับใครสักคน นั่นก็เพราะ นั่นก็เพราะ love/hate at first sight เป็นเรื่องของ ‘ความประทับใจแรก’ (first impression) ที่เพียงแค่แว็บเดียวเท่านั้น เราก็สามารถตัดสินอะไรบางอย่างในตัวบุคคลได้
ถึงแม้ความประทับใจแรกจะเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของวินาที แต่ก็มีพลังมากพอที่จะส่งผลต่อความรู้สึก ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เพราะมันไม่ได้บ่งบอกถึง ‘ความสวยหล่อ’ เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ ‘ความน่าเชื่อถือ’ และ ‘อำนาจ’ รวมเข้ามาด้วย ซึ่งความสวยหล่อถือเป็นเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ ทำให้บางคนเกิด ‘รักแรกพบ’ ได้เพียงแค่สบตา แต่ความน่าเชื่อถือจะแสดงถึงลักษณะทางสังคมของบุคคลนั้น และการประเมินอำนาจ ก็นำไปสู่การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในอนาคตได้
ไม่เพียงแค่นั้น ความประทับใจแรกก็อาจนำไปสู่ halo effect หรือกระบวนการคิดที่เกิดจากอคติ อันเนื่องมาจากวิจารณญาณของบุคคลหนึ่งที่มีต่ออีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งถูก ‘ภาพรวม’ บางอย่างบดบังอัตลักษณ์ที่แท้จริงเสียหมด หรือเรียกว่าเป็นความลำเอียงรูปแบบหนึ่ง ที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติได้ เช่น ครูที่ตัดสินว่าเด็กนักเรียนคนหนึ่งจากแว็บแรกว่าเป็นคนเกเร จึงให้คะแนนจิตพิสัยน้อย
ความประทับใจแรกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว และไม่ว่าการคาดเดาจากแว็บแรกนั้นจะแม่นยำหรือไม่ก็ตาม เราก็ ‘ยึดติด’ กับภาพนั้นไปแล้ว หรือต่อให้ใช้เวลามากกว่านั้นอีกนิดหน่อย ยังไงเราก็สลัดความคิดแรกในหัวไม่ออกอยู่ดี จนกว่าจะได้ทำความรู้จักกับคนนั้นจริงๆ
แต่โอกาสที่จะได้สานต่อความสัมพันธ์ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ใช่มั้ยล่ะ? โดยเฉพาะคนที่เห็นหน้าแว็บแรกก็รู้สึกไม่ถูกชะตาแล้ว ทำให้โอกาสที่จะอยากพบเจอหลังจากนั้นก็แทบเป็นศูนย์ แต่ถ้ามีโอกาสได้สนิทกันจริงๆ ก็คงจะได้ยินประโยคที่ว่า “เธอรู้ปะ แว็บแรกเราโคตรไม่ชอบขี้หน้าเธอเลย” อย่างแน่นอน
แต่ในยุคที่ถูกแทรกแซงด้วยเทคโนโลยี หรือกล่าวคือ ผู้คนพบปะกันมากขึ้นผ่านทางโซเชียลมีเดีย การสร้างความประทับใจแรก (ทั้งในแง่ของธุรกิจ การหางาน หรือการหาคู่) จึงกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เพราะเราจะต้องถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมาให้อยู่ภายใน ‘รูปถ่าย’ เพียงไม่กี่รูป หรือ ‘คำอธิบาย’ เพียงไม่กี่ตัวอักษรบนโปรไฟล์ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนที่สามารถเลื่อนผ่านเราไปภายในเสี้ยววินาที
ดิเดียร์ แรปปาพอร์ต (Didier Rappaport) ผู้บริหารแอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานกว่า 4.7 ล้านทั่วโลก แนะนำว่า ‘รูปโปรไฟล์’ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดความประทับใจแรก ซึ่งรูปแรกที่ใช้ ควรจะเป็นรูปตัวเราเดี่ยวๆ เพราะถ้าสมมติเราใช้รูปที่ยืนถ่ายกับเพื่อนเป็นกลุ่มหลายๆ คน นั่นจะทำให้เราดูไม่โดดเด่น และชวนให้อีกฝ่ายสับสนด้วยว่าคนไหนคือเรากันแน่
กลยุทธ์ของดิเดียร์นั่นก็คือ รูปแรกควรจะเป็นรูปที่แสดงความมั่นใจของเราออกมาให้มากที่สุด ส่วนรูปถัดๆ ไป ให้แสดงออกถึง ‘ความเป็นตัวเอง’ ผ่านไลฟ์สไตล์ของเรา เช่น รักสัตว์ ชอบดื่มกาแฟ เป็นสายปาร์ตี้ หรือเป็นสายท่องเที่ยว โดยใช้อย่างน้อย 3-4 รูป เพื่อสร้างความเชื่อใจให้กับอีกฝ่ายว่าเรามีตัวตนจริงๆ
“ความเป็นกันเองและเข้าถึงง่าย ควรจะถูกนำเสนอออกมาในรูปแรกของรูปโปรไฟล์ เพราะถ้าเราดูลึกลับมากเกินไป อาจทำให้ผู้คนตีความเราผิดๆ”
ในส่วนการใช้รูปเซลฟี่เป็นรูปโปรไฟล์นั้น ก็สามารถบ่งบอกอะไรบางอย่างได้เช่นกัน ว่าอย่างน้อยๆ คนนั้นก็มีความมั่นใจในตัวเอง ส่วนคนที่ไม่ลงรูปเซลฟี่เลย ก็อาจจะเป็นคนขี้อาย ไม่มั่นใจ หรือคนที่ลงรูปเซลฟี่มากเกินไป ก็อาจมีแนวโน้มว่าจะเป็นคนหลงตัวเอง (self-obsessive) ได้ หรือการถ่ายรูปแปลกๆ ตลกๆ ก็บ่งบอกได้ว่าเราเป็นคนไม่ซีเรียสมากเกินไปและเข้าถึงได้
รักแรกพบบนโลกออนไลน์
จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากความประทับใจในพริบตาแรก
แต่อาจจะต้องอาศัยการดูแล้วดูอีก
ผ่านการประเมินองค์ประกอบหลายๆ อย่าง
จนเรียกได้ว่าเป็น ‘love at second sight’
นอกนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบเสริมอื่นๆ เช่น สัตว์เลี้ยง โดยจากการสำรวจของดิเดียร์ พบว่า ผู้ใช้งานผู้หญิงมีแนวโน้มจะชอบผู้ชายรักสัตว์ เพราะมันบ่งบอกได้ว่าคนคนนั้นมีความรู้สึกที่อ่อนไหว และเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์ หรือเรียกว่ามี human touch
ดิเดียร์เพิ่มเติมว่า การใช้รูปในสมัยอดีตเป็นเรื่องที่โอเค แต่เฉพาะในกรณีที่เราระบุอย่างชัดเจนว่านั่นคือรูปเมื่อนานมาแล้ว เพราะบางทีการนำรูปเก่ามาใช้ อาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิดว่าเราพยายามปิดบังอายุ หรือรูปลักษณ์ของตัวเองในปัจจุบันก็เป็นได้
และที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ ‘คำอธิบาย’ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เราจะได้เพิ่มเติมตัวตนที่แท้จริง ที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ปรากฏในรูปถ่ายลงไป โดยดิเดียร์แนะว่า ให้ใส่ความสนใจเฉพาะของเราลงไป เพื่อดึงดูดคนที่สนใจอะไรเหมือนๆ กัน อาจจะวงดนตรี ภาพยนตร์ หนังสือ หรือกิจกรรมที่ชอบ แต่ควรจะเขียนอะไรที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาจะดีที่สุด เพราะการเปิดเผยข้อมูลที่มาก หรือลึกจนเกินไป เราไม่สามารถรู้เลยว่าคนอื่นจะมองสิ่งนั้นเป็นเสน่ห์เหมือนกับที่เรามองหรือเปล่า เช่น ชอบใส่ชุดนอนสีเขียวเรืองแสง เป็นต้น
“แต่ความประทับใจแรกอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ เพราะมันคือการตัดสินตัวบุคคลในระยะเวลาอันน้อยนิด ผ่านอะไรที่ผิวเผิน ซึ่งมันบ่งบอกอะไรได้ไม่มากนัก” อเล็กซานเดอร์ โทโดรอฟ (Alexander Todorov) ศาสตราจารย์และผู้แต่งหนังสือเรื่อง Face Value: The Irresistible Influence of First Impressions กล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ย้ำภาพความประทับใจแรกได้เป็นอย่างดีนั่นก็คือ ‘การพูดคุย’ เพราะผู้คนไม่สามารถรู้ได้ว่าเราจะเข้ากับอีกฝ่ายได้หรือไม่ หากไม่พูดคุยกัน
จึงไม่แปลกที่สุดท้ายเราจะลงเอยกับใครสักคนที่มีอะไรคล้ายกัน เพราะเรากับเขาได้ผ่านการแลกเปลี่ยนบทสนทนา ที่สามารถบ่งบอกสภาวะทางอารมณ์และการเป็นอยู่ทั่วไปของกันและกัน ซึ่งถ้ายอมรับได้ก็ดีไป ไม่ได้ก็แค่แยกย้าย ฉะนั้น “ทักครับ/ค่ะ” “ทำอะไรอยู่” จึงไม่เพียงพอที่สร้างความประทับใจแรกอีกต่อไปในยุคนี้ ลองปล่อยให้อีกฝ่ายเรียนรู้และเกิดความประทับใจในความเป็นตัวเรา ผ่านความชอบและความสนใจจะดีกว่า
และดิเดียร์เอง ในฐานะผู้บริหารแอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ ก็มองว่าโลกปัจจุบันคือโลกแห่งความรวดเร็ว ฉับไว ภาพและตัวหนังสือแรกจะต้องกระชับและจับความสนใจของอีกฝ่ายได้อย่างอยู่หมัด แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการหาคู่บนโลกออนไลน์ ก็คือ ‘การเป็นตัวของตัวเอง’ อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้อง ‘ฝืนตัวเอง’ ให้เป็นในแบบที่เราไม่ได้เป็น เพราะการเผยตัวตนที่แท้จริงก็ไม่ได้แย่เสมอไป ถ้าหากวันหนึ่งมีใครสักคนเข้ามาจริงๆ นั่นแปลว่าเขาหรือเธอคนนั้น ก็คงจะชอบและยอมรับในสิ่งที่เราเป็นจริงๆ นั่นแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก