มีเรื่องเล่าขำขันเรื่องหนึ่งทำนองว่าเจ้าสัวคนหนึ่งนั่งรถเดินทางไปคุยธุรกิจในต่างจังหวัด ก่อนเจอที่ดินแปลงหนึ่งที่ถูกอกถูกใจ เลยบอกให้เลขาฯ ของตัวเองไปติดต่อขอซื้อที่ดินจากเจ้าของ แต่เลขาฯ กลับพูดเสียงราบเรียบว่า “ท่านไม่ต้องติดต่อใครหรอกครับ เพราะเจ้าของก็คือท่านเองนั่นแหละ”..
เรื่องเล่าดังกล่าวอาจไม่ค่อยตลกนัก เพราะในความเป็นจริงคนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศนี้ ถือครองที่ดินมากถึง 22,522,047 ล้านไร่ หรือมากกว่าพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกรวมกัน ขณะที่ร้อยละ 20 ของกลุ่มที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุด กลับถือครองที่ดินเพียงแค่ 232,790 ไร่ และแย่กว่านั้นไม่มีที่ดินอาศัยอยู่เลย เช่น คนไร้บ้าน
เรื่องเล่าปนความจริงและสถิติที่ไม่น่าตลกนี้สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างจนจะฉีกขาดในประเทศไทย และภาพหนึ่งที่สะท้อนสถานการณ์เหล่านี้ได้ชัดที่สุดคือ ก้นซอยจรัญสนิทวงศ์ 95/ 1 หรือชุมชนตึกร้าง ที่คนไร้บ้านและยากจนมาอาศัยอยู่รวมกันบนตึกที่ครั้งหนึ่งเคยจะถูกสร้างเป็นบ้านจัดสรร พวกเขาเริ่มต้นจากครอบครัวยากจน ก่อนปัญหาจะพัวพันกันจนยุ่งเหยิงจนอาจยากแก้ในคนเจเนอร์เรชั่นเดียว
(1)
ชุมชนตึกร้างจรัญฯ 95/ 1
อย่างที่ the101 เคยเล่าไปในงานเขียนเชิงสารคดี “ชุมชนตึกร้าง 95/1: หลากชีวิตบนซากคอนกรีต” ผู้ที่อยู่อาศัยในที่แห่งนี้ล้วนเป็นคนยากจนที่โซซัดโซเซตามโชคชะตาของชีวิต ตกงาน ร่อนเร่ซ้ำไปซ้ำมาจนสุดท้ายมาพักพิงบนตึกร้างที่เคยจะสร้างเป็นบ้านจัดสรรในก้นซอยจรัญสนิทวงศ์ 95/ 1 แห่งนี้
อย่าง พี่เปิ้ล – สุนันท์ พวงประเสริฐ ผู้ประสานงานประจำชุมชนตึกร้าง 95/1 และพี่แหวน (นามสมมุติ) ทั้งคู่เคยอาศัยอยู่ในเผิงเรียบทางรถไฟบางกรวยแล้ว ก่อนที่จะถูกทางการรถไฟขอคืนพื้นที่ และต้องระเห็ดระเหินมาอาศัยอยู่ที่นี่
หรืออย่าง พี่บุปผา – บุปผา สุขแช่ม เองก็เคยอาศัยอยู่ในชนบทห่างไกลของจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนจะตัดสินใจตั้งแต่ครั้งยังสาวว่าจะเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งบ้านหลังแรกของเธอในกรุงเทพฯ คือเพิงหมาแหงนที่สร้างเองบริเวณเรียบทางรถไฟเช่นกัน ก่อนถูกเวียนคืนที่ทำให้ต้องย้ายไปอยู่ใต้ทางด่วน ก่อนมาจบลงที่ชุมชนแห่งนี้ในที่สุด
ในกรณีของ พี่สาม – สาม มากทิพย์ อาจจะแปลกหน่อย เพราะเธอและสามีเคยเป็นคนงานรับเหมาก่อสร้างบ้านจัดสรรให้กับเจ้าของที่แห่งนี้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 การก่อสร้างก็ต้องหยุดลงกะทันหัน และทำให้เธอไม่รู้จะไปไหนจึงตัดสินใจลงหลักปักฐานในชุมชนแห่งนี้
“มันไม่มีที่ไป” เป็นเหตุผลร่วมกันของทุกคนที่ย้ายมาอาศัยอยู่ที่แห่งนี้ มายาวนานกว่า 20 ปี แต่คำว่าไม่มีที่ไปของพวกเธอ ระหว่างบรรทัดมันมากกว่าแค่ไม่มีที่ไปอยู่อาศัย แต่มันหมายถึงไม่มีโอกาสเลือกให้ชีวิตตัวเองด้วยซ้ำ
(2)
ติดลบตั้งแต่นับหนึ่งจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาร่วมกันของพี่เปิ้ล, พี่บุปผา, พี่แหวน และพี่สามอย่างหนึ่งคือ พวกเธอไม่ได้รับการศึกษาที่สูงมากนัก อย่างพี่เปิ้ลจบเพียงชั้น ป. 7 (เทียบเท่ามัธยม 1 ในปัจจุบัน) หรืออย่างพี่บุปผาเองก็จบแค่ ป. 4 และเมื่อไม่ได้จบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโอกาสในชีวิตก็ยิ่งเรียวเล็กแคบลง
ก่อนที่ไวรัสจะแพร่ระบาด พี่เปิ้ลเปิดร้านขายน้ำเล็กๆ อยู่บริเวณทางรถไฟบางกรวย เธอเคยมีรายได้วันละ 300-400 บาท อาจไม่มากนัก แต่ก็พอเจียดจ่ายค่าน้ำค่าไฟและอื่นๆ สำหรับใช้ชีวิตอยู่ ขณะที่พี่บุปผาเปิดร้านขายเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งก็ต้องปิดตัวลงในช่วงไวรัสระบาดเช่นกัน ส่วนพี่แหวน เธอเคยเปิดร้านขายของอยู่ในกรมทหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอคุยว่ารายได้ดีมากชนิดถึงหลักพันต่อวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อไวรัสแพร่ระบาดเธอก็ไม่สามารถเข้าไปขายของได้เหมือนเคย และต้องเริ่มหันมากู้หนี้ยืมสินนอกระบบ ซึ่งเธอเล่าว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนในชุมชนนี้
“เป็นเรื่องปกติในชุมชนทุกที่แหละ ต้องเข้าใจว่าบางคนรับจ้างก่อสร้างรายวันได้ 400 บาท ค่ากับข้าว 100 บาท จ่ายหนี้จ่ายอะไร เหลือเงินติดตัวไม่ถึง 50 บาท มันก็ต้องกู้มาหมุนไง มันไม่มีเก็บหรอก”
“อย่างป้ายืมเขามา 3,000 บาท ถ้าไม่หวังได้ 5,000 บาทที่รัฐบาลช่วยก็คงไม่ยืมหรอก และถ้ารัฐบาลยังให้ต่อก็คงยืมเขาอีก และเอาอันนี้ไปให้เขาอีกทอดนึง” พี่แหวนกล่าวถึงวิธีการหมุนเงินของเธอ
รายได้ไม่เพียงพอและการตกงานเป็นปัญหาหนึ่งของทุกครอบครัวในชุมชนแห่งนี้ แต่อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ทุกครอบครัวล้วนมีสมาชิกอาศัยอยู่ในบ้านหลายคน อย่างบ้านของพี่บุปผาก็อาศัยอยู่กันถึง 7 คน และแฟนของเธอก็ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรืออย่างพี่แหวนเองก็อาศัยอยู่กันถึง 9 คน มีทั้งลูกและหลานอยู่ร่วมกัน
“แฟนเป็นโรคไต ความดันสูง เบาหวาน อาทิตย์นึงมันก็ขับแท็กซี่ได้ประมาณ 3 วัน วันที่เหลือก็ต้องหยุด แต่ก็ดีหน่อยมีคนใจดีเอาเข้าทะเบียนบ้านกรุงเทพฯ ให้ ทำให้ได้ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าไม่มีก็เรียบร้อย (หัวเราะ)” พี่บุปผาพูดถึงสามีของเธอ
เธอยอมรับว่าทุกวันนี้ ใครจะมองว่าเธอรอคอยการช่วยเหลืออย่างเดียวก็ไม่เป็นไร เพราะภาวะการระบาดของไวรัสมันทำให้เธอทำอะไรไม่ได้จริงๆ
“ตอนนี้เรายอมรับว่าทำมาหากินไม่ได้ เราก็ต้องคอยให้คนอื่นมาช่วยเหลือเรา อย่างพรุ่งนี้มะรืนก็ยังไม่ได้ขาย และจะทำยังไง เราพูดอย่างไม่อายเลย นั่งอยู่ตรงนี้ทุกวัน รอใครจะใจบุญเอาของมาให้ไหมนะ (หัวเราะ)”
(3)
ความหวังของหมู่บ้าน (ครอบครัว)
แม้ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 มาตรา 54 จะระบุไว้ว่า
“รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”
แต่ชีวิตของน้องเก็ท (นามสมมุติ) และพี่แดง (นามสมมุติ) อาจเป็นภาพสะท้อนของความจริงที่ชัดเจนกว่านั้น
ภายในห้องบนชั้นสองของอาคารตึกร้างหลังแรก เด็กชายวัย 10 ขวบต้นๆ คนนึงกำลังง่วนอยู่กับโทรศัพท์ ข้างกายเขามีปากกาและสมุดจดวางอยู่ ด้านในสมุดมีรหัสไวไฟที่เขาขอมาจากอู่ฝั่งตรงข้ามถนน เพราะที่บ้านเขาไม่มีไวไฟติดตั้ง และมันเป็นปัญหาสำคัญเมื่อไวรัส COVID-19 ระบาดและสถานศึกษาเริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนออนไลน์
“เราแอบไปขอรหัสไวไฟจากลูกน้องอู่ฝั่งตรงข้ามมา เขาเอ็นดูลูกเรา” พี่แดงเล่าไปขำไปถึงที่มาที่ไปที่ทำให้ลูกชายเธอมีอินเทอร์เน็ตใช้
สำหรับน้องเก็ทเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เขาเล่าว่าชอบเรียนภาษาไทยพอๆ กับที่ชอบเตะฟุตบอล ความฝันของอย่างหนึ่งคือเป็นนักฟุตบอล ซึ่งเขาเล่าว่ามีขวัญใจคือ ‘พอล ป็อกบา’ กองกลางของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะมีท่าเตะแต่ละครั้งที่เท่จับใจ
“แต่ช่วงนี้ไม่ได้เตะแล้วครับ เพราะต้องเรียนออนไลน์ไม่ได้ไปโรงเรียน” ปกติหลังเลิกเรียนน้องเก็ทจะลงมาซ้อมกับทีมโรงเรียนเสมอ แต่เมื่อไวรัสระบาด โรงเรียนปิด เขาก็แทบไม่ได้จับฟุตบอลอีกเลย เพราะที่บ้านของเขาก็ไม่มีลูกฟุตบอล และพี่แดงก็ยอมรับว่าเธอไม่สามารถหาเงินมาเพื่อซื้อฟุตบอลให้ลูกชายของตัวเองได้
“น้องมันก็เคยบอกนะอยากได้ลูกฟุตบอล แต่เราก็บอกเขาว่าไม่มีตังซื้อหรอก มันแพง”
สำหรับพี่แดง ความยากจนไม่ใช่ปัญหาเดียว เธอเกิดในครอบครัวยากจนในจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนตัดสินใจย้ายเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อน้องเก็ทเริ่มเข้าเรียนชั้น ป.2 แต่ความจนไม่ใช่ปัญหาเดียวของพี่แดง เพราะเธอเกิดมาพร้อมร่างกายที่ไม่ครบถ้วนนักมือซ้ายกุด นิ้วเท้าทั้งสองข้างงองุ้มเข้ามาในอุ้งเท้า และดวงตามีอาการพร่าเลือน
ทุกวันนี้พี่แดงว่างงาน และมีรายได้จากเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท และบัตรคนจนอีก 200 บาท รวมเป็น 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งช่วงก่อนที่ไวรัสจะระบาด เธอเคยรับจ้างดูแลเด็กเล็กซึ่งก็ได้ค่าแรงไม่สูงมากนัก อยู่ราว 100-200 บาท/วัน ซึ่งบ่อยครั้งไม่เพียงพอสำหรับปากท้องของสองแม่ลูก และหนักขึ้นเมื่อต้องจ่ายค่าสัพเพเหระในระบบการศึกษาที่ไม่ได้ฟรีจริง
“ถามว่ามันพอไหม ก็ไม่ค่อยพอหรอก ไหนจะค่าชุด ค่ารองเท้า ค่าเสื้อผ้า ค่าบำรุงการศึกษาอีกรวมกันมี 4,000 – 5,000 บาทบางทีก็ต้องให้ป้าเขา (พี่บุปผา) ช่วยจ่าย” ชีวิตสองแม่ลูกได้รับความช่วยเหลือจากพี่บุปผาซึ่งอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงและเป็นพี่สะใภ้ของเธออยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงโอกาสต่างๆ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่เสมอเพราะความยากจน
น้องเก็ทและพี่แดงเป็นเพียงภาพหนึ่งเท่านั้นของปัญหาการศึกษาของเด็กในชุมชนแห่งนี้ ยังมีเด็กอีกหลายคนในชุมชนที่ไม่มีไวไฟ โทรศัพท์มือถือ และไม่ต้องพูดถึงแล็ปท็อปใช้สำหรับการเรียนออนไลน์
“เดี๋ยววันนี้ตอนกลางคืนพ่อก็ซื้อโทรศัพท์ให้แล้ว” เด็กตัวเล็กคนหนึ่งที่ยังไม่เคยได้เข้าคลาสออนไลน์สักคาบพูดขึ้นกับเรา เราถามต่อว่าอยากกลับไปโรงเรียนไหม เขาตอบเสียงอ่อย “อยาก อยู่บ้านมันเบื่อ”
(4)
กลัว
ไม่ได้จะต่อว่าสื่อมวลชนสำนักต่างๆ แต่ภายหลังที่ the101 ได้นำเสนอสารคดีชุมชนตึกร้างออกไป สื่อหลายสำนักก็เริ่มลงพื้นที่ทำข่าวคนในพื้นที่แห่งนี้ รวมถึง The MATTER เช่นกัน ซึ่งในช่วงเช้าก่อนวันที่เราจะลงพื้นที่ครั้งที่สอง (15 พ.ย.) จักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.เขตบางกอกน้อยและบางพลัด พรรคพลังประชารัฐ ก็ได้มาลงพื้นที่กับนักข่าว
ชาวชุมชนตึกร้างเล่าว่าเวลาที่สื่อลงพื้นที่ทำข่าวพวกเธอมันคือ ‘ดาบสองคม’ กล่าวคือในแง่หนึ่งมันช่วยต่อชีวิตพวกเธอ ทำให้มีคนลงมาบริจาคข้าวของเครื่องใช้ อาหารแห้ง ตลอดจนนานาของจำเป็นให้พวกเธอ แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็ทำให้พวกเธอเป็นกังวลว่าจะถูกไล่จากที่อยู่แห่งนี้ เพราะการที่สื่อเผยแพร่ภาพออกไปอาจทำให้เจ้าของที่รู้สึกว่าการดำรงอยู่ของพวกเธอเป็นปัญหา
“กลัวเขาจะมาไล่เราน่ะสิ” เสียงหนึ่งจากชาวชุมชนตึกร้างพูดขึ้น คนอื่นทำเสียงเออออเห็นด้วย
“ถูกไล่จากที่นี่ เราก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหนแล้ว”
พวกเธอเล่าว่า ส.ส. ได้เสนอให้ชาวชุมชนแห่งนี้ร่วมกันทำกองทุนชุมชน เก็บคนละ 30 บาท/วัน แล้วเขาจะประสานกับสำนักบ้านมั่นคงให้เพื่อติดต่อขอซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง แต่สำหรับพี่เปิ้ล พี่บุปผา และพี่หวานแล้ว เงิน 30 บาท ไม่ใช่จำนวนน้อยเลย เพราะขณะนี้พวกเธออยู่ในสภาพของคนว่างงาน และมีรายได้เข้ามาแทบจะเป็นศูนย์ตั้งแต่เริ่มมี COVID-19 ระบาด
“จะไปเอาเงินจากไหนล่ะน้อง ทุกวันนี้ยังต้องไปยืมเขาอยู่เลย” พี่หวานพูดแล้วก็หัวเราะร่วน
“อย่าว่าแต่ 30 บาทเลย บาทเดียวยังหาไม่ได้ตอนนี้”
พี่บุปผาพูดขึ้นบ้างแล้วทุกคนก็หัวเราะตามกัน แต่เสียงมันคล้ายเป็นอารมณ์ขันเพื่อปลอยโยนกันมากกว่า
(5)
เหลื่อมล้ำ
เมื่อคลี่ชีวิตของชาวชุมชนตึกร้างออกมาทีละน้อยๆ เราจะเห็นปัญหาที่ซุกซ่อน ทับซ้อน และล้วนเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอยู่เต็มไปหมด และเมื่อปัญหาเหล่านั้นถูกนำมารวมอยู่ในคนๆ เดียวกัน มันเลยเลยเถิดผลักพวกเขาไปสู่สุดขอบของความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ข้อเสนอของ พี่จ๋า – อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ที่กล่าวไว้กับ the101 ว่า ทางมูลนิธิเคยเสนอโมเดลชุมชนบ้านร้างให้แก่ภาครัฐตั้งแต่ช่วงปิดสนามหลวงแล้ว โดยให้เปลี่ยนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทิ้งรกร้างให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน อาจมีการเก็บค่าเช่า ค่าน้ำประปา ค่าไฟ สร้างกฎระเบียบร่วมกันเพื่อให้กลุ่มคนไร้ที่อยู่อาศัยมีโอกาสมาอยู่ร่วมกัน
แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สนับสนุนให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่ว่าที่ดินกระจุกตัว กฎหมายภาษีที่ดินมีจุดหลบเลี่ยงเยอะ อัตราภาษียังย่ำกับที่ ก็ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ยังคงถ่างกว้างจนหลายสำนักยกให้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ซี่งปัญหาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของปัจเจกเพียงคนเดียวอย่างแน่นอน เพราะใครคนนึงเลือกได้หรือที่จะเกิดมายากจนหรือร่ำรวย ใครคนนึงเลือกได้จริงหรือที่จะเรียนหนังสือให้สูงที่สุดหรือเข้าไม่ถึงการศึกษาเลย ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งคือความรับผิดที่ภาครัฐจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสได้ อย่างน้อยๆ รัฐต้องเป็นเบาะรองรับที่ช่วยรับประชาชนไม่ให้ร่วงหล่นลงมากระแทกพื้นซีเมนต์จนเลือดคั่งตาย
แต่เราจะไปถีงตรงนั้นอย่างไร ในเมื่อล่าสุดการยื่นร่างพิจารณาของกลุ่ม re-solution ที่แนบรายชื่อประชาชนมากกว่า 150,921 คน ยังถูกเหล่าตัวแทนประชาชนในรัฐสภาตีตกเอาง่ายๆ ขณะที่เวลาซื้อเครื่องบิน รถถัง เรือดำน้ำกลับปล่อยผ่านกันง่ายเหมือนขี้นทางด่วน พับผ่าดิ!
Photograph By Channarong Aueudomchote
Illustrator By Sutanya Phattanasitubon