ระบบทุนนิยม ทำให้เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ยังไง?
อยากได้เสื้อผ้าดีๆ กินอาหารที่มีคุณภาพ ซื้อบ้านเป็นของตัวเอง มีเงินไว้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ .. คุณภาพชีวิตดีๆ ที่ผู้คนพยายามไขว่คว้ามานี้ ต้องแลกมาด้วยการปากกัดตีนถีบ ภายใต้ระบบทุนนิยมที่บีบรัดให้ผู้คนดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด ทั้งยังไม่อนุญาตให้คนล้มเหลวได้อีกด้วย
แล้วระบบทุนนิยมเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าอย่างไร ทำยังไงเราถึงจะหลุดพ้นจากสภาวะที่เป็นอยู่นี้ได้ เพจงานเสวนาที่ไม่เป็นทางการ จึงได้จัดงานเสวนาออนไลน์เรื่อง ‘ทุนนิยมกับโรคซึมเศร้า’ โดยมี ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ซึ่งแนะนำตัวว่าเป็นแรงงานประจำภาควิชาสังคมและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และณัฐ โกยโภไคสวรรค์ คนอ่านหนังสือ ที่มาร่วมพูดคุยกันในงานเสวนานี้
ระบบทุนนิยมเข้ามามีบทบาทกับเราอย่างไร?
ระบบทุนนิยมแทรกซึมเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเราอย่างมาก ขณะที่ปัจจุบัน ผู้คนก็ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งณัฐกล่าวว่า ระบบทุนนิยมทำให้เกิดความทุกข์ทางจิตวิทยาจากปัญหาสภาพทางเศรษฐกิจ หรือระบบกระจายความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ไม่ประสิทธิภาพ ไม่สามารถรับรองความปลอดภัย หรือความมั่นใจว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา อย่างน้อยเราก็ยังได้รับสิ่งที่เพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย
ขณะที่ อ.เก่งกิจ เล่าว่า ระบบทุนนิยมทำให้เกิดการ disrupt ใน 3 ประการ ได้แก่
- Ecological disruption: มนุษย์ทำร้ายระบบนิเวศและทรัพยากรโลกอย่างรุนแรง จนมีความเป็นไปได้สูงว่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ 21 สิ่งมีชีวิตจะสูญพันธ์ไปกว่า 50% ของโลก แปลว่าแนวโน้มของการที่มนุษย์จะไม่สามารถดำรงอยู่บนโลกนี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
- Digital disruption: เทคโนโลยีดิจิทัล ไป disrupt ความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งระบบทุนนิยมพยายามจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มอัตราเร่งของกระบวนการผลิต โดยให้มนุษย์เอนเกจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลตลอดเวลา เช่น ทำให้เราต้องกดโทรศัพท์มือถือ หรือทำงานตลอด 24 ชั่วโมงในโลกดิจิทัล
- Aging Society: ระบบทุนนิยมในครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 มุ่งไปสู่การทำลายระบบรัฐสวัสดิการและการแปรรูปกิจการสาธารณะของรัฐให้เป็นเอกชน ในขณะที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ยืดอายุของคนได้มากขึ้น โดยช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรโลกอยู่ที่ 40-50 ปี แต่ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70-75 ปี นั่นแปลว่า ประชากรผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้น แต่คนกลับเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ
นอกจากนี้ อ.เก่งกิจยังอธิบายด้วยว่า เราอยู่ภายใต้ระบบเวลาหลายชุดด้วยกัน ได้แก่
- เวลาทางธรณีวิทยา (Geological time) ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 โลกกำลังเข้าสู่สภาพสังคมภูมิอากาศแบบใหม่ ทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตได้ลำบาก เข้าไม่ถึงแหล่งอาหารและอากาศที่บริสุทธิ์
- เวลาทางชีววิทยา (Biological time) ในอายุขัยของมนุษย์ เราไม่สามารถควบคุมหรือจัดการโลกในเชิงภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้
- เวลาทางไวรัสวิทยา (Virological time) อัตราเร่งของการแพร่ระบาดของไวรัสมีความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักระบาดวิทยามองว่า เรามีแนวโน้มที่จะต้องอยู่กับการระบาดของไวรัสต่างๆ ตลอด แปลว่า ต่อให้เราแก้ปัญหา COVID-19 ได้ เราก็อาจต้องเผชิญหน้ากับไวรัสอื่นอีก
- เวลาในเชิงจิตใจของมนุษย์ (Psychological time) เป็นสภาวะที่เรากำลังเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในกระบวนการที่เราใช้ในการเผชิญหน้ากับวิกฤตต่างๆ
- เวลาของเทคโนโลยี (Technological time) ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่เวลาของเทคโนโลยีรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดอัตราเร่งที่ไม่สอดคล้องกับเวลาทางธรณีวิทยาและเวลาในเชิงจิตใจของมนุษย์
นั่นแปลว่าเราอยู่ภายใต้ระบบเวลาหลายระบบ ไม่ได้อยู่เพียงแค่ระบบเวลาของมนุษย์เท่านั้นแล้ว ซึ่งสภาวะของความขัดกันที่เกิดบน disruption ในระบบทุนนิยม ทำให้มนุษย์กลับไปหาระบบสังคมแบบเก่า เช่น ความคิดทางศาสนา ความคิดแบบชาตินิยม เป็นต้น และสิ่งที่ตามมาพร้อมกันคือ การทำให้ตัวตนของเราต้องถูกสร้างขึ้นใหม่ตลอดเวลา
“ระบบทุนนิยมทำให้เราทุ่มเทกับการสร้างตัวตนอยู่ตลอดเวลา เราถูกบังคับให้ต้องแสดงออกว่าเราเป็นใคร ต้องลองจินตนาการว่า ในสมัยที่สังคมไทยยังไม่มีประชาธิปไตย ทุกคนเป็นฝุ่นใต้ตีน เพราะฉะนั้น ไม่มีใครที่จะต้องมาแสดงตัวเองว่าชื่ออะไร คุณไม่มีสิทธิ์เหล่านี้”
อ.เก่งกิจ เล่าต่อว่า เมื่อเราเข้าสู่สังคมแบบใหม่ก็ทำให้เราจะต้องมีตัวตน ต้องเป็นใครสักคนหนึ่ง ไม่ว่าจะสร้างผ่านระบบการศึกษา ภาษา หรือเทคโนโลยีต่างๆ ก็ตาม อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุนนิยมจะพยายามสร้างตัวตนของเราในระดับจิตวิทยา แต่ระบบทุนนิยมก็นำไปสู่การทำลายความเป็นการเมือง ด้วยการทำให้ตัวตนของมนุษย์ถูกทำให้เข้าใจในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล ที่แยกขาดออกจากคนอื่น
ดังนั้นแล้ว การทำให้มนุษย์หมกมุ่นกับตัวเองอย่างหนัก ก็ส่งผลให้เกิดการทำลายหรือลดทอนความเป็นการเมือง ด้วยการให้ผู้คนไม่สถาปนาตัวเองเป็นปัจเจกบุคคล แต่จะต้องร่วมกันในฐานะ ‘หน่วย’ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมร่วมกัน
“เพราะงั้น สภาวะของการหมกมุ่นตัวเองภายใต้เงื่อนไขนี้ มันจึงส่งผลให้ความเป็นการเมืองและมิติทางการเมือง ถูกทำให้หายไปจากการคิดใคร่ครวญ หรือการใช้ชีวิตของเรา”
อ.เก่งกิจ กล่าวว่า ยิ่งเราหมกมุ่นกับตัวตนของเรามากเท่าไหร่ เราจะยิ่งป่วย ไม่ว่าในเชิงกายภาพหรือจิตใจ แล้วพอเราป่วย เราก็จะยิ่งปฏิเสธความเป็นการเมือง ดังที่จะเห็นได้จากคนที่เป็นซึมเศร้าก็จะพยายามปฏิเสธการออกไปพบปะผู้คน ในขณะที่การเมืองเรียกร้องให้คนต้องออกไปบนถนน หรือเรียกร้องให้มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน พูดคุยกับคนอื่น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการยกระดับตัวตนของมนุษย์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ทำไมทุนนิยมถึงทำให้เราซึมเศร้า?
อ.เก่งกิจยกตัวอย่างถึงประเทศที่มีอัตราซึมเศร้าน้อยที่สุดในโลก นั่นคือ นอร์เวย์ รองลงมาเป็น ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย และเดนมาร์ก ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่า ประเทศเหล่านี้ ล้วนมีระบบรัฐสวัสดิการที่มั่นคง
ขณะที่ ประเทศไทยเกือบจะเป็นประเทศที่มีอัตราของประชากรที่เครียดที่สุดในโลก ในลำดับที่ใกล้กับตุรกี อาร์เจนติน่า และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีสวัสดิการและมีความเหลื่อมล้ำสูง นอกจากนี้ ไทยเองก็มีอัตราผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในปี 2564 เรามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 1,500,000 คน
นั่นหมายความว่า อัตราความตึงเครียดของคนในสังคมสัมพันธ์กับการมีระบบสวัสดิการที่มั่นคงในประเทศต่างๆ และประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้คนซึมเศร้า
คำถามที่ตามมาคือ แล้วการที่คนเป็นซึมเศร้านี้ ส่งผลอย่างไรกับระบบทุนนิยมบ้าง?
ประเด็นนี้ อ.เก่งกิจ อ้างอิงถึง ประเทศที่ประชากรบริโภคยาต้านโรคซึมเศร้าเยอะที่สุดในโลก นั่นคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีบริษัทยาต้านโรคซึมเศร้าจำนวนมหาศาล อุตสาหกรรมยาต้านซึมเศร้าจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญของโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนว่า การเป็นซึมเศร้าของประชากรโลกไม่ได้ส่งผลเสียต่อระบบทุนนิยม
ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน ยังส่งผลให้คนเป็นหนี้มากขึ้น เพราะอัตราค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) ลดลง แม้ว่าเราจะได้เงินเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าของเงินก็ลดลง และทำให้ความสามารถในการบริโภคของผู้คนลดลงไปด้วย ผลักให้คนต้องหันเหไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการบริโภค ซึ่งเมื่อคนเป็นหนี้ ก็ออกจากงานไม่ได้ และต้องทำงานหนักเพื่อใช้หนี้
“เราจะเห็นการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ในขณะที่เราทำงานหนักมาก เพื่อสร้างมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจในประเทศ แต่ความเหลื่อมล้ำที่มีมหาศาลและการปกครองของระบบเผด็จการก็ทำให้เราไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ โดยที่ไม่เป็นหนี้”
ขณะที่ ณัฐกล่าวว่า ทุนนิยมที่ไร้การควบคุม ไม่มีการแทรกแซง จะเป็นผลร้ายกับผู้คนอย่างมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มแรงงานที่ไม่สามารถต่อรองอะไรกับผู้ให้เงินเดือนได้ เพราะขาดกำลังที่แข็งมากพอ และยังต้องรับผิดชอบทุกอย่างในชีวิตด้วยทรัพยากรการเงิน
“ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ถูกเพาะ ถูกทำให้ฝืดเคือง ทำให้มีปัญหา ทำให้คนไม่สามารถหาเงินมารับผิดชอบตัวเองอย่างมโหฬาร ลูกอยากเรียนโรงเรียนดีๆ ก็ต้องจ่ายเงิน อยากได้การรักษาที่ทันใจหรือเชื่อถือได้ ก็ต้องควักเงินมาเอง ไม่งั้นต้องไปต่อคิวยาวเหยียด มันก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ถ้าเรามีเงินจำนวนมาก เราก็สามารถ bypass ปัญหาเหล่านี้ได้”
ณัฐเล่าต่อว่า แต่ถ้าเราไม่มีเงินล่ะ เราก็จะมาสู่ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึง สภาวะที่ผู้คนไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ด้วยเงินของตัวเอง และรัฐก็ไม่ได้มีสวัสดิการทางสังคมที่จะช่วยให้เราตอบสนองทางพื้นฐานได้ ก็จะก่อให้เกิดความทุกข์ยากขึ้น
อย่างไรก็ดี ระบบทุนนิยมเองก็บังคับให้เรา ‘มีความสุข’ ด้วย โดย อ.เก่งกิจ ยกกรณีของไลฟ์โค้ชที่มักพูดว่า เราต้องมีความสุข มีแพสชั่นในการทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ทำให้ความสุขกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต แล้วส่งผลให้คนที่ไม่มีความสุขเป็นคนผิดปกติ ยิ่งกว่านั้น ความสุขยังถูกทำให้เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาและบรรลุได้โดยปัจเจกบุคคล
“เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงความสุข มันจึงไม่ใช่การแชร์ร่วมกับคนอื่น แต่มันเป็นเรื่องของการแข่งขันและการประกอบสร้างตัวตนในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสังคม”
อ.เก่งกิจย้ำว่า ระบบทุนนิยมทำให้ความสุขกลายเป็นเรื่องของปัจเจก และถ้าคุณไม่มีความสุข แสดงว่าคุณไม่นับถือตัวเอง ไม่มองโลกในแง่ดี กลายเป็นเรื่องของการจัดการตัวเอง ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมและการเมือง
และเมื่อเราอยู่ในระบบสังคมที่ไม่อนุญาตให้เราล้มเหลวได้ เพราะคนที่ล้มเหลวกลายเป็นความผิดของปัจเจกบุคคล ด้วยสภาวะที่บรรทัดฐานของสังคมที่ทำให้เราต้องสมบูรณ์แบบอยู่ตลอด อาการแพนิคและซึมเศร้า จึงนำไปสู่ความสิ้นหวังและการขยายตัวของอัตราการฆ่าตัวตายในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
การกลับมาหมกมุ่นกับตัวเอง และความเป็นปัจเจกบุคคล ภายใต้อุดมการณ์ของทุนนิยม และการที่เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและแพนิค ได้ทำลายการเมืองแบบประชาธิปไตยลง เพราะการเมืองแบบประชาธิปไตยต้องการการสื่อสารและการแชร์พื้นที่สาธารณะร่วมกัน
ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหานี้ได้?
ในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ อัตราผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่ง อ.เก่งกิจกล่าวว่า เรามีทางเลือกสองทางในเงื่อนไขนี้ คือ จะจำนนและกลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือจะกลับไปสู่การต่อสู้ทางการเมือง ด้วยการขยายความเป็นการเมือง ซึ่งทำได้ 3 มิติ คือ
- การปลดแอกจากระบบทุนนิยมและเศรษฐกิจหนี้ เพราะระบบทุนนิยมทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งการใช้ทรัพยากรมากเกินไป การสูญเสียความมั่นคงในอาชีพ การเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น เราจึงควรคิดถึงรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบอื่น
- การปฏิเสธการแสวงหาตัวตนที่เป็นปัจเจกและแยกขาด และตัวตนที่มีสารัตถะตายตัว นั่นคือต้องไม่ตกอยู่ในไอเดียของการแสวงหาตัวตน หรือความคิดว่าด้วยตัวตนที่เป็นปัจเจก แต่ตัวตนของมนุษย์เป็น social being อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็คือตัวตนในเชิงสังคมที่ต้องแชร์ประสบการณ์ร่วมกับคนอื่น
- สร้างภารดรภาพเพื่อให้เกิดตัวตนร่วมและประชาธิปไตย ภารดรภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราร่วมกันรับรู้ความทุกข์คนอื่น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และโค่นล้มเผด็จการ
“สำหรับผมอุดมการณ์ว่าด้วยความสุขจึงเป็นศัตรูโดยตรงกับการแบ่งปันความทุกข์ หรือภารดรภาพของผู้ที่ถูกกดขี่ในสังคมและการสร้างประชาธิปไตย”
“ถ้าเราไม่อยากเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เราต้องออกไปต่อสู้ทางการเมือง และการต่อสู้ทางการเมือง ผมคิดว่ามันทำได้หลายแพลตฟอร์ม อย่างการออกไปบนถนนคือการแชร์ความทุกข์ร่วมกันกับคนอื่น ซึ่งเป็นการสร้างสังคมที่มีภารดรภาพและประชาธิปไตย” อ.เก่งกิจกล่าวปิดท้าย