เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เหมือนเรากำลังพูดถึงอะไรสักอย่าง คือเรารู้แหละว่าความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริง แต่รู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำก็เป็นเรื่องของโลกทุนนิยม เราพยายามจะแก้ปัญหานี้กันมาอย่างเนิ่นนาน นานจนดูเหมือนว่าเราไม่น่าจะแก้เรื่องนี้ได้ ปัญหามีแต่จะใหญ่โต เหลื่อมล้ำกันมากขึ้นทุกวัน
ความเหลื่อมล้ำ แน่ละว่าเป็นผลของระบบทุนนิยม ระบบที่ผู้มีทุนสูงกว่าได้เปรียบผู้ที่มีทุนน้อยกว่า ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ซับซ้อน ประเด็นหนึ่งคือระบบทุนนิยมเป็นระบบที่สัญญาว่าใครก็สะสมทุนได้ แต่ความเหลื่อมล้ำแฝงตัวอย่างแนบเนียนผ่านเกมที่เราเชื่อว่าเราสามารถ ‘เล่น’ อย่างเสรีได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง กฎของเกมและกติกาในการเข้าสะสมทุนในโลกทุนนิยมเต็มไปด้วยความไม่เสมอภาค เรามีทุนแค่ไหน มีภูมิหลังทางครอบครัวเข้มแข็งแค่ไหน เราถือครอง ‘ปัจจัยการผลิต’ รึเปล่า เราอยู่ในชนชั้นไหน ทั้งหมดนี้เป็นตัวชี้วัด ‘โอกาสในชีวิต’ ที่แตกต่างกัน
พลังอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยมคือการทำให้ทุกอย่างรวมถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ การที่คนคนหนึ่งจนหรือรวยเป็นเรื่องของความขยันหมั่นเพียรหรือความเฉลียวฉลาดของคนคนนั้น ตรรกะของโลกทุนนิยมดูจะเป็นสัจธรรมของโลก ดังนั้นการที่เราจะเห็นความไม่เสมอภาคได้ เราอาจจะต้องอาศัยการมองจากแง่มุมปลีกย่อยต่างๆ The MATTER ชวนมาเข้าใจความเหลื่อมล้ำของโลกทุนนิยม มองเห็นสถานะและเกมของการสะสมทุนที่อาจจะไม่ใช่เกมที่ถูกออกแบบมาสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
งานศึกษาที่จะพาเราไปเข้าใจตั้งแต่ภาพรวมของความไม่เท่าเทียมในเชิงเศรษฐกิจ ไปจนถึงภาพจำลองของการต่อสู้ในโลกทุนนิยมตั้งแต่ในเกมออนไลน์ ในวรรณกรรมเยาวชน ไปจนถึงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเพศสถานะ การต่อสู้กันในโลกธุรกิจเฉพาะ เช่น อุตสาหกรรมเพลง ระหว่างนักร้องที่ไม่ได้ถือครองปัจจัยการผลิตกับค่ายเพลง ประเด็นเรื่องรสนิยมที่เกี่ยวข้องกับทุนที่แตกต่างกันของเหล่านักชิม ทั้งหมดนี้ทำให้เราพอจะเห็นภาพการต่อสู้สะสมทุนที่นำไปสู่ความไม่เสมอภาค ระหว่างผู้ที่มีทุนมาก ผู้มีทุนน้อย และหมายรวมถึงพวกเราทั้งหมดที่ต่างกำลังดิ้นรนอยู่ในเกมที่ไม่ค่อยแฟร์นี้
ปัญหาความยากจนในสังคมไทย
เริ่มด้วยงานที่ให้ภาพรวมของ ‘ความยากจน’ โดยธนพล สราญจิตร์ งานศึกษาชิ้นนี้พูดถึงประเด็นความยากจนในฐานะปัญหาอันยาวนานของสังคมไทย งานศึกษานี้อธิบายแนวคิดและประเด็นเรื่องความยากจนในสังคมไทย รวมไปถึงวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความยากจนในสังคมไทย ผู้วิจัยให้ภาพว่าความยากจนเกิดจากปัจจัยที่ซับซ้อน ความยากจนในแต่ละพื้นที่ เช่นความยากจนในพื้นที่เมืองหรือชนบทมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ความยากจนเป็นผลของปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยที่เกิดจากตัวบุคคลเอง และปัจจัยภายนอก จากระบบ จากการกระจายอำนาจที่ไม่เสมอภาค
อ่านงานว่าด้วยความยากจนต่อได้ที่ : www.tci-thaijo.org
ทุนนิยมเสมือนในเกมออนไลน์
เวลาเราเล่นเกมออนไลน์ เรามักรู้สึกว่า โลกออนไลน์ก็เหมือนโลกจำลองของเรานี่แหละ มีระบบเศรษฐกิจของตัวเอง มีระบบชนชั้น อาจจะแบ่งด้วยเลเวล ด้วยเครื่องแต่งกาย ในงานศึกษาเรื่อง ‘ทุนนิยมเสมือนในเกมออนไลน์’ จึงเอาแนวคิดเรื่องทุนนิยมไปศึกษาเกม Lineage II Online ว่า เอ้อ ระบบของเกมมันมีความเป็นทุนนิยมเสมือนมั้ย ผลคือพบว่า โลกในเกมมีความเป็นโลกทุนนิยมเสมือนอยู่ แต่ผู้วิจัยดูจะพบว่า โลกทุนนิยมในเกมค่อนข้างเป็นไปอย่างเท่าเทียม คือทุกคนสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตได้เท่าเทียมกันหมดโดยไม่มีการแบ่งแยก (ไม่เหมือนโลกในชีวิตจริง) ดังนั้นการแยกชนชั้นเป็นนายทุนกับแรงงานจึงไม่เกิดขึ้น แต่จริงๆ ในเกมเองก็มีระบบเติมเงินเนอะ คนที่มีทุนมากกว่าก็จะมีข้อได้เปรียบในการเล่นบางอย่าง
อ่านงานศึกษาเรื่องทุนนิยมในเกมออนไลน์ต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th
เกมคือโลก โลกคือเกม: การช่วงชิงอำนาจในวรรณกรรมเยาวชนร่วมสมัยแนวดิสโทเปีย
โลกดิสโทเปียก็เป็นเหมือนพื้นที่จำลองของโลกแห่งความเป็นจริง งานศึกษาของภาณุมาศ อิสริยศไกร ใช้แนวคิดเรื่องทุนและระบบทุนนิยมเข้าไปศึกษาวรรณกรรมแนวดิสโทเปีย เช่น ฮังเกอร์เกมส์ ของซูซานน์ คอลลินส์ งานศึกษานี้วิเคราะห์โลกฮังเกอร์เกมส์ถึงระบบชนชั้น การกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการที่ตัวละครเข้าไปสู่สนามของการสะสมทุนและใช้กลยุทธ์เฉพาะตัว เพื่อสะสมทุนในระเบียบโลกแบบทุนนิยมนั้น พออ่านการวิเคราะห์ก็พบว่า โลกการต่อสู้ในสนามของฮังเกอร์เกมส์ก็ไม่ค่อยต่างกับการดิ้นรนของเราเท่าไหร่
อ่านเรื่องทุนนิยมในโลกฮังเกอร์เกมส์ต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th
ผู้หญิงภายใต้ระบบทุนนิยมในอาชญนิยายญี่ปุ่นร่วมสมัย
ความไม่เท่าเทียมทางเพศเองก็นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ งานศึกษาเรื่อง ‘ผู้หญิงภายใต้ระบบทุนนิยมในอาชญนิยายญี่ปุ่นร่วมสมัย’ ใช้นวนิยายอาชญกรรมของญี่ปุ่นเพื่อศึกษาผลกระทบและความเหลื่อมล้ำที่ระบบทุนนิยมทำต่อผู้หญิง ในญี่ปุ่นโลกทุนนิยมและการทำงานมักเป็นโลกของผู้ชาย ผู้หญิงจึงถูกกีดกันจนเกิดเป็นช่องว่างและชนชั้นทางเศรษฐกิจขึ้น แถมผู้หญิงยังคงถูกกีดกันทั้งในพื้นที่บ้านและพื้นที่ทำงาน ผลคือการถูกกดขี่ในโลกทุนนิยมของผู้ชายนี้ทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาตอบโต้ด้วยการก่ออาชญกรรมขึ้น ในด้านหนึ่งถ้าเรามองโลกทุนนิยมในฐานะโลกเสรีที่อาจจะไม่เป็นธรรมกับทุกคน บางครั้งอาชญกรรมคือการลุกขึ้นต่อต้านต่อรองกับระบบที่ทำร้ายผู้คนนั้น
อ่านเรื่องผู้หญิง ระบบทุนนิยม และอาชญนิยายญี่ปุ่นต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th
เศรษฐกิจการเมืองในกระบวนการผลิตเพลงลูกทุ่งไทย
มาสู่ภาคธุรกิจ ประเด็นสำคัญของความขัดแย้งในโลกธุรกิจมักเป็นเรื่องของการมีทุนและการถือครองปัจจัยการผลิต เป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนและคนทำงาน ในงานศึกษาของสาทร ศรีเกตุ ศึกษาวงการการผลิตเพลงลูกทุ่งของไทย ในการศึกษาพบว่าด้วยความที่ศิลปินไม่มีทุน ไม่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเองจึงต้องเข้าเป็นลูกจ้างผลิตเพลงให้นายทุน ความขัดแย้งระหว่างนายทุนและลูกจ้างจึงมีปัญหาแบบคลาสสิก ตั้งแต่การเสียเปรียบ อิสระในการทำงาน และความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ในขณะเดียวกัน ทางศิลปินเองถึงจะไม่มีทุนก็มีการต่อสู้ตอบโต้กับนายทุนด้วยวิธี เช่น พูดวิจารณ์ผ่านสื่อ แต่งเพลงวิพากษ์ รวมตัวกันเป็นสมาคม ภาพการต่อสู้ขัดแย้งในธุรกิจเพลงลูกทุ่งก็ดูจะเป็นภาพสะท้อนและความขัดแย้งจากการมีหรือไม่มีทุนในโลกทุนนิยมได้พื้นที่หนึ่ง
อ่านความต่างของทุนในวงการลูกทุ่งไทยต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th
การสื่อสารและรสนิยมเรื่องอาหารของนักชิมไทย
‘รสนิยม’ ตามแนวคิดของปิแอร์ บูร์ดิเยอ ถือว่าเป็นการแสดงออกถึงทุนที่คนคนหนึ่งสะสมมา เราจะมีรสนิยมอย่างไรสัมพันธ์กับภูมิหลังของเรา ตรงนี้เองการมีรสนิยมที่ดีสามารถพาคนคนหนึ่งไปสู่โอกาสในชีวิตที่แตกต่างออกไป ในงานศึกษาของนันทกา สุธรรมประเสริฐ จึงลงไปศึกษารสนิยมของนักชิมไทยซะเลย ผลคือนักชิมที่มีทุนและภูมิหลังแตกต่างกันก็สร้างรูปแบบรสนิยมในการชิมอาหารที่แตกต่างกัน บางคนก็อาจจะใช้การชิมโดยเน้นไปที่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ บางคนทุนทางเศรษฐกิจสูงก็จะวิจารณ์โดยเน้นความหรูหรา บางคนเน้นความแปลกใหม่ บางคนเน้นไปที่ความคุ้มค่า
อ่านความต่างของทุนที่ส่งผลกับการชิมต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th
ผลกระทบของการดำเนินนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำต่อภาวะความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางรายได้ในประเทศไทย
พูดเรื่องความไม่เท่าเทียม ส่วนสำคัญหนึ่งคือเป็นเรื่องที่จับต้องได้ เป็นปัญหาที่รัฐต้องมุ่งแก้ไข หนึ่งในวิธีการแก้คือมองว่าความไม่เสมอภาคเกิดจากความไม่เท่าเทียมทางรายได้ใช่ไหม ดังนั้นปรับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำสิ ช่องว่างทางรายได้จะได้แคบลง งานศึกษาของภัทรียา นวลใย พบว่าการเพิ่มรายได้ขั้นต่ำนำไปสู่ราคาสินค้าที่สูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ทำให้ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ผู้วิจัยเสนอว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาความยากจนและรายได้ที่เหลื่อมล้ำ แต่รัฐควรหาแนวทางและสวัสดิการอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้คนด้วย
อ่านเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำกับความเท่าเทียมต่อได้ที่ : cuir.car.chula.ac.th
ความเหลื่อมล้ำ และความเปราะบางที่เกิดจากหนี้นอกระบบในสังคมไทย
การขาดและการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญของความเหลื่อมล้ำ หนี้นอกระบบจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจถ่างขยายขึ้น และความยากจนทวีความรุนแรงมากขึ้น งานศึกษาพบว่าคนที่อยู่ในภาวะยากจนแถมยังตกเป็นหนี้นอกระบบทำให้ชีวิตยุ่งยากและเปราะบางหนักข้อขึ้นไปอีก ผู้วิจัยเสนอว่าหนี้นอกระบบเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ในระดับโครงสร้าง ไม่ใช่แก้ที่รายกรณีหรือแก้ที่ปลายเหตุ
อ่านความเหลื่อมล้ำจากหนี้นอกระบบต่อได้ที่ : www.researchgate.net