คาปิบาร่ากำลังครองอินเตอร์เน็ต ไถฟีดไปที่ไหนก็จะเจอเจ้าหนูยักษ์ขนสีน้ำตาล ตอนหลังคนไทยเรียกมันว่าหมามะพร้าวคงจะจากที่มันหน้าตาเหมือนกะลามะพร้าว
เจ้าคาปิบาร่าพวกนี้นอกจากหน้าตาที่น่ารัก หน้านิ่งไร้อารมณ์แล้ว พวกมันดูจะเป็นตัวแทนของปรัชญาการใช้ชีวิตให้กับสิ่งมีชีวิตที่แสนยุ่งเหยิงของมนุษย์แบบเราๆ ลึกๆ แล้ว เราเองก็อยากจะมีชีวิตแบบเจ้าคาปิบาร่าพวกนั้น พวกมันนอนเล่นอยู่ในธรรมชาติ ใช้ชีวิตสุดชิลแบบไม่ต้องกังวลอะไร แช่น้ำร้อน
แถมในฐานะสรรพสัตว์ ดูเหมือนพวกมันจะเป็นหนึ่งในไม่กี่สายพันธุ์ที่ลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง พวกมันดูจะเป็นเพื่อนได้กับทุกสายพันธุ์ นอนอาบแดดข้างจระเข้ พาเจ้าลิงกระรอกขี่หลัง นอนหนุนหลังเต่าตัวใหญ่ เล่นกับผีเสื้อสีส้ม ช่างเป็นสิ่งมีชีวิตบนโลกที่ดูสุขล้นอะไรขนาดนั้น
อันที่จริงเจ้าคาปิบาร่าก็ค่อนข้างเป็นอย่างที่เราเห็น ด้วยลักษณะเฉพาะของมันคือเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (semi aquatic) ทำให้เราเห็นภาพพวกมันชิลอยู่ตามแหล่งน้ำ พวกมันไม่ค่อยมีศัตรูตามธรรมชาติหรือสัตว์นักล่า แต่อันที่จริงเจ้าหนูยักษ์เหล่านี้มีอยู่มากมายในประเทศแถบอเมริกาใต้ พวกมันเองก็มีความขัดแย้งกับมนุษย์อย่างเราๆ บ้าง ซึ่งในความชิลนี้ เจ้าคาปิบาร่านับเป็นสัตว์ไม่กี่ประเภทที่ปรับตัวเข้าและเติบโตอยู่ในเมืองได้เป็นอย่างดี แต่การปรับตัวดีนี้ พวกมันเองก็เคยทะเลาะกับหมู่บ้านเศรษฐี และมานอนยิ้มบนสนามหญ้าจนทำให้เมืองต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับพวกมันด้วย
หมามะพร้าว ปลาประเภทหนึ่ง ความยุ่งเหยิงของคาปิบาร่า
คาปิบาร่านับเป็นอีกสิ่งมีชีวิตที่ยุ่งเหยิง ในทางชีววิทยาพวกมันคือหนูหรือสัตว์ฟันแทะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก วงวานของพวกมันคือหนูตะเภาหรือหนูแกสบี้ที่เรารู้จักดี ดูรวมๆ หน้าตาก็คล้ายๆ กัน แค่มันมีขนาดตัวที่มหึมา อันที่จริงคาปิบาร่าแบ่งออกเป็นอีก 2 สายพันธุ์ คือ เป็นพันธุ์ใหญ่และพันธุ์เล็ก โดยเจ้าคาปิบาร่าเป็นสัตว์พื้นถิ่นของทวีปอเมริกาใต้ พบใต้ตั้งแต่แถบปานามาจนถึงอาร์เจนตินา แต่ด้วยพฤติกรรมครึ่งบกครึ่งน้ำของมันทำให้มนุษย์เรางง และเรียกมันเป็นปลาอยู่ช่วงนึง
ลักษณะพิเศษของคาปิบาร่า คือ พวกมันเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่โดยทั่วไปจะอาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าหรือป่าโปร่งและจะใช้แหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำหรือทะเลสาบในการขยายพันธุ์ไปจนถึงหลบหนีจากศัตรู แน่นอนว่าคาปิบาร่าก็มีศัตรู หรือผู้ล่าตามธรรมชาติอยู่ พฤติกรรมของเจ้าแก๊งหน้านิ่งนี้คือ จะอยู่กันเป็นฝูง มีการเห่าให้สัญญาณเมื่อพบศัตรู หลังจากนั้นพวกมันก็จะหนีลงน้ำ
ศัตรูตามธรรมชาติของคาปิบาร่า ได้แก่ จระเข้เคย์แมน เสือจากัวร์ อนาคอนด้า นกอินทรีฮาร์ปี แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เจ้าจระเข้ทั่วไปไม่กินคาปิบาร่าเป็นอาหาร พวกมันจะเว้นระยะห่าง แถมในบางกรณีพวกมันดูเหมือนจะเป็นเพื่อนนอนอาบแดดด้วยกัน
ทีนี้ นอกจากสัตว์ที่เป็นศัตรูกับคาปิบาร่าที่มีไม่มากแล้ว มนุษย์อย่างเรานี่แหละที่เป็นศัตรูตัวฉกาจของเจ้าแก๊งขาหมูที่เรารัก และสปอยว่าเรากินเจ้าพวกนี้เป็นอาหารด้วย
เรื่องของเจ้าคาปิบาร่าย้อนไปราวศตวรรษที่ 16-18 หลักฐานค่อนเข้าเก่าแก่และไม่แน่นอนสักเท่าไหร่บอกไว้ว่า ในตอนนั้นมีบาทหลวงชาวเวเนซุเอล่าคนหนึ่งไปเจอเจ้าคาปิบาร่าในแหล่งธรรมชาติเข้า บาทหลวงคนนั้นก็เลยส่งจดหมายไปวาติกันขอให้จำแนกสัตว์ดังกล่าวให้เป็น ‘ปลา’ ประเภทหนึ่ง เจ้าคาปิบาร่าที่น่าสงสารนอกจากทุกวันนี้จะถูกเรียกว่าเป็นหมาแล้ว หลายร้อยปีก่อนพวกมันเป็นปลาด้วย
ประเด็นของการเป็นปลาไม่ใช่แค่การเรียนชื่อผิด แต่ในช่วงนั้นมีวันถือศีลอด ที่จะงดเว้นเนื้อสัตว์ คือ meat ด้วย ทีนี้พอเจ้าคาปิบาร่าถูกนิยามให้เป็นปลา พวกมันก็เลยเป็นสิ่งที่ผู้ศรัทธานำมากินเป็นอาหารได้
รสชาติของคาปิบาร่า มีรายงานว่าคล้ายกับปลามากกว่าเนื้อแดง แต่ด้วยความเป็นพันธุ์ผสม บ้างก็บอกว่าเนื้อของพวกมันมีรสชาติคล้ายๆ หมูเค็ม อย่างไรก็ตามปรุงเนื้อคาปิบาร่ามักจะผ่านการแปรรูป เช่น นำไปตากแห้ง ขูดเป็นเส้นแล้วจึงค่อยนำไปปรุงในเมนูอื่นๆ
คาปิบาร่า vs มนุษย์
ก่อนที่พวกแก๊งขาหมูจะกลายเป็นดารา พวกมันเองก็เคยมีปัญหากับมนุษย์ แถมความเท่ของพวกมัน บางครั้งก็กลายเป็นกรณีตัวอย่างการสู้กลับของธรรมชาติ ทำให้เมืองและมนุษย์ต้องปรับตัวเข้าหามันด้วย
ความสัมพันธ์เบื้องต้นระหว่างคาปิบาร่าและมนุษย์ในถิ่นที่อยู่ของพวกมันคืออเมริกาใต้นั้นไม่ค่อยดีนัก เช่นที่ว่าไปคือพวกมันกลายเป็นอาหาร นอกจากการถูกล่าเพื่อเอาเนื้อมากินแล้ว มนุษย์ยังล่าพวกมันเป็นกีฬาอีกด้วย บางพื้นที่ฆ่าพวกมันเพราะแย่งพื้นที่อาหารของฟาร์ม บ้างล่าเพื่อหนัง ในบางช่วงของประวัติศาสตร์พวกมันถูกล่าจนเสี่ยงที่สูญพันธุ์ มีการตั้งเขตอนุรักษ์ แต่ด้วยการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของสัตว์ฟันแทะ พวกมันก็กลับมาผงาดได้อีกครั้ง
ปัจจุบัน คาปิบาร่านับเป็นหนึ่งในสัตว์ไม่กี่ชนิดที่เติบโตและปรับตัวได้ในพื้นที่เมือง คือเมืองขยายตัวไปแค่ไหน ขอแค่มีแหล่งน้ำ สนามหญ้าหรือกลุ่มไม้พุ่ม พวกคาปิบาร่าก็จะเติบโตได้ ความน่าสนใจของคาปิบาร่า เช่น การศึกษาติดตามในบราซิล พบว่าพวกมันเองอยู่ในเมืองร่วมกับเรา พื้นที่ตอนกลางวันที่มนุษย์ใช้ พอคนเริ่มซา พวกมันก็จะออกมาร่วมใช้งานด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะพบคาปิบาร่าที่สวนสาธารณะ ตามแม่น้ำ หรือทะเลสาบต่างๆ ในเมือง
แต่คาปิบาร่าถึงจะน่ารัก แต่นึกภาพว่าถ้าเรามีบ้าน ตัดแต่งสนามหญ้าอย่างดี วันหนึ่งอยู่ๆ ก็มีคาปิบาร่ามานอนหน้านิ่งอยู่หลังหรือหน้าบ้านของเรา การบุกรุกนี้ก็อาจจะไม่แฮปปี้นัก
คาปิบาร่าบุกบ้านหรู ทางออกและเมืองที่ปรับตัว
การบุกของคาปิบาร่าเกิดขึ้นที่โครงการพัฒนาที่พักอาศัยในย่าน Nordelta พื้นที่ชานเมืองของบัวโนส ไอเรส ย่านดังกล่าวเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับบน ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว มีสนามหญ้าส่วนตัวพร้อมสระว่ายน้ำ แต่ทว่าย่านนี้เองแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของแม่น้ำปารานา แม่น้ำที่สำคัญรองจากแอมะซอน
การรุกที่ในปี 1999 นั้น อันที่จริงก็ยังเป็นที่ตั้งคำถามอยู่ แต่บ้านหรูในย่านก็อยู่สบายดีมาอีก 20 ปี จนปี 2020 ด้วยเงื่อนไขหลายประการ คือเจ้าคาปิบาร่าคงจะถูกไล่ออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำเดิม ไปซ่อนตัวอยู่ในป่า บ้างก็อพยพขึ้นไปบริเวณอุดมสมบูรณ์ จนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แอมะซอนก็เกิดไฟป่า มีการตัดไม้จนพื้นที่ป่าหายไป ระบบนิเวศที่ทำให้ผู้ล่าตามธรรมชาติลดลง ประกอบกับช่วงโควิดที่พื้นที่ทั่วไปเริ่มเงียบจากผู้คน ในปี 2021 เอง ในหมู่บ้านหรูเหล่านั้นก็เกิดภาวะคาปิบาร่าบุก
เหตุการณ์คาปิบาร่าบุก คือ มีรายงานจากหมู่บ้านหรูว่ามีเจ้าหนูยักษ์คาปิบาร่าขึ้นมานอน มาเล็มหญ้า บ้างก็รายงานว่ามีการงับทำร้ายสัตว์เลี้ยง ลงไปแช่ในสระว่ายน้ำ กรณีดังกล่าวเกิดความเดือดร้อนขึ้นในหมู่ผู้อาศัย บางส่วนถึงขนาดเรียกร้องให้กำจัด มีตั้งแต่ย้ายพวกมันไป จนถึงมองการสังหารเจ้าสัตว์หน้านิ่งเหล่านี้
แน่นอนว่าการกลับมาของคาปิบาร่าเป็นผลพวงของมนุษย์เราเอง การบุกยึดทำให้เกิดแรงเคลื่อนไหวโดยเฉพาะการทบทวน รวมถึงการหาทางแก้ปัญหากับเจ้าแก๊งหมามะพร้าวที่มานอนกลิ้งอยู่ที่หลังบ้าน
สิ่งที่น่าสนใจคือ จากการพูดคุยกัน รัฐและเจ้าของบ้านเองเห็นว่าเราต้องจัดการกับสัตว์เหล่านี้อยู่สมเกียรติ วิธีการที่เราจะนึกถึงอย่างรวดเร็วคือการย้ายพวกมันไปไว้ในที่อนุรักษ์ แต่เมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่าการย้ายพวกมันไปไว้ที่พื้นที่อนุรักษ์อาจไม่ได้ผล เพราะเคยมีกรณีคล้ายๆ กันมาแล้ว ผลคือพวกมันก็จะขยายพันธุ์และกลับมาบุกพื้นที่อยู่อาศัยใหม่อีก
วิธีการสำคัญคือการที่เมืองและที่อยู่อาศัยของเรา ต้องอยู่ร่วมกับคาปิบาร่าให้ได้ ความรู้และข้อมูลแรกที่รัฐสื่อสารกับผู้คนคือ อย่าไปทำอะไรพวกคาปิบาร่า พวกมันไม่มีพิษภัย ลำดับต่อไปคือเมืองก็พยายามหาที่อยู่ที่ให้กับพวกมัน คือพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ธรรมชาติที่อยู่รอบๆ นอกของเมือง ในที่นั้นเองก็เริ่มมีการจัดการ เช่นปลูกพืชที่จำเป็นแถบๆ ทะเลสาบ ที่จะเป็นที่กำบังให้กับคาปิบาร่า ปล่อยหญ้าให้ยาว ดูแลพื้นที่บางส่วนของเมืองให้อุดมสมบูรณ์และมีความเป็นธรรมชาติเพื่อให้คาปิบาร่าไปใช้ชีวิตอยู่
ความขัดแย้งระหว่างคาปิบาร่าและมนุษย์เช่นที่อาร์เจนตินา นับว่าเข้าสู่ภาวะทดลอง ส่วนหนึ่งคือเมืองของเราไม่ค่อยคิดเผื่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และคาปิบาร่าเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในเมืองร่วมกับเราได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ จากงานศึกษาการมีอยู่ของคาปิบาร่าในเมืองสัมพันธ์กับความหลากหลายชีวภาพของพื้นที่นั้นๆ เราอาจจะมีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ การคิดว่าหลังจากนี้ เมืองของเราอาจจะต้องมีสิ่งอื่นๆ เติบโตไปพร้อมกับเราด้วยจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ของเมืองในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น เรายังมีงานศึกษามากมายที่ระบุว่าความหลากหลายทางชีวภาพส่งผลบวกต่อคุณภาพชีวิตเรา
ในอนาคต นึกภาพการเดินไปที่สวนแล้วเจอเจ้าคาปิบาร่านอนมีความสุขอยู่ ชีวิตในเมืองที่แห้งแล้งของเราก็อาจจะสดใสขึ้นมาบ้างในช่วงเวลานั้น ในทางกลับกันคือ แล้วเราเองจะช่วยให้สัตว์ต่างๆ อยู่กับเราได้เป็นอย่างดีได้อย่างไร นอกจากคาปิบาร่าที่น่ารักแล้ว สัตว์ที่คล้ายๆ กันก็เช่นนากที่สิงคโปร์ ไปจนถึงตัวเงินตัวทองที่อยู่คู่กับกรุงเทพมาอย่างเนิ่นนาน
อ้างอิงจาก