เหนื่อยเนอะกับชีวิตในทุกวันนี้กับการที่จะต้องติดตามเรื่องราวต่างๆ อย่างใกล้ชิด …เมื่อวานนี้ก็เรื่องนึง วันนี้ก็ อ้าว! เรื่องเก่าเพิ่งจะเข้าใจหมดว่าใครเป็นใคร ใครแซะใครว่าอะไรบ้าง วันนี้มีเรื่องใหม่เข้ามาอีกแล้ว จากการเมาท์ดาราที่มาพูดแล้วก็แซะกันไปแซะกันมาในรายการ ลามไปสู่เรื่องตัวรายการ ยาวไปจนถึงเรื่องส่วนตัวของผู้เกี่ยวของ อะไรก็ว่าไป
คนเครียดๆ คงเอามือก่ายหน้าผากแล้วบอกว่า เฮ้อ ไม่ได้เรื่องเลย ทำไมถึงต้องไปสนใจเรื่อง ‘ไร้สาระ’ เรื่องส่วนตัวทั้งหลายของพวกคนดัง ไม่เห็น ‘มีประโยชน์’ อะไรเลย …นั่นสินะ การที่เรารู้เรื่องชาวบ้าน เรื่องคนนั้นเลิกกับคนนี้ ด่าคนนี้ เปย์คนนั้น ในที่สุดแล้วทำไมเราถึงได้สนอกสนใจ ‘การเมาท์’ ซุบซิบนินทาดาราคนดังกันนัก อะไรที่ทำให้เราสนใจ แล้วเรา ‘ได้อะไร’ จากการเมาท์ดารา-นอกจากความออกรสออกชาติอะนะ
‘การนินทา’ โอเค… ตัวมันเองก็อาจจะมีปัญหาเช่นการเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่เรื่องไม่จริง การทำร้ายประจานให้คนอื่นเสื่อมเสีย ไปจนถึงบางคนอาจจะบอกว่าทำไปแล้ว ‘ได้ประโยชน์อะไร’ ซึ่งแน่ล่ะคำว่าประโยชน์ของการ ‘จับกลุ่มกันพูดเรื่องชาวบ้าน’ ย่อมไม่ได้ทักษะหรือพลานามัยเช่นการฝึกงานช่าง ปลูกผักสวนครัว เล่นดนตรีกีฬา แต่ดูเหมือนว่าการถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดูไร้ประโยชน์อาจจะมีประโยชน์กับมนุษย์เราในฐานะสัตว์สังคม
การจับกลุ่มนินทาเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการเป็นสังคมของเรา ไปจนถึงเกี่ยวข้องกับเรื่องของศีลธรรม และนำไปสู่การที่เราอาจสังเกตการนินทาของตัวเองเพื่อเข้าใจตัวเราเองได้
‘จับกลุ่มเมาท์’ คุยเรื่องชาวบ้านเพื่อกระชับความสัมพันธ์
อาจจะยังไม่ต้องถึงมือนักปรัชญา นักชีววิทยาก็ได้ ผลจากกิจกรรมนินทาพูดคุยเรื่องชาวบ้าน สิ่งที่เราได้คือความสนิทสนมกลมเกลียวของคนที่กำลังจับกลุ่มนินทากัน หลายครั้งที่แรกๆ เราอาจจะยังไม่สนิทกับคนพวกนี้เท่าไหร่ แต่พอได้ลองเปิดประเด็นนินทาใครหรือดารากันอย่างออกรส เท่านั้นไอ้ความสัมพันธ์แบบห่างเหินก็ดูจะสนิทสนมขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเสนอว่าการจับกลุ่มนินทาเป็นกระบวนอย่างหนึ่งของวิวัฒนาการในมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราใช้เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและกระชับความสัมพันธ์กันของกลุ่มเพื่อเอาชีวิตรอด Robin Dunbar จาก University of Oxford เป็นผู้ที่เสนอและเชื่อมโยงว่าการนินทามีบทบาทในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในมนุษย์ การจับกลุ่มนินทาทำหน้าที่เหมือนทั้งการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน
การนินทานอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของเราแล้ว ยังมีแนวคิดน่ารักๆ ที่บอกว่าการจับกลุ่มนินทาเป็นผลจากการค้นพบไฟของเราด้วย นักวิทยาศาสตร์เสนอว่าพอเรารู้จักที่จะก่อกองไฟเราเลยมีที่พักที่อบอุ่นและปลอดภัยในเวลากลางคืน พอเราว่างเว้นจากการล่าสัตว์ และมารวมตัวกันพักผ่อนในตอนกลางคืนรอบกองไฟ ความอบอุ่นรอบกองไฟนั้นทำให้มนุษย์เราสามารถที่จะสื่อสารกันได้อย่างสบายมากขึ้น และการพูดคุยสบายๆ ในเวลาว่างจึงนำไปสู่การพูดคุยเรื่องชาวบ้านในท้ายที่สุด
เรื่องคนดัง สนุกมาตั้งแต่นมนาน
มีนักคิดหลายคนพยายามชี้ให้เห็นว่า ในเรื่องราวที่เราเสพกันเมื่อครั้งก่อน ตั้งแต่ตำนานมหากาพย์ทั้งหลายไปจนถึงเรื่องราวที่ชาวอิยิปต์บันทึกไว้ในแผ่นหินผนังพีระมิด มีองค์ประกอบไม่ต่างอะไรกับการที่เราอ่านข่าวซุบซิบดารากอสซิปสตาร์ในทุกวันนี้
Tom Payne พูดถึงความชื่นชอบเรื่องคนดังของเราว่ามีมาตั้งแต่นมนามคู่กับประวัติศาสตร์อันยาวนานของเราในหนังสือ “FAME: What the Classics Tell Us About Our Cult of Celebrity” บอกว่าเรื่องเล่าของเทพเจ้าในปกรณัมกรีกโรมัน ไปจนถึงเรื่องเล่าของบุคคลสำคัญและเรื่องเทางศาสนาทั้งหลายชี้ให้เห็นว่าเราต่างหมกมุ่นในชื่อเสียงและการเป็นดาวเด่นของผู้คนมาโดยตลอด เรื่องฉาวๆ ในมหากาพย์ทั้งหลายที่คนดังในวรรณกรรมทำถ้าดูดีๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราอ่านความฉาวของคนดังในยุคนี้เท่าไหร่
Payne บอกว่าเซเลบเป็นกลุ่มคนที่เราอินไปกับความสำเร็จ ความสุข ไปจนถึงได้สำรวจทำความเข้าใจการตกต่ำอันเป็นเหมือนภาพสะท้อนความเป็นไปของโลกใบนี้ แต่สิ่งที่พิเศษในการทำความเข้าใจผ่านเรื่องของคนดังคือ เราสามารถเฝ้ามองและสำรวจได้อยู่ในที่ของเราอย่างปลอดภัยและมีระยะห่าง
เราชอบเรื่องเมาท์มอยจนขนาดเอาไปจำหลักไว้บนแผ่นหิน ภาพจำหลักอักษรไฮเออโรกลีฟที่แน่ล่ะว่าจะการจำหลักอักษรภาพลงบนแผ่นบันทึกเป็นเรื่องยากและย่อมต้องเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนอกจากเรื่องของเทพเจ้าไปจนถึงการปกครองแล้ว Elaine Lui เซเลบชาวแคนนาดาที่นิยามตัวเองเข้ากับการนินทา พูดบนเวที TED Talk ว่า การนินทาเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างความรู้ เป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์
เธอบอกว่าชาวอียิปต์มีการจำหลักเรื่องของคนดังในทำนองอย่างที่เรา ‘เมาท์’ กันในปัจจุบัน เช่นมีการพูดถึงพระราชาองค์หนึ่งที่เข้าไปหาพวกทหารในช่วงค่ำคืน และมีการขยายความต่อว่าพระราชาองค์นั้น ‘ไม่มีเมียเลยซักคน’ ซึ่งตรงนี้เองก็แสดงว่าชาวอียิปต์เองก็ลงทุนบันทึกเรื่องทั่วๆ ไปเช่นการย่องเข้าหากองทัพหนุ่มๆ พร้อมกับการส่งสัญญาณว่า นี่ไงแก อีตาพระราชานี่มันต้องมีซัมติงในค่ายทหารแน่ๆ
การเมาท์เป็นเรื่องของศีลธรรม ที่สุดท้ายก็วนกลับมาสู่ตัวเรา
การเมาท์เป็นเรื่องธรรมดาใครๆ ก็ทำกัน แต่การเมาท์เป็นเรื่องของศีลธรรมที่สุดท้ายจะวนกลับมาวัดมาตรฐานทางศีลธรรมของเราเอง ซึ่งไม่ใช่แค่ศีลธรรมที่ว่าเราจะแพร่ข่าวลือหรือทำร้ายใคร แต่การนินทาเรื่องอะไรและนำไปสู่อะไรเป็นสิ่งที่เราอาจจะสามารถใช้กลับมาตรวจสอบบรรทัดฐานทางศีลธรรมของตัวเราเองได้
การนินทาเป็นเรื่องของศีลธรรม นึกถึงการนินทาอย่างออกรสของเรา ในการนินทามันคือการที่ถกเถียงและตัดสินประเมินค่าว่าการกระทำของคนๆ นั้นดีหรือไม่ดี ผิดหรือถูก สมควรหรือไม่อย่างไร
ดังนั้นการนินทาจึงเกี่ยวข้องกับความคาดหวังของสังคมด้วยเสมอ ความคาดหวังที่ผู้ชายควรเป็นอย่างไร ผู้หญิงควรเป็นอย่างไร ในความสัมพันธ์ต้องทำอย่างไร ทุบตีเมียได้ไหม นอกใจได้รึเปล่า เปย์เงินเพื่อเอาความสัมพันธ์ที่ต้องการไว้ได้ไหม ไปจนถึงการเป็นสื่อที่เอาเรื่องส่วนตัวมาขยี้ ทำให้ดาราเป็นเป้าถูกต้องรึเปล่า
ในการนินทาจึงเป็นโอกาสให้เรามองเห็นและสำรวจว่า สังคมนี้กำลังมองและคาดหวังใครเราในฐานะสมาชิก เป็นไปในทางไหน มีอคติหรือไม่ เราด่าการกระทำนั้นด้วยแง่มุมอะไร มีอคติมั้ย เรากำลัง ‘ใช้มาตรฐานทางศีลธรรมแบบไหน’ เรากำลังใส่ใจมาตรฐานที่มีความสม่ำเสมอไหมนะ เช่นเรานินทาเรื่องนักร้องเป็นเกย์เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่ ในขณะที่เราอาจจะให้อภัยอีกกรณีที่เป็นเรื่องการทำร้ายร่างกายหรือการนอกใจ
การนินทาสุดท้ายแล้วจึงตีกลับมาที่เราว่า ในการนินทาของเรานั้นเรากำลังตัดสินคนอื่นอย่างไร
การนินทาของเราจึงกำลังบ่งบอกถึงตัวตนของเราเองไปพร้อมๆ กัน