“สื่อไม่มีความเป็นกลางอยู่แล้ว เราลองถามตัวเองก่อนว่าเราเป็นกลางไหม ไม่มีหรอก มนุษย์ไม่มีความเป็นกลางอยู่แล้ว แต่ในทางทฤษฎีก็คือ สื่อต้องนำเสนอข่าวรอบด้าน สร้างความสมดุลให้กับข่าว นายวิจารณ์เรา แล้วมาห้ามไม่ให้เราวิจารณ์นาย แบบนี้ไม่ใช่ มันต้องมีเสียงทุกเสียง ฝ่ายนี้คิดอย่างไร ฝ่ายนั้นคิดอย่างไร อาจจะมีเสียงนักวิชาการที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งมาประกอบ มีเสียงของคนทำงานภาคประชาสังคมมาเสริม แบบนี้เขาเรียกว่าความสมดุลของข่าว สื่อไม่มีความเป็นกลางหรอก ในโลกนี้สื่อที่เป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มี มีแค่การนำเสนอข่าวที่สมดุล”
ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวฯ คนใหม่ ให้สัมภาษณ์กับประชาไท
หนึ่งในสิ่งที่ผู้คนเรียกร้อง แต่ผมไม่เคยคิดว่าทำได้จริงเลย คือการพยายามบอกว่า “สื่อในปัจจุบันต้องมีความเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง จึงจะเป็นสื่อที่มีจริยธรรม ไม่ชี้นำความคิดของผู้คน” สื่อบางแห่งประกาศตนว่าเป็นกลาง มีมาตรฐาน จึงเป็นสื่อที่ดีกว่าสื่อที่เหลือ ในขณะที่คำว่าชี้นำความคิด, ความเห็นของประชาชนนั้นถูกทำให้เป็นเรื่องสกปรก
ความหมายของความเป็นกลาง
“สื่อในปัจจุบันต้องมีความเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง จึงจะเป็นสื่อที่มีจริยธรรม ไม่ชี้นำความคิดของผู้คน” ประโยคนี้ถูกวางกรอบมาให้ดูราวกับว่า “ความเป็นกลาง” “ไม่เลือกข้าง” และ “ไม่ชี้นำความคิดของผู้คน” นั้นเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องที่พึงจะทำได้ อยู่ในขอบเขตของความเป็นจริง แต่อันที่จริงแล้ว สื่อที่เป็นกลางนั้นมีอยู่จริงหรือ การ “ไม่เลือกข้าง” นั้นทำได้ไหม และหากสื่อ “ไม่ชี้นำความคิดของผู้คน” สื่อควรทำหน้าที่อะไร?
ก่อนอื่น คำที่มีปัญหาของประโยคนี้คือคำว่า “เป็นกลาง” คำว่า “เป็นกลาง” เป็นคำกลางๆ ที่มีหลายความหมาย บางคน อาจคิดว่า “เป็นกลาง” นั้นอาจตีความเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า neutral คือ อยู่ตรงกลางๆ ไม่เอนไปทางใดทางหนึ่ง หรืออาจตีความได้ว่า “เป็นกลาง” คือมีความเป็นภววิสัย (objectivity) ไม่เป็นอัตวิสัย คือไม่มองเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งด้วยการนำฐานความคิดดั้งเดิมของตนเองเข้าไปตัดสิน หรือกระทั่งอาจมองว่า “เป็นกลาง” คือ non-partisan ซึ่งคือการไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง
ถ้าคนพูดหมายถึงความเป็นกลางในความหมายแรก คือ neutral เราก็คงต้องถามกันต่อไปว่า การ “อยู่ตรงกลางๆ” นั้นเป็นการวัดความกลางด้วยคนกลุ่มไหน เช่น เราอาจคิดว่าเรา “กลาง” แล้วในตำแหน่งหนึ่ง แต่เมื่อความกลาง (โดยสังเกต) ของเรานี้ไปถูกวัดด้วยไม้บรรทัดของอีกคน เราอาจอยู่ซ้ายหรือขวาสุดลิ่มทิ่มประตูเลยก็ได้ – และถึงแม้ว่าเราจะมีเครื่องวิเศษที่สามารถวัดความโอนเอียงทางการเมืองของทุกคนในชาติมาเฉลี่ยกันอย่างเท่าเทียม ก็ยังมีคำถามต่อมาอีกว่า – แล้วเราจะรับจุดกึ่งกลางนั้นกันได้ทุกคนไหม
มีคนพยายามบอกว่า ความกลางของสื่อในที่นี้ไม่ได้หมายถึง neutrality แต่หมายถึง objectivity หรือความเป็นภววิสัยต่างหาก ความเป็นภววิสัยทางด้านการรายงานข่าว หรือ Journalistic Objectivity ถูกนิยามว่าเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของสื่อมืออาชีพ โดยมักหมายถึงความยุติธรรม, ความไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง, การนำเสนอความจริงและการไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง – นี่เป็นคุณสมบัติที่สื่อชั้นนำทั่วไปยอมรับนับถือเป็นหลักปฏิบัติ ทั้งสื่อใหญ่ในต่างประเทศทั้งสี่เจ้า (AFT, AP, Reuters และ EFE)
สื่อในไทยเช่นเดลินิวส์ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในงานศึกษาปี 2010 เรื่อง “ความเป็นกลางของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง” โดยณัชชา อาจารยุตต์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ความตอนหนึ่งว่า
“กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ให้ความสำคัญกับความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวซึ่งมีการกำหนดนโยบายจากผู้บริหารระดับสูง มาสู่กองบรรณาธิการผ่านการประชุมทุกสัปดาห์ ส่วนการตีความในเรื่องความเป็นกลาง (Objectivity) และวิธีการที่ให้ได้มาซึ่งความเป็นกลางของผู้รับผิดชอบงานด้านข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์มีความแตกต่างกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม “ความเป็นกลาง” ที่เกิดขึ้นในการทำงานก็คือการพยายามทำงานโดยปราศจากอคติ ระมัดระวังการทำงานไม่ให้ผู้อ่านรู้สึกว่าหนังสือพิมพ์เอนเอียง นำเสนอข่าวเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”
ปัญหาของความเป็นกลาง
ความเป็นกลางของสื่อสมัยใหม่นั้นส่วนใหญ่อ้างอิงมาจากงานของ Walter Lippmann (1889-1974) นักข่าว นักเขียน และผู้วิจารณ์การเมืองชาวอเมริกัน เขาสนับสนุนให้สื่อต่างๆ ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนนำเสนอ ในขณะที่นักสังคมศาสตร์ Michael Schudson (1946-) ก็เสนอว่าความเป็นกลางคือการเชื่อมั่นในความจริง และไม่เชื่อมั่นในค่านิยม (values) และพยายามแยกแยะความจริงออกจากค่านิยมให้ได้
ปัญหาของความเป็นกลาง (objectivity) ในสื่อก็คือ มันอาจเป็นเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อเราก็เป็นมนุษย์ที่มีฐานความคิดดั้งเดิมอยู่แล้ว การพยายามเสนอความจริงด้วยการถอดเลนส์ความคิดออกจากเบ้าตาจึงอาจเป็นงานที่ยากเกินปฏิบัติ กระทั่งเราคิดว่า ‘ถอด’ แล้ว ก็ยังอาจ ‘ถอด’ ไม่หมด และเมื่อเรารู้สึกว่าถอดจนหมดแล้ว เราก็อาจยังพบว่า เรายืนอยู่บนฐานทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ และความคิดของบุคคลรอบๆ อยู่ดี
การยึดมั่นกับคำว่า ‘ความจริง’ นั้นก็ชวนให้กังขาเช่นกัน เมื่อเราทราบว่าความจริงมีทั้งชั้นที่เป็น Truth คือความจริงแบบที่ล้มล้างไม่ได้ (ซึ่งก็มีน้อยมาก) และ Intersubjective Truth คือความจริงแบบที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากความเชื่อร่วมกันของคนในสังคม (เช่นว่า มนุษย์ไม่ควรเข่นฆ่าผู้อื่น หรือความเชื่อร่วมเรื่องเงินตรา) เมื่อเราเห็นว่าข่าวส่วนใหญ่นำเสนอ Intersubjective Truth คือความเชื่อร่วม เราก็อาจต้องตั้งคำถามด้วยว่า ความเชื่อ ‘ร่วม’ นั้นเป็นการ ‘ร่วม’ ของคนกลุ่มไหน และในระยะยาว มันจะเปลี่ยนแปลงไปได้ไหม ตัวอย่างเช่นในช่วงปี 1890’s The New York Times เสนอข่าวการประหัตประหารคนผิวสี ด้วยความพยายามเป็นภววิสัย นั่นคือไม่มองว่าการประหัตประหารดังกล่าวเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี ทั้งที่ในปัจจุบัน เราก็อาจมีค่านิยม หรือความเชื่อร่วมอีกแบบ
งานของ Edward S. Herman และ Noam Chomsky ตั้งคำถามกับความเป็นภววิสัย โดยยกตัวอย่างโมเดลข่าวชวนเชื่อ (propaganda) ขึ้นมา เพื่อแสดงตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อเราพยายามทำข่าวให้มีความเป็นภววิสัยแล้ว สุดท้าย ข่าวแบบนี้จะไปเข้าข้างขั้วอำนาจใหญ่ๆ อย่างองค์กรรัฐ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไร
ความเป็นภววิสัยอีกแบบหน่ึงที่มักจะถูกอ้างถึงมากคือ “การให้พื้นที่ทั้งสองฝ่ายได้พูดเหตุผลของตนเอง” ซึ่งกับบางเรื่อง ความเป็นกลาง หรือภววิสัยเช่นนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่หากพิจารณาในบางกรณี ก็อาจเห็นว่า นั่นคือการให้้พื้นที่ของฝ่ายที่มีค่านิยมสุดโต่ง เท่าๆ กับค่านิยมที่สังคมควรยึดถือ (อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามตามมาอีกว่า “ค่านิยมที่สังคมควรยึดถือ” คือแบบไหน)
American Press Institute ก็เสนอความเห็นว่า ความเป็นภววิสัยของสื่อนั้น หมายถึง ‘กระบวนการการทำข่าว’ ไม่ใช่ ‘ตัวนักข่าว’ เอง (The method is objective, not the journalist) ซึ่งทำให้ชัดเจนขึ้นบ้าง แต่ก็ยังน่าสงสัยว่าในเมื่อตัวนักข่าวและกระบวนการก็พันเกี่ยวกันจนแทบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วเราจะสามารถแยกสองอย่างนี้ออกจากกันได้จริงหรือ
ความเป็นกลางกับความแค่ดูเหมือนจะเป็นกลาง
ไม่นานมานี้ในวงการข่าวอเมริกันมีการถกเถียงถึงการใช้คำว่า ‘โกหก’ (Lies) เพื่ออธิบายสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทำ คุณ Gerard Baker บรรณาธิการของ The Wall Street Journal เขียนไว้ในบทความชื่อ Trump, ‘Lies’ and Honest Journalism: Why Editors should be careful about making selective moral judgments about false statements โดย Baker บอกว่า สื่อไม่ควรใช้คำว่า ‘โกหก’ ในการพูดถึงนักการเมือง (รวมไปถึงโดนัลด์ ทรัมป์) เขาให้เหตุผลว่าคำว่า ‘โกหก’ นั้น นอกจากจะเป็นการพูดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งผิดแล้ว มันยังแสดงถึงเจตนาเบื้องหลังของผู้พูดว่า ‘ตั้งใจที่จะทำให้เข้าใจผิด’ อีกด้วย (ซึ่งเราไม่รู้ว่านักการเมืองคนนั้นตั้งใจที่จะพูดเท็จหรือไม่) แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้วิจารณ์ว่า การระวังไม่ใช้คำว่า ‘โกหก’ ของ Baker นั้นอาจเป็นเพียง ‘ความพยายามที่จะทำให้ดูว่าการรายงานข่าวเป็นภววิสัย’ มากกว่าที่จะเป็น ‘ความเป็นภววิสัย’ จริงๆ
บทความวิจารณ์ Baker ใน New York Times ยังชักชวนให้ผู้อ่านพิจารณาข้อความต่อไปนี้
ระบอบทุนนิยมทำงานได้ดีกว่าระบบเศรษฐกิจอื่นๆ
โดยทั่วไปแล้วการตัดภาษีนั้นไม่มีประสิทธิผลในเชิงงบประมาณ
การกระทำต่างๆ ของมนุษย์ทำให้โลกร้อน และทำร้ายโลก
ผู้เขียนบทความใน New York Times บอกว่าประโยคทั้งสามนี้อาจมีผู้มองว่าเป็นอัตวิสัย (subjective) เสมอ และต้องเป็นภาระขององค์กรสื่อว่าจะตัดสินใจว่าจะเพียงแค่ ‘บอกว่าตัวเองเป็นกลาง’ (seeming subjective) หรือ ‘พูดความจริง’
ไม่บอกว่าเป็นกลางแล้วควรบอกว่าอย่างไร
Brent Cunningham บรรณาธิการบริหารของ Columbia Journalism Review บอกว่า การอ้างว่ามีภววิสัยนั้นทำให้เกิดงานข่าวที่ขี้เกียจ การอ้างภววิสัยทำให้เรากลายเป็น ‘ผู้เสพข่าวเชิงรับ’ แทนที่จะเป็นผู้วิเคราะห์และอธิบายข่าว เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับนักข่าวที่ขี้เกียจ การมี ‘ความเห็นสองด้าน’ ก็ถือเป็นรายงานข่าวที่ดีสำหรับพวกเขาแล้ว นี่อาจทำให้พวกเขาไม่มีแรงจูงใจต่อที่จะสืบค้นหาความจริงหรือแนวคิดเบื้องหลังความคิดความเห็นทั้งสองด้านนั้น เขายังเสนอว่า
- นักข่าวควรจะยอมรับว่าการมีอคติของตนนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และความเป็นภววิสัยนั้น ‘เป็นไปได้ยาก’ กว่าการอ้างลอยๆ การยอมรับเช่นนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงอคติใดๆ แต่จะทำให้นักข่าวมีอำนาจในการปกป้องงานของพวกเขาในจุดที่ไม่ ‘แสร้งทำ’ (hypocritical position) (นั่นคือ เขาเห็นว่า ยิ่งอ้างว่ามีภววิสัยหรือเป็นกลางมากเท่าใด ยิ่งเป็นการเสแสร้งแกล้งทำว่าตนเองดี)
- นักข่าวควรจะมีอิสระในการศึกษาด้านใดด้านหนึ่งจนเชี่ยวชาญ และใช้ความเชี่ยวชาญของตนในการตัดสินคำกล่าวอ้างต่างๆ และอธิบายว่าคำกล่าวอ้างนั้นถูกหรือผิดอย่างไร
เช่นเดียวกัน ก็มีผู้เสนอความเห็นว่า ทางที่ดี นักข่าวน่าจะปฏิบัติตามหลัก ‘ความยุติธรรม’ (fairness) และ ‘ความถูกต้องแม่นยำ’ (accuracy) ในการรายงานข่าวมากกว่าความเป็นภววิสัยลอยๆ
แล้วเราพอจะทำอะไรได้บ้าง
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า
- คล้ายกับที่ Cunningham เสนอไว้, เราต้องยอมรับว่าเรามีความไม่เป็นกลางในตัว และไม่ควรป่าวประกาศว่า เราจะเป็นกลาง เราจะเป็นภววิสัย นี่ควรเป็นเพียงเป้าหมายในใจ ที่จะต้องพยายามใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ และตรรกะ ในการสืบค้นข้อเท็จจริงและข้อหักล้างของแต่ละข่าว
- นักข่าวและสื่อมีจุดยืนได้ และในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ก็เป็นเรื่องดีที่สื่อจะมีจุดยืนในเรื่องต่างๆ เพราะมันจะนำมาซึ่งกรอบคิดและวิธีการสืบค้นข้อมูล แต่อย่าลืมเผื่อพื้นที่ไว้ให้ข้อมูลที่เห็นต่างกับจุดยืนที่เรายืนอยู่ด้วย
- ความเป็นกลาง ความเป็นภววิสัย อาจเป็นเพียงคำโฆษณา ที่ไม่มีใครเคยเห็นหน้าค่าตาจริง แต่ทุกคนบอกว่ามันมีอยู่
- ในฐานะผู้เสพสื่อ จะเป็นเรื่องดีเสมอ หากเรารู้ว่าสื่อนั้นมีจุดยืนแบบไหน และสิ่งที่เขาพูดหรือรายงานออกมานั้น เขาพูดหรือรายงานออกมาด้วยข้อจำกัดหรือด้วยแรงจูงใจแบบใด เมื่อเรารู้ เราจะเห็นโครงร่างของความหมายที่กว้างขึ้นจากแค่คำในสถานการณ์ที่เขารายงาน
อ้างอิง
https://www.wsj.com/articles/trump-lies-and-honest-journalism-1483557700
https://www.nytimes.com/2017/01/06/opinion/lies-journalism-and-objectivity.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Journalistic_objectivity#Criticisms