26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะลงพื้นที่ตรวจสอบโบสถ์คาบัด (Chabad of Pai) ในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ย้อนไปเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวชาวอิสราเอลจำนวนมาก เข้ามาก่อความวุ่นวายในพื้นที่ ทั้งในโรงพยาบาล ถนนคนเดินปาย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน 4-5 ทุ่มขึ้นไป ส่งเสียงดัง ทำลายขายของของคนในพื้นที่ จนเกิดกระแสว่า ชาวอิสราเอลกำลังจะยึดปายหรือไม่?
นอกเหนือจากประเด็นชาวอิสราเอลที่เข้ามาเที่ยวปายจำนวนมาก ยังมีประเด็นเรื่องโบสถ์ยิว หรือคาบัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ว่า สร้างขึ้นอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ สร้างขึ้นเพื่ออะไร และการเกิดขึ้นของโบสถ์ถือเป็นสัญลักษณ์ของการตั้งรกรากหรือไม่
The MATTER จึงทำการลงพื้นที่ไปยังปาย เพื่อไปสำรวจภายในของคาบัด พร้อมกับพูดคุยกับผู้นำศาสนา และคนไทยบางส่วนที่ทำงานอยู่ในนั้น เพื่อคลี่คลายที่ไปที่มาของสถานที่แห่งนี้ว่าคืออะไรกันแน่ เพื่อตอบคำถามที่สังคมสงสัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
เสียงคนไทยที่ทำงานอยู่ในคาบัดปาย

เต็นท์รับประทานอาหาร ที่คาบัด อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประวัติการเข้ามาของชาวยิวในประเทศไทยย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยในปัจจุบันมีชาวยิวที่ตั้งรกรากถาวรในประเทศไทยราว 1,000 คน และมักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณถนนข้าวสาร โดยคาบัดในประเทศไทย มีทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย เกาะพะงัน และอำเภอปาย
“ชื่อสถานที่คือ ‘คาบัด’ เหมือนกับคำว่า ‘วัด’ ที่นี่เป็นคาบัดปาย ไม่ใช่คาบัดเฉยๆ ถ้าอยู่ที่ภูเก็ตก็เป็นคาบัดภูเก็ต ส่วนคำว่า ‘ชาบัด’ คือชื่อพิธี” เกรียงไกร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย กล่าวกับเราทันที หลังจากที่เราเข้าไปในพื้นที่คาบัด
พิธีจะมีขึ้นในวันศุกร์ตอนเย็น ถึงเสาร์ตอนเย็น ไม่ได้ทำพิธี 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง เราจะสวดกันตอนเย็นวันศุกร์ และหล้งจากนั้นก็ไปพักผ่อนนอนหลับ กลางวันวันเสาร์ก็มาสวดอีกครั้งและก็ไปพักผ่อน
“ตอนเย็นวันเสาร์ถือเป็นการจบศีล จบพิธี เข้าศีลแล้วจบแค่นั้น ไม่ได้สวดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ได้สวดทั้งคืน รบกวนชาวบ้าน ไม่ใช่แบบนั้น” เขาย้ำหนักแน่น
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็พาเราไปยังเต็นท์ ที่ข้างในเรียงรายไปด้วยโต๊ะและเก้าอี้ พร้อมกับพูดว่าตรงนี้เป็นที่ดินเนอร์ วันศุกร์ตอนเย็นหลังจากสวดมนต์เสร็จแล้วถึงมาดินเนอร์บริเวณนี้

เต็นท์รับประทานอาหาร ที่คาบัด อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
“เป็นพื้นที่ที่ไว้รองรับลูกค้า หากถามว่าทำไมถึงเรียกลูกค้า เพราะวันปกติเราเปิดร้านอาหารด้วย เป็นอาหารอิสราเอล”
เรารับลูกค้าเฉพาะชาวอิสราเอลเนื่องจากเขามีคู่สงคราม จึงไม่สามารถเปิดรับลูกค้าทุกชาติ เราจำเป็นต้องคัดกรองคนเพื่อความปลอดภัย เพราะที่ต่างประเทศเคยเกิดเหตุคาบัดถูกวางระเบิด
เกรียงไกรเสริมว่า เราไม่ได้ไปแย่งอาชีพคนข้างนอก เพราะไม่ได้ขายอาหารเหมือนกับคนข้างนอก อย่างไรก็ดี ร้านอาหารของเราเปิดบริการตอนเที่ยงถึงหัวค่ำเท่านั้น
“เราไม่ใช่ทัวร์ 0 เหรียญ ไม่ได้นำทุกอย่างเข้ามาจากอิสราเอล ผักและผลไม้ก็เป็นของไทยหมดเลย แต่มี product บางอย่างที่เป็นของชาวอิสราเอล เช่น ขนม เครื่องปรุง แต่ของที่ต้องกินใช้ทุกวันคือซื้อในปาย”
ที่นี่ไม่มีที่พัก มีเพียงห้องสวดมนต์ เต็นท์ สำหรับทำพิธีและรับประทานอาหาร และก็บ้านของราไบ ซึ่งราไบมี 1 ครอบครัว คือ ราไบ 1 ท่าน และภรรยาของราไบ 1 คน ลูกสาว 3 คน ซึ่งลูกสาวยังเป็นเด็กเล็กอยู่

บ่อน้ำมนต์ (ยังก่อสร้างไม่เสร็จ) ที่คาบัด อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัยชี้ไปทางด้านหลังของพื้นที่และพูดกับเราว่า อาคารที่สร้างใหม่ด้านหลัง จะเป็นอาคารไว้ทำพิธี ‘อาบน้ำมนต์’ ไม่ใช่ห้องใต้ดิน โดยข้างล่างของอาคารจะเป็นที่โล่ง เป็นบ่อน้ำที่ลึกประมาณ 2 เมตร ซึ่งมีทั้งหมด 2 บ่อ ที่แยกระหว่างผู้ชายและผู้หญิง
“บ่อน้ำดังกล่าวไม่ต่างกับการอาบน้ำมนต์บ้านเรา ที่เมื่อมีเคราะห์ ไม่สบายใจ ก็ไปอาบน้ำมนต์”
เขาย้ำว่าตรงนี้ที่นี่ไม่มีชุมชน หรือหมู่บ้านชาวยิว แต่บริเวณนี้เป็นเพียงสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา แต่ยอมรับว่าอาจจะมีบางคนที่มาแต่งงานกับหญิงชาวไทยและก็ทำธุรกิจ ทำวีซ่า เรียนภาษา สำหรับอยู่ยาวบ้าง
“ไม่มีที่ไหนในปายเป็นชุมชน เราไม่สนับสนุนให้ใครมายึดครองพื้นที่ เราแค่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว”

สมชาย ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ที่คาบัด อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สมชาย ฝ่ายบริหารงานทั่วไป อธิบายพื้นที่ประกอบพิธีทางศาสนาให้ฟังว่า อาคารไม้นี้จะมี 2 ชั้น ผู้หญิงอยู่ห้องข้างบนที่บรรจุคนได้ 17 คน เต็มที่ 20 คน ส่วนผู้ชายอยู่ด้านล่าง เป็นห้องที่บรรจุได้ประมาณ 22 คน ทำให้ขนาดพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องเปิดหน้าต่าง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมเช่นกัน
“พิธีจะเริ่มต้นราว 18.00 น. เสร็จสิ้นประมาณ 19.30 น. หลังจากนั้นก็ไปรับประทานอาหาร ส่วนวันเสาร์พิธีจะเริ่ม 11.30 น. ถึง 13.00 น. และกลับมาประกอบพิธีต่อในเวลา 18.40 น. จนถึงหนึ่งทุ่มกว่าๆ” เขาระบุ
โดยสรุปแล้วคาบัดที่ปายจะประกอบไปด้วยเต็นท์รับประทานอาหาร บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่พักราไบ อาคารประกอบพิธีทางศาสนา
ทั้งนี้ เพื่อคลายปมข้อสงสัยเกี่ยวกับคาบัด การทะลักเข้ามาของชาวยิว หรือเรื่องการตั้งถิ่นฐานในปาย เราจึงพูดคุยกับ ราไบ–ผู้นำคาบัด ที่เดิมที่แล้วเขาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีจะทำการลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เขาจึงจำเป็นต้องเดินทางมาที่ปายเพื่อต้อนรับ
อย่างไรก็ตาม เขาไม่ให้อนุญาตให้เราถ่ายรูปของเขา รวมถึงขอให้เรียกเขาว่า ราไบ แทนชื่อและนามสกุลจริงของเขาเพื่อความปลอดภัย
อำเภอปายสงบ ชาวอิสราเอลจึงนิยมมาเที่ยว

พื้นที่ประกอบพิธีทางศาสนา ที่คาบัด อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
“แท้จริงแล้วเราเป็น worldwide organization ที่มีมากกว่า 300 แบรนด์ทั่วโลก สำหรับคอยช่วยเหลือชาวยิว (jewish people) เพื่อดำรงไว้ซึ่งศาสนาของพวกเรา”
“นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลมาไทยเพื่อการท่องเที่ยว แต่ผมยอมรับว่า มีชาวอิสราเอลบางส่วนมาอยู่ที่ไทยจริง อย่างผมอยู่ไทยมา 30 ปีแล้ว แต่โดยส่วนใหญ่แล้วชาวอิสราเอลเข้ามาท่องเที่ยวและก็เดินทางกลับหลังจากนั้น โดยคาบัดจะทำหน้าที่ให้บริการขายอาหารเฉพาะให้แก่พวกเขาและในวันศุกร์และเสาร์ช่วงเย็น เราจะมีการประกอบพิธีทางศาสนา หรือเรียกว่า religion day นอกจากนี้ เราจะคอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาชาวอิสราเอลที่กำลังประสบปัญหา”
“การเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล มีบางคนทำผิดจริง ดังนั้นเมื่อคนเหล่านี้มีปัญหาหรือมีความผิด เราก็พยายามพูดคุยและแนะนำให้พวกเขาเรียนรู้วัฒนธรรมของไทย สอนพวกเขาให้เรียนรู้ที่จะเคารพคนในพื้นที่”
เหตุที่คนอิสราเอลชอบมาที่ปายเพราะที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สงบ ต่างจากที่อิสราเอลที่มีสงคราม ดังนั้นคนอิสราเอลจำนวนหนึ่งจึงเลือกที่จะมาเที่ยวที่ปายอย่างมาก 1-2 อาทิตย์ เพื่อมาพักผ่อน หรือบางส่วนก็ไปเที่ยวที่อื่น
โดยในเว็บไซต์ Jewish Thailand มีการระบุข้อความถึงคาบัดที่ปายไว้ว่า ยินดีต้อนรับสู่ปาย–หมู่บ้านที่งดงามในเทือกเขาแม่ฮ่องสอนทางตอนเหนือของประเทศไทย ปายได้รับความนิยมจากนักเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนหนุ่มสาวชาวอิสราเอล ที่มักแบกเป้มาท่องเที่ยว หลังจากเสร็จสิ้นการรับราชการทหารภาคบังคับ
ราไบกล่าวต่อ ปายเป็นพื้นที่ที่สงบ คนในพื้นที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี “ผมมีโอกาสได้คุยกับคนปาย ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาแสดงความเห็นกับผมว่า อยากให้คนอิสราเอลมาเที่ยว เพราะทำให้ธุรกิจรุ่งเรืองขึ้น ดังนั้นคนปายส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหากับการเข้ามาของชาวอิสราเอล”

อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
อย่างไรก็ดี The MATTER มีการลงพื้นที่พูดคุยกับคนปายเกี่ยวกับประเด็นนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ในปีนี้มีนักท่องเที่ยวสัญชาตินี้เข้ามามากขึ้นกว่าปีก่อนๆ หลายเท่าตัว
ซึ่งคนในพื้นที่บางส่วนแสดงความเห็นว่า ผู้ที่มักส่งเสียงดัง ขโมยสิ่งของ หรือแม้แต่อาละวาดที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่เป็นชาวอิสราเอล ซึ่งเรามีการถามย้ำว่า แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเป็นชาติไหน คนในพื้นที่มักตอบกลับตรงกันว่า เนื่องจากบางกรณีเจ้าหน้าที่สามารถจับตัวคนทำผิดได้ จึงรู้ว่าผู้ที่ก่อเหตุเป็นคนสัญชาติอะไร และหากพูดถึงในโรงพยาบาล ผู้ที่อาละวาดก็มักจะเป็นชาวอิสราเอลเช่นกัน เพราะก่อนที่จะเข้ารับการรักษา เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องขอหลักฐานส่วนตัว เช่น พาสปอร์ต เป็นต้น
ผู้นำศาสนาแสดงความเห็นเกี่ยวกับข่าวที่มีการต่อว่าชาวอิสราเอลว่า อาจเกิดจากการเหมารวม เพราะที่ปายไม่ได้มีแค่ชาวอิสราเอล แต่ยังมีนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ เยอรมัน และอีกหลากหลายประเทศทั่วโลก
การจัดการของภาครัฐ
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พ.ต.ท.วิชัย ปันนา หัวหน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวปายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีจำนวน 21,026 คน โดยแบ่งเป็น นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร จำนวน 4,278 คน ชาวอิสราเอล จำนวน 3,034 คน และ ชาวเยอรมัน จำนวน 1,890 คน ซึ่งที่เหลือจะเป็นคนชาติอื่นๆ อาทิ ชาวดัตช์ ชาวอเมริกัน
ทั้งนี้ พบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล มีจำนวนก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากหากย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 มีชาวอิสราเอลที่เดินทางมาที่ปายราว 800 คนเท่านั้น ขณะที่ในปีนี้มีมากถึง 3,000 คน

ถนนคนเดินปาย อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่าน คนในพื้นที่ปายมีการเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าตรวจสอบและเร่งแก้ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับชาวอิสราเอล โดย พ.ต.ท.สุวิทย์ บุญยะเพ็ญ สารวัตรตำรวจท่องเที่ยว จังหวัดแม่ฮ่องสอน เผยว่า ทางตำรวจได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการกระทำผิด หรือการดำเนินกิจการที่ผิดกฎหมาย และเสริมว่า นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลเข้าพักเฉลี่ยวันละ 80 คน ไม่ใช่ 30,000 คน ตามที่เป็นข่าว
“แต่เจ้าหน้าที่จะยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพบการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ก็พร้อมจะดำเนินมาตรการตามกฎหมายต่อไป”
ขณะที่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ได้มีการตรวจสอบแล้วว่าไม่เป็นความจริง ส่วน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ที่เป็นคนลงพื้นที่ ระบุก่อนหน้านั้นว่า “เป็นไปไม่ได้ ที่จะห้ามคนไทยเข้าพื้นที่ อำเภอปาย เพราะแค่คิดก็ผิดแล้ว จึงไม่อยากให้กังวลใดๆ กับเรื่องนี้
“และเรื่องนี้ไม่ใช่ผลพวงมาจากนโยบายฟรีวีซ่า เพราะมีระยะเวลากำหนดอยู่แล้ว” รองนายกฯ กล่าว