ภาพชายในชุดออกกำลังกายเดินเท้าเปล่า ถือถุงแกงในมือที่โด่งดังในโลกออนไลน์เมื่อหลายปีก่อน ยังคงเป็นที่จดจำและพาให้ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในวัย 56 ปี กลายเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ตามความเห็นของคณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ด้วยการชูเอกลักษณ์ ‘ความเป็นธรรมชาติ’ เป็นกลยุทธ์มัดใจ
ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า การสื่อสารการเมืองในสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว “ผู้นำหรือคนที่พึ่งพิงคะแนนนิยมจากประชาชน ต้องใช้สื่อใหม่เป็น และเก่งด้วย”
แม้การเลือกตั้งจะจบลง แต่ความเดือดร้อนของประชาชนยังไม่จบ การทำงานของผู้นำจึงเป็นสิ่งที่รอการพิสูจน์ว่าจะจะมีประสิทธิผลเป็นอย่างไร The MATTER ไปคุยกับ อ.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก ถึงปรากฏการณ์ชัชชาติฟีเวอร์ว่า พลิกโฉมการสื่อสารการเมืองไทยอย่างไร แล้วกลยุทธ์ถ่ายทอดสด มาถูกทางหรือไม่
ทำบาทหนึ่งแต่พูดสลึงเดียว = ขาดทุน
นับตั้งแต่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มาเดินเส้นทางการเมือง ด้วยตำแหน่งอดีต รมว.คมนาคม เจ้าของเมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างขนส่งสาธารณะ 2 ล้านล้านบาท จนประกาศตัวเป็นอิสระลงชิงชัยในสนามผู้ว่า กทม. ได้สำเร็จ สิ่งที่เขาทำต่อเนื่องมาตลอด คือ การบอกให้คนรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่
“ไลฟ์ของคุณชัชชาติไม่ผิด ตรงกันข้ามนักการเมืองควรศึกษาด้วยซ้ำ ว่าทำไมฟีเวอร์ได้” ข้อยืนยันของ อ.นันทนา อาจจะช่วยคลายข้อสงสัยบางอย่างที่ผู้คนที่อาจอยู่ในใจ
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง เริ่มต้นอธิบายว่า นักการเมืองจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่ไม่ใช่เพียงคำพูด แต่หมายรวมถึงเสื้อผ้า ท่าทาง น้ำเสียง ซึ่งสามารถตีความ แล้วเปลี่ยนเป็นคะแนนนิยมในท้ายสุด
“คนเป็นผู้นำถ้าทำอย่างเดียว แต่ไม่รู้จักสื่อสารกับคนว่าทำอะไรไปบ้าง เหมือนทำบาทแล้วไปสื่อสารสลึงนึง เท่ากับขาดทุน ประเภทที่ทำดีปิดทองหลังพระ อันนั้นก็แนะนำให้ไปบวช เพราะคนเป็นนักการเมือง ทำหนึ่งบาทต้องสื่อสารหนึ่งบาท”
ส่วนที่ว่าคนจะชื่นชอบหรือไม่นั้น อ.นันทนา มองว่าขึ้นอยู่กับการทำการบ้านของแต่ละคน
“คนที่สื่อสารเก่งอาจไม่ได้เป็นผู้นำทุกคน แต่ผู้นำทุกคนต้องสื่อสารเก่ง”
4 กลยุทธ์ของผู้ว่าฯ ป้ายแดง
‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ถือเป็นสโลแกนที่ผ่านการวิเคราะห์คนกรุงเทพฯ มาแล้วว่าต้องการได้ยินอะไร อ.นันทนา ชี้ว่า การปรับเอาภาพจำของผู้นำที่อาจไม่เป็นที่ชื่นชอบ ชูเป็น ‘จุดแข็ง’ ของตนเอง นับเป็นวิธีการที่ได้ใจคน เช่นเดียวกับ 4 แนวทางการสื่อสาร คือ
- ลงมือทำแทนการพูด
การเริ่มออกเดินสำรวจปัญหาเมืองหลวง เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนประกาศตัวเป็นแคนดิเดต และยังคงทำต่อเนื่องจนตอนนี้
- ใช้โซเชียลมีเดียกระจายข้อมูล
การเลือกใช้วิธีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก โดยไม่ได้พึ่งพิงสื่อกระแสหลักก่อน ก็เป็นวิธีสื่อสารถึงคนวงกว้างเช่นกัน
ด้วยเวลานี้นับเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน (transition period) ที่คนต่างเจเนอเรชั่น รับสื่อต่างกัน ทำให้การรับรู้ข่าวสารเหมือนอยู่คนละโลก แต่นักการเมืองจำเป็นต้องได้รับความนิยมจากคนทุกกลุ่ม จึงเป็นความท้าทายที่ต้องใช้สื่อเก่า และสื่อใหม่ควบคู่กันไป
- ทำอย่างเป็นธรรมชาติ
ในทุกการเคลื่อนไหวของชัชชาติ ถ่ายทอดออกมาได้พอดี ทั้งการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ท่าทางรับฟังอย่างตั้งใจ รวมถึงคำพูดที่แหลมคม ตัวอย่างถ้อยแถลงในวันประกาศชัยชนะ อย่าง ‘เป็นคำสั่งของประชาชนให้มาทำงาน’ ก็แฝงความหมายระหว่างบรรทัด ของการรู้หน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
- ชัดเจน มั่นคง ตรงประเด็น
ถือเป็นคำจำกัดความของตัวชัชชาติของ อ.นันทนา ที่มองว่า ผู้นำที่ดีควรมาพร้อมความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่จำเป็นต้องฉุนเฉียว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้อารมณ์ดีเรื่อยเปื่อย ทั้งหมดคือการสื่อสารสไตล์ชัชชาติ ที่แสดงจุดแข็งของการทำการบ้านอย่างหนักทั้งตัวเขาและทีมงานรอบข้าง
อดเปรียบเทียบกับไลฟ์นายกฯไม่ได้
“การสื่อสารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คนมักเข้าใจผิดว่าการลอกเลียนด้วยวิธีการใดๆ ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้เหมือนกัน”
เป็นคำตอบของอ.นันทนา เมื่อถามถึงเหตุผลที่การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบไลฟ์ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายฯ จึงมักมีกระแสตอบรับไม่เป็นที่น่าพอใจในสื่อสังคมออนไลน์
พร้อมเหตุผลเพิ่มเติมที่ว่า อาจไม่ผิดที่การเลือกเครื่องมือไลฟ์ แต่เป็น ‘วิธีคิดตั้งต้น’ ที่มักหยิบยกกิจกรรมที่ยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น และไม่รู้ว่ามีประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไร
“การไปตรวจการจราจร ตรวจประตูระบายน้ำ แล้วไลฟ์มันทำให้คนเห็นปัญหาไปด้วยกัน ไม่ใช่การไลฟ์เปิดท่าเรือเปิดโน่นเปิดนี่ มันเป็นพิธีกรรมแต่ใช้สื่อสมัยใหม่ ไม่เปิดคนก็ใช้ได้”
อ.นันทนา กล่าวติดตลกว่า เหตุเดียวที่เพจนายกฯ จะฮอตฮิตปรอทแตก ก็คงมีช่วงเวลาเดียว คือตอน ‘ลืมปิดคอมเมนต์’ ซึ่งการปิดกั้นการแสดงความเห็นลักษณะนี้ ของบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะนักการเมืองมักมีผลเชิงลบเสียมากกว่า
“การเมืองมันเป็นเรื่องจริง การที่คนแสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านคอมเมนต์ คือการทำโพลจริง โดยไม่ต้องเสียเวลาคิดคำถาม ออกเดินทำแบบสำรวจเลย”
ด้วยความคิดเห็นของผู้คนโดยธรรมชาติมีทั้งคำชมและคำติติง อ.นันทนา กล่าวว่า หากนำข้อมูลเหล่านั้นมาจำแนก แล้ววิเคราะห์สาเหตุ ก็เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงตัว “การปิดคอมเมนต์มันไม่ใช่การปิดหูปิดตาคนอื่น แต่เป็นการปิดโอกาสตัวเองที่จะได้ปรับปรุงตัวให้ทัน”
‘ก็ดี ก็ดี ก็ดี’ จุดอ่อนจากความคาดหวัง
เมื่อถามถึงว่าแล้วกระแสชัชชาติฟีเวอร์นี้ จะมีโอกาสอ่อนแรงลงหรือไม่ อ.นันทนา ยอมรับว่า เป็นธรรมดาของคะแนนนิยมที่มักพุ่งสูงสุดในช่วงต้น ยิ่งเป็นผลชนะที่มาจากคะแนนแบบแลนด์สไลด์ยิ่งไปกันใหญ่
เวลาผ่านไประดับความนิยมก็จะทรงตัวตามผลงาน ก่อนที่ ‘อาการเบื่อ’ ของผู้คนอาจเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากความสำเร็จ ไม่ใช่ความผิดหวังด้วยซ้ำไป
“วันที่เขาทำสำเร็จไปเรื่อยๆ คนจะรู้สึกว่า ‘ก็ดี ก็ดี ก็ดี’ ถึงจุดหนึ่งอาการเบื่อก็มา กฎหมายถึงต้องมีเทอมจำกัดแค่ 2 วาระ 8 ปี ด้วยเป้าหมายเพื่อไม่ให้คนใช้อำนาจไม่สุจริต และธรรมชาติของคนที่ไม่ได้ชอบอะไรถาวร เบื่อได้ไม่มีเหตุผล”
อย่างไรก็ดี อ.นันทนา มองว่าจุดอ่อนที่ชัดที่สุดของคุณชัชชาติ เกิดขึ้นจากตัวเขาเองที่สร้างมาตรฐานไว้สูง นำมาซึ่ง ‘ความคาดหวัง’
“เวลาที่ใครเคยไปอยู่จุดสูงสุด เหมือนได้ออสการ์แล้ว มันยากที่จะรักษามาตรฐาน จะทำต่ำกว่านี้ไม่ได้แล้ว” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง กล่าวทิ้งท้าย
ต้องรอดูต่อไปว่า กระแสชัชชาติฟีเวอร์ จะมีวันหมดอายุหรือไม่ คงต้องให้ผลงานตลอดการดำรงตำแหน่งผู้ว่าเมืองกรุงเป็นตัวตัดสิน อย่างที่ชัชชาติตอบนักเรียนไทยในต่างแดน ซึ่งเข้ามาแสดงความดีใจกับการได้รับตำแหน่ง ระหว่างไปร่วมงานรับปริญญาของลูกชาย ที่ว่า ‘ตอนนี้อย่าเพิ่งชมเลย เดี๋ยวรอครบ 4 ปี ถ้าทำดี ค่อยมาชมกันอีกทีนะ’