ใบสมัครงาน ตำแหน่ง…ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร…
ชื่อ-นามสกุล : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ทริป)
สังกัด : อิสระ
อายุ : 55 ปี
อาชีพ : มีม อดีตรัฐมนตรี
สโลแกน : ทำงาน ทำงาน ทำงาน
สิ่งที่จะทำหากได้เป็นผู้ว่าฯ : 200 นโยบาย 9 ดี ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
สำหรับนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 8 อย่าง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ หลายคนอาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะขณะนี้ เขาและทีม ‘เพื่อนชัชชาติ’ ได้ประกาศนโยบายออกมาทั้งหมดถึง 200 นโยบาย++ ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมในทุกๆ มิติ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของคนเมือง
เพื่อแจกแจงนโยบายให้เห็นภาพมากขึ้น The MATTER ก็ได้สรุปมาให้แล้ว
นโยบายของชัชชาติมีเป้าหมายในภาพรวมคือ ทำให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ซึ่งจากเอกสารการหาเสียงของชัชชาติ ก็ระบุว่า จะทำได้ผ่านนโยบาย 9 มิติที่เรียกว่า ‘กรุงเทพฯ 9 ดี’ ที่กลั่นกลองมาจากการศึกษาอิงกับ ‘ดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่’ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU)
นโยบายกรุงเทพฯ 9 ดีที่ว่านี้ เริ่มจากมิติแรกคือ (1) บริหารจัดการดี แล้วจึงแตกออกมาเป็น (2) สิ่งแวดล้อมดี (3) สุขภาพดี (4) เดินทางดี (5) ปลอดภัยดี (6) โครงสร้างดี (7) เศรษฐกิจดี (8) สร้างสรรค์ดี และ (9) เรียนดี
1.บริหารจัดการดี ในมิตินี้ จะเน้นการเพิ่มความโปร่งใส การรับใช้ประชาชน และยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการผ่านตัวช่วยด้านเทคโนโลยีต่างๆ มีนโยบายที่น่าสนใจ เช่น
- โปร่งใส ไม่ส่วย แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยการพัฒนาระบบติดตามการดำเนินการ (tracking system) และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
- ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงาน กทม. จากการสร้างการสื่อสาร 2 ทาง (two-way communication) ผ่านสภาคนเมืองประจำเขต มีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณ (participatory budgeting) และมีส่วนร่วมในการประเมินผู้บริหาร
- เปิดเผยข้อมูลศักยภาพสูงของ กทม. (Open Bangkok) เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการเปรียบเทียบต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อสร้างความโปร่งใส
2.สิ่งแวดล้อมดี ถือเป็นไฮไลต์หนึ่งในนโยบายของชัชชาติ ที่จะเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการกำจัดมลพิษต่างๆ นโยบายที่อาจจะคุ้นเคยกันดีคือ การจัดให้มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ใน 15 นาทีจากประตูบ้าน แต่ก็ยังมีนโยบายอื่นๆ อีกหลายอย่างในหมวดนี้ เช่น
- การจัดการขยะ จัดจุดทิ้งไม่ให้มีขยะตกค้าง เน้นแยกขยะจากต้นทาง จัดให้มีรถขยะไซส์เล็กเพื่อเข้าถึงบ้าน รวมถึงเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานเก็บขยะ
- ด้านสัตว์เลี้ยงและสัตว์จร จะพิจารณาให้พาสัตว์เลี้ยงเข้าสวน กทม. ได้ มีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต และจัดระเบียบสัตว์จรอย่างเป็นระบบ เช่น จัดชุดทำหมันและฉีดวัคซีนเชิงรุก ปรับปรุงศูนย์พักพิง เป็นต้น
3.สุขภาพดี เน้นการจัดการกับมลพิษในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 และการยกระดับบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- จัดทีม ‘นักสืบฝุ่น’ ศึกษาต้นตอ PM5 มีการพยากรณ์และแจ้งเตือนฝุ่น PM2.5 ตรวจสอบคุณภาพอากาศในโรงงานและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ปล่อยมลพิษ
- จัดให้มีพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ทั้งในพื้นที่เปิดและพื้นที่ปิด ใช้ต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด และเครื่องฟอกอากาศสำหรับพื้นที่ปิด
- พัฒนาลานกีฬา 1,034 แห่ง ให้มีสภาพเหมือนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และมีบรรยากาศที่เปิดรับผู้คน ยกระดับศูนย์กีฬาให้สอดคล้องกับความต้องการ และจัดแข่งขันกีฬาประจำชุมชน-เขต
- จัดให้มีหมอถึงบ้าน-ชุมชน ด้วย Telemedicine และ Mobile Medical Unit ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มเวลา เพิ่มการรักษา และขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง
- นำร่องผ้าอนามัยฟรี นำร่องสร้างห้องปั๊มนม-ให้นม
4.เดินทางดี ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งชัชชาติก็ประกาศว่าจะจัดการจราจรและขนส่งสาธารณะให้มีความคล่องตัวและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น นโยบายหลักๆ ที่เขาเสนอคือ
- บริหารการจราจรผ่านระบบอัจฉริยะ (ITMS) พร้อมจัดตั้ง Command Center ร่วมกับตำรวจ-หน่วยงานต่างๆ
- แก้ปัญหารถติดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ปรับปรุงคอขวด เพิ่ม/ลดช่องจราจร พัฒนา ‘จอดแล้วจร’ ให้คนใช้ขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น
- ทำทางเดินเท้าให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้ง 1,000 กม. ใน กทม.
- เพิ่มรถเมล์สายหลัก-สายรอง ราคาเดียว เพิ่มเรือ เพิ่มรถเมล์ไฟฟ้า
5.ปลอดภัยดี เป็นนโยบายที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตคน กทม. ด้วยการลดจุดเสี่ยงต่างๆ และพัฒนาระบบให้มีความรัดกุมมากขึ้น ในส่วนนี้ ยังมีนโยบายหนึ่งที่มีความโดดเด่นด้วย คือ การผลักดันให้หน่วยงาน กทม. เข้าใจและยอมรับกลุ่ม LGBTQIA+ มากยิ่งขึ้น ขณะที่นโยบายอื่นๆ ประกอบไปด้วย
- พัฒนาคุณภาพกล้อง CCTV ขอดูภาพจากกล้องได้สะดวกรวดเร็ว พร้อมกับใช้ CCTV กวดขันวินัยจราจร
- กรุงเทพฯ ต้องส่าวง เพิ่มสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร แต่ในขณะเดียวกัน ป้ายโฆษณาก็ต้องมีความสว่างตามค่ามาตรฐาน
- ในด้านสาธารณภัย จะจัดหายานพาหนะดับเพลิงในที่คับแคบ เพิ่มประปาหัวแดง และผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม รวมถึงการซ้อมเผชิญเหตุให้ครอบคลุม
6.โครงสร้างดี ซึ่งหมายถึงการจัดงานในด้านผังเมือง ที่อยู่อาศัย และระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้น่าอยู่ขึ้น ด้วยการ
- จัดให้มี hawker center สำหรับหาบเร่หรือเป็นศูนย์อาหาร
- จัดหาห้องพักชั่วคราวสำหรับนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ (housing incubator)
- ขุดลอก ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กม.
- สร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (hub) เพื่อการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบาย
และมีในหมวดการพัฒนาพื้นที่อีกหลายนโยบาย เช่น การวางแผนแนวคิดเมืองใหม่ที่ได้มาตรฐานในชานเมือง การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย หรือการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับผังเมืองให้ทันสมัย เป็นต้น
7.เศรษฐกิจดี เน้น “สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้” เช่น
- จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กทม.(กรอ. กทม.๗
- พัฒนาทักษะยุคใหม่ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
- ขยายโอกาสให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok) และขยายโอกาสผู้ประกอบการ ผ่านการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ
- ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy)
- ช่วยหางาน สร้างรายได้ ส่งเสริมการออม และให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระดับครอบครัว-ชุมชน
- สนับสนุนให้ ‘เส้นเลือดฝอย’ หรือผู้ประกอบการรายย่อย เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายน่าสนใจที่ชัชชาติชูขึ้นมา ได้แก่ นโยบาย ‘ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน’ สนับสนุนประชาชนที่ทำงานกลางคืน และการใช้ชีวิตในเวลากลางคืนให้สะดวกสบายมากขึ้น
8.สร้างสรรค์ดี ให้การสนับสนุนการแสดงออกการความคิดสร้างสรรค์ของชาว กทม. ทั่วทั้งเมือง จะมีบางส่วนที่ทับซ้อนกับมิติทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีนโยบายหลายๆ อย่างที่มีความเฉพาะตัว เช่น
- ยกระดับห้องสมุด กทม. 36 แห่งเป็น co-working space ดูแลห้องสมุดชุมชนให้มีความทันสมัย พร้อมทั้งจัดให้มีห้องสมุดออนไลน์ (e-Library) เพื่อปล่อยยืมอีบุ๊กให้อ่านได้ทุกที่
- เปลี่ยนศาลาว่าการและลานคนเมืองให้เป็นพิพธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่สร้างสรรค์ต่างๆ
- จัดสรรให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น พื้นที่แสดงดนตรี พื้นที่แสดงงานศิลปะกลางแจ้ง
9.เรียนดี เป็นอีกด้านที่ชัชชาติตั้งใจสนับสนุน โดยมีนโยบายที่ประกอบไปด้วย
- เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรมหรือพื้นที่การเรียนรู้
- พัฒนาฟรีไวไฟทุกโรงเรียน และจัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียน รองรับการเรียนออนไลน์
- ลดภาระงานครู เพิ่มสวัสดิการครู รวมถึงสร้างทีม Digital Talent เพื่อช่วยเหลือครูในด้านเทคโนโลยี
- พัฒนาโรงเรียน ให้เป็นโรงเรียน 3 ภาษา ยกระดับประสิทธิภาพด้วย open data และใช้แนวคิด ‘โรงเรียนแห่งการเรียนรู้’ (Learning School)
ทั้งหมดนี้คือนโยบายที่ยกมาให้เห็นคร่าวๆ ว่าชัชชาติจะทำอะไรบ้าง หากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. นโยบายหลายๆ อย่างอาจฟังดูคุ้นหูหรือใกล้ตัว เพราะแน่นอนว่าเป้าหมายสุดท้ายคือการทำให้ กทม. “น่าอยู่สำหรับทุกคน” ได้จริงๆ
และถึงแม้จะอัดแน่นมามากกว่า 200 นโยบาย แต่ชัชชาติก็ให้คำมั่นว่าจะรีบทำนโยบายให้สำเร็จ “เราไม่มีเวลาไปทดลองงาน วันแรกต้องทำงานทันที และทุกอย่างต้องวัดผลได้ 100 วัน ก้าวหน้าไปแค่ไหน” เขาประกาศในวันแถลงเปิดตัวนโยบายเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565
แต่เขาจะได้ลงมือทำจริงหรือไม่ หรือเราจะได้เห็นเมืองที่ ‘น่าอยู่’ ในแบบของชัชชาติหรือไม่ – ก็ขึ้นอยู่กับ ชาว กทม. ผู้มีสิทธิเต็ม ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้ว่าฯ