“คุณอย่าเพิ่งไปรีบเชื่อว่าอะไรเป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้” หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่บอกกับเรา
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566 ที่ประชุมใหญ่วิสามัญ พรรคก้าวไกล มีมติเลือก ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แทนหัวหน้าพรรคคนเดิม คือ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้
ชัยธวัชแถลงภายหลังการประชุมว่าเป็น “การปรับทัพชั่วคราว” เพื่อให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ ทั้งนี้ เป็นเพราะพิธาถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปมหุ้นสื่อ ITV ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดว่า การเป็นผู้นำฝ่ายค้านว่า จะต้องเป็นบุคคลที่เป็น สส. ในสภาฯ เท่านั้น (ท่ามกลางเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมาย)
ไม่นานมานี้ เราอาจมีภาพจำของชัยธวัชในฐานะตัวละครสำคัญ เป็นมือประสานในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วม 8 พรรค ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ
แต่ก่อนหน้านี้ ชัยธวัชเป็นมาแล้วหลายบทบาท เขาเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เคยเป็นบรรณาธิการ (บก.) สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หรือถ้าย้อนกลับไป ในวัยเรียนเขาก็เป็นเด็กกิจกรรม ที่ชอบตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ จนทำให้รู้สึกว่าอยู่เฉยไม่ได้ หากพบเจอสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคม
เรานัดพูดคุยกับชัยธวัชที่ห้องทำงาน สัปปายะสภาสถาน เมื่อเปิดประตูไป ก็พบกับหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ดริปกาแฟ กลิ่นไหม้จางๆ ของเมล็ดกาแฟกำลังเผยตัวพอดี เขาจิบกาแฟ ก่อนเริ่มตอบคำถามอย่างบรรจง ลุ่มลึก ไม่แพ้รสสัมผัสของเครื่องดื่มในแก้วนั้น
The MATTER ชวนอ่านเรื่องราวชีวิต ความคิด และแนวทางการทำงานของ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ ในบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้
คุณเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่
ก็บอกไม่ถูกนะ โดยพื้นฐาน ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เราก็สนใจบ้าง มันอาจจะมาจากคุณพ่อ หรือเตี่ย ผมเรียกเตี่ย อาจจะได้รับอิทธิพลจากเตี่ยมากที่สุด ในแง่ที่ทำให้เราสนใจข่าวสารบ้านเมือง
เพราะตื่นมาตอนเช้า เขาก็จะมีหนังสือพิมพ์วางอยู่แล้ว ซึ่งที่เขาอ่านบ่อย ที่ต้องมีแน่ๆ อย่างน้อยหนึ่งฉบับทุกเช้าก็คือ มติชน เราก็จะได้อ่านหนังสือพิมพ์ หรือเวลาเขาเปิดโทรทัศน์ดูข่าว เราก็ได้ดูไปด้วย เวลามีอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ เราก็ดูพร้อมกับเขาไปด้วย
ก็ได้รับอิทธิพลในแง่ที่ทำให้ตัวเองสนใจ หรืออ่านหนังสือพิมพ์ รับรู้ข่าวสารบ้านเมืองมาก ซึ่งมันก็ติดตัว รวมถึงนิสัยที่ส่งเสริมให้อ่านหนังสือ พอเรามาอยู่กรุงเทพฯ ก็ติดนิสัยอ่านหนังสือพิมพ์ ซื้อนิตยสารการเมืองรายสัปดาห์อ่าน แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สนใจติดตามข่าวสาร ไม่ได้รู้ลึกอะไรเยอะ
แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้มาทำการเมืองจริงจัง
ถ้าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ก็อาจจะเป็นประสบการณ์ที่เราได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมของสมัชชาคนจน ซึ่งตอนนั้นสมัชชาคนจนมีการชุมนุมที่ยาวนาน อยู่ล้อมทำเนียบรัฐบาล 99 วัน
ตอนนั้นผมกำลังจะจบปี 1 กำลังจะไปค่าย อยู่ชมรมจุฬาทักษิณ [ค่ายอาสาพัฒนาชนบทในพื้นที่ภาคใต้] แต่ปิดเทอมอยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ก็ไปสมัครชมรมชาวเขา ไปค่ายภาคเหนือบ้าง เขาก็มีกระบวนการเตรียมค่าย ก็คือ มีการให้ความรู้พื้นฐาน ความเข้าใจพื้นฐาน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่เราจะไป ซึ่งแน่นอนสำหรับพี่น้องชาติพันธุ์ ก็มักจะมีปัญหาเรื่องสัญชาติ ปัญหาเรื่องที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
ในกระบวนการนั้น ยังไม่ไปค่ายนะครับ อยู่กรุงเทพฯ อยู่ เขาก็พาเราไปพูดคุยกับพี่น้องชาติพันธุ์ที่มาร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจนตอนนั้น เราก็ไปกับรุ่นพี่ ไปถึงปุ๊บ แม้เราจะเป็นคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่บ้าง แต่เป็นครั้งแรกที่เราได้สัมผัส ถือว่าได้เจอกับสิ่งที่เรียกว่าการชุมนุมจริงๆ
ตอนนั้นคนค่อนข้างเยอะนะครับ และชุมนุมยาวนานมาก ก็เลยเรียกว่า สไตรค์เหมือนกันว่า เฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมชาวบ้านเต็มเลย เป็นร้อยเป็นพันคนมาหลับมานอนอยู่รอบทำเนียบรัฐบาล และตอนนั้นผมจำได้ ช่วงคาบเกี่ยวหน้าฝนด้วย เวลาฝนตกก็จะน้ำท่วม โห แมลงสาบไหลออกมาเต็มเลยตามท่อระบายน้ำ ชาวบ้านก็ลำบาก มันก็เกิดคำถามว่า เฮ้ย ทำไมมันต้องมาอะไรกันขนาดนี้ มีปัญหาอะไรกัน อันนี้เป็นสิ่งที่สไตรค์เรา ในแง่ที่ทำให้เราตั้งคำถาม เราอยากรู้มากขึ้น
วันนั้น พอรุ่นพี่ชมรมชาวเขาพาไปคุยกับชาวบ้านเสร็จปุ๊บ หลังจากนั้นผมก็กลับไปที่หอ เก็บเสื้อผ้า แล้วก็เข้าไปนอนกับชาวบ้านสมัชชาคนจน จนกระทั่งเขาจบการชุมนุม 99 วัน แล้วก็ไม่ไปค่ายเลย (หัวเราะ)
ตอนท้ายก็ทำให้เจอหลายคน พอเขารู้ว่าเป็นนักศึกษา เขาก็มีการชวนเราไปทำกิจกรรมกันต่อหลังจากที่การชุมนุมของชาวบ้านจบลง แล้วก็เจอเพื่อนๆ ที่เป็นนักศึกษาสถาบันอื่น ที่เขามาทำกิจกรรม ก็ได้รู้จักกัน อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นเหมือนกันที่ทำให้ผมเริ่มที่จะมีประสบการณ์ หรือถูกชวนเข้าไปทำกิจกรรมทางสังคม ทางการเมือง นอกมหาวิทยาลัย
หลังจากนั้นเราทำกิจกรรมทางการเมืองต่อเนื่องเลยหรือเปล่า
ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มที่จะทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง เราทำด้วยความที่เราตั้งคำถามด้วย เราตั้งคำถามว่า เอ๊ะ มันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็อยากรู้ เรียนรู้ไปกับมัน ถ้าเรามีส่วนร่วมที่จะแก้ปัญหามันได้ เราก็ทำ มันเกิดจากความรู้สึกแบบนั้น
คุณชัยธวัชเคยเป็น บก. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ช่วงปี 2545-2561 – อะไรคือจุดเริ่มต้น
ต้องบอกอย่างนี้ก่อนว่า จุดเริ่มต้นมันก็คือ ด้วยความที่เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตอนที่อยู่มหาวิทยาลัย เราก็รู้สึกไม่ค่อยพอใจกับบรรยากาศทางปัญญาเท่าไหร่ คือ ยุคนั้นถ้าเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรม มันเป็นยุคที่อ่านหนังสือแนว คุณหมอประเวศ วะสี อ.สุลักษณ์ [ศิวรักษ์] แนวนี้ทั้งหมดเลย
วรรณกรรมที่เขาอ่าน จะไม่ใช่แนวต่อสู้ทางการเมือง ก็จะเป็นแบบจิตวิญญาณภายใน อ่านเฮสเส [Hermann Hesse – แฮร์มัน เฮสเส นักเขียนชาวเยอรมัน-สวิส] ผมก็ โอ้โห เฮสเสเต็มตู้เลย (หัวเราะ) ก็ดีนะ ทุกวันนี้ผมก็ยังอ่าน กับ อ.สดใส [ผู้แปลนวนิยายของเฮสเส] ก็ชอบพอกันดี ก็ควรอ่าน ผมก็ชอบ แต่นึกออกไหม บรรยากาศทางปัญญาแบบนั้น
ตอนผมเป็นนักศึกษา ผมก็ตั้งคำถามกับแนวคิดหลายอย่าง ที่เรียกว่าป็อปปูลาร์ในหมู่ฝ่ายก้าวหน้าไทย แล้วรู้สึกว่า มันไม่ใช่ว่ะ เราก็มีความคิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ มันต้องก้าวข้ามสำนักคิดแบบนี้ให้ได้
อันนี้ก็มีพื้นฐานอยู่เหมือนกัน [คือ] ความไม่พอใจบรรยากาศทางปัญญาที่มีอยู่ บรรยากาศในการถกเถียง ในทางความคิดอย่างเข้มข้น อย่างจริงจัง มันไม่มีนะ ไม่มีบรรยากาศที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างจริงจัง ส่วนงานวิชาการในมหาวิทยาลัย มันอยู่ในวงแคบๆ
ฉะนั้น ตอนนั้นเราก็คิดว่า เออ เราอยากทำสำนักพิมพ์ อยากสร้างพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ถกเถียงกันทางความคิด ทางปัญญา ที่มันอยู่กึ่งกลางระหว่างงานแบบนักวิชาการในมหาวิทยาลัย วารสาร (journal) มหาวิทยาลัย กับงานแบบที่แอคติวิสต์หรือ NGO อ่านกัน ซึ่งเราคิดว่า คุณภาพมันยังไม่ได้ อันนี้จึงเป็นที่มา
แล้วตอนพอคิดจะเริ่มทำ เอาไปขาย เราร่างโปรเจ็กต์ เอาไปขอความเห็น ขอคำปรึกษา พวกคนที่มีประสบการณ์ รุ่นพี่ ไม่มีใครเห็นด้วยเลยนะ ว่ามันจะเป็นไปได้ หรือมันจะประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่ถาม คุณจะทำให้ใครอ่านวะ (หัวเราะ) มันจะอยู่รอดเหรอ แต่วันนี้ เดือนนี้ เดือนตุลาฯ ใช่ไหม นี่ครบรอบ 21 ปี ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเริ่มต้นด้วยคนแค่ 3-4 คน เงิน 4 แสนบาท แล้วก็มีเครื่องแมคหนึ่งเครื่อง
อะไรคือบทเรียนในชีวิตจากการเป็น บก. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
ผมว่า ฟ้าเดียวกันมันก็เป็นประวัติศาสตร์ทางภูมิปัญญาในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วล่ะ สำหรับนักเรียนสังคมศาสตร์ หรือในแวดวงปัญญาชนทวนกระแสของไทย บทเรียนอันหนึ่ง แน่นอน ก็คือว่า
คุณอย่าเพิ่งไปรีบเชื่อว่าอะไรเป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้
ฟ้าเดียวกันก็เป็นตัวอย่างของสิ่งที่คนไม่คิดว่ามันเป็นไปได้ แต่ผมเชื่อว่าถ้าเกิดเรามีแพสชั่นกับมันจริงๆ เราทำในสิ่งที่คิดว่ามันใช่ให้ดีที่สุด และมันสอดคล้องกับยุคสมัยได้ ผมว่ามันเป็นไปได้ อะไรที่บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปได้ แต่คุณต้องทำมันอย่างจริงจังนะ ไม่ใช่คุณทำมันเล่นๆ
และในจังหวะที่ตลาดหนังสือช่วงหนึ่งตกต่ำมาก ล้มหายตายจากกันไปเยอะ หนังสือที่หนักๆ อย่างฟ้าเดียวกันกลายเป็นสวนกระแส ยอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะว่าคนไม่ซื้อหนังสือที่อ่านเล่น แต่หนังสือหนักๆ เขาอยากซื้อ อยากอ่าน เพราะบรรยากาศในทางสังคม ในทางการเมือง มันชวนให้ศึกษา ตั้งคำถามอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด อันนี้เรียกว่าเป็นประสบการณ์ หรือเป็นบทเรียนส่วนหนึ่งแล้วกัน จากฟ้าเดียวกัน
การเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในปี 2553 มีอิทธิพลกับคุณชัยธวัชอย่างไร – ส่งผลให้อยากลุกขึ้นมาทำพรรคอนาคต และก้าวไกลในตอนนี้ ด้วยหรือเปล่า
ปี 2553 แน่นอน มันทำให้เราตระหนักมากขึ้น จริงๆ เราก็พอจะรู้อยู่แล้วว่าปัญหาการเมืองไทยมันเป็นยังไง แต่อันนี้มันตระหนักมากขึ้น ตอกย้ำมากขึ้นว่ามันเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ มันตระหนักเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราสัมผัสโดยตรง จากสัมผัสทุกอย่าง ร่างกาย ผิวหนัง รูปรสกลิ่นเสียง ว่ารัฐไทย หรือระบบการเมืองไทย มันมีปัญหามากๆ จริงๆ
การสลายการชุมนุมปี 2553 เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า รัฐไทยสามารถที่จะฆ่าใครก็ได้ ฆ่าประชาชนคนไหนก็ได้ โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีใครต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้นเลย และสังคมไทยก็อนุญาตให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ด้วย
อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่มากๆ เลย มันตอกย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และอะไรที่เราคิดว่ามันไม่มีทางจะเกิดขึ้น หรือมันไม่มีใครจะกล้าทำ มันเกิดขึ้นได้เสมอนะ ในประเทศไทย
เราอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเหตุการณ์เฉพาะ และเกี่ยวข้องกับคนบางกลุ่ม เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ควรจะลืมๆ กันไป หรือปล่อยผ่านได้เพื่อเดินไปข้างหน้า แต่ผมว่า มันเรื่องใหญ่นะ ในแง่หนึ่ง ถ้าสังคมอนุญาตให้ผู้มีอำนาจหรือรัฐฆ่าประชาชนยังไงก็ได้ โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบ มันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันเท่ากับอนุญาตให้รัฐหรือผู้มีอำนาจทำอะไรก็ได้อีกเยอะเต็มไปหมดเลย
การพรากเอาชีวิตร่างกายของประชาชน ซึ่งเราบอกว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นเป้าหมายพื้นฐานสำคัญที่สุดของรัฐสมัยใหม่ คุณอนุญาตให้ทำอันนี้ได้ คุณทำอะไรก็ได้แล้วนะประเทศนี้
ผมว่าอันนี้มันเป็นความสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผม ก็คือ มันตอกย้ำเรื่องนี้ว่า โอ้โห มันเลวร้ายมากๆ แล้วก็ทำให้เราให้ความสำคัญหลังจากเหตุการณ์ กับการที่จะค้นหาความจริง เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานในการทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนที่ได้รับบาดเจ็บ ล้มตาย หรือถูกดำเนินคดี ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ
และถ้าเราทำให้มันเกิดกระบวนการยุติธรรมที่เอาคนที่กระทำผิดมารับโทษได้ มันก็จะเป็นครั้งแรกที่สังคมไทยทำลาย หรือไม่ยอมรับ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ซึ่งไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมาโดยตลอด มันควรจะเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่อนุญาตให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอีกแล้ว อันนี้ก็เป็นสิ่งที่พยายามทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้หลังเหตุการณ์
ถามว่ามันมีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ไหม ผมคิดว่ามี เหตุการณ์หลังจากนั้นที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ มันทำให้ผมและเพื่อนๆ ตระหนักถึงข้อจำกัดของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมาว่า พรรคการเมือง หรือองค์กรทางการเมือง ที่มีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้ผลักดันเรื่องประชาธิปไตย มีข้อจำกัดบางอย่าง ทั้งแนวคิด และวิธีการทำงานทางการเมือง
ถ้าเราอยากจะออกจากข้อจำกัดนี้ มันก็ควรจะมีองค์กรทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ที่จะนำเสนอความคิด หรือวิธีการทำงาน เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ต่างออกไป อันนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดพรรคอนาคตใหม่เหมือนกัน
ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านแบบไหน
เราวางบทบาท ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายในการทำงานในฐานะพรรคฝ่ายค้านไว้อยู่ แน่นอน งานพื้นฐานคืองานตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งก็คงต้องรักษามาตรฐานเดิมเอาไว้ ในการทำงานตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา และยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้งจริงๆ
ควบคู่กันไปกับงานฝ่ายนิติบัญญัติ ที่แม้ไม่ใช่ฝ่ายบริหารก็ทำได้อยู่แล้ว ก็คือการผลักดันประเด็นต่างๆ รวมถึงร่างกฎหมายที่ก้าวหน้า ผ่านกลไกนิติบัญญัติ
แต่ในรอบนี้สิ่งที่จะเพิ่มเติมขึ้นมา คือสิ่งที่เราพูดหลายครั้ง ก็คือ ฝ่ายค้านเชิงรุก ฝ่ายค้านเชิงรุกคืออะไร ถ้าเอาสั้นๆ เลยก็คือ เราไม่ได้จะเป็นฝ่ายค้านที่จ้องจะล้มรัฐบาล แต่ทำหน้าที่ ทำงานฝ่ายค้าน เพื่อเตรียมเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุด ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ผมเคยสัมภาษณ์คุณพิธา เขาบอกว่า พรรคก้าวไกลเป็น ‘สตาร์ตอัปทางการเมือง’ – ถ้าเป็นคุณชัยธวัช จะนิยามพรรคก้าวไกลว่าเป็นแบบไหน
จริงๆ ถ้าจะบอกว่าเป็นสตาร์ตอัปทางการเมือง วันนี้ก็ยังเป็น ในความหมายที่ว่า เราเป็นองค์กรที่ทำงานไป เรียนรู้ไป ลองผิดลองถูก และค่อนข้างยืดหยุ่นที่จะปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว อันไหนที่เราลองไปแล้ว และคิดว่าไม่ใช่ ก็พร้อมที่จะปรับใหม่ ไม่เป็นองค์กรที่แข็งตัว พยายามเป็นองค์กรที่สร้างการเรียนรู้ภายใน
การทำงานแบบนั้นก็ยังเป็นอยู่ แต่ถ้าคิดถึงสถานการณ์ปัจจุบันในแง่หนึ่ง เมื่อนึกถึงพรรคก้าวไกล ผมคิดว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็น หรือกำลังทำ เราอาจจะพูดได้ว่า พรรคก้าวไกลคือการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในสังคมไทย
ช่วงที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ กรณี คุณชัยธวัชในฐานะหัวหน้าพรรค มีแนวทางต่อเรื่องนี้อย่างไร
พรรคก้าวไกลต้องตระหนักว่า สังคมจำนวนมากจับจ้องพรรคเยอะ ใน 2 แบบ แบบหนึ่งก็คือ คู่แข่งทางการเมือง หรือคนที่อาจจะไม่ได้ชอบพรรคก้าวไกล ก็จะจับจ้องพรรคก้าวไกลทุกอณู ถ้าเมื่อไหร่คุณทำอะไรไม่ดี หรือผิดพลาด แน่นอน ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกโจมตีอย่างรวดเร็ว
แต่ในด้านที่สำคัญกว่า ผมคิดว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยคาดหวังกับพรรคก้าวไกลไว้มาก อยากจะให้พรรคก้าวไกลทำสิ่งที่ตัวเองพูดไว้ให้เป็นจริงให้ได้ ดังนั้น อะไรที่ สส. หรือองคาพยพของพรรคก้าวไกลทำ ไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง ไม่ทำตามมาตรฐานที่พรรคได้พูดเอาไว้ หรือทำอะไรผิดพลาดไปจากที่ควรจะเป็น ผู้สนับสนุนก็พร้อมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบพรรคก้าวไกลตลอดเวลาเหมือนกัน อันนี้สำคัญมาก
ดังนั้น สิ่งที่พูดคุยกันในพรรค แน่นอน ต้องตระหนักในเรื่องนี้ แล้วก็อย่าไปมองว่า การวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบ จากประชาชน จากสังคม เป็นสิ่งที่ไม่ดี ต้องมองก่อนว่า อันนี้เป็นสิ่งที่ดีนะ เป็นเรื่อง healthy
เพราะว่าเมื่อไหร่ที่สังคมหรือประชาชนไม่วิพากษ์วิจารณ์เราแล้ว สัญญาณอันหนึ่งคือ เขาอาจจะไม่คาดหวังกับพรรคก้าวไกลแล้วก็ได้
เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อถูกตรวจสอบ กลไกภายในพรรค จะต้องรองรับ เวลามีความผิดพลาดเกิดขึ้น จะต้องจัดการได้อย่างรวดเร็ว จะต้องมีการยกระดับ ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงมายด์เซ็ตในการทำงานของบุคลากรภายในพรรค จะต้องมีการสรุปบทเรียนกันบ่อยๆ อันนี้ รวมถึงการกำหนดโปรโตคอลในการทำงานของ สส. และบุคลากรในพรรคก้าวไกลไปด้วย
ตอนนี้ ใน สส. ด้วยกัน กำลังมีการทำโปรโตคอล หรือข้อตกลงร่วมในการทำงาน ว่าอะไรคือแนวทางที่ควรเป็นแนวทางปฏิบัติ อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะทำ เพื่อให้เป็นข้อตกลงร่วมกัน และ เมื่อเป็นกติการ่วมกันแล้ว สร้างร่วมกันขึ้นมา ทุกคนก็ต้องยึดถือปฏิบัติ รวมถึงตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กันเอง
มองไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไรบ้าง ถึงวันนั้น พรรคก้าวไกลจะมีหน้าตาแบบไหน
ผมจะทำให้พรรค – ไม่ใช่ผมคนเดียว ทุกองคาพยพของพรรค – จะต้องพร้อมสำหรับการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จะต้องพร้อม ในแง่ระบบภายในพรรค ในแง่นโยบายที่พร้อมลงลึกในระดับปฏิบัติ และทำความเข้าใจกับสังคม สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มาผลักดันนโยบายร่วมกัน พร้อมๆ ไปกับการเตรียมพร้อมทีมที่จะมาบริหารนโยบายใหญ่ๆ ของพรรคให้ได้
สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า แน่นอน เราตั้งเป้าหมายว่าเราต้องเป็นรัฐบาลให้ได้
เพื่อที่จะผลักดันวาระต่างๆ นโยบายต่างๆ ที่เราอยากเห็นให้เป็นจริง และถ้าพรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมคิดว่า มันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว สังคมไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่อนาคตได้ เราไม่ได้ต้องการวนอยู่กับการเมืองแบบเดิม หรือแนวคิดในทางนโยบายแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว อันนี้เป็นนัยสำคัญสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคก้าวไกล
ทำไมถึงมั่นใจว่าครั้งหน้าจะเปลี่ยนแปลงได้
อันนี้เป็นเป้าหมาย ต้องบอกว่า การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน เราไม่เคยบอกว่า โอ้โห ยังไงการเลือกตั้งครั้งหน้า อยู่เฉยๆ ประชาชนก็จะมาเลือกก้าวไกลอย่างถล่มทลาย ก้าวไกลต้องทำงานให้หนักเพื่อที่จะพิสูจน์ตนเองกับประชาชน เสียงของประชาชนไม่เป็นของตายของใคร อันนี้ต้องอยู่ในความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลา
แต่ผมคิดว่า การที่ก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลในครั้งหน้ามีความเป็นไปได้มาก ถ้าเราทำงานรักษามาตรฐานเดิมไว้ได้ รวมถึงยกระดับมาตรฐานขึ้นไปอีกได้
เพราะเราเห็นผ่านปรากฏการณ์การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแล้วว่า ประชาชนพร้อมจะเลือกพรรคก้าวไกล จากเดิมที่ไม่มีคนคาดว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นแบบนี้ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่า ถ้าคุณยังทำงานได้ดีเหมือนเดิม เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้ และยิ่งดีกว่าเดิมได้ ประชาชนพร้อมจะเปลี่ยนไปกับพรรคก้าวไกล
และกฎกติกาในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไม่มีการออกแบบกลไกพิศดาร เช่น สว. มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลตามผลการเลือกตั้ง มันก็มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะได้มาเป็นฝ่ายบริหารในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ถ้าย้อนมาดูการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2566 คุณชัยธวัชวิเคราะห์ได้ไหมว่า ทำไมการตั้งรัฐบาลพรรคร่วม 8 พรรค ถึงไม่สำเร็จ
มันก็สะท้อนเพดานหรือข้อจำกัดของการเมืองไทยว่า มันก็ยังมีกฎกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ เป็นกฎกติกาที่กดทับเสียงและอำนาจของประชาชนผ่านการเลือกตั้งเอาไว้ แม้จะมาเลือกตั้งกันแล้ว แต่ผลจากการจัดตั้งรัฐบาลมันไม่สะท้อนเจตจำนง หรือเจตนารมณ์ของประชาชนที่ได้แสดงออกมา
อีกประการหนึ่ง ที่เห็นจากการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ผ่านมาก็คือว่า แม้ว่าประชาชนจำนวนมากในสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หรือต้องการความเปลี่ยนแปลง
แต่มันยังมีชนชั้นนำทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ที่พยายามที่จะฝืนการเปลี่ยนแปลง
ไม่ต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ในเชิงระบบ ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลที่จะเข้ามาผลักดันนโยบายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ในเชิงระบบต่างๆ อนุญาตให้มีการเลือกตั้ง อนุญาตให้มีนักการเมืองจากการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาล แต่ไม่อนุญาตให้นักการเมืองเข้ามาผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมเดิมที่เป็นอยู่ ผมคิดว่า อันนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่สืบเนื่องมาเกือบ 20 ปีแล้ว
ประเด็นเรื่องยุบพรรค ในพรรคคุยกันว่าอย่างไร และมีการเตรียมตัวกันอย่างไรบ้าง
เราก็ไม่ได้มีการเตรียมอะไรเป็นพิเศษ จริงๆ เราอยากจะให้สังคมตระหนักมากกว่าว่า เรื่องการยุบพรรคการเมือง มันเป็นสิ่งที่ไม่ปกติในระบบการเมือง พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่มารวมตัวกัน มันไม่ควรจะถูกยุบ อย่างน้อยที่สุด พรรคการเมืองควรจะเกิดง่าย ดำเนินการได้ง่าย และยุบยาก มันต้องเป็นกรณีเฉพาะ หรือมีเหตุจำเป็นจริงๆ ที่จะอนุญาตให้ยุบได้
แต่ว่าสังคมไทยที่ผ่านมา การยุบพรรคพร่ำเพรื่อมาก และกระบวนการตุลาการก็ถูกตั้งคำถามว่า ตกลงเป็นไปตามมาตรฐานทางกฎหมาย หรือว่า ตัดสินใจไปโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ข้างหน้า สิ่งที่ต้องทำก็คือทำให้พรรคมีความเข้มแข็ง และมั่นคงขึ้น เป็นสถาบันมากขึ้น พร้อมรับกับทุกสถานการณ์
และที่สำคัญมากๆ ก็คือ พรรคก้าวไกลยังต้องพิสูจน์ตนเองผ่านการทำงานที่เป็นจริงว่า พรรคก้าวไกลยังทำในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการอยู่ ทำให้สังคมเห็นว่า ประชาชนต้องการพรรคการเมืองแบบนี้อยู่ ถ้าเมื่อไหร่ที่ประชาชนไม่ต้องการพรรคการเมืองแบบนี้แล้ว คุณจะถูกกระทำอะไรยังไงก็ได้ ก็ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครปกป้อง หรือไม่มีใครมาช่วยกันสร้างพรรคแบบนี้ให้กลับขึ้นมาใหม่หรือแข็งแรงมากขึ้นได้อีกในอนาคต
(ถามเล่นๆ แต่จริงจัง) จาก 1-10 คิดว่าตัวเองหน้าเหมือนโคอาลาแค่ไหน มันสะท้อนความเป็นโหวตเตอร์ก้าวไกลอย่างไร
อันนี้ก็ต้องบอกว่า ผมก็เห็นจากในทวิตเตอร์ ที่มีโหวตเตอร์ของพรรค อาจจะเป็นคนรุ่นใหม่หน่อย ที่เขาก็บอกผมว่า ผมเหมือนโคอาลา ผมก็ไม่ได้อะไร บางทีก็สนุกๆ เออ มันก็เหมือนจริงๆ เนอะ ก็เลยแค่ทวีตเล่นๆ ก็ไม่รู้จะให้ระดับไหน แต่ก็ไม่เคยคิดในมุมนี้มาก่อนเหมือนกัน เมื่อก่อนผมอาจจะผอมกว่านี้ (หัวเราะ)
มันก็สะท้อนอารมณ์แบบคนรุ่นใหม่ ต้องบอกว่า โหวตเตอร์ของก้าวไกลก็มีหลายแบบ หลายกลุ่ม กลุ่มที่จริงจังในทางการเมือง กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ก็อาจจะมีความคาดหวัง หรือมีปฏิสัมพันธ์กับพรรคอีกแบบหนึ่ง ส่วนคนรุ่นใหม่ ก็แน่นอน นอกจากความสนใจเรื่องการเมือง ก็จะมีมุมสนุกๆ ซึ่งผมคิดว่า มันก็เป็นบรรยากาศที่ดี
คนที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หรือสนใจการเมือง มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่จริงจัง เคร่งเครียด เอาเป็นเอาตายตลอดเวลา มันสามารถที่จะสนุกไปกับมัน หรือมีชีวิตชีวาไปกับมันได้ จริงๆ ผมอยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หรือติดตามทางการเมืองอย่างมีชีวิตชีวา ไม่ใช่เป็นอะไรที่ โอ้โห มีด้านเดียวที่เคร่งเครียดเอาเป็นเอาตาย จิตตกหรือซึมเศร้า หรือทำเอาชีวิตล้มละลายไปเลย มันก็ไม่ healthy เหมือนกัน
ผมว่าโอเคนะ ถ้าประชาชนเขารู้สึกใกล้ชิดกับนักการเมืองได้ ใกล้ชิดกับพรรคการเมืองได้ เขาล้อเล่นได้ คุยเล่นได้ ผมว่ามันเป็นด้านบวกมากกว่าที่จะเป็นด้านลบ
ถ้าพูดถึงประชาธิปไตยในสังคมไทย คุณชัยธวัชอยากเห็นมันเป็นแบบไหน
ผมว่ามันอาจจะกว้างกว่าประชาธิปไตยนะ ผมหรือเพื่อนๆ ที่มาร่วมกันตั้งพรรคอนาคตใหม่ สิ่งที่เราอยากเห็นมันก็ไม่มีอะไรแบบพิศดารเลยนะ (หัวเราะ) ก็ธรรมดา
เราก็อยากเห็นการเมืองที่เห็นหัวประชาชน เราบอกว่า สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ประชาชนมีอำนาจสูงสุด ระบบการเมือง การออกแบบสถาบันทางการเมือง มันก็ต้องเป็นแบบนั้น มันก็ต้องสะท้อนหลักคิดแบบนั้น หลักการแบบนั้น ทุกวันนี้ไม่ใช่เลย
เราอยากเห็นระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า เท่าทันโลกยุคสมัยใหม่ พร้อมๆ กับเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม แบ่งปันความมั่งคั่ง หรือผลพวงทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมด้วย
อยากเห็นสังคมที่ประชาชนได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่อยู่ๆ วันดีคืนดีคุณถูกยิงตายเหมือนหมาข้างถนนโดยที่ไม่มีใครต้องรับผิด อย่างนี้ไม่ได้นะ หรือคุณมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสันติ ไม่ใช่คุณโพสต์เฟซบุ๊กแล้วคุณติดคุก ต่อให้ถูกตีความว่าผิด มันก็ควรจะมีการลงโทษที่ได้สัดส่วน
อยากเห็นการศึกษาที่ต่างออกไปจากสมัยเราเป็นเด็ก ที่เรารู้สึกว่ามันไปไม่ได้แล้ว มองไม่เห็นอนาคต
อยากเห็นระบบราชการ หรือระบบการบริหารประเทศที่ไม่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง เพราะเรารู้สึกว่ามันไปต่อไม่ได้จริงๆ ระบบแบบนี้มันไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องความโปร่งใสไม่ต้องพูดถึง มีปัญหาทุกจุด จับตรงไหนโดนตรงนั้น และทำให้ประชาชนมีบทบาทมีอำนาจจริงๆ ในการตัดสินใจ ที่จะจัดการพื้นที่ของตัวเองได้
เพราะฉะนั้น ผมไม่รู้จะนิยามมันยังไงว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไหน แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ที่มันก็ควรจะเป็นอย่างนี้ มันไม่มีอะไรที่ โอ้โห ลึกซึ้งแบบที่เขาถกเถียงกัน เอาแค่เรื่องพื้นฐานมากๆ เลย แค่นั้นเอง
อะไรคือความฝันของคนที่ชื่อชัยธวัช
เราเป็นคนที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วก็รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงมัน ดังนั้น อะไรที่เรารู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงมันได้ เราก็เข้าไปทำ
มันก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ หรือเป็นความฝันยิ่งใหญ่ เราก็แค่อยากเห็นสังคมอีกแบบหนึ่ง และลงมือลองทำกับมันสักตั้งในบทบาทที่เรามีได้ในชีวิต ไม่รู้จะบอกยังไงว่าความฝันของผมคืออะไร แต่เป็นคนที่รู้สึกว่า ถ้าเห็นอะไรไม่ถูกต้อง เราไม่ค่อยอยากอยู่เฉย แค่นั้นเอง