ประเด็นสมาชิกพรรคก้าวไกลคุกคามทางเพศดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ และยังคงมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดถึงในสังคมกันอย่างต่อเนื่อง
แล้วที่ผ่านมา ก้าวไกลมีประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศอะไรบ้าง? วันนี้ (27 ตุลาคม) The MATTER ได้สรุปเรื่องราวบางส่วนที่เกิดขึ้นเอาไว้ให้แล้ว
1. สัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา
กรณีนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่อดีตลูกจ้างของสัณห์สิทธิ์ ที่ทำงานในช่วงทำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง ส.ก. ร้องเรียนว่าสัณห์สิทธิ์มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นการคุกคามทางเพศ โดยมีการส่งข้อความหาและสัมผัสเป้ากางเกงตนเองต่อหน้าเธอ
ในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการวินัยและจรรยาบรรณสมาชิกพรรคก้าวไกล ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า สัณห์สิทธิ์สัมผัสเป้ากางเกง ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานมาแสดง ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้องมีพยานหลักฐาน มายืนยันว่าไม่มีพฤติกรรมเช่นนั้น พรรคจึงไม่อาจวินิจฉัยในกรณีนี้ได้
ในส่วนของข้อความที่เป็นลักษณะคุกคามนั้น ทางพรรคระบุว่า กรณีที่สัณห์สิทธิ์พิมพ์ข้อความมาชมว่าผู้ร้องสวย หุ่นดี ขอดูรูปถ่าย กรณีนี้มีหลักฐานที่ชัดเจน ว่าเขากระทำความเดือดร้อนรำคาญทางเพศด้วยวาจา กระทบต่อความรู้สึกและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ร้อง เข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับคุณค่าและอุดมการณ์ของพรรค
บทสรุป: ‘ตัดสิทธิ’ โดยจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในพรรค และดำรงตำแหน่งสำคัญในสภา กทม. เป็นเวลา 1 ปี และหากยังมีการกระทำผิดแบบเดิมอีก จะมีการลงโทษให้พ้นสมาชิกภาพทันที
2. อานุภาพ ธารทอง ส.ก.เขตสาทร
กรณีของ อานุภาพที่เคยสังกัดพรรคก้าวไกล ถูกแจ้งความข้อหาล่วงละเมิดทางเพศที่มีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์เมื่อ 12 กรกฎาคม 2565
จากนั้น เมื่อพรรคก้าวไกลตรวจสอบ ก็พบว่าประเด็นดังกล่าวมีมูล พร้อมระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า อานุภาพพากลุ่มผู้เสียหายไปยังเคหะสถาน กินดื่ม และเกิดพฤติกรรมที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศขึ้น
เมื่ออานุภาพเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เขาก็ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคความว่า “เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของพรรคก้าวไกล ผมจึงขอลาออกจากพรรคก้าวไกลและการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลตั้งแต่วันที่ 15 กรกรฎาคม 2565 เป็นต้นไป หลังจากนี้การดำเนินการทางกฎหมายใดๆ กับผู้ที่ให้ข้อมูลเท็จจะกระทำในนามบุคคลของผมเอง”
บทสรุป: ‘ลาออก’ จากพรรค
3. สิริน สงวนสิน สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล
สิริน ถูก เอ (นามสมมติ) แจ้งความดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกาย และทำให้เสียทรัพย์ โดยสำนักข่าวหลายๆ แห่งรายงานว่า ผู้เสียหายถูกเขาด่า ชกหน้า ดึงศีรษะลงจากรถ แล้วแย่งโทรศัพท์มือถือโยนทิ้งข้างทาง ทำให้โทรศัพท์พังเสียหาย
ต่อมา สิริน ได้แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กของ เอ ที่ระบุว่า สื่อนำเสนอข่าวเกินจริง และมีข้อมูลบางประการที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงขอชี้แจงว่า ในวันนั้น ทั้งคู่มีปากเสียง และเกิดการยื้อแย่งโทรศัพท์กันในรถ
เอระบุว่า ขณะที่สิรินใช้กำลังยื้อแย่งโทรศัพท์ ทำให้โทรศัพท์มากระแทกหน้าเธออย่างแรง แต่ภายหลังทราบว่าเขาไม่ได้ตั้งใจทำ รวมไปถึง ยังมีเหตุการณ์ยื้อฉุดกันบริเวณข้างรถ ทำให้เธอล้มกระแทกลง เป็นเหตุให้เกิดบาดแผล
อีกทั้งสิรินยังใช้คำพูด และอารมณ์ที่ทำให้เธอรู้สึกไม่พอใจ จึงตัดสินใจไปแจ้งความ เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง และต้องการให้สิรินสำนึกว่าเขาทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
“ดิฉันไม่ติดใจเอาความคุณสิริน และหวังว่าบทเรียนที่เขาได้จากสังคม จากการถูกแจ้งความ รวมถึงบทลงโทษที่เขากำลังจะได้รับจากพรรคก้าวไกล จะเพียงพอทำให้คุณสิริน และนักการเมืองทุกคนตระหนักว่า การใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ไม่ว่าต่อเพศใด โดยเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม เป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ และผู้กระทำผิดจะต้องได้รับผลจากการกระทำนั้นค่ะ”
อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกลก็ออกมาโพสต์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง พรรคได้ติดต่อไปยังผู้แจ้งความแล้วเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวินัยพรรค
หลังจากการตรวจสอบ พรรคก้าวไกลพบว่ามีการทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหาย และได้กระทำความรุนแรงต่อผู้เสียหายจริง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บบริเวณร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน ทั้งยังใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมต่อผู้เสียหาย
บทสรุป: ‘ตัดสิทธิ’ ที่พึงมีในฐานะสมาชิกพรรค คือไม่ให้ได้รับเสนอชื่อในการดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรค และไม่ให้เสนอชื่อเป็นประธาน กมธ. ซึ่งโทษนี้เป็นโทษรุนแรงอันดับ 2 รองลงมาจากการขับออกจากพรรค
ทั้งยังมีการคาดโทษ ซึ่งถ้าหากพบว่า สิรินทำผิดวินัยร้ายแรงอีกครั้งในอนาคตขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ พรรคก็จะยกระดับโทษเป็นการขับออก
4. เกรียงไกร จันกกผึ้ง อดีตผู้สมัคร สส. พรรคก้าวไกล
กรณีของ เกรียงไกร ที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้เสียหายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา เขาระบุว่า “ได้ละเลยความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่ง และได้ละเมิดหลักการเรื่องความยินยอม (consent) จนทำลายความเชื่อใจและหวังดีของเธอ ซึ่งการกระทำในครั้งนี้ไม่ควรค่าแก่การให้อภัยเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นการกระทำอันร้ายแรงต่อจิตใจของเธอ” ซึ่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ผู้เสียหายระบุว่า เกรียงไกรขอโทษเธอแล้ว
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเผยแพร่เรื่องราวดังกล่าวลงในสื่อ ก็มีประชาชนออกมาเรียกร้องให้ทางพรรคชี้แจงกรณีดังกล่าว กระทั่งในวันที่ 2 กันยายน ชัยธวัช ตุลาธน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ตอบกลับโพสต์ที่ขอให้ทางพรรคออกมาชี้แจงว่า “ผู้บริหารพรรคเพิ่งทราบเรื่องนี้เมื่อไม่กี่วันก่อนครับ คณะกรรมการวินัยของพรรคจะรีบดำเนินการนะครับ”
บทสรุป: คณะกรรมการวินัยพบว่าเกรียงไกรล่วงละเมิดทางเพศผู้เสียหายจริงตามข้อกล่าวหา มีมติให้ ‘ขับออก’ จากสมาชิกพรรคทันที
5. วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี พรรคก้าวไกล
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม มีการเผยแพร่ภาพที่อ้างว่า วุฒิพงศ์คุยแชตในลักษณะคุกคามทางเพศกับอาสาสมัครที่ทำงานกับพรรค เช่น ส่งเว็บไซต์วิธีดูผู้ชายเซ็กซ์จัดให้ ส่งข้อความเกี่ยวกับเซ็กซ์ทอยให้ หรือส่งคลิปอนาจารให้ เป็นต้น
จากนั้น พรรคก้าวไกลก็ระบุว่าได้รับคำร้องจากผู้ร้องเรียน และเริ่มกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรรมการวินัยพรรคตั้งแต่เดือนสิงหาคม
จนช่วงค่ำของวันที่ 11 ตุลาคม วุฒิพงศ์โพสต์คลิปวิดีโอบนเฟซบุ๊กเล่าถึงกรณีที่เกิดขึ้น ว่าเป็นการพยายาม ‘ดิสเครดิต’ โดยการแคปภาพบางส่วนมานำเสนอ พร้อมยืนยันว่าเหตุการณ์นั้น ผ่านมากว่า 1 ปีครึ่ง ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่เป็น สส.
ทั้งนี้ คณะกรรมการที่สอบสวนของพรรคก้าวไกลก็ยอมรับว่าข้อกล่าวหามีมูล และจะต้องสอบสวนเพิ่มเติม
ในวันที่ 24 ตุลาคม ณัฐวุฒิ บัวประทุม คณะกรรมการวินัย ระบุว่าประเด็นดังกล่าว มีรายละเอียดจำนวนมาก โดยผู้ถูกกล่าวหา ได้ขอเวลาเพื่อหาหลักฐาน และอาจต้องสอบเพิ่มเติม เบื้องต้นคาดว่าน่าจะสรุปสำนวนต่างๆ ส่งถึงกรรมการบริหารพรรคได้ภายในเดือนตุลาคมนี้
บทสรุป: ระหว่างการพิจารณา
6. สส.ฝั่งธนฯ
พรรคก้าวไกล ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาว่ากรณีนี้ ยังไม่ปรากฏในสื่อและยังไม่ได้รับการร้องเรียนมา แต่ทางพรรคทราบข้อมูลว่าเกิดเหตุการณ์ที่อาจจะเข้าข่ายกรณีดังกล่าว และได้ติดต่อผู้เสียหายไปแล้ว
ต่อมา ในวันที่ 20 ตุลาคม สำนักข่าวเนชั่นออนไลน์เปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อจากผู้เสียหาย 3 คน ที่ถูก สส.ฝั่งธนบุรี พรรคก้าวไกลคุกคามทางเพศ โดยหนึ่งในผู้เสียหาย เข้าร้องเรียนต่อกรรมการวินัยพรรค ต่อมา สส.คนดังกล่าวก็โทรศัพท์มาขอโทษและร้องไห้ พร้อมขอให้บอกคณะกรรมการฯ ว่าอย่าลงโทษรุนแรง “เพราะอยากทำงานในพื้นที่ต่อ นอกจากนั้นยังมีการเตี๊ยมให้บอกว่า เป็นการสมยอมจากทั้งสองฝ่ายเพื่อให้โทษเบาลง”
ทางด้านเบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะคณะทำงานพิเศษเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ (20 ตุลาคม) ยังต้องเรียกผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา มารับทราบก่อน โดยยังอยู่ในกระบวนการทางวินัยและยังไม่สามารถให้ข้อมูลทั้งหมดได้ และกระบวนการสอบยังไม่เรียบร้อย
จากนั้น พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกลโพสต์ในวันที่ 21 ตุลาคมว่า “กรณีนี้เป็นกรณีเดียวกันกับที่พรรคเคยระบุถึงในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ว่ามีข้อกล่าวหาเรื่องการคุกคามทางเพศของ สส. อีก 1 กรณี ที่อยู่ในกระบวนการสอบสวนและ ณ เวลานั้น ยังไม่ปรากฏในสื่อสาธารณะ”
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ณัฐวุฒิ เปิดเผยความคืบหน้าในกรณีนี้ว่า ได้รับข้อมูลจากฝั่งผู้เสียหายค่อนข้างมากแล้ว แล้วก็ต้องแจ้งให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหารับทราบ คาดว่าจะใช้เวลาสอบอีกไม่นาน ก่อนจะเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ โดยภายในปลายสัปดาห์นี้จะสามารถสรุปสำนวนส่งให้กรรมการบริหารพิจารณาเป็นขั้นสุดท้ายได้
บทสรุป: ระหว่างการพิจารณา
7. แนวทางต่อจากนี้
พรรคก้าวไกลแถลงถึงเรื่องการคุกคามทางเพศเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ระบุว่าจะมีแนวทางการแก้ไขดังนี้
– จะปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการวินัยพรรค ให้มีสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่ไม่ได้เป็น สส.พรรค และไม่ได้เป็นเพศชายเพิ่มขึ้น
– ทบทวนกระบวนและพิจารณาปรับปรุงการสอบสวน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้า
– เพิ่มความเข้มข้นในการอบรมบุคลากรของพรรคในเรื่องการเคารพความเสมอภาคทางเพศ และสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย
– ปรับปรุงกระบวนการการคัดกรองบุคลากร
หลังจากที่พรรคก้าวไกลออกมาแถลงข่าวแล้ว มีประชาชนที่มองว่าการออกมายอมรับผิดและดำเนินการตรวจสอบเป็นเรื่องที่สมควร
อย่างไรก็ดี ยังคงมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการตรวจสอบของพรรค ทั้งยังมองว่ามีประชาชนที่มองว่าพรรคก้าวไกลควรมีมาตรการที่รัดกุม และมีแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า แสดงความเห็นว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหา หากตระหนักว่าตนเองทำผิดจริง ก็ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ ไม่ต้องหนี ยอมรับผิด ขอโทษ พร้อมเข้าสู่กระบวนการ
“นี่คือมาตรฐานความรับผิดชอบ กล้าเผชิญหน้า และพร้อมจะปรับปรุงแก้ไข เพื่อสร้างมาตรฐานให้พรรคก้าวไกลและสังคมไทย เพื่อร่วมกันยุติความรุนแรงทางเพศและการคุกคามทางเพศ” ปิยบุตรระบุ
ทาง The MATTER ได้ติดต่อไปยังพรรคก้าวไกลเพื่อสอบถามความคืบหน้าของกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวและแนวทางป้องกันปัญหาหลังจากนี้ หากได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากทางพรรค เราจะรายงานต่อไป โดยทางพรรคแจ้งว่าจะมีการแถลงข่าวเร็วๆ นี้
*แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติม 27 ต.ค. 66 เวลา 21.00 น.
อ้างอิงจาก