“สิ่งที่เรามีตอนนี้คือ ต้นทุน และเป็นต้นทุนที่ดีพอสมควร ก็เป็นหน้าที่ของรัฐต้องเรียนรู้แล้วแหละ ว่าจะจัดการต้นทุนนี้ให้งอกงามได้อย่างไร”
ทั้งตัวอักษรบนหน้ากระดาษ และท่าทีของหัวเรือรัฐบาล ล้วนสื่อสารชัดเจนว่า ภาพยนตร์ไทยกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ไม่ใช่โลกคู่ขนานเสียแล้ว เพราะนับแต่เปิดตัวคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อุตสาหกรรมนี้ก็ถูกคาดหวังให้พาวัฒนธรรมออกสู่สายตาชาวโลก เพื่อต่อยอดสร้างรายได้และชื่อเสียงให้ประเทศ
นั่นถึงเป็นจุดตั้งต้นความเห็นของ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ที่มองว่าการให้ทุนสนับสนุน จะช่วยลดการ ‘เจ็บจริงตายจริง’ ในหมู่คนทำหนัง ถึงตอนนั้น ผลลัพธ์จากรสชาติที่หลากหลายขึ้นของภาพยนตร์ อาจกลายเป็นเคล็ดลับความสำเร็จ และสร้างมูลค่าให้หนังไทยตามนิยามซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐก็เป็นได้
เหตุใดเป็นเช่นนั้น The MATTER ถือโอกาสไปพูดคุยกับ ชลิดา ถึงหอภาพยนตร์ ศาลายา ไม่ใช่เพียงแค่ในฐานะของ ผอ.องค์การมหาชน หรือผู้จัดเทศกาลหนังสั้นมากว่า 27 ปี ที่คอยสังเกตการณ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังรวมถึงบทบาทใหม่ อย่างการเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์
ประเด็นหนังไทยกับ Soft power ถกเถียงกันเดือดในปีนี้ คุณแปลกใจไหม
จริงๆ เรื่องนี้มีการคุยกันมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนแล้ว ตอนนั้นก็พูดถึงสิ่งทางวัฒนธรรมทั้งหลายว่าซอฟต์พาวเวอร์นี่แหละ แล้วก็มีการแซวกันไปแล้ว ว่าเราอาจไม่ได้เห็นด้วยกับคำนิยามแบบนั้นเสียทีเดียว เหตุผลก็คล้ายๆ กับที่บรรดานั่งวิชาการด้านรัฐศาสตร์พูดกัน
ในช่วงแรกๆ เราเป็นคนหนึ่งเลยที่พยายามจะถกเถียง และหานิยามของซอฟต์พาวเวอร์ร่วมกัน แต่พอมาถึงจุดนี้ยอมรับว่าความรู้สึกต่อต้านลดลงไปเยอะแล้ว เพราะรู้สึกขี้เกียจเถียง ก็คงเหมือนอีกหลายอย่างในบ้านเรา ที่วันดีคืนดีอยากเรียกแบบนี้ของเรา เราก็เรียก เราเลยเลิกจะหานิยามแล้วว่าคืออะไร แค่รู้สึกว่าอย่างน้อยตอนนี้ก็มีแอคชั่น และในแอ็กชั่นที่เกิดขึ้นนั้น มันมีความพยายามเข้ามาแก้ไขบางอย่างในระบบนิเวศของวงการและคนทำงานหนัง ให้เป็นไปในทางที่เราคิดว่าจะดีขึ้น
อย่างไรเสีย ส่วนตัวเรายังมีความคาดหวัง ว่าถ้าผู้มีอำนาจเข้าใจในนิยาม หรือคอนเซ็ปต์ของซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างลึกซึ้ง เขาอาจใช้ประโยชน์ได้ win-win ทั้งสองฝ่าย แต่ที่แน่นอนคือ ซอฟต์พาวเวอร์ต้องมีความเกี่ยวข้องกับมิติต่างประเทศ ซึ่งถ้ามองง่ายๆ ในมุมของหนัง อย่างเรื่องของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งไม่ได้มากพอที่จะทำให้หนังประสบความสำเร็จเสียทั้งหมด เพราะแรงบริโภคที่มีอยู่จำกัดเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็จำเป็นต้องหาผู้ชมจากที่อื่นๆ เป็นต้น
แล้ว ‘Team Thailand ด้านภาพยนตร์’ ตอนนี้เป็นอย่างไร กำลังคุยเรื่องอะไรกันอยู่
ด้วยการที่เป็นการรวมตัวของคนทั้งภาครัฐและเอกชน บรรยากาศเวลาคุยกันจะมีไอเดียดีๆ ค่อนข้างเยอะ เราคิดว่าทุกคนก็ตั้งใจและมีความหวัง บางคนก็แอบมาถามว่าที่ตั้งใจทำอยู่แล้วเสียเปล่าไหม หรือสุดท้ายจะเหมือนเดิม เราเองก็คงตอบไม่ได้ แต่ในเมื่อมีโอกาสแล้ว ก็น่าจะลองดู
ถ้าถามในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ถึงสิ่งที่เขาต้องการ แน่นอนว่า การแก้ไขกฎหมายจะขึ้นมาลำดับต้นๆ อย่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่บีบคั้นหัวใจคนทำหนังมาเป็นเวลานาน ส่วนในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ๆ ก็มักจะสนใจประเด็นสิทธิแรงงาน ทว่า ที่ผ่านมาเรื่องพวกนี้ไม่เคยมีโครงสร้างการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม พอคุยกันแต่ละทีจึงได้มีความต้องการที่หลากหลายมาก ทั้งที่เมื่อนำมาวางแผนแล้วมีหลายเรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกระบวนการพูดคุยแล้ว
เรื่องถัดมาที่สำคัญมากคือ ทุน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้สร้างและที่มาของทุน อย่างในไทยอาจมีผู้สนับสนุนอยู่ไม่กี่บริษัท เพราะฉะนั้นเวลาต้องการทำสิ่งที่แตกต่างออกไป เลยไม่รู้ว่าจะต้องไปรับทุนที่ไหน เราเคยคิดว่า VC (Venture Capital Fund) ที่เป็นเหมือนกองทุนรวมที่คอยระดมทุน เพื่อสนับสนุนบรรดา Start-Up เขาจะเคยมองหนังนอกกระแสบ้างไหมนะ เพราะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเหมือนกัน และเข้าใจว่าบางครั้งการลงทุนก็อาจไม่มีกำไร แต่ถ้าไม่ทำเลยก็อาจไม่มีสิ่งใหม่ๆ ในแบบเดียวกันเกิดขึ้นเลย
ด้วยสังคมของเราที่หลากหลายมาก มันอาจมีคนที่พร้อม Crowdfunding (ระดมทุนคนหมู่มาก) เหมือนตอนเรียกให้คนบริจาคแบบด่วนๆ และเมื่อพูดถึงการทำหนังก็ต้องยอมรับว่าจำเป็นต้องมีเงินก้อนใหญ่พอสมควรถึงจะรอด ซึ่งรัฐก็เช่วยได้เพียงบางส่วน แต่แน่นอนรัฐไม่ได้มีเงินแบบไม่จำกัด ดังนั้นจึงต้องมีตัวแปรอื่นๆ เข้ามา อีกอย่างการสนับสนุนของรัฐมักติดปัญหาเรื่องวิธีการใช้จ่ายเงิน ที่ต้องเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายรองรับ เช่นที่หน่วยงานโดยทั่วไปทำได้ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง พอจะพลิกแพลงมากเกินก็มีความเสี่ยง มันไม่ได้ง่าย
ขณะที่ คนที่อนุมัติงบประมาณให้ก็อาจจะไม่ได้เข้าใจ ว่าการทำหนังที่ดีสักเรื่องหนึ่งต้องใช้เวลา แต่อย่างเราไปศึกษาการให้เงินทุนของต่างประเทศ ถ้าข้อเสนอของเราผ่านปุ๊บ เขาก็ให้เงินไปเลยโดยแทบจะไม่คาดหวังผลลัพธ์ที่จะได้กลับมา เพราะถือว่าได้ลงทุนกับคนที่เขาเชื่อแล้วว่ามีศักยภาพ ดังนั้นหน่วยงานใหม่ๆ ที่รัฐจะตั้งขึ้นมาก็ต้องรองรับ และสามารถอุดหนุนเพื่อประโยชน์ของคนทำหนังได้จริงๆ
แล้วอย่างหนังสัปเหร่อที่ก็ต้องวิ่งหาทุนการสร้างเอง เหตุผลอะไรถึงได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี
เราอาจกำลังตอบคำถามนี้ด้วยการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วนะ อย่างเวลาคนชื่นชมหนังของเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศอื่นๆ สิ่งหนึ่งที่พวกเขาโดดเด่นคือ การสร้างความหลากหลายให้กับวงการภาพยนตร์ ภายใต้การแข่งขันที่สูง พวกเขาเจ็บจริงตายจริงกันมามาก เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์บ้านเรา ที่ยังนับว่ามีคนทำหนังจำนวนไม่ได้มาก เช่นเดียวกับบริษัทผู้สร้างที่ก็มีปริมาณน้อย
ทั้งนี้ เมื่อมีการพูดถึงความสำเร็จของหนังเรื่องสัปเหร่อ คนต่างพูดว่าต้องถอดบทเรียนโดยไปโฟกัสที่ความเป็นอีสานเสียมาก แต่ทำไมไม่มองเป็นเรื่องของความหลากหลายล่ะ ในความหมายที่ว่า คนดูอาจต้องการอย่างอื่นแล้ว และไทบ้านเขาก็ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มต้น เขามีฐานแฟนคลับของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้เขาอาจไม่ได้รับการชายตามองจากโรงหนังในกรุงเทพฯ ก็ได้ หรืออาจเคยให้โควตาในสัดส่วนที่น้อย เพราะโรงหนังก็เป็นปัจจัยสำคัญของยอดรายได้ที่หนังจะทำได้
ข้อจำกัดลักษณะนี้เองที่เป็นอุปสรรคต่อหนังอินดี้จำนวนมาก คือไม่สามารถทะลุกำแพงโรงหนังได้ ไม่มีอำนาจต่อรองเพื่อให้มีรอบฉาย เพราะไม่มีตัวเลขความสำเร็จในอดีตมาโชว์ แต่จะมีได้อย่างไรในเมื่อไม่เคยมีพื้นที่ให้เขาพิสูจน์ ปัญหาตามมาคือ เวลาหนังเหล่านั้นได้รางวัลก็มักจะถูกค่อนขอดว่าไม่เห็นจะรู้จักเลย เหตุผลจากโอกาสที่น้อยนักจะส่งไปถึงผู้ชมส่วนภูมิภาค
ถ้าให้เรามองว่าทำไมหนังสัปเหร่อถึงประสบความสำเร็จ เรามองว่านี่เป็นเรื่องความหลากหลาย ผู้คนตอบรับความหลากหลาย ไม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไรก็ตาม แต่ที่ผ่านมาเหมือนทำอะไรแล้วสำเร็จเราก็ทำอย่างนั้น
อย่างไรก็ดี จะไปโทษคนทำหนังอย่างเดียวก็ไม่ถูก ถ้าย้อนไปในอดีตเจ้าของเงินมักจะคิดว่า หนังแบบนี้ได้ตังค์ หนังแบบนี้ไม่ได้ตังค์ อันนี้ไม่ทำ อันนี้ทำแล้วได้เงินแน่นอน เพราะมีความเชื่อพวกนี้อยู่ ความหลากหลายของหนังจึงไม่เกิดขึ้นเลย
เช่นนี้แล้ว ทำอย่างไรถึงจะสามารถเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้กับคนทำหนังได้
คงไม่มีคำตอบที่แน่นอนหรอก แต่เราเล่าอย่างหนึ่งว่า ไม่นานมานี้หอภาพยนตร์ มีการจัดงานฉายหนังฮ่องกง ก็มีการพูดคุยกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญ Sam Ho กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้หนังฮ่องกงประสบความสำเร็จ คือ Audience much bigger than population หนังฮ่องกงมีผู้ชมมากกว่าประชากร ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่านี่แหละคือสมการไปสู่ความสำเร็จ ส่วนจะหาว่าผู้ชมจะเพิ่มมาจากไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อ
พอกลับมามองประเทศเล็กๆ และมีภาษาเป็นของตัวเองอย่างบ้านเรา ว่าถ้าต้องการเพิ่มจำนวนผู้ชมเพื่อให้รายได้เพิ่มขึ้น จะทำอะไรได้อีกบ้าง ส่วนตัวเราคิดว่าผู้ชมในประเทศสามารถเพิ่มจำนวนได้อีก จะด้วยลดค่าตั๋ว หรือสร้างความคึกคักก็เป็นวิธีหนึ่ง บางครั้งความรู้สึกก็เป็นเรื่องสำคัญ หนังดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก็อยากไปดูเพราะคนพูดถึงกัน
ขณะเดียวกัน การทำตลาดต่างประเทศก็ต้องไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะขายแบบเหมา ขายแบบสิทธิ์ขาด หรือขายแบบสตรีมมิ่ง เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ชม และสร้างรายได้ให้สมดุลกับต้นทุน ไปจนเจริญงอกงามเป็นผลกำไร ทว่า ที่ผ่านมาเราคุยกันแต่เรื่องรายได้ของหนัง แต่ไม่เคยมีข้อมูลว่าหนังแต่ละเรื่องมีคนดูกี่คน เพราะค่าตั๋วแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ถ้าเรามีข้อมูลตัวเลขมันอาจนำมาวิเคราะห์ว่า ถ้าต้องการความก้าวหน้า เราต้องผลักดันไปในทิศทางไหน
สมมติว่าถ้าเรารู้ว่าหนังที่เขาบอกคนดูกันเยอะๆ แต่มีตัวเลขคนดูในกรุงเทพฯ แค่ 100,000 คน เมื่อเทียบกับประชากรแล้วก็จะเห็นช่องว่างของโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนผู้ชมได้อีก ซึ่งข้อมูลลักษณะใช่ว่าบ้านเราจะไม่มีคนเก็บข้อมูล แต่การเปิดเผยต่างหากที่ยังไม่สำเร็จ อย่างในเกาหลีใต้ ข้อมูลของโรงจะบอกเลยว่าหนังเรื่องหนึ่งๆ เข้าโรงหนังแล้วฉายจำนวนกี่สกรีน มีคนดูจำนวนกี่คน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้สามารถประเมินภาพรวมสิ่งที่เกิดขึ้น นี่จึงเป็นประเด็นที่คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์พยายามผลักดันเช่นกัน
สำหรับการพัฒนาคนดูเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ อย่างที่หอภาพยนตร์ ทำงานเพื่อสร้างพื้นฐานในการเปลี่ยนรสนิยมและการรับรู้ของคน แต่อาจไม่ได้เห็นผลโดยเร็ว เช่นการเอาหนังเก่ามาเข้าโรงซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชม ปัจจุบันก็มีผู้จัดจำหน่ายนำหนังเก่ามาเข้าโรงมากขึ้น อย่างเรื่อง 12 Angry Men (1957) ที่เพิ่งนำมาฉายคนก็ดูเต็ม เหมือนคนต้องมีโอกาสชิมก่อนถึงจะรู้ว่าชอบไม่ชอบ แต่ใครจะเป็นคนออกเงินทีแรก เพราะไม่มีใครการันตีความสำเร็จให้ได้ แต่เมื่อเราขยายรสนิยมและการรับรู้ของคนในประเทศได้แล้ว โอกาสที่คนทำหนังจะขยับขยายก็เพิ่มขึ้นด้วย ในแง่ของคนทำหนัง ผู้กำกับที่เราเห็นว่าเก่งและมีความสามารถของโลก ถ้าดูในประวัติที่ผ่านมาเขาอาจเคยได้รับโอกาส เคยทำหนังสั้นที่ดี เคยผ่านการทำหนังดีๆ มาแล้ว ซึ่งรัฐสามารถให้โอกาสสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นอย่างนี้ได้ ประเทศเรามีคนที่มีความสามารถจำนวนหนึ่ง ที่ยังขาด คือสปริงบอร์ดที่จะทำให้เขาไปได้ไกลกว่านี้
ถึงตอนนี้รัฐจะเข้าไปผลักดัน Soft Power ในหนังไทยได้อย่างไรบ้าง
ตั้งหลักก่อนว่า รัฐควรจะต้องรู้ที่ทางของตัวเอง รู้ว่าถ้าจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์เข้าไปแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอดี ไม่ได้ยัดเหยียดมากเกินไป
ตัวอย่างการให้ทุนสนับสนุนในต่างประเทศ เขาจะเขียนไว้ในเกณฑ์ข้อกำหนดตั้งแต่ตอนที่เสนอร่างโปรเจ็กต์ ข้อดีที่ตามมา คือคนทำหนังจะสามารถพิจารณาได้ว่า สัดส่วนที่รัฐยื่นข้อเสนอมาว่าต้องมีในเนื้อหานั้น เขาควรจัดวางไว้จุดไหน โดยไม่ได้มีเงื่อนไขบังคับว่าเนื้อหานั้นคืออะไร เช่น ไต้หวันมีการระบุโดยใช้คำว่า element ไม่ได้ใช้คำเจาะจงวัฒนธรรม สำหรับเราการใช้คำว่า element มันไม่ได้รู้สึกยัดเยียดเกินไป คนทำสามารถตัดสินใจตามวิจารณญาณของตัวเองได้ อย่างเกาหลีใต้ก็อาจเริ่มมาจากการให้แรงจูงใจลักษณะเดียวกัน
ขณะที่ไทยในวันนี้ เมื่อรัฐมีวาระที่จะสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านสื่อช่องทางต่างๆ วิธีที่รัฐจะให้เขาใส่เนื้อหาเข้าไปจึงสำคัญมาก การไปบอกให้ผู้สร้างใส่ซอฟต์พาวเวอร์เขาไปเฉยๆ คงไม่ได้ ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนผ่านกระบวนการสนับสนุนที่ไม่ทำให้อึดอัดใจ หรือทำให้หนังเหล่านั้นถูกลดทอนคุณค่าลง
โดยส่วนตัวเชื่อว่า ศิลปินทุกคนต่างต้องการอิสระ แต่เวลาทำงานยังไงก็ต้องเกิดขั้นตอนการต่อรอง ที่ไม่ใช่สภาพบังคับ เพราะทุกการต่อรองคงไม่มีใครแฮปปี้ 100% หรอก มีแต่เสียมากเสียน้อย ได้มากได้น้อย ฉะนั้นถ้ารัฐต้องการให้ใส่ซอฟต์พาวเวอร์ในหนัง รัฐก็ต้องอุดหนุนตั้งแต่ต้น รู้ที่ทางของตัวเอง และเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ที่ตัวเองหมายรวมถึง
คำถามต่อมาคือถ้าเราเป็นคนไทยแล้วมีชื่อเสียงล่ะ จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ไหม ในมุมมองของเราการสนับสนุนคนไทยให้มีแรงวิ่งไปให้สุดกำลังนี่แหละเป็น quick win บ่อยครั้งที่จัดงานประกวดหนังสั้น เราจะเห็นพรสวรรค์ในตัวคนเยอะมากที่อาจจะยังไม่ได้สุกงอมแต่เขามีของ ทว่า น่าเสียดายที่เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนต่างก็ต้องยอมแพ้และถอดใจไป
อีกช่องทางที่รัฐสามารถสนับสนุนได้ คือการช่วยให้คนทำหนังเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ อย่างเวลาเราดูซีรีส์เกาหลีใต้ไปประมาณหนึ่ง จะพบว่าบ่อยครั้งจะได้ยินเพลงเก่าๆ ผนวกเขาไปบางช่วงบางตอน ก็เป็นข้อสังเกตว่านั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุน หรือสร้างแรงจูงใจให้ใช้จากรัฐก็ได้ เพราะสิ่งที่ตามมา คือคนตามไปฟังเพลงต้นฉบับ ตามไปฟังทั้งอัลบั้ม ไปจนทำความรู้จักนักร้องคนนั้นๆ
ท้ายสุดเราจะได้เห็นกระแสความนิยมหนังไทย ที่พา Soft power ไทยออกสู่ตลาดโลก อย่างที่เกาหลีใต้ทำได้สำเร็จหรือไม่
ถ้าย้อนมามองจุดแข็งของอุตสาหกรรมหนังไทยกันก่อน สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือ เรามีคนทำหนังที่เก่งอยู่ แล้วที่ผ่านมาก็แทบจะไม่มีการสนับสนุนอะไรเลย คนที่อยู่รอดก็ถือว่าสู้มามาก ทั้งต้องอดทนและมีใจรักจริงๆ และเมื่อไปดูแนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ในแต่ละประเทศ จะเห็นว่าเขาก็ไม่ได้ใช้วิธีที่เหมือนกัน เราเลยคิดว่าเขาก็ต้องผ่านขั้นตอนการคิดมาแล้ว ว่าต้นทุนไหนของเขา ที่มีอยู่แล้ว และดีพอจนเป็นโอกาสต่อยอดให้งอกเงยที่สุด
สำหรับคำพูด ที่ใครๆ บอกว่าเราอาจจะยังไม่มีซอฟต์พาวเวอร์ในหนังไทย แต่สิ่งที่เรามีตอนนี้คือ ต้นทุน และเป็นต้นทุนที่ดีพอสมควร ก็เป็นหน้าที่ของรัฐต้องเรียนรู้แล้วแหละ ว่าจะจัดการต้นทุนนี้ให้งอกงามได้อย่างไร
ถึงได้บอกว่าเราไม่จำเป็นต้องเดินตามเกาหลีใต้ เส้นทางวิ่งของเราอาจไม่ต้องเหมือนเขา เพราะเกาหลีใต้เขาทำมาก่อนตั้งกี่สิบปีแล้ว และสิ่งที่เขาทำแล้วดี มาวันนี้จะนำมาใช้กับบ้านเราอาจจะไม่สำเร็จแล้วก็ได้ เพราะสังคมโลกก็เปลี่ยนไปแล้ว