‘“นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖’ และ ‘หลังบ้านคณะราษฏร: ความรัก, ปฎิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง’ ล้วนแต่เป็นผลงานหนังสือของชานันท์ ยอดหงษ์ ซึ่งที่ผ่านมาเราคงคุ้นชินกับเขา ในบทบาทของนักวิชาการ และนักประวัติศาสตร์ ที่ขับเคลื่อนในเรื่องเพศ เฟมินิสต์ และ LGBTQ มาโดยตลอด
แต่ในวันนี้ ชานันท์ ได้ขยับขยายบทบาทของตัวเอง เลือกเดินในเส้นทางสายการเมืองเต็มตัว เปิดตัวกับพรรคเพื่อไทย เป็นหัวโต๊ะดูนโยบายความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ หรือประชาธิปไตยเชิงอัตลักษณ์ ซึ่งที่มาก็ได้เป็นตัวแทนของพรรค ไปแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีชุมนุมอย่างม็อบ #สมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว
บทบาทใหม่นี้ อาจจะทำให้เขาที่มองว่าตัวเองเป็นนักวิชาการปากแจ๋ว ต้องปรับลดโทนของตัวเองลง มองภาพการเมืองและสังคมที่กว้างขึ้น ซึ่งชานันท์ก็ได้บอกกับ The MATTER ว่า จากนักวิชาการ และนักประวัติศาสตร์ บทบาทนักการเมืองนี้คงทำให้เขาได้ผลักดันสิ่งที่ตัวเองเคยพูด เคยเขียน มาเป็นนโยบายที่จับต้องได้มากขึ้น และยืนยันว่า เรื่องเพศ สวัสดิการ และประชาธิปไตย ยังคงเป็นเป้าหมายที่ตั้งธงไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
พูดถึงบทบาทใหม่ของการทำงานการเมือง ถือว่าเปลี่ยนไปเยอะไหม
เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน เพราะว่าตอนแรกเราก็ทำด้านวิชาการ ด้านเขียน ก็เขียนที่นี่แหละ The MATTER ก็จะโชคดีหน่อยตรงที่พอเราเข้าไปเสนอนโยบายประเด็นต่างๆ ของในพรรคเนี่ย เราก็จะเอาบทความที่เราเคยเขียน ประเด็นต่างๆ ที่มันมีข้อมูล มันมีประเด็น เอามารองรับในการที่จะเสริมนโยบายเพื่อจะไปคุยกับเขา ทั้ง ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่อง LGBTQ เรื่องเฟมินิสต์ เรื่องชาติพันธุ์
มีความท้าทายอะไรในบทบาทใหม่ๆ บ้างที่เราเจอ
คือมันยาก ตอนแรกเราก็ทำฟรีแลนซ์มาประมาณ 10 ปี แล้วก็ทำงานเขียน จะเจรจาอะไรกับคน จะดีลกับคนก็ผ่านข้อความ ผ่านโทรศัพท์บ้าง แต่อันนี้มันต้องมาเจอกันตัวต่อตัว ต้องมานั่งคุยกัน ประชุมกันกับคนนู้นคนนี้ เราก็รู้สึกว่าจะต้องปรับแล้ว เพราะเหตุการณ์มันต้องเข้าหาคนจำนวนมาก แล้วก็ในเรื่องของประเด็นด้วย อย่างเช่นถ้าเราทำงานเขียน ทำงานสอน เราก็จะฉอดๆ อย่างเดียว ปากแจ๋วอย่างเดียวเลย แล้วก็จะแบบ deconstruct เหมือนแบบรื้อโครงสร้างอย่างเดียวเลย แต่พอทำงานการเมืองในการนำเสนอประเด็นเนี่ย มันต้อง reconstruct ก็คือต้องสร้างด้วย ไม่ใช่รื้ออย่างเดียว มันก็จะต้องทำการบ้านเพิ่มอีกทีหนึ่งด้วย
เพราะการนำเสนอนโยบายเนี่ย ถ้าพรรคนำเสนอมันก็จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างบุคคล ผู้คน องค์กร หรือหน่วยงานจำนวนมากให้ได้ อย่างเช่น ถ้าเราพูดเรื่องแรงงาน ขับเคลื่อนให้แรงงาน เราก็จะเป็นปากเป็นเสียง เราจะพูดแทนชนชั้นแรงงาน บุคคลที่ใช้แรงงานใช่ไหมครับ แต่เราจะไม่ได้พูดถึงเรื่องนายจ้างละ เจ้าของโรงงาน หน่วยงานองค์กรภาคธุรกิจ ซึ่งเขาจะต้องได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เราจะประสานประโยชน์อย่างไร สร้างสมดุลอย่างไรระหว่างกลุ่มต่างๆ ภาคต่างๆ ให้ได้ ซึ่งอันนี้มันก็จะยากสำหรับเรา เพราะเราไม่ได้นำเสนอแค่เพื่อบุคคลเดียว แต่ว่าเราต้องนำเสนอเพื่อหลายบุคคล หลายภาคส่วนมากๆ อันนั้นคือสิ่งที่ท้าทาย
แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะซ้ายเต็มที่ ด่าๆๆ เลยอย่างนี้ไม่ได้ เราก็ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มนายทุนด้วย กลุ่มเจ้าของโรงงาน ผู้ประกอบการตรงนั้นด้วย เพราะเขาก็เป็นประชาชนเหมือนกัน เขาก็มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายที่เราจะนำเสนอเช่นเดียวกัน เราก็ต้องโอบอุ้มทุกกลุ่มนี้ อันนี้คือความยากในการที่เราจะบาลานซ์ความต้องการและผลประโยชน์ของทุกๆ กลุ่มให้ได้ ให้เป็นที่พึงพอใจอย่างเท่าเทียมกัน อันนี้คือความท้าทายของเรา
เหมือนต้องเอาตัวเองออกมาในมุมที่กว้างขึ้นใช่ไหม
ใช่ มันก็เลยไม่สามารถสุดโต่งได้อย่างงานก่อนๆ เพราะอันนั้นมันตัวหนังสือไง แต่พอมันเป็นนโยบายมันก็จะมีฟิลเตอร์ มีความคัดกรองอะไรบางอย่างที่เราจะต้องลดทอนความต้องการของเราลงด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า งานเขียน บทความ หรือการสอนหนังสือ การนำเสนอบทความเชิงวิชาการมันไม่ดี หรือว่าไม่มีประสิทธิภาพนะ แต่ว่ามันก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วย แล้วก็เอาแพลตฟอร์มที่เคยใช้ เคยสร้างมาหรือเคยไปอยู่ในพื้นที่นั้น เอามาใช้ แล้วทำอย่างไรให้มันเกิดความบาลานซ์ให้มากที่สุด
อยากรู้อย่างหนึ่งเลยว่า ทำไมถึงเลือกพรรคเพื่อไทย
อันนี้พรรคเขาเลือกเรา คือตอนนั้นทุกคนจะเข้าใจว่าเราอยู่ก้าวไกล แม้กระทั่งคนที่ชวนเราไปทำงานให้พรรคเพื่อไทย ก็ถามว่าสนใจไหม โอเคไหม เพราะพี่อยู่ก้าวไกล เราก็บอกว่า ฉันไม่ได้อยู่ที่ไหนสักที่เลย ฉันก็สนิทกับคนที่ก้าวไกล รู้จักคนในเพื่อไทย แล้วก็รู้จักคนในพรรคสามัญชนด้วย เราก็ไปได้หมด และเราก็คิดว่าพรรคเพื่อไทย ดูจากประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ให้ประชาชนจำนวนมากได้จริงๆ อย่างเช่น เรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ยังนำมาใช้ได้ถึงทุกวันนี้ ทุกอย่างมันก็ให้ประโยชน์กับประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง แล้วก็การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องของการสร้างรัฐสวัสดิการ การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศนี้จริงๆ นะครับ
แล้วก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราคิดว่า ถ้าเราอยากนำประเด็นที่แต่ก่อนพรรคเพื่อไทยอาจไม่มีประเด็นเรื่อง LGBTQ หรือเฟมินิสต์ แต่เราก็เข้าใจได้ว่า ณ บริบททางการเมืองสังคมในตอนนั้น มันก็ไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ แต่พอถึงวันนี้ เขาพูดถึงกันมากขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรให้พรรคมีนโยบายเรื่องของรัฐสวัสดิการ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างได้ แล้วก็ไม่ gender bias ด้วย หรือเรียกได้ว่า ทำให้เห็นว่าปัญหาปากท้องกับเรื่องของ LGBTQ หรือเรื่องเพศ ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าเราสามารถใส่นโยบาย ประเด็นทางเพศได้ หรือเรื่องของอัตลักษณ์และความหลากหลายได้เนี่ย มันก็จะทำให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างรอบด้านมากขึ้น เรื่องรับสวัสดิการก็ต้องเอาเรื่องเพศใส่เข้าไปด้วย
อย่างที่บอกว่าพรรคเลือกเรา แปลว่าตอนนั้นเราก็คิดๆ อยู่แล้วเรื่องจะมาทำงานการเมืองหรือเปล่า
เราจากที่เคยเขียนเคยสอนใช่ไหม จนนักศึกษาเรามีลูกมีเมีย แต่งงานกันไปหมดแล้ว พอเราเริ่มเขียนปุ๊บ เราก็เอ๊ะ ประเด็นนี้เราเคยพูดแล้วนี่ ฉันยังต้องเขียนอีกหรอ หรือจะทำอย่างไรดี แล้วก็พอต่อมาในปี 63 ก็มีม็อบเยอะ เราก็ไปช่วยเขาบ้าง เราได้เห็นประเด็นอันแหลมคมแล้วก็ยกเพดานได้สูงขึ้นมาก เรื่อง LGBTQ ในสิ่งที่ไม่เคยพูดมาก่อนก็ได้พูดด้วย ถ้าถามกันในเรื่องการเมือง สังคมมันก็พัมนาในระดับหนึ่งแล้วด้วย โอเค มันก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องแก้ไขหรือว่าปรับมันต่อไป
แล้วเรื่องของม็อบเองก็เป็นจำนวนประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่ว่าคนภายนอกที่ไม่ได้ไปม็อบก็รับรู้ด้วย เราก็คิดว่า การเมืองภาคประชาชนก็ทำมาแล้ว ช่วยเขามาแล้ว ถ้าทำเรื่องการเมืองในภาครัฐด้วย ถ้าเขยิบขยายแพลตฟอร์มของการเคลื่อนไหวด้วยก็คงจะดี เพราะว่าเราก็เห็นว่าปัญหาหลายๆ อย่าง สุดท้ายมันยังไม่ได้แก้ก็ที่กฎหมาย
อย่างเรื่องสมรสเท่าเทียม อันที่จริงในสมัยรัฐบาลทักษิณ เขาก็เคยเน้นเรื่องเพศมาแล้ว เป็นการแต่งงานของเพศเดียวกัน ตอนนั้นเป็นเรื่องของการจดทะเบียนสมรส ก็มีประเด็นทางสังคม แต่ยังไม่ถูกร่างให้เป็นกฎหมาย เป็น พ.ร.บ. อย่างชัดเจน แต่ก็ระงับไปก่อน เราจำได้ในตอนนั้น เพราะว่าสังคมมันยังไม่พร้อม อันนี้ไม่ใช่จากปากรัฐบาลนะ แต่เราดูจากนิตยสาร คอลัมน์ที่เกย์ชอบอ่าน รวมไปถึงนิตยสารเกย์ใต้ดิน หนังสือโป๊อะ สมัยก่อนมันจะมีเขียนคอลัมน์ เขียนบทสัมภาษณ์อะไรอย่างนี้ ดาราเก้งกวาง กะเทยหลายคนก็บอกว่า เอ๊ะ มันไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายตรงนี้ เวลานั้นทุกคนก็ยังไม่คิด จินตนาการไม่ออกในเรื่องของการสมรสเท่าเทียม
แล้วต่อมาในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็จะมีประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มันก็มีกระแสสังคม กระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ก็เลยเกิด พ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้นมา แต่ว่าสิทธิอะไรมันก็ยังไม่เท่าเทียม เท่าการได้แก้มาตรา 1448 แต่เราก็เข้าใจได้ในตอนนั้น เพราะว่าสถานการณ์ทั่วโลกตอนนั้น หลายๆ ประเทศก็ยังเป็นการสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมา เพื่อนิยามคู่ชีวิต ก็จะเป็นเรื่องของ same sex marriage ให้คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้ แต่ในรูปแบบของ civil partnership หรือคู่ชีวิต มันก็จะเป็นอย่างนั้น ฝรั่งเศส ออสเตรเลียก็จะยังเป็นเช่นนั้นอยู่ อังกฤษด้วย
แล้วก็ร่างกันไปร่างกันมา ปรากฏมีรัฐประหาร เรื่องเหล่านี้ก็ยุติไป เพราะภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่เราจะนำเสนอในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศไปให้กับรัฐบาลที่ไม่ได้มีความเท่าเทียม ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ก็เลยเงียบไป จนกระทั่ง ผ่านมาทศวรรษหนึ่ง มันก็มีความเคลื่อนไหวในเรื่องของ พ.ร.บ.คู่ชีวิตมาตลอด มีการปรับแก้ในรัฐบาลรัฐประหารของประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยิ่งปรับก็ยิ่งลดทอนสิทธิลงไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มันมีประเด็นทั่วโลกที่เกิด marriage equality หรือว่าสมรสเท่าเทียม แล้วเราก็รับรู้ข่าวสารในเรื่องนี้มาโดยตลอด และก็มีการถามกันในประเด็นเรื่องนี้ด้วย มันก็เลยทำให้กระแสต่อสู้เพื่อสมรสเท่าเทียมมันเข้มข้นและแข็งแรงมากขึ้นในประเทศไทย ก็เลยทำให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็ถูกมองข้ามไป เพราะมันล้าสมัยไปแล้ว สำหรับกระบวนการเคลื่อนไหว แล้วก็เรื่องของความเข้าใจในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในปัจจุบันด้วย เพราะงั้น มันก็เลยพูดถึงเรื่องสมรสเท่าเทียมมากกว่า ถ้ารัฐบาลจะมีการแก้ไขกฎหมายหรืออะไรในเรื่องของนิติบัญญัติ มันก็ควรเป็นเรื่องของสมรสเท่าเทียมแหละ เพราะว่าทั่วโลกเขามี พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็จริง แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เขามีปัญหากัน มันก็นำไปสู่สมรสเท่าเทียมแล้วอะ ประเทศไทยจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปเริ่มต้นจากที่มันล้าหลังที่อื่น เราคิดว่ามันไม่มีความจำเป็น
แล้วพอมาอยู่พรรคเพื่อไทย ตอนนี้สิ่งที่เราอยากผลักดัน ไปด้วยกันกับพรรคไหม
ไปด้วยกัน แล้วโชคดีที่เราคุยกับหมอเลี้ยบ (สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ผอ.พรรค หมอก็บอกให้เราเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายประเด็นด้านความหลากหลายแล้วก็อัตลักษณ์ไปเลย ก็จะเป็น LGBTQ เรื่องผู้หญิง ก็จัดการไปได้เลย ให้เต็มที่
ตอนนี้นั่งเป็นหัวโต๊ะนโยบายความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ แล้วก็ประชาธิปไตยเชิงอัตลักษณ์ เราต้องทำอะไรบ้าง
ในตอนนี้มีเรื่องของอัตลักษณ์และความหลากหลาย ตอนนี้ก็ร่างว่าจะสนับสนุนประเด็นนโยบายอะไรบ้าง ก็ทำวิจัย เก็บข้อมูล เก็บรวบรวม เพื่อที่จะทำมาเป็นนโยบายที่สามารถใช้งานได้ และเมื่อทำออกมาให้พรรคแล้ว จะต้องสื่อสารกับสาธารณชนอย่างไรให้เขาเข้าใจตรงนี้ ไม่เช่นนั้น เมื่อสื่อสารมาแล้ว มันก็จะมีหลายพรรค ที่ผลักประเด็นเรื่องสิทธิเรื่องอัตลักษณ์ใดๆ แต่พอมาผลักดันเรื่องนโยบายแล้ว มันก็มีความล่าช้า เนื่องจากเขาไม่ได้สื่อสารกับประชาชนเป็นหมู่มากได้ หรือว่าสื่อสารกับพรรคการเมืองอื่นๆ ได้ และก็ยังจะมีปัญหาตรงที่รัฐสภาอีก
อีกอย่างที่เราเสนอไปแล้วที่ประชุมกับพรรคไปก็คือว่า ก่อนที่คุณจะผลักดันเรื่องนี้สู่สาธารณชน คุณก็ต้องจัดการเรื่องบ้านของคุณก่อน ภายในพื้นที่ออฟฟิศของคุณ ซึ่งเราก็เสริมไปแล้วว่า ต้องมีสักชั้นแหละ ที่เป็นห้องน้ำทางเลือกที่เป็น non-binary ไม่จำเป็นต้องบอกว่าผู้หญิงห้องนี้ ผู้ชายห้องนี้ ใครๆ ก็สามารถเข้าได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย ถ้าใครไม่อยากใช้ก็ไปใช้ในห้องที่เขาเป็น binary opposition ไป ถ้าใครอยากจะเข้าห้องน้ำ non-binary ก็เข้าได้ ก็ให้มีสักชั้นสักพื้นที่หนึ่ง แต่เราก็เสนอไปหลายชั้นเหมือนกัน
แล้วก็เรื่องของการจัดระบบคนในพรรค ทั้ง ส.ส. ส.ก. เจ้าหน้าที่ นักการเมืองให้ได้เรียนรู้เรื่องของการเมืองเชิงอัตลักษณ์บ้าง ว่ามันคืออะไร และมันมีอะไรบ้าง LGBTQ ผู้หญิง ชาติพันธุ์ หรืออะไรที่ควรจะพูดหรือไม่ควรพูด มีความเข้าใจอะไรใหม่ๆ ที่ถ้าไม่รู้ ก็จะทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องใหม่ๆ ไม่ได้ อันนี้มันก็เป็นปัญหาในพรรคเรื่องการสื่อสาร เพราะว่าคนในพรรค ผู้ใหญ่ในพรรค เขาก็เข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องสื่อสาร หรือจะใช้คำอะไรดี เขามีความตระหนักได้ แต่เขาแค่ไม่รู้ว่าคำบางคำมันอาจจะเกินไป
อย่างเช่น คำว่าเพศที่สาม เพศทางเลือก ซึ่งสมัยก่อนเรามองว่ามันถูกผลิตคำนี้ขึ้นมา เพราะมันเป็นคำที่สุภาพหรือละมุนละม่อมกว่า แต่ความจริงมันก็มีนัยของการจัดลำดับความสัมพันธ์และสำคัญ ว่าอะไรมาที่หนึ่งที่สอง สำหรับคำว่าเพศที่สาม ส่วนคำว่าเพศทางเลือกก็ เอ้า แสดงว่ามันมีกระแสหลัก แล้วอันนี้ก็เป็นทางเลือกหรอ หรือว่าคำว่าเพศทางเลือกมันคือ ทุกเพศก็เป็นเพศทางเลือกได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน บางครั้ง อย่างเช่นคุยกันในออฟฟิศอย่างนี้ว่า ‘อีกะเทย’ ก็จะมีแบบทำไมพูดจาแบบนี้ ทำไมไม่ให้เกียรติเขา ไปใช้คำว่าอีกะเทยได้อย่างไร หรืออะไรอย่างนี้ คือเขาเข้าใจ แต่เขาก็ยังไม่เข้าใจ sub culture ของ LGBTQ ก็เลยคิดว่าเขาควรจะได้รับการทำความรู้จักกันมากขึ้น ระหว่างภาคประชาชนด้วยในเรื่องของอัตลักษณ์ต่างๆ ด้วย แล้วการที่มันเป็นเรื่องการเมือง
แล้วก็มีประเด็นที่เรานำเสนอไป เช่น ในพรรคการเมือง รวมทั้งแม่บ้าน พนักงานที่เป็นฟรีแลนซ์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่เป็นประจำ ก็ดูว่ามีผู้หญิงกี่คน และก็ต้องสำรวจว่า การเข้าถึงผ้าอนามัยเนี่ย พรรคต้องมีสวัสดิการสำหรับเพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นประจำ พาร์ตไทม์ หรือว่าเป็นแม่บ้าน outsource เขาต้องเข้าถึงผ้าอนามัย เมื่อมาทำงานกับพรรคนี้
ประเด็นที่เรานำเสนอเป็นนโยบายทางการเมือง ก็เป็นการหาเสียง หรือว่าผลักดันหลังจากหาเสียง หรือว่าหลังจากเลือกตั้งเนี่ย เขาก็ต้องจัดการภายในบ้านให้ได้ก่อน ก่อนที่จะออกไปนอกบ้าน
เป็นอย่างไรบ้าง เพราะภาพของพรรคเพื่อไทยคือมีผู้อาวุโสเยอะ มีบูมเมอร์เยอะ พอเราไปนำเสนออะไรที่มันเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่เหมือนกัน เป็นเทรนด์ใหม่อย่างนี้ มีปัญหาด้านการสื่อสารบ้างไหม
ยังไม่มี ตอนแรกก็มีเหมือนกัน อย่างเช่นมีคนพูดว่า ผมก็ไม่เคยคิดเหมือนกันนะว่าผ้าอนามัยมันจะเป็นปัญหาปากท้องได้ แต่พอคุยกันเขาก็เข้าใจว่ามันสัมพันธ์กับปากท้อง สำคัญกับเรื่องสุขอนามัย เรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ สุขภาวะทางเพศด้วย เขาก็เริ่มเข้าใจ ยังดีตรงที่มันมีการคุยกันสื่อสารกัน แล้วมันก็ท้าทายและสนุกด้วยตรงที่ มันเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวขยายที่มีลุง ป้า น้า อา ตา ยาย ปู่ ย่า แล้วมันก็จะมีคนที่มีความคิดความอ่านแตกต่างกันตามแต่ช่วงวัย แล้วคนรุ่นใหม่เข้าไปคุยมันก็เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดการถกเถียงกัน คนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้แนวความคิดความอ่านเหมือนคนอายุมากแล้วใช่ไหม แล้วพอมาได้คุยกัน มันก็เหมือนลูกหลานคุยกับปู่ย่า มันก็ทำความเข้าใจเรียนรู้กันได้ เข้าใจธรรมชาติ ของแต่ละคนได้ ก็สนุกดี
นอกเหนือจากพรรค ประเด็นอย่างความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ หรือประชาธิปไตยเชิงอัตลักษณ์ คือจริงๆ มันเป็นเรื่องพื้นฐานของคนเท่ากันมากเลย แต่ว่าสำหรับรัฐ เรื่องแบบนี้มันกลายเป็นเรื่องที่ไม่เคยจะผ่าน หรือไม่เคยมองความสำคัญเลย คิดว่าทำไมที่ผ่านมารัฐถึงไม่สนใจประเด็นเหล่านี้เลย
เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมไม่เคยสนใจ ทั้งที่มันเป็นเรื่องใหญ่ ก็ตอบยากเหมือนกันเนอะ เพราะว่ารัฐไทยเป็นรัฐที่พิเศษมากๆ ประเทศไทยมีปัญหา มีหลายอย่างให้แก้ แค่เราเดินออกจากบ้าน เราก็เห็นปัญหาของประเทศนี้แล้ว เรื่องทางเท้า PM 2.5 หรืออะไรแบบนี้ คือเราเห็นทุกอย่างแล้วก็คิดว่า นับวันยิ่งทำให้เป็นรัฐราชการมากขึ้น แล้วยิ่งเป็นรัฐราชการ ก็เท่ากับว่ามันยิ่งล้มเหลวมากขึ้น เพราะหนึ่ง รัฐตรวจสอบก็ยาก สอง ทำอะไรมากก็ไม่ได้ ประชาชนก็โดนลดคุณค่าลง จากพลเมืองก็กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ นั่นแหละมันเป็นแบบนี้ ก็เป็นลักษณะพิเศษของประเทศไทยเหมือนกัน
แล้วยิ่งประเด็นเรื่องเพศคนมักจะบอกว่าเอาเรื่องปากท้องก่อน เอาเรื่องอยู่ให้รอดก่อน แต่ความจริงอะ มันเป็นเรื่องเดียวกัน มันสามารถผลักดันไปด้วยกันได้ ในขณะเดียวกัน เรื่องเพศเองก็สัมพันธ์กับปากท้องความเป็นอยู่ แต่บางคนเขาอาจมองข้าม
ไปก่อนหน้านั้นคือในทศวรรษ 2540 เอง มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ใช่ไหม ช่วงนั้น NGO ก็เฟื่องฟูมากขึ้น ก่อนหน้านั้นช่วง 2530 ก็มีกลุ่มแรงงาน กลุ่มขับเคลื่อนเรื่องแรงงานที่เข้มแข็งมากเลย และก็ดีมากๆ พอต่อมาก็คือต่อยอดในปี 2540 เนี่ย ประเด็นเรื่องเพศก็เข้มข้นมากขึ้นในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ ด้วยในภาพของ NGO แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ เราคิดว่า โอเค โครงสร้างประเทศเรามันมีปัญหาจริง แต่ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนก็เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ในการที่จะมาตรวจสอบหรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศด้วยความเท่าเทียมเชิงอัตลักษณ์ต่างๆ
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือว่า กลุ่มหนึ่งที่ถูกกดขี่มากๆ ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มภิกษุณี แม่ชี แล้วก็คนที่มีความท้าทายทางร่างกาย สิ่งเหล่านี้คือด้วยความที่ถูกผลัก อย่างทางเท้าอย่างนี้ คือเขาก็จะกลายเป็นผู้ที่จะต้องพึ่งพิงผู้อื่น อันเนื่องมาจากมันไม่มีสวัสดิการหรือสาธารณูปโภคที่ดี เขาไม่สามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้ ต้องให้คนอื่นมาช่วย เพราะว่าสังคมแย่ ก็ทำให้กลุ่มนี้ก็กลายเป็นจำนวนประชากรที่ถูกมองข้ามไป อย่างแม่ชี ภิกษุณี พระสงฆ์ กลุ่มชาติพันธุ์ บางครั้งเขาถูกทำให้ไม่เป็นพลเมืองของประเทศไทย ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิพลเมือง พรรคการเมืองก็อาจมองข้ามไป เพราะว่าจุดประสงค์หนึ่งของพรรคการเมืองก็คือ การที่จะได้เข้าไปในรัฐสภาใช่ไหมครับ การเลือกตั้งพรรคก็คือเรื่องของคะแนนเสียง แต่คนกลุ่มนี้ไม่ใช่คะแนนเสียงของพรรคการเมือง หลายๆ พรรคคิดเช่นนั้น
แต่โชคดีที่มีรูปแบบการเมืองสมัยใหม่เข้ามามากขึ้น ในเรื่องของเชิงอัตลักษณ์ พรรคก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกัน ในหลักการว่าคนพวกนี้เขาไม่มีสิทธิพลเมือง แต่เขาก็เป็นประชาชน ตราบใดที่พรรคการเมืองให้ความสำคัญว่า ทุกคนคือประชาชนที่จะต้องได้รับสิทธิเสรีภาพ เราคิดว่าก็จะได้รับการโอบอุ้มมากขึ้นด้วย ก็คือต้องไปแก้กันที่รัฐสวัสดิการเรื่องโครงสร้างนี่แหละ
แล้วอย่างเรื่องประชาธิปไตยเชิงอัตลักษณ์ รัฐไทยยิ่งไม่ได้ชอบความหลากหลาย ไม่ได้ชอบอัตลักษณ์ มองทุกอย่างต้องเป็นภาพเดียว มันเป็นความยากอย่างไรบ้างของเราที่จะต้องทำงาน
ปัญหาของสำนึกของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองไหนก็ตามที่ผ่านมาเนี่ย มันก็จะมองถึงเรื่องความหลากหลายมักจะเป็นภัย หรือมันจะไปบ่อนเซาะทำลายความมั่นคงของประเทศ ด้วยความที่ตั้งแต่เกิดขึ้นมาเป็นรัฐสมัยใหม่ การเป็นรัฐสมัยใหม่มันคือการพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ ก็เลยทำให้สำนึกแบบนี้มันตกทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน การมองว่าคนเราก็ต้องมีอุดมการณ์ร่วมกัน ประชาชนเป็นพวกพ้องหน่อเดียวกัน แต่ความจริงมันไม่ใช่ ทุกคนมันมีความหลากหลายหมด นั่นแหละ มันก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งเหมือนกันในการที่จะสื่อสารกับประชาชนด้วยกันเองที่มีความหลากหลายเหมือนกัน แต่ไม่เข้าใจว่า พวกเราหลากหลายนะ ซึ่งมันยากแน่นอนครับ
แล้วการที่มันหลากหลายเนี่ยมันทำให้ปกครองยาก มันไม่รู้จะต้องจัดการอย่างไร และมันก็เปลืองทรัพยากรด้วย ในสายตาของรัฐที่ไม่ชอบความหลากหลายมักจะคิดอย่างนั้น มันก็เลยยาก ถ้าอย่างภาคประชาชนอย่างนี้ มันก็จะยากมากขึ้น เพราะเราจะไปต่อกรกับอำนาจรัฐได้อย่างไร เพราะมันคือการสู้กับคนที่ตัวใหญ่กว่า มีทรัพยากรอำนาจและเป็นสถาบันมากกว่า มันก็ยาก แต่ถ้าผลักดันผ่านพรรคการเมือง ถ้าประชาชนเข้าไปร่วมงานหรือช่วยจัดการกับพรรคการเมือง ตั้งพรรคการเมืองได้ เพื่อให้พรรคเห็นความสำคัญ เห็นประเด็นเหล่านี้ และยอมรับความหลากหลายได้เนี่ย มันก็จะดีกับการออกนโยบาย หรือการผลักดันประเด็นต่างๆ เพื่อให้ทุกความหลากหลายของอัตลักษณ์มันครอบคลุมมากขึ้น เราถึงดีใจมากๆ ที่พรรคมีโต๊ะสำหรับเรื่องของอัตลักษณ์และความหลากหลาย เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญ ก็คือเป็นในเรื่องของนวัตกรรมด้วย เพราะพอคำว่านวัตกรรม เราชอบไปคิดถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ความจริงทุกวิวัฒนาการ ทุกการผลิตเพื่อประชาชนก็คือนวัตกรรมด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ก็คือสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา
จริงๆ คนก็ตื่นตัวกันมากขึ้น ยิ่งมีการชุมนุมเรื่องแบบชาติพันธุ์ เรื่องความหลากหลายเชิงอัตลักษณ์ แต่ว่าในระหว่างที่คนตื่นตัว ในภาคการเมืองจะต้องผลักดันอย่างไรให้มันไปพร้อมๆ กันกับสังคม
ถ้าพูดไปก็เหมือนโลกสวย พาฝัน ว่าพรรคการเมืองต้องตระหนักให้ได้ ต้องเรียนรู้ แต่อย่างไรก็ตามเนี่ย พรรคการเมืองมันมีบทบาทของมันด้วยตัวของมันตั้งแต่การเป็นพรรค การสร้างพรรคขึ้นมา ก็คือว่าเป็นปากเป็นเสียง เป็นตัวแทนของประชาชน เพราะฉะนั้น คุณก็ต้องเรียนรู้ ตระหนัก ทำความเข้าใจประชาชนที่มันหลากหลายให้ได้ แม้กระทั่งถ้าคุณเป็น ส.ส.เขต คุณก็ต้องรู้ให้ได้ว่าเขตคุณมีลักษณะเฉพาะอะไร มีเงื่อนไขพิเศษ ปัญหาอะไร นั่นแหละ มันก็เลย โอเค เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า บทบาทของ ส.ส.เขตเนี่ย เหมือนการเข้าไปทำความเข้าใจในพื้นที่นั้นๆ การไปสร้างความกินดีอยู่ดีให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง และก็สามารถเรียนรู้กัน และ ส.ส.เขต ประหนึ่งว่าเป็นนักสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ในการที่จะไปลงพื้นที่ ไปเก็บข้อมูล ไปทำความเข้าใจ แล้วก็นำเสนอออกมาว่า ในพื้นที่นี้มีลักษณะอย่างไร มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นอย่างไรบ้าง ก็เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับพรรคในการที่จะทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เขตนั้นๆ แล้วก็มาโคกันกับกลุ่มที่จะผลักดันเป็นนโยบาย
อันนี้พูดเหมือนขั้นตอนงานวิชาการนะ คือเราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ส.ส.เขตต้องเป็นเช่นนั้น มันก็จะทำให้ง่ายต่อการที่พรรคเข้าใจประชาชนมากยิ่งขึ้น ตราบใดที่คุณคิดว่า ส.ส.เขตเป็นรูปแบบหรือว่าสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนในรูปแบบของการอุปถัมภ์กัน คุณก็จะไม่มีทางเข้าใจประชาชนในพื้นที่นั้นเลย ถ้าคุณเชื่อว่าคุณเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูคนพวกนั้น และก็ไม่คิดว่าเป็นพวกเดียวกัน
อย่างที่คุยกันว่า ปีที่ผ่านมามันมีม็อบเยอะขึ้น พอเราเห็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เห็นประเด็นในม็อบ มีอะไรที่เราเห็นแล้วเรารู้สึกว่า เราตั้งใจจะนำมาปรับใช้ในภาคการเมืองบ้างไหม
หนึ่ง เราอยากเป็น ส.ส. เพราะว่าจะได้ไปช่วยประกันตัว มันโดนกันบ่อยเหลือเกิน ในใจเราตอนแรกอยากเป็นอาจารย์ พอต่อมาแล้วไม่ได้เป็น เพราะตำแหน่งอาจารย์มันสามารถประกันตัวได้ใช่ไหม เราก็คิดว่าจะให้เราไปเรียนนิติศาสตร์ใหม่เราก็แก่แล้ว คงไม่ทันแล้ว แต่ก็ยังอยากเรียนอยู่ ก็เลยคิดว่าการเป็น ส.ส. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถประกันตัวได้
เราก็คิดว่ามันคือเสียงเรียกร้องของประชาชน การประท้วงมันคือการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ที่มันเป็นการทวงสิทธิที่เขาจะต้องได้แต่แรก แต่รัฐเสือกไม่ให้ รัฐไปลิดรอน ไปขโมยเขามาเนี่ย เราก็คิดว่าอันนี้ก็ดี ก็รับฟัง คิดว่าเราสามารถเอามาใช้ได้ โดยปกติแล้ว พรรคการเมืองต้องรับลูกต่อจากภาคประชาชนอยู่แล้ว เพื่อให้มันเข้าไปในสภา เป็นนิติบัญญัติ เป็นกฎหมายเพื่อมาคุ้มครองสิ่งเหล่านี้ หรือว่าทำอะไรกลไกหลายๆ อย่าง เพื่อให้ประชาชนเขาได้รับสวัสดิการที่พึงจะได้ การที่เขาออกมาทวงสิทธิกันเนี่ย เราคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองอยู่แล้วนะครับ
เราก็ไปม็อบบ่อย หลังๆ เราก็ไปช่วยเขาบ้างในบางกิจกรรม เพราะคนมันก็เริ่มน้อยลงเนอะ ก็ช่วยๆ กัน แล้วก็เริ่มเรียนรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามีปัญหาอะไรบ้างในหลายๆ กลุ่ม อย่างบางกลอยก็จะมีปัญหาเฉพาะของเขา ม็อบขบวนกี LGBTQ ก็มีปัญหาเฉพาะเป็นของเขาที่เขานำเสนอ บางม็อบก็มีเสนอประเด็นต่างๆ แล้วประเด็นมันไม่ได้แค่อยู่ในเวทีปราศรัย แต่มันอยู่ทุกอณูของม็อบเลยนะ มันจะมีเวทีเล็กๆ มีคนชูป้ายประเด็นต่างๆ มีคนออกมาพูดคุยกัน มีคนถือธง แล้วก็มาเดิน เพื่อนำเสนอประเด็นที่เขาต้องการจะเรียกร้อง ซึ่งก็ทำให้เราได้เห็นอะไรที่มันหลากหลายมากขึ้น เพราะว่าลำพัง ถ้าไม่มีม็อบ เราจะไปรู้ประเด็นปัญหาความเดือดร้อนจากไหน นี่ก็คือประการที่ใหญ่หลวงมากของการจัดชุมนุมและการมีม็อบ ทุกพรรคก็ต้องรับฟัง ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง
แต่ว่าในม็อบ เรียกได้ว่าเพดานมันก็ค่อนข้างดันไปสูงมากในทุกๆ เรื่องอะค่ะ แล้วพอเรามาทำงานในภาคการเมือง คิดว่าเพดานในการพูดของเราจะลดลงไหม หรือว่าเราจะยังผลักเพดานในภาคการเมืองไปด้วย
สำหรับเรา เพดานมันไม่เปลี่ยน ไม่ลดลงด้วย แต่มันก็จะมีรูปแบบในการนำเสนอ หรือการผลักดันในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มันจะต้องมียุทธศาสตร์มีศิลปะมากขึ้น มันต้องเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ให้ได้ เพราะว่าพอมันเป็นพื้นที่ทางการเมืองภาครัฐแล้วเนี่ย ฟิลเตอร์มันเยอะ เหมือนอย่างที่เราพูดไป มันจะปากแจ๋ว จะฉอดอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราก็ต้องบาลานซ์ความต้องการของคนจำนวนมากให้ได้ มันก็มีฟิลเตอร์ตรงนี้แหละ แต่เพดานเราไม่เปลี่ยน แต่ว่าจะทำอย่างไรดีให้ไปถึงเพดานหรือธงที่เราปักไว้ให้ได้ โดยที่ในระหว่างทางนั้น มันอาจต้องเรียนรู้กันไป แล้วก็ใช้ยุทธศาสตร์ปรับแก้กันไปในการนำเสนอด้วย เราคงอาจต้องใจร้อนให้น้อยลงด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ธงที่ปักไว้มันก็มีหลายธงเนอะ เพราะปัญหาประชาชนมันก็มีหลากหลาย มันก็เป็นกระบวนการในการเคลื่อนไหว เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา เราก็ต้องเรียนรู้ในการที่จะเคลื่อนไหวอย่างละมุนละม่อมมากขึ้น เพราะว่าถ้าเราจะเกรี้ยวกราดไปเลยอย่างเดียว มันก็ได้การสนองอารมณ์ของเรา แต่ว่ามันอาจไม่ส่งผลต่อระยะยาว ในเรื่องของการผลักดันประเด็นหรือในเรื่องของนโยบายก็ได้ ก็ต้องชั่งน้ำหนักกับจำนวนมาก ชั่งน้ำหนักกับกระบวนการ แล้วก็เราเองด้วย มันก็มีความซับซ้อนขึ้นเหมือนกัน แต่ว่าก็ยืนยันว่าถ้าเป็นตัวเรา เพดานก็ไม่ลดลง
พอมาเป็นนักการเมือง มันก็จะมีความคาดหวังของคนมากขึ้น หรือว่าในการโหวตหรือลงมติใดๆ ถ้าเกิดเราไม่ได้ทำตามที่คนคาดหวัง เตรียมรับมือกับเรื่องพวกนี้อย่างไรบ้าง
ถ้าคนจะด่า ถ้าสมมติว่าเราทำไม่ได้ ซึ่งความจริงมันต้องทำได้ เพราะคุณรับปากเขาไว้แล้ว คุณจะไปโกหก ขอพูดๆ ไปเพื่อให้ได้คะแนนเสียงอย่างเดียวก็ไม่ได้นะ แล้วประชาชนเองมีหน้าที่ที่จะต้องมาตรวจสอบนักการเมือง ตรวจสอบตัวแทนอยู่แล้ว คุณก็ด่าไปเลย คุณไม่ต้องกลัว เพราะการด่าคือการตรวจสอบอย่างหนึ่ง ถ้าบุคคลนั้นเคยรับปากอะไรไปแล้ว แล้วไม่ทำหรือทำไม่ได้ เพราะว่าก่อนที่คุณจะผลักดันเป็นนโยบาย คุณไม่ใช่พ่นๆ ออกมาลอยๆ คุณต้องศึกษา ทำความเข้าใจ บาลานซ์ความต้องการของหลายๆ ฝ่ายก่อน ก่อนที่จะออกมาเป็นนโยบายเนี่ย มันมีกระบวนการของมันอยู่แล้ว
การที่พูดออกมาแล้วทำไม่ได้เนี่ย อย่างรัฐบาลปัจจุบันเนี่ย แปลว่าคุณไม่มีกระบวนการศึกษาหรือวิจัยก่อนเป็นนโยบายเลยหรอ หรือว่าแค่พูดปากเปล่าไป เพราะมันต้องทำวิจัยเป็นขั้นเป็นตอน ไม่อย่างนั้น เท่ากับว่าคุณกำลังดูถูกประชาชนอยู่ คุณคิดว่าพวกนี้หลอกง่าย พูดอะไรไปก็เชื่อก็ฟัง แล้วพอเราไม่ทำตามที่รับปากไว้ มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ แบบนี้มันก็แปลว่า คุณกำลังดูถูกประชาชนอยู่ แต่ว่าประชาชนเนี่ยเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริงนะ เพราะฉะนั้น ประชาชนต้องด่า
เข้ามาอยู่ในภาคการเมืองแล้ว เรามองว่าอนาคตตัวเองจะอยู่บนเส้นทางนี้ไปยาวๆ เลยไหม
เราก็เพิ่งเริ่มเนอะ ตอนนี้เราก็เหมือนยังเป็นเอ็มบริโอ ยังไม่คลอดออกมาเต็มตัว ยังอยู่ในครรภ์ ถ้าได้ทำก็จะทำเต็มที่กับสายทางนี้ เพราะเรารู้สึกว่ามันก็คล้ายๆ กับอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ว่ารูปแบบการพูด การสอน การให้ความรู้ข้อมูล หรือการที่จะทำให้คนตระหนักได้ถึงความเท่าเทียมกัน หรือเรื่องความหลากหลาย มันก็ใช้กับที่เราไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหรือที่เราเขียนด้วย โอเค ขั้นตอนมันอาจมีฟิลเตอร์ที่ต่างกัน แต่ว่ามันก็ทำได้ แล้วก็ไม่น่าจะลำบากหรือยากอะไรสำหรับเรา
สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าเปลี่ยนบทบาท แต่ว่าธงในใจหรือว่าเป้าหมายในการต่อสู้ยังเหมือนเดิมใช่ไหม
ใช่ แค่ขยายแพลตฟอร์ม ถ้าเราไปม็อบอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง เราก็จะนำเสนอในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่คอนเทนต์ก็เหมือนเดิมแหละ แต่ถ้าทำงานเพื่อพรรค ความที่เราพูดมันก็คือเราพูดในฐานะตัวแทนของพรรคด้วย มันก็ต้องมีความรับผิดชอบในคำพูด หรือว่ามีสติมากขึ้น ในการที่จะนำเสนออะไรเหล่านี้
เพราะว่าถ้าเราไปม็อบ เราด่า เราปราศรัย โดนจับเราก็โดนคนเดียว แต่ถ้าพูดในฐานะพรรค คนในพรรคอีกกี่ร้อยชีวิตล่ะ องค์กรจะต้องเดือดร้อนด้วยหรือเปล่า มันก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องตระหนักอยู่เหมือนกัน ในการที่จะพูดหรือขับเคลื่อนอะไรออกไป แต่สาระก็เหมือนเดิม