คุณยืนต่อแถวเกือบชั่วโมง เพื่อรอรับบริการอะไรสักอย่าง แล้วจู่ๆ ก็มีคนเดินมาจากไหนไม่รู้ แต่สามารถลัดคิวเข้าไปได้อย่างง่ายดาย นั่นเรียกว่า ‘สิทธิพิเศษ’ หรือหากคุณมีความสามารถพอๆ กับคนอื่น แต่รูปร่างหน้าตาของคุณบังเอิญใกล้เคียงกับ beauty standard มากกว่า ก็เลยได้รับการคัดเลือกให้ทำภารกิจบางอย่าง นั่นก็เรียกว่า ‘สิทธิพิเศษ’ อีกเช่นกัน
เมื่อพูดถึงสิทธิพิเศษ บางคนจะนึกถึงการสมัครบัตรสมาชิก member card แล้วพ่วงมาด้วย privilege มากมาย เช่น ได้ส่วนลด ได้ของแถม ได้รับการบริการสุดประทับใจ แต่บางครั้งสิทธิพิเศษก็ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของบัตรสมาชิก หากแต่ซุกซ่อนอยู่ตามอัตลักษณ์ของตัวเรา รวมไปถึงบริบททางสังคม หรือที่เรียกว่า ‘สิทธิพิเศษทางสังคม’ (social privilege) นั่นเอง
สิทธิพิเศษคืออะไร ทำไมถึงมีเฉพาะบางคน
หนังสือเรื่อง Teaching for Diversity and Social Justice (1997) อธิบายว่า สิทธิพิเศษ (privilege) คือ การเข้าถึงทรัพยากรที่เกิดขึ้นเฉพาะกับ ‘บางคน’ เท่านั้น เนื่องจากพวกเขาเป็นสมาชิกกลุ่ม (membership) จึงได้รับผลประโยชน์ ความได้เปรียบ ความคุ้มครอง หรือความเพลิดเพลินที่เหนือไปจากคนอื่นๆ ซึ่งสิทธิพิเศษมักจะไม่ปรากฏแก่ผู้ที่มีอยู่แล้ว
สิทธิพิเศษสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายมิติ เพราะส่วนหนึ่งในตัวเรา อาจจะด้วยเชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา เพศ ความสามารถ ชนชั้น ฐานะ ภาษา หรือรูปร่างหน้าตา ได้ถูกสังคมหยิบยื่นผลประโยชน์ให้ เป็น social privilege นั่นเอง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือ ‘สิทธิพิเศษของคนขาว’ (white privilege) ที่เกิดจากคตินิยมเรื่องเชื้อชาติในประเทศตะวันตก ซึ่ง เพ็กกี แม็กอินทอช (Peggy Mcintosh) นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวอเมริกา อธิบายว่า คนขาวในสังคมตะวันตกได้รับผลประโยชน์มากกว่าคนดำ โดยที่คนขาวเองไม่รับรู้ว่าตนมีสิทธิพิเศษนี้อยู่ แต่ทั้งนี้ก็ได้ทำให้สังคมเกิดความลำเอียง ความเดียดฉันท์ ซึ่งอภิสิทธิ์ของคนขาวที่ว่านี้ ก็ยังรวมไปถึงวัฒนธรรม คุณค่าของตัวบุคคล สถานภาพทางสังคมที่เหนือกว่า และเสรีภาพในการพูดหรือการกระทำ ในขณะที่คนอื่นมองว่าอภิสิทธิ์เหล่านี้คือความพิเศษ แต่พวกเขากลับมองว่าเป็นเรื่องปกติ
อีกสิทธิพิเศษที่เห็นกันบ่อยๆ ก็คือ ‘สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี’ (beauty privilege) ที่เมื่อคุณมีหน้าตาที่ตรงตามมาตรฐานความงาม (beauty standard) คุณก็จะได้โอกาสในสังคมมากขึ้น แม้สมัยนี้จะมีการรณรงค์ให้เปิดกว้างก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิทธิพิเศษนี้ก็ยังคงมีต่อไป และถูกสานต่อแบบเงียบๆ ผ่านกิจกรรมบางอย่าง เช่น การประกวดดาวเดือน หรือการประกวดนางงาม
หรือ ‘สิทธิพิเศษของคนตรงตามเพศ’ (straight privilege) ที่อยู่ในใบสมัครงานของบริษัทบางแห่ง ที่แม้จะไม่ได้บอกว่ารับคนตรงตามเพศ แต่ก็ได้ระบุไว้ว่า ‘ไม่รับคนข้ามเพศ’ เข้าทำงาน หรือ body privilege ในงานที่จำกัดความสูงหรือน้ำหนัก ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับรูปแบบของงานที่ทำ
แต่สิทธิพิเศษที่กล่าวมา บางครั้งเราก็เลือกไม่ได้ว่าอยากจะมีหรือไม่มี เพราะคตินิยมในสังคมเป็นตัวกำหนด แต่เมื่อมีแล้ว สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือมันนำไปสู่อะไรในสังคม?
ตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบ
ไม่นานมานี้ ประโยค ‘Check Your Privilege’ ถูกพูดถึงบ่อยมากขึ้น หมายถึง ‘การรับรู้’ ว่าสถานะในสังคมของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร จนถึงขั้นมี Check Your Privilege Challenge ใน Tik Tok โดยผู้ใช้งานชื่อ @boss_bigmamma หรือชื่อจริง เคนยา บันดี (Kenya Bundy) เป็นผู้ริเริ่ม
โดยชาเลนจ์นี้ริเริ่มจากเหตุการณ์ตำรวจ 2 นาย ยิงชายหนุ่มผิวดำวัย 25 ปี ที่ชื่อ อาห์มัด อาร์เบอรี่ (Ahmaud Arbery) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2020 และถูกพูดถึงมากขึ้นในเดือนพฤษภาคม หลังจากการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ (Goerge Froyd) ชาายหนุ่มเชื้อสายแอฟริกันอเมริกาที่โด่งดังไปทั่วโลก
โดยเคนยาได้ชวนทุกคนให้ยกนิ้วมือทั้งสิบขึ้นมา แล้วไล่เช็คว่า 12 ข้อที่เธอกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ เคยเกิดขึ้นกับคุณหรือเปล่า เช่น เคยถูกเรียกว่าผิวดำ เคยถูกปฏิเสธการให้บริการเพราะสีผิวของตัวเอง หรือต้องคอยสอนลูกๆ ให้รับมือกับตำรวจโดยไม่ถูกฆ่าตายเสียก่อน ซึ่งถ้าไล่ไปจนถึงข้อสุดท้าย แล้วพบว่ายังเหลือนิ้วมืออยู่ แสดงว่าคุณมีสิทธิพิเศษบางอย่าง
“ไม่ว่าจะเหลือแค่หนึ่งหรือสองนิ้ว นั่นก็ถือว่าคุณมีสิทธิพิเศษแล้ว” เธอกล่าว “ฉันแค่ต้องการให้ผู้คนมีโอกาสได้พูดคุย ถกเถียง และเปรียบเทียบประสบการณ์ของตัวเองกับผู้อื่นบ้าง และหวังว่าเราจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นๆ ให้ผ่านความเลวร้ายที่กำลังเผชิญอยู่ไปได้” ซึ่งผลตอบรับส่วนใหญ่จากคลิปนี้ก็เป็นไปในเชิงบวก
ทำไมการตรวจสอบสิทธิพิเศษของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่เรารู้ว่าตัวเองยืนอยู่จุดไหน หรือมีอะไรมากน้อยไปกว่าผู้อื่น จะนำไปสู่ความเข้าใจผู้อื่นและบริบทในสังคมมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างช่วงโรคระบาด COVID-19 ที่มีทั้งเสียงของผู้ที่ต้องการให้กักตัวต่อไป และผู้ที่ต้องการให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติไวๆ นั่นก็เพราะอภิสิทธิ์ที่ไม่เท่ากันของคนในสังคม คนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำหรือมีรายได้วันต่อวันไม่สามารถหยุดอยู่เฉยๆ ในบ้านได้ ในขณะที่คนมีงานประจำสามารถ work from home กักตัวอยู่ในบ้านได้อย่างไม่เดือดร้อนเท่าไหร่นัก ดูเน็ตฟลิกซ์ สั่งอาหารออนไลน์ และนั่นก็คืออภิสิทธิ์อย่างหนึ่งในช่วงโรคระบาด
และอภิสิทธิ์ที่ไม่เท่ากันนี้เองจึงนำไปสู่การถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่หลายครั้ง ไม่ใช่แค่ในประเด็นโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบสาธารณูปโภค ระบบการขนส่ง ระบบเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากเราคิดว่าเราจะต้องจำนนต่อสิทธิพิเศษที่คนบางกลุ่มมี และคนบางกลุ่มไม่สามารถมีได้นั่นเอง
ฉะนั้น ลองเริ่มจากการตั้งคำถามง่ายๆ กับตัวเอง เพื่อสะท้อนและเปรียบเทียบให้เห็นว่าชีวิตของเราและของคนอื่นแตกต่างกันอย่างไร เช่น เราได้รับอะไรบ้างในฐานะคนที่อยู่ในกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษ ประสบการณ์ที่เราได้รับแตกต่างจากคนที่อยู่กลุ่มที่ไม่มีสิทธิพิเศษอย่างไร ความแตกต่างเหล่านี้ทำไมถึงเป็นเรื่องสำคัญ แล้วในโลกความเป็นจริงนั้นควรจะเป็นอย่างไร ทุกคนควรได้รับสิทธิพิเศษนี้เหมือนกันหรือไม่
และก็ไม่ใช่แค่การเช็คว่าเรามีสิทธิพิเศษอะไรบ้าง แต่ยังรวมไปถึงเรา ‘ไม่มี’ สิทธิพิเศษอะไรด้วยเช่นกัน เพราะบางที สิทธิพิเศษดังกล่าวอาจไม่ได้มีความพิเศษอะไรนัก แต่อาจจะเป็นสิทธิทั่วไปที่ทุกคนในสังคมพึงมี แต่เนื่องจากระบบอยุติธรรมได้กดเอาไว้ แล้วยื่นให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น
ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะยอมรับว่าเรามีสิทธิพิเศษเหนือกว่าผู้อื่น และการตั้งคำถามนี้ก็นำไปสู่ความเคลือบแคลงใจว่า สุดท้ายแล้วเราไม่ควรได้รับสิทธิเหล่านี้หรือ? ในเมื่อเราทำงานอย่างหนัก ลงทุนลงแรงหลายอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานภาพทางสังคมที่เต็มไปด้วยสิทธิพิเศษ ซึ่งจริงๆ การตั้งคำถามพวกนี้ไม่ใช่การลดทอนความมุ่งมั่น ความพยายามของตน เพียงแต่เป็นการเช็คว่าสิทธิพิเศษของเรานำไปสู่ระบบอยุติธรรมในสังคมหรือเปล่า
สิทธิพิเศษส่วนตัวเพื่อส่วนรวม
ยากกว่าการยอมรับว่าตัวเองมีสิทธิพิเศษ คือการสละสิทธิพิเศษนั้นทิ้งไป เนื่องจากผลประโยชน์และความสะดวกสบายบางอย่างที่ได้รับ แต่การไม่ทำอะไรกับสิทธิที่เรามีอาจเป็นการสานต่อให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งยังทำให้เราเพิกเฉยต่อบางปัญหาที่เราไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงอีกด้วย ซึ่งสิทธิพิเศษที่อยู่ในตัวเราอาจทำอะไรได้มากกว่านั้น อำนาจ เงินทอง สถานภาพทางสังคม รูปร่างหน้าตา แม้จะทำให้ในขณะเดียวกัน สิ่งเหล่านี้
ดังจะเห็นได้จากการเรียกร้องของคนในโซเชียลมีเดียที่ผ่านมา ให้ดารา คนดัง นางงาม เซเลบริตี้หลายคนออกมาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เพราะการเป็นคนดังย่อมมีกระบอกเสียงที่ดังกว่าคนทั่วไป หรือการที่เราอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมอะไรบางอย่างได้ แต่เราไม่ใช่ตำแหน่งตรงนั้นให้เกิดประโยชน์ ก็ย่อมเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
แซม ดีแลน ฟินช์ (Sam Dylan Finch) ผู้เขียนบทความเรื่อง ‘Ever Been Told to ‘Check Your Privilege?’ Here’s What That Really Means’ ได้พูดถึงเหตุผลของการตรวจสอบสิทธิพิเศษของตัวเองไว้ว่า
“สังคมจะดีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้คนที่มีสิทธิพิเศษเริ่มคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ตัวเองมี ระบบที่ไม่เท่าเทียมจะหายไปเมื่อคนที่มีอำนาจยอมเผชิญหน้ากับอำนาจเหล่านั้น และใช้มันให้เกิดประโยชน์ เพราะการรู้ความแตกต่างที่เกิดขึ้น จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะทำให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้น ถ้าเราเพิกเฉยต่อการรับรู้ว่าตัวเองมีสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอื่น เราก็จะสานต่อระบบที่เอื้อผลประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มให้คงอยู่ในสังคมต่อไป”
เมื่ออ่านจนถึงบรรทัดนี้อาจมองว่าคนที่มีสิทธิพิเศษคือตัวร้ายของเรื่อง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ หากแต่เป็นระบบที่เอื้อผลประโยชน์แก่คนในสังคมได้ไม่เท่าเทียมกัน ฉะนั้น การกดดันให้คนที่มีสิทธิพิเศษออกมาทำอะไรบางอย่าง หรือโยนความผิดทั้งหมดไปที่พวกเขาจึงไม่ใช่ทางออก แต่เป็นการชักชวนให้พวกเขาค่อยๆ ทำความเข้าใจกับสิทธิที่ตัวเองมี และการใช้สิทธิที่อาจเป็นประโยชน์ได้มากกว่าเพื่อตัวเอง
ไม่ใช่เรื่องน่าละอายใจที่จะยอมรับว่าตัวเองมีบางอย่างที่เหนือกว่าคนอื่น เพราะท้ายที่สุดเราสามารถเลือกได้ว่า เราจะนำสิทธิพิเศษตรงนั้นเพื่อสานต่อความเหลื่อมล้ำต่อไป หรือจะใช้เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคมแทน
อ้างอิงข้อมูลจาก