‘จีนแผ่นดินใหญ่’ ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และกำลังผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกที่สูสีกับสหรัฐฯ ท่ามกลางการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตของพวกเราเองก็ดูเหมือนผูกพันกับจีนไปหมด ไม่ว่าสินค้าที่ผลิตในจีน นักท่องเที่ยวจีน หรือแม้แต่เศรษฐกิจการค้า การลงทุนที่กระทบกับเรา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยที่เราจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับประเทศจีน
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะนิติศาสตร์ และศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape ก็ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘China 5.0: เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และกฎหมาย ในจีนยุคใหม่’ ที่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีน ในด้านต่างๆ มาพูดคุยกันให้เห็นถึงความก้าวหน้าในยุค 5.0 ของจีน ที่คนไทยควรต้องรู้กัน
CHINA 5.0 คืออะไร
CHINA 5.0 เป็นชื่อของหนังสือที่ออกใหม่ ภายใต้สำนักพิมพ์ bookscapeโดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้อธิบายถึงที่มาของคำว่า CHINA5.0 ว่า ยุค 5.0 เป็นการเมืองและเศรษฐกิจยุคใหม่ภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 5 นั่นก็คือ สี จิ้นผิง และในด้านเทคโนโลยี จีนเองก็ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี5.0 นั่นก็คือยุคของ AI แล้วนั้นเอง
ดร.อาร์มเล่าว่ายุค 5.0 ของจีน เป็นยุคที่จีนมีการยกระดับ และการเปลี่ยนแปลง โดยสี จิ้นผิง ผู้นำประเทศได้กลับไปรวบอำนาจสู่ศูนย์กลาง เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจยุคใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน แกนหลักของประเทศก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป คือการเมืองที่ยังคงอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ เศรษฐกิจที่รัฐกำกับทุน และเทคโนโลยี ที่เชื่อมโยงทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ
นอกจาก 5.0 แล้ว ในอนาคต จีนยังมีการตั้งเป้าหมายใหญ่ ที่ตั้งไว้ว่าภายในปี 2021 ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะครบรอบ 100 ปี จีนจะเป็นประเทศที่กินดีอยู่ดี และกำจัดความยากจนสำเร็จ ภายในปี 2035 จีนจะเป็นประเทศทันสมัยที่พัฒนาแล้ว และในปี 2049 ที่จะครบรอบ 100 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นประเทศสังคมนิยมมหาอำนาจสมัยใหม่ด้วย
การเมืองจีน
ก่อนหน้านี้ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 2 ของจีน มีการวางระบบทางการเมืองจีนให้ได้เป็นที่ยอมรับ ปรับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำให้อยู่ได้เพียง 2 วาระ รวม 10 ปีเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาจากสมัยที่เหมา เจ๋อตุง ผู้นำคนแรกครองอำนาจผูกขาดไม่มีวาระ แต่พอมาในสมัยของ ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำรุ่นที่5 เรากลับเห็นเขาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการครองอำนาจ 2 สมัย และรวบอำนาจเบ็ดเสร็จสู่ศูนย์กลาง
ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา ของจุฬาฯ มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสี เป็นไปได้หลายเหตุผล ทั้งขาดผู้นำรุ่นใหม่ ความขัดแย้งในพรรค และการจัดสมดุลให้พรรคอยู่เหนือกองทัพ แต่เหตุผลที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ เป็นการเห็นพ้องต้องกันระหว่างพรรค และกองทัพ เพื่อให้เกิดอำนาจอธิปไตยที่สมดุล จากแผนที่จีนได้วางไว้ให้เป็นประเทศที่อยู่ดีกินดี เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นประเทศสังคมนิยมมหาอำนาจสมัยใหม่ ภายในปี 2035 เพราะในปัจจุบันจีนยังมีทั้งปัญหาไต้หวัน และทะเลจีนใต้ที่ยังควบคุมไม่ได้ ดังนั้นคำสั่งจากผู้นำจึงเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ
ในด้านของประชาชนชาวจีน ก็อาจจะยอมรับได้กับการผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จของสี จิ้นผิง ซึ่ง อาจารย์ วรศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์5,000 ปี ที่ผ่านมาของจีนไม่เคยมีประชาธิปไตยเลย แม้ว่าปัจจุบันคนจีนจะคุ้นชิน ถูกรายล้อมด้วยแนวคิดเสรีประชาธิปไตย และลึกๆ ก็อยากได้เสรีภาพ แต่ประชาชนจีนก็ยอมได้ที่จะมีผู้นำเป็นเผด็จการ เพราะคนจีนมองที่เศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 และจะไม่ยอมให้เศรษฐกิจพัง ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจดี ก็จะไม่เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย
เศรษฐกิจ
“ถ้าอยากประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ ต้องสนใจเรื่องเมืองจีน” มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายพัฒนาธุรกิจจีน ธุรกิจต่างประเทศ ของธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มต้นเรื่องเศรษฐกิจด้วยประโยคนี้
มาณพกล่าวถึงระบบเศรษฐกิจในจีนว่า เป็นระบบที่นโยบายนำ และระบบของพรรคก็เหนือกว่าระบบบริหาร ทำให้การวางแผนด้านธุรกิจและเศรษฐกิจควบคู่อิงไปกับแผนพัฒนาประเทศ จุดนี้ทำให้จีนพัฒนาอย่างเป็นเอกภาพ ทั้งยังเป็นระบบจากบนลงล่าง จึงทั่วถึงจากมณฑล ไปถึงแต่ละหมู่บ้าน ทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเศรษฐกิจจีนมาถึงจุดนี้ได้ ด้วย GDP ที่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเติบโตต่ำกว่า 6% เลย ซึ่งก่อนปี 2008 GDP ของจีนโตกว่า 10%ด้วยตัวเลขส่งออก แต่หลังจากนั้น ลดลงมาอยู่ที่ 6-8% ทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเข้าไป แต่ยังถือว่าเป็น Soft Landing ที่อยู่ในระดับดี ทั้งในช่วง 5-7 ปีหลังจีนจะเน้นที่การบริโภคแทนการส่งออก ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ
ทั้งสมัยก่อน การพัฒนาของจีนเน้นไปที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ที่เติบโตปีละ 30% แต่ตอนนี้ลดลงมาอยู่ที่ 5-10%โดยสิ่งที่มาแทนที่คือการบริโภค และภาคบริการ ดังนั้นการทำธุรกิจที่เกี่ยวการบริโภคและการบริการจะเป็นธุรกิจขาขึ้น และกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในจีน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคของจีนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น รู้จักโลกภายนอกมากขึ้น และพวกเขาต้องการยกระดับการบริโภคให้ดีขึ้นด้วย โดยจากข้อมูลการซื้อสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนจากจีน ในปี 2015 คนจีนนิยมสั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องสำอาง และบำรุงผิวเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และเสื้อผ้า
มาณพมองว่าจีนจะมีโครงข่ายรถใต้ดินที่ยาวที่สุดในโลกโดย 15 ปีข้างหน้า จะมีรถไฟที่ขยายตัวออกจากเมืองไป 800 กิโลเมตร โครงสร้างพื้นฐานมีการพัฒนาดีในระดับโลก แทบจะไม่มีจุดอับของเมือง เปลี่ยนจากการเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน มาเน้นเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ไม่เน้นการนำเข้า แต่จะพัฒนาเครื่องจักรเอง และมีความต้องการพัฒนาสูงด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น จีนก็ยังประสบปัญหามลภาวะที่หนักหน่วงมาก ทั้งการบริการและสาธารณสุขที่ยังต้องปรับปรุง เช่นความปลอดภัยของอาหารและยา รวมไปถึงรัฐบาลควรต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนที่มีฐานะน้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะราคาบ้านและคอนโดถือเป็นตัวชี้วัดสถานะในจีน ซึ่งตอนนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงมาก
เทคโนโลยี
ในด้านของเทคโนโลยี อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ด้านไอที Blognone ได้เริ่มพูดถึงธุรกิจ e-commerce โดยเล่าว่าบริษัท e-commerce เจ้าใหญ่ๆ ที่เป็นคู่แข่งกันอยู่ในไทยขณะนี้ ล้วนแต่เป็นของบริษัทจีนทั้งหมด ทั้ง Lazada, JD Central และ Shopee ที่มีบริษัทเกม Tencent ของจีนถือหุ้น 30% ซึ่งธุรกิจแนวเว็บ e-commerce ที่เกิดก่อนหน้านี้ได้ตายไปหมดแล้ว และบริษัทของไทยเองก็ไม่ได้อยู่ในสมการนี้เลย ทั้งในการแข่งขันกันในตลาดเล็ก หรือในต่างประเทศ ทั้ง 3 บริษัทนี้ต่างก็ผูกขาด และใช้บริษัทเล็กๆ ในการทำสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างกัน โดยที่ไม่ต้องลงมาแข่งขันกันเองด้วย
อิสริยะมองว่า เหตุผลของการพัฒนาในจีนประกอบด้วย 3 ปัจจัย อย่างแรกคือ ระบบการเมืองจีน ที่มีกฎหมายนำ ถ้ารัฐบาลอยากควบคุมเรื่องข้อมูลสามารถทำได้โดยที่ธุรกิจของสหรัฐฯ หรือต่างชาติ อย่าง Google หรือ Facebook ไม่สามารถเข้ามาได้เลย จึงเปิดโอกาสให้ Home Grown เติบโต
อย่างที่ 2 ของเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไม่มีเลยในประเทศจีน จนเกิดการลอกเลียนแบบ เป็นโมเดล Copy & Develop ที่สมัยก่อนลอก และปัจจุบันนำเอามาพัฒนาต่อเอง และอย่างสุดท้ายคือการ Reverse Brain drain ที่คนจีนไปเรียนทั่วโลก ในสถาบันต่างๆ แล้วเลือกกลับมายังจีนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี อยู่ในบริษัทชั้นนำต่างๆ เมื่อเรียนจบ เพราะมีโอกาสเติบโตมากกว่า และรวยกว่า
ถึงอย่างนั้น อิสริยะก็ยืนยันว่า แม้ AI จะพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะในจีน แต่กว่าที่ AI จะมาแทนที่คน ยังเป็นเรื่องที่ไกลมาก ต้องใช้เวลาอีก 30-50 ปี แต่ AI ที่เราพูดถึงกันเยอะๆ และจะมาในช่วง 5-10 ปีนี้ เป็นเรื่องของอัติโนมัติ หรือ Automation มากกว่า เช่นการค้นหาข้อมูลจาก Database การจับคู่ Text หรือใบหน้าคน
ทั้งความแตกต่างของAI จีนกับของประเทศอื่นๆ คือเรื่องของสิทธิ และความเป็นส่วนตัว ที่ AI จะทำงานได้ดี ต้องมีข้อมูลมหาศาล ซึ่งรัฐบาลจีนก็ส่งเสริมให้มีการเก็บข้อมูล Big Data ทั้งรัฐบาลจีนยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทยักษ์ใหญ่ IT ของจีน ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Baidu และ Tencent ซึ่ง แจ็ก หม่า CEO ของ Alibaba ก็กลายเป็นเหมือนทูตของจีนทางฝั่งเอกชนไปแล้วด้วย
กฎหมาย
ด้านกฎหมายของจีน ดร.อาร์ม กลับมาพูดถึงประเด็นว่า ‘ทำไมสี จิ้นผิง จึงเลือกแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ ในมุมมองทางกฎหมาย เพราะประเด็นนี้เป็นที่สนใจในหมู่นักกฎหมายตะวันตกมาก
ดร.อาร์มกล่าวว่า “สีจิ้นผิงให้ความสำคัญกับกฎหมายมาก” และจีนก็ให้ความสำคัญกับการปกครอง และขับเคลื่อนด้วยกฎหมาย แต่เป็นกฎหมายคนละแบบกับตะวันตกที่เป็น ‘Rule of Law’ คือการปกครองที่มีกรอบกฎหมาย ในขณะที่จีนเป็นกฎหมาย ‘Rule by Law’ คือการปกครองที่ขับเคลื่อนด้วยกฎหมาย และกฎหมายก็ขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์ของประเทศ
ดร.อาร์ม อธิบายเพิ่มอีกประเด็นคือ จีนยังมีการเปลี่ยนกฎหมายมาตราที่ 1 ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ ประโยคนี้อยู่แค่เพียงในอารัมภบทของกฎหมายเท่านั้น การปฏิรูปของสี จิ้นผิงจึงแตกต่างจากที่หลายคนคาดคิดที่มองว่าสี จะเลือกให้พรรคอยู่ข้างหลังฉากเหมือนสมัยเติ้ง เสี่ยวผิง แต่สีเลือกให้พรรคกลับมามีบทบาท และเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ
นอกจากนี้ แต่เดิมเมื่อ 5 ปีก่อน การปราบปรามคอร์รัปชัน และคนที่ผิดวินัยเป็นหน้าที่และกระบวนการหนึ่งของพรรค แต่ปัจจุบัน สีได้เอา ‘องค์กรปราบปรามคอร์รัปชัน’ ขึ้นมาเป็นองค์กรหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ให้มีสถานะเทียบเท่าคณะรัฐมนตรี ศาล อัยการ และพยายามให้เป็นระบบทางการด้วย
ดร.อาร์มเล่าถึงการเติบโตของจีนที่รวดเร็วมากของจีนว่า ไปกระทบกับเศรษฐกิจ และกฎหมายระหว่างประเทศพอสมควร ทั้งองค์กรอย่าง WTO และ IMF ซึ่งจีนก็พยายามสร้างองค์กรด้านกฎหมายและเศรษฐกิจของตัวเองขึ้นมา ทั้งธนาคาร AIIB หรืออย่าง Belt & Road Courtที่จะตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับ One belt One Road ทั้งหมด มาใช้ของจีนแทนที่จะใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศด้วย
เขาทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้าเราอยากมองให้จีนเป็นโอกาส ไม่ให้เสียเปรียบ เราต้องอย่ากลัว อย่ากีดกันจีน แต่อยากให้ทุกคนติดตาม และรู้เท่าทันจีนในยุค CHINA 5.0 ไปด้วยกัน