เวลาพูดเรื่องอารมณ์ เรามักคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ จะรัก โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ ฟังดูเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ แต่พอมาว่าด้วยความโกรธแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอปัญหาว่า เฮ้ย เรารู้สึกว่าเราโกรธนะ เราโมโหนะ แต่หลายครั้งอาจจะหลังหายโมโหแล้ว เรามักเกิดความคิดว่า ‘เรามีสิทธิโกรธ’ รึเปล่านะ เราโกรธในเรื่องนี้ได้รึเปล่า
เรื่องความโกรธแง่หนึ่งก็เลยดูจะเป็นอารมณ์ที่ซับซ้อน เราโกรธได้ไหม เราเกรี้ยวกราดได้รึเปล่า ‘สิทธิ’ ของความโกรธคืออะไร ความโกรธดูจะมีเงื่อนไขของความชอบธรรมมากกว่าอารมณ์อื่นๆ นิดหน่อย คือการที่เราจะโกรธ แสดงความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจนั้น เป็นสิ่งที่มักจะต้องห้ามมากกว่าความรู้สึกอื่นเช่น ดีใจเสียใจ
จริงอยู่ความโกรธนั้นมักนำไปสู่ปัญหาและความรุนแรง ดังนั้นความโกรธจึงเป็นอารมณ์ที่เราต้องควบคุมดูแลอย่างระมัดระวัง แต่ในความซับซ้อนของความโกรธนั้นก็อาจจะไม่ได้มีปัญหาแค่ว่า ความโกรธนั้นอาจนำไปสู่ปัญหาความขุ่นของต่อความสัมพันธ์ต่อไป สิ่งที่น่าคิดคือความโกรธมันคือความขุ่นข้องไม่พอใจ ดังนั้นความโกรธนั้นเราจะสื่อสารหรือแสดงความไม่พอใจออกไปได้หรือไม่ และได้อย่างไร
ดังนั้นถ้าเรามองในมิติของการโกรธได้ไม่ได้ บอกได้หรือไม่ได้นั้น เงื่อนไขสำคัญหนึ่งของการแสดงความโกรธ ความไม่พอใจจึงดูจะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจเข้ามากำกับอยู่ประมาณหนึ่ง และแน่นอนว่า ในทางโลกและทางธรรมนั้นก็มีมุมมองต่อความโกรธ มีการอนุญาตให้โกรธที่แตกต่างกันออกไป
ในระดับเหนือโลกแน่นอนว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่พึงระงับ ความโกรธมักนำมาซึ่งการขาดสติ การพร่องจากการเบิกบาน แต่ในด้านที่อยู่บนโลกใบนี้ขึ้นมาอีกหน่อย ความโกรธอาจเป็นเรื่องจำเป็น เป็นสิ่งที่ทำให้เราอ่อนไหวต่อความไม่ถูกต้อง ความขัดใจและอึดอัดคับข้องนั้นย่อมนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
ความโกรธในทางโลกและทางธรรม
ถ้าเราพูดถึงมุมมองทางศาสนา ที่ว่าด้วยแนวการปฏิบัติเพื่อดำรงชีวิต เพื่อไปสู่มรรคผลหรือปลายทางใดๆ ส่วนใหญ่ความโกรธมักจะเป็นเรื่องที่ควรกลั้น ในทางพุทธโทสะเป็นสิ่งที่ต้องขัดเกลา ในทางเถรวาทพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย พระอรหันต์ก็ล้วนปราศจากอารมณ์
ทั้งในทางเถรวาทและทางมหายานก็ล้วนเน้นการระงับกำจัดความโกรธ อาจจะได้เมตตาธรรม ไปจนถึงการเจริญสติกำหนเลมหายใจ ในทางคริสก็ใกล้เคียงกัน แต่จะมีก็คือความพิโรธของพระผู้เป็นเจ้า ที่พระเจ้าเช่นในพระคริสตธรรมเก่ามักจะแสดงความพิโรธ มีการลงโทษอย่างรุนแรงซึ่งก็คล้ายกับศาสนาโบราณทั้งหลายที่พระเจ้ามักทรงอำนาจ เป็นที่ยำเกรงบูชา
ในมิติทางปรัชญา ประเด็นเรื่องความโกรธและความเกรี้ยวกราดเป็นสิ่งที่ได้รับการถกเถียงมาอย่างยาวนาน มีทั้งฝ่ายที่มองความโกรธ (anger) เป็นมิติทางอารมณ์ที่สำคัญ และฝ่ายที่มองว่าเป็นอารมณ์เชิงลบที่ไม่นำไปสู่อะไร ฝ่ายแรกค่อนข้างมองความโกรธในฐานะความรู้สึกที่เรามีต่อความอยุติธรรม และนำไปสู่การยกระดับความเป็นธรรมต่างๆ เราโกรธทั้งเมื่อถูกกระทำ และไม่อยากทำสิ่งนั้นๆ ต่อเนื่องไป
ความคิดสำนักนี้เริ่มต้นที่อาริสโตเติล อาริสโตเติลมองว่า คนที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจะใช้ความโกรธ เปิดดวงตาให้เห็นคุณธรรมต่างๆ ซึ่งจากอาริสโตเติลก็เรื่อยมาจนถึงยุคราวศตวรรษที่ 18 อันเกิดกระแสความคิดที่กลับไปให้ความรู้สึกกับอารมณ์ นักคิดที่เช่น The Earl of Shaftesbury, David Hume หรือ Adam Smith ที่ต่างมองว่าอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายนี่ที่ไวต่อเรา และทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ อ่อนไหว รับรู้เรื่องราวต่างๆ เช่นว่าเรารุ้สึกว่าโดนกระทำเช่นนี้ เราก็เลยไม่สิ่งนี่กับคนอื่น
ในสำนักคิดอีกด้านที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบ Stoicism ที่เน้นความหนักแน่น การระงับอารมณ์ ซึ่งก็ประกอบกับกระแสความคิดแบบพุทธที่เน้นการระงับ สกัดกั้นความรู้สึกทั้งปวงโดยเฉพาะความโมโหโกรธา นักคิดสายนี้เช่น Seneca นักปรัชญาโรมันซึ่งส่งผลความคิดต่อ Martha Nussbaum นักปรัชญาในยุคหลัง ก็บอกว่าความโกรธคือความบ้าคลั่งอย่างหนึ่ง หลายครั้งความโกรธเป็นเรื่องของการหยุดอยู่กับอดีต กับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เป็นเรื่องของการล้างแค้นเอาคืนซึ่งมีนัยของการทำลายล้าง
การเมือง และความจำเป็นของความโกรธเกรี้ยว
ประเด็นเรื่องความโกรธจริงๆ ก็สัมพันธ์กับการขอโทษอยู่บ้าง ฝ่ายที่วิจารณ์เรื่องความโกรธเกรี้ยวคือแน่นอนว่าความโกรธทำให้เราติดกับความคั่งแค้น ทำให้ไม่รับฟังเพื่อจะก้าวเดินต่อ เพื่อหาทางออก เพื่อแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้น หรือเพื่อรับฟังคำขอโทษ ซึ่งเอาจริง ขั้นตอนพวกนี้ดูจะเป็นการประนีประนอมต่อความโกรธที่มีประสิทธิภาพ แง่หนึ่งนั้นเราก็ต้องยอมรับก่อนว่าคนเรานั้นโกรธได้
ประเด็นสำคัญที่น่าคิดหนึ่งคือสิทธิของความโกรธนี่แหละ ถ้าเรายังมองโครงสร้างของความโกรธ ความโกรธมักเป็นเรื่องของผู้ใหญ่สู่ผู้น้อย จากอำนาจสูงส่งทั้งความพิโรธของเทพเจ้าไปจนถึงผู้มีสถานะสูงกว่าเรา ในทางกลับกัน หลายๆ เงื่อนไขมักทำให้เกิดคำถามว่า คุณมีสิทธิโกรธด้วยเหรอ หมายถึงว่ามันก็มีหลายสเกลที่จะโกรธได้หรือไม่ได้ แต่สถานะทางอำนาจก็เป็นเครืองกำหนดความชอบธรรมในการโกรธอยู่ด้วยเสมอ
ในยุคที่เราเริ่มรื้อโครงสร้างและอำนาจต่างๆ ความโกรธ โดยเฉพาะความโกรธเกรี้ยวนั้นมักถูกแสดงออกโดยผู้คน ด้านหน่งการแสดงความโกรธมันคือการตอบโต้ต่ออำนาจ นอกจากความโกรธธรรมดาแล้วเรายังมีความโกรธในอีกหลายมิติ เช่น anger, wrath ไปจนถึง rage ซึ่งก็แล้วแต่ว่ามีความเกรี้ยวกราด นำไปสู่ความรุนแรงในระดับไหน
สำหรับความเกรี้ยวกราด โดยเฉพาะของมวลชนนั้น เราก็จะเริ่มมีคำอธิบายความโกรธที่มีนัยทางศีลธรรม คือเป็นความคับข้องใจจากความไม่ถูกต้อง เช่น resentment และ indignation การกระทำที่ไม่ถูกต้องทั้งหลาย ในฝ่ายที่ให้ความชอบธรรมกับความโกรธก็จะบอกว่า นี่ไง มันเป็นความโกรธที่สมเหตุสมผล และการกระทำต่างๆ ด้านหนึ่งก็ไม่ได้แบบเป็นเรื่องส่วนตัว ทำร้าย ทำลายกันขนาดนั้น ซึ่งนักคิดอีกด้านจริงๆ ก็ยอมรับและให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้สึกเพื่อรับรู้ประเด็นทางศีลธรรมต่างๆ แต่ก็จะเน้นว่าเราสามารถทำได้โดยปราศจากความโกรธขึ้งได้ไหม หรือปรับความโกรธเป็นมิติอื่นๆ น่าจะดีกว่า
ในทางโลกมากกว่าทางธรรมและทางปรัชญา ประเด็นเรื่องความโกรธในฐานะอารมณ์และประโยชน์ทางชีววิทยาของมนุษย์ ความโกรธด้านหนึ่งมักได้รับการอธิบายว่า เป็นสิ่งที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น เช่น เราเจอเรื่องใดเรื่องหนึ่งซ้ำๆ หมาเห่าทุกวัน ยุงบินวนจนโมโหสุดๆ พวกอารมณ์ด้านลบนี้แท้จริงเป็นเรื่องจำเป็นเพราะความไม่พอใจมักนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ถ้าเราไม่มีความคับข้องใดใด มันก็จะไม่ค่อยมีการลุกขึ้นปรับเปลี่ยนอะไร
นอกจากเรื่องความโกรธต่อภายนอกแล้ว ความโกรธยังสัมพันธ์กับการเติบโตของเราอย่างแน่นอน ด้านหนึ่งก็น่าจะพูดได้ว่าเราโกรธได้ และความโกรธขึ้งไม่พอใจเป็นเรื่องธรรมดา หลายครั้งเมื่อเราโกรธในเรื่องอะไรก็ถือเป็นโอกาสที่เราจะเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นอย่างตรงไปตรงมา เคลียใจทั้งกับอีกฝ่าย และกับตัวเองว่า เออ ทำไมเราโกรธ มีตัวตนความรู้สึกอะไรของเราที่ถูกกระทบ ในหลายครั้งการเกิดความโกรธเป็นเรื่องของอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ในตอนนั้นเพื่อสามารถทั้งผ่าแยกตัวตนของเราเอง ไปจนถึงรับมือและรักษาความสัมพันธ์ หรือเอาว่าไม่โดดไปชกหน้ากัน ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้เติบโตที่ดีพอสมควร
อ้างอิงข้อมูลจาก