ถ้าลองหลับตาแล้วนึกถึงภาพย่าน RCA คุณนึกถึงอะไรเป็นลำดับแรก? ร้านอาหารหลายระดับตั้งแต่เย็นตาโฟจนถึงภัตตาคาร ร้านเหล้าหลากหลายแบบตั้งแต่นั่งชิลถึงผับ..
แต่นับตั้งแต่หลัง COVID-19 ย่าน RCA ก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมเพราะการผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดของร้านที่ลงทุนโดยคนจีน โดยจากการสำรวจของ The MATTER พบว่า ปัจจุบัน ย่าน RCA มีร้านที่ลงทุนโดยคนจีนอย่างน้อย 25 ร้าน ที่สำคัญ คือ ร้านอาหารที่ลงทุนโดยคนจีนมีมากกว่าร้านอาหารที่ลงทุนโดยคนไทย และชาติอื่นเรียบร้อยแล้ว
The MATTER ได้ลงไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงของย่าน RCA ว่าเป็นอย่างไรบ้าง พื้นที่แห่งนี้มีร้านคนจีนทั้งหมดกี่ร้าน อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง รวมถึงได้คุยกับ ชาดา เตรียมวิทยา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ศึกษาเรื่องจีนมาอย่างยาวนานถึงลักษณะของกลุ่มคนจีนที่มาลงทุนในไทย และข้อกังวลต่อสถานการณ์ทุนจีนในปัจจุบัน
- สำรวจธุรกิจจีนที่มาลงทุนในย่าน RCA
RCA เป็นชื่อย่อของโครงการรอยัล ซิตี้ อเวนิว มีเนื้อที่ทั้งหมด 62 ไร่ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเจ้าของที่ดินได้ให้ บริษัทนารายณ์ร่วมพิพัฒน์ จำกัด ของกลุ่มแบงก์กรุงเทพ เช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 30 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม สัญญาดังกล่าวหมดไปตั้งแต่ปี 2565 และขณะนี้ รฟท.ต่อสัญญาเช่าให้นารายณ์ร่วมพิพัฒน์เป็นการชั่วคราวแบบปีต่อปี โดยทาง รฟท.ระบุว่ากำลังรอให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ทำการประเมินมูลค่าราคาที่ดินและการลงทุน เพื่อเปิดประมูลใหม่
โดยจากการสำรวจพื้นที่ในซอย RCA และพูดคุยกับคนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูล The MATTER พบว่าถ้านับเฉพาะร้านค้าที่มีหน้าร้านติดกับถนน ซอย RCA มีร้านค้าทั้งหมด 115 ร้าน แบ่งเป็นร้านที่ร่วมลงทุนโดยคนจีน 25 ร้าน ร้านไทย 77 ร้าน และพื้นที่กำลังก่อสร้างหรือห้องร้างอีก 13 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนร้านที่คนจีนมาลงทุนมากกว่า 1 ใน 5 (21.74%)
จากข้อมูลดังกล่าว หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือในหมวดหมู่ธุรกิจร้านอาหาร ร้านอาหารที่ลงทุนโดยคนจีนมีมากกว่าร้านที่ลงทุนโดยคนไทยและชาติอื่นแล้ว โดยมีร้านคนจีน 18 ร้าน และร้านคนไทยและชาติอื่น 13 ร้านเท่านั้น
และยังพบว่า ร้านอาหารที่ลงทุนโดนคนจีนส่วนใหญ่เป็นร้านประเภทปิ้งย่างและหม้อไฟมากที่สุด โดยมีถึง 13 ร้าน ส่วนอีก 5 ร้านเป็นภัตตาคาร
ในปัจจุบัน ร้านอาหารที่มีเจ้าของเป็นคนไทยใน RCA เหลือเพียงร้านเก่าแก่ที่มีฐานลูกค้าแน่น และปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีจนมียอดขายจากแพลตฟอร์ม เช่น ร้านครัวกลางกรุง, ร้านฮาวา หรือร้านเชฟซ้ง
ส่วนร้านที่ลงทุนโดยคนจีนที่เหลืออื่นๆ มีทั้ง
- ร้านรับแลกเปลี่ยนเงิน 1 ร้าน
- ร้านอินเตอร์เน็ต 1 ร้าน
- ร้านนำเข้าสุรา 2 ร้าน
- ร้านนำเข้าชา 1 ร้าน
- ร้านตัดผม 2 ร้าน
ในกรณีของร้านตัดผมนี่เองที่น่าสนใจ เพราะตาม พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้อาชีพช่างตัดผมเป็นอาชีพสงวนของคนไทย และนายจ้างที่ให้คนต่างชาติทำงานดังกล่าวมีโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท/ คน และหากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
- บรรยากาศในร้านจีน
เพลงภาษาอังกฤษเล่นสลับกับเพลงป๊อปจีนสมัยใหม่ คลอเคล้าไปกับเสียงพูดคุยจากพนักงานกลุ่มชาติพันธุ์ที่ให้ข้อมูลว่า พวกเธอพูดภาษาจีนไม่ได้ แต่ใช้ภาษาไทยในการคุยกับชายชาวจีน 3 คนที่นั่งอยู่หน้าร้าน ซึ่งคาดว่าเป็นเจ้าของร้านและเพื่อนของเขา
รูปแบบการบริหารของร้านจีนแห่งนี้ ไม่ได้แตกต่างจากร้านอื่นในกรุงเทพฯ เมื่อก้าวเข้ามาในร้านพนักงานก็ร้องถามทันทีด้วยภาษาไทยสำเนียงแปร่งว่ามากี่คน ก่อนผายมือเดินนำไปนั่งที่โต๊ะ พนักงานถามต่อว่าต้องการน้ำซุปประเภทไหน พร้อมชี้แจ้งว่าร้านเป็นรูปแบบบริการตัวเอง ให้เดินไปหยิบเครื่องดื่มและตักของสดจากตู้แช่เย็นได้เลย
สำหรับของตกแต่งภายในร้าน ผสมกันไประหว่างของจากจีนและไทย อาทิ ทิชชู่และน้ำหอมดับกลิ่นในห้องน้ำมีป้ายฉลากเป็นภาษาจีน บนชั้นข้างเคาเตอร์แคชเชียร์มีฟิกเกอร์สามก๊ก, กังฟูแพนด้า, ภาพพิมพ์การ์ตูนล้อสามก๊ก ส่วนผนังด้านบนชั้นสองมีตัวอักษรจีนตบแต่ง เช่นเดียวกับโซนต่างๆ ของร้านทั้งเครื่องดื่ม, ของสด, ห้องน้ำล้วนมีภาษาจีนกำกับอยู่
แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงไม่พ้น ตัวอักษรสีแดงภาษาจีนที่แปลได้ว่า “เฉินตู” เมืองหลวงของมณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน รอบๆ นั้นคือตัวอักษรสีน้ำเงินที่มีนัยยะถึงสถานที่หลายแห่งในประเทศจีน แต่มีบางคำเช่นกันที่มีนัยยะสื่อถึงกรุงเทพฯ และย่าน RCA อย่างตัวอักษร ‘ONYX’ ซึ่งเป็นชื่อของผับที่ตั้งอยู่หน้าปากซอยถนนจตุรทิศทางเข้าสู่ย่านนี้
หลังอิ่มหนำสำราญจากอาหารหลัก และสับสนกับตัวหนังสือบนใบเสร็จ ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นภาษาจีนที่มีคำแปลภาษาไทยแปร่งๆ ต่อท้ายหลังอยู่ชั่วครู่ เราก็เดินออกจากร้านผ่านเสียงพูดคุยภาษาจีนเบาๆ ของชาย 3 คนที่ด้านหน้า และเสียงขวดเบียร์สีเขียวขุ่นยี่ห้อเจ้าสัวกระทบกัน
- เกิดอะไรขึ้นใน RCA
“หลังโควิด คนจีนมาเซ้งเยอะ คนจีนมากว้านซื้อ ก็มาแบบมีหุ้นส่วนคนไทยอยู่ด้วย เพราะเขาไม่ให้คนจีนเช่าโดยตรง” วินมอเตอร์ไซค์ หน้าชุมชน ส.พัทยาพูดขึ้น
การย้ายสำนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัดและบริษัทปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด และวิกฤตโรคระบาด COVID-19 เป็นสองมุดหมายสำคัญที่คนในพื้นที่พูดตรงกันว่า ทำให้ธุรกิจของคนไทยย้ายออกจากย่าน RCA เปิดทางให้กลุ่มนักธุรกิจจีนเข้ามาเช่าพื้นที่ทำธุรกิจ
คนึงนิจ ละออ เจ้าของร้านครัวกลางกรุงเล่าว่าในช่วง COVID-19 บริษัทนารายณ์ร่วมพิพัฒน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารพื้นที่แห่งนี้ได้ลดค่าเช่าห้องลงเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ทำให้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักลงทุนจีนที่มีทุนมากกว่าคนไทยเข้ามาจับจองพื้นที่ โดยเริ่มจากร้านนำเข้าบุหรี่ ก่อนจะมีการชักชวนกันภายในหมู่คนจีน และร้านอื่นๆ ก็ขยับมาเปิดตาม
เจ้าของร้านครัวกลางกรุงเล่าต่อว่า กลุ่มคนจีนในพื้นที่ RCA แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก กลุ่มคนทำงานบริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มที่มาอาศัยอยู่เป็นระยะเวลานานและบางครั้งก็มาใช้บริการร้านอาหารคนไทยในพื้นที่
“มีลูกค้าคนจีนเพิ่มชึ้นบ้างนะ แต่เป็นกลุ่มพนักงานบริษัทที่มาทำงาน” คนึงกิจพูดต่อ “แต่นักท่องเที่ยวนี่ไม่ได้เลย ส่วนใหญ่เขาพาไปร้านอื่นหมด”
กลุ่มที่สอง กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่ได้มากับทัวร์ กลุ่มนี้จะมีความหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ก็มักเลือกใช้บริการร้านคนจีนด้วยกัน
และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มากับทัวร์ ในช่วงเที่ยงถึงบ่ายของวัน จะมีรถบัสหลายสิบคันพานักท่องเที่ยวจีนมารับประทานอาหารและดูโชว์ที่ร้าน ‘Mirine’ ภายใน RCA Plaza และเมื่อโชว์จบก็พากลับไป ไม่ได้แวะเวียนมาทานอาหารที่ร้านเธอหรือช็อปปิ้งร้านค้าอื่นแต่อย่างใด
สำหรับร้าน ´Mirne’ สำนักข่าวอิศราเคยทำข่าวสืบสวนและพบว่า Mirine มีความเกี่ยวข้องกับ โทนี หรือ เฉิน เจ้าฮุ่ย นักธุรกิจจีนเจ้าของร้าน Space Plus ซึ่งถูกทางการไทยออกหมายจับเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยโทนีได้ถือหุ้นใหญ่ของร้านแห่งนี้ และมี มิรินน์ พรหมนอก คนไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเขานั่งเป็นกรรมการ
“แย่เหมือนกันนะ ถ้าเป็นแบบนี้นักธุรกิจไทยจะไม่กล้ามาเปิดร้านแล้ว สู้เขาไม่ได้” คนึงกิจแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ RCA ในปัจจุบัน
- ทำไมเมืองไทยดึงดูดทุนจีน
ก่อนที่ RCA จะมีร้านจีนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแบบนี้ ย่านห้วยขวางเคยถูกเปรียบเป็น ‘มณฑลไท่กั๋ว’ มาแล้ว จึงน่าสนใจว่าทำไมคนจีนถึงมักมาลงทุนในประเทศไทย?
ชาดา เตรียมวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนอธิบายว่า คนจีนที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นคนจีนรุ่นใหม่ที่เกิดภายใต้นโยบาย ‘ลูกคนเดียว (One Child Policy)’ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1980 – 2015 ลักษณะของคนกลุ่มนี้คือ มีความมั่นใจในตัวเองสูง ไม่สนใจเปิดรับวัฒนธรรมไทย ไม่เรียนภาษาไทย และมองว่าไทยเป็น “พื้นที่หนึ่งที่ทำเงินได้” ไม่คิดจะลงหลักปักฐานต่างกับคนจีนที่เข้ามาในช่วงต้นยุครัตโกสินทร์ เช่น คนจีนย่านเยาวราช
“คนจีนยุคใหม่ๆ ไม่ได้มีความผูกพันกับไทย เขาไม่คิดจะตั้งหลักในไทย เขามองไทยเป็นแค่พื้นที่หนึ่งที่ทำเงินได้ เขาไม่คิดจะอยู่ยาว” ชาดากล่าว
ต้องยอมรับว่าการที่นักลงทุนจีนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นเพราะเนื้อดินเอื้ออำนวยแก่พวกเขา ชาดาเล่าว่ามีคนจีนจำนวนมากที่เข้ามาเรียนกฎหมายในไทย ทำให้พวกเขามีความเข้าใจและมองเห็นช่องโหว่ของกฎหมาย ภาพที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ การจ้างคนไทยเป็นนอมินีถือหุ้นของบริษัทจีน เพื่อลดความยุ่งยากในการขออนุญาตทำธุรกิจในฐานะชาวต่างชาติ
สาเหตุอีกประการที่สำคัญคือ วัฒนธรรมการติดสินบนและคอรัปชั่น ข้อมูลจากชาดาและงานวิจัย ‘ชาวจีนอพยพใหม่ในภาคกลาง “กรณีศึกษาในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี และระยอง’ ของ ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี ตรงกันว่า คนจีนจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เช่น การขอต่อใบอนุญาตร้านอาหาร หรือการจ้างแรงงานต่างชาติ
สาเหตุประการสุดท้าย ทุนจีนหนากว่าทุนไทย ความสำเร็จจากนโยบายแก้ไขความยากจนของรัฐบาล และความเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศทำให้คนจีนมีสายป่านที่ยาวกว่าผู้ประกอบการไทย และสามารถแบกรับต้นทุนและค่าเสียโอกาสต่างๆ ได้สูงกว่า
- ผลกระทบจากทุนจีน
ปกติแล้ว อ้อ (นามสมมติ) จะจอดรถเข็นขายส้มตำของเธอไว้ด้านในย่าน RCA ซึ่งเป็นทำเลที่ดี แต่ภายหลังที่มีร้านที่ลงทุนโดยคนจีนหลายแห่งมาเปิด เธอถูกไล่ที่ให้ไปขายที่หน้าประตูฝั่งที่ติดกับ ซ.เพชรบุรี 45/ 1 ส่งผลให้ยอดขายของเธอลดลง
“เขาไล่ที่จากด้านใน ให้มาขายด้านนอก RCA เขาบอกภูมิทัศน์ไม่สวยงาม” อ้อเล่าว่าก่อนหน้านี้เธอมีลูกค้าประจำและขาจรจำนวนมาก ทำให้ยอดขายตกประมาณ 4,000-5,000 บาท/ วัน แต่เมื่อถูกย้ายมาอยู่ที่บริเวณนี้ ทำให้ยอดขายอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท/ วัน และบางวันอาจได้น้อยกว่านี้
เช่นเดียวกับ กบ (นามสมมติ) วินมอเตอร์ไซค์ หน้าชุมชน ส.พัทยาที่เล่าว่า ภายหลังที่พื้นที่ RCA เปลี่ยนไป คนมาใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ก็น้อยลงและทำให้รายได้ของเขาตกลง
ความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ส่งผลต่อคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเลี่ยงไม่ได้ และในภาพใหญ่กว่านั้น ชาดาชวนมองทุนจีนในสายตาเดียวกับทุนจากนอกประเทศอื่นๆ ที่มีทั้งด้านดีและด้านลบ
ในแง่บวก การเข้ามาลงทุนของคนจีนทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น เช่น พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งบริษัทจีนมีการเปิดรับกลุ่มนักศึกษาที่เรียบจบด้านการท่องเที่ยวและภาษาจีนจำนวนมาก นอกจากนี้ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนทำให้สินค้าบางประเภทขายดีขึ้น เช่น ของฝากซึ่งที่เห็นกันชัดที่สุดคือ ‘การเกงลายช้าง’ ซึ่งแทบกลายเป็นของต้องมีของนักท่องเที่ยวชาวจีน
แต่ในด้านลบ ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการไทยสู้กับธุรกิจจีนได้ยาก เนื่องจากคนจีนมีสายป่านที่ยาวกว่า มีเงินทุนมากกว่า ยิ่งประกอบกับวัฒนธรรมติดสินบนในบ้านเรา ยิ่งทำให้ทุนจีนสามารถดำเนินธุรกิจได้ถึงแม้ละเมิดกฎหมายหลายข้อ
- โจทย์ท้าทายของรัฐไทย
ไม่ใช่แค่ทุนจีนเท่านั้น แต่ทุนจากนอกประเทศล้วนเป็นโอกาสและความท้าทายในตัวมันเอง การลงทุนจากต่างชาติสามารถช่วยขยายเศรษฐกิจ เพิ่มอัตราการจ้างงาน กระจายความรู้ในด้านเทคโนโลยี รวมถึงเป็นประโยชน์ด้านการทูต แต่ในทางกลับกัน หากไม่มีนโยบายและแนวทางกำกับที่เข้มแข็งพอ ก็อาจทำให้คนในประเทศเสียประโยชน์มากกว่าได้รับประโยชน์
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจีนเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการทั้งหมด 3 ประการ ประการแรก ออกมาตรการควบคุมทุนต่างชาติ เช่น การเช่าซื้อคอนโดซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายว่า คอนโดแห่งหนึ่งห้ามมีต่างชาิตถือครองเกินกว่าร้อยละ 50 ชาดาเสนอว่าควรทำอย่างประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ซึ่งกำหนดว่าชาวต่างชาติจะซื้อที่พักอาศัยได้เฉพาะระดับไฮเอนด์เท่านั้น ห้ามไม่ให้ซื้อคอนโดระดับธรรมดาทั่วไป
ประการที่สอง ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจไทย เช่น ลดหย่อนภาษีให้แก่ร้านอาหารไทยที่ลงทุนโดยคนไทย ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้สินค้าไทยมีคุณภาพขึ้น เพื่อให้แข่งขันกับทุนต่างชาติได้
ประการที่สาม ปราบปรามกลุ่มทุนสีเทา เพราะนอกจากกลุ่มนี้จะนำเงินผิดกฎหมายมาฟอกแล้ว ยังนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ยาเสพติดหรือการคอรัปชั่นของข้าราชการ
การขจัดปัญหาความยากจน ความกล้าหาญในการออกตามหาชีวิตที่ดีกว่า รวมถึงการหลุดพ้นจากคำปรามาสว่า ‘สินค้าจีนแดง’ และก้าวสู่ประเทศมหาอำนาจของโลกล้วนคือสิ่งที่ชาดามองว่าเป็น ‘บทเรียน’ ที่ไทยควรเรียนรู้จากจีนเช่นเดียวกัน
Photographer: Asadawut Boonlitsak
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon