เหนือระดับความสูง 300 เมตร พาดผ่านเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย เมียนมา และ 4 มณฑลของจีน – ยูนนาน กุ้ยโจว กว่างซี และบางส่วนของเสฉวน – มีดินแดนแห่งเทือกเขาที่เรียกว่า ‘โซเมีย’ (Zomia)
ดินแดนแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร และมีประชากรราว 100 ล้านคน เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง
ประชากรเหล่านี้คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ ‘ตั้งใจ’ เป็นคนไร้รัฐตามชายแดน ไม่สยบยอมอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐชาติ อาทิ จีน เมียนมา และไทย เพื่อหลีกหนีโครงการต่างๆ อันกดขี่ – ระบบทาส การเกณฑ์ทหาร ระบบภาษี แรงงานเกณฑ์ สงคราม ฯลฯ
ข้างต้นคือข้อเสนอเกี่ยวกับ ‘โซเมีย’ หรือในทางภูมิศาสตร์เรียกกันว่า ดินแดนเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Massif) ในหนังสือ The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia โดย เจมส์ ซี. สก็อตต์ (James C. Scott) นักรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยาชื่อดังจากมหาวิทยาลัยเยล
ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เทคโนโลยีได้ร่นระยะทางต่างๆ เช่น ถนนหนทาง และโทรคมนาคมของรัฐ ก็ดึงให้ดินแดนห่างไกลเช่นนี้ เข้าใกล้รัฐมากขึ้น ส่งผลให้โซเมียที่เดิมเป็นดินแดนแห่งอนาธิปไตยต้องจบลง
อย่างไรก็ดี ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ศาสตราจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่า เมื่อยุคสมัยเสรีนิยมใหม่มาถึง พื้นที่อย่างโซเมียได้ถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง เป็นพื้นที่แห่งอนาธิปไตยที่อำนาจรัฐยังคงเข้าไม่ถึง คราวนี้ไม่ใช่พื้นที่ของชนกลุ่มน้อยที่หลีกหนีรัฐชาติ หากแต่เป็นพื้นที่สะสมทุนของ ‘ทุนจีนสีเทา’ โดยเฉพาะธุรกิจพนันผิดกฎหมายและสแกมเมอร์ออนไลน์ ที่หลีกหนีมาตรการของรัฐบาลจีน
เธอเรียกพื้นที่เช่นนี้ว่า ‘ดาร์กโซเมีย’ (Dark Zomia)
The MATTER สรุปเนื้อหาจากการบรรยาย Dark Zomia: Myanmar Frontier and the Chinese Enclosure ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งงานวิจัยของปิ่นแก้ว ที่ว่าด้วยพื้นที่เทือกเขาสีเทาๆ ตามแนวชายแดนดังกล่าว ในงานประชุมวิชาการ International Conference on Myanmar’s Borderland 2024 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ ณ ที่นี้
‘ดาร์กโซเมีย’
ยินดีต้อนรับสู่ ‘ดาร์กโซเมีย’ – พื้นที่ทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่การบังคับใช้กฎระเบียบเป็นไปอย่างคลุมเครือ และระบบสังคมสลายตัว เพื่อปูทางไปสู่การสกัดทรัพยากร (resource extraction) และการสะสมทุน (capital accumulation) โดยเฉพาะของทุนจีนสีเทา อย่างไม่เป็นระบบระเบียบ
ปิ่นแก้วเสนอว่า การแพร่กระจายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจผิดกฎหมายของทุนจีนในหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องไม่ถูกมองในฐานะปรากฏการณ์ความผิดปกติที่โดดเดี่ยวแยกขาดจากเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตในภูมิภาค หากแต่เป็นผลมาจากภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีจีนเป็นผู้เล่นสำคัญ
จากข้อเสนอของ แอลวิน แคมบา (Alvin Camba) นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดนเวอร์ในสหรัฐฯ ทุนประเภทหนึ่งที่เคลื่อนย้ายมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังวิกฤตการสะสมทุนที่มากเกินไป (overaccumulation crisis) ก็คือทุนที่เรียกว่า ‘ทุนยืดหยุ่น’ (flexible capital)
ทุนยืดหยุ่นเป็นทุนเอกชนที่พยายามผละตัวเองออกจากข้อจำกัดของรัฐจีน และสร้างพื้นที่ในการสะสมทุนและการผลิตใหม่ในประเทศกำลังพัฒนา ตัวอย่างของทุนยืดหยุ่นก็ประกอบไปด้วย ทุนในศูนย์การเงินต่างประเทศ การฟอกเงินในประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนในธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น พนันออนไลน์ มิจฉาชีพทางโทรคมนาคม การค้าประเวณี และลักลอบค้าสัตว์ป่า
ปิ่นแก้วเล่าว่า ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นทุนชนิดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากปี 2015 เมื่อรัฐจีนกวาดล้างธุรกิจพนัน การฟอกเงิน และอาชญากรรมทั้งภายในประเทศและชายแดน ทำให้ธุรกิจกาสิโนต้องย้ายมาสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างฟิลิปปินส์หรือกัมพูชา ซึ่งมีนโยบายเปิดรับบ่อนกาสิโนมากกว่า
ต่อมา รัฐบาลจีนกดดันรัฐบาลฟิลิปปินส์ต่อ ส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดตัว และทุนจีนสีเทาก็ต้องย้ายมาสู่พื้นที่ชายแดนเมียนมาที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง พื้นที่จำนวนมากตามแนวแม่น้ำเมยจึงถูกยึดและกลายเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมพนันออนไลน์
ดังนั้น ‘ดาร์กโซเมีย’ ตามชายแดนไทย-เมียนมา จึงครอบคลุมพื้นที่อย่างเช่น โครงการเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ (Shwe Kokko New City Project) เขตอุตสาหกรรมไซซีกัง (Saixigang Industrial Zone) เคเคพาร์ก (KK Park) และโครงการเมืองใหม่หวันหยาอินเตอร์เนชั่นแนล (Huanya International City Project)
แรงเสียดทานของอำนาจอธิปไตย (Friction of Sovereignty)
สิ่งที่ทำให้อำนาจรัฐเข้าไม่ถึงดาร์กโซเมีย ไม่ใช่แรงเสียดทานของภูมิประเทศ (friction of terrain) ซึ่งอาจหมายถึงระดับความสูง และระยะห่างจากศูนย์กลางรัฐ ตามคำอธิบายโซเมียของสก็อตต์ หากแต่เป็น ‘แรงเสียดทานของอำนาจอธิปไตย’ (friction of sovereignty)
ปิ่นแก้วอธิบายว่า ในพื้นที่ชายแดน อำนาจอธิปไตยอาจไม่ได้รวมศูนย์โดยรัฐแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการยื้อแย้งอำนาจเหนือพรมแดน การเคลื่อนย้ายเงินตรา ผู้คน และสิทธิอธิปไตย (sovereign right) ที่ทับซ้อนและซับซ้อนอย่างยิ่ง ระหว่างตัวแสดงต่างๆ ทั้งรัฐ องค์กรกึ่งรัฐ (quasi-state) และตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ
ปิ่นแก้วยกตัวอย่างอำนาจที่ซ้อนทับเช่นนี้ ในกรณีที่ตำรวจภูธร จ.ตาก สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2023 หลังตำรวจไทย 10 นายเดินทางข้ามชายแดน ไปเจรจาขอเรียกเก็บผลประโยชน์จากทุนจีนสีเทาในอัตราที่สูงขึ้น แต่ต่อรองราคาไม่ได้ สร้างความไม่พอใจให้กับ พ.อ.ซอว์ ชิต ตู (Saw Chit Thu) ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) จนสั่งปิดชายแดน 3 เดือน
แรงเสียดทานของอำนาจอธิปไตยเช่นนี้ทำให้ทุนจีนผิดกฎหมายที่สะสมทุนตามชายแดนเมียนมาและหลีกเลี่ยงเงื้อมมือของรัฐจีนเกิดขึ้นมาได้
กองกำลัง BGF มีอิสระพอสมควรจากรัฐบาลเมียนมา ในการควบคุมการค้าและการเก็บภาษีตามชายแดนที่สร้างเม็ดเงินมหาศาล หน้าที่หลักของ BGF ก็คือ ใช้แรงเสียดทานของอำนาจอธิปไตย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ขณะเดียวกัน กองทัพเมียนมาบางครั้งก็อาจยอมทำตามจีนหากโดนกดดันให้ปราบปรามธุรกิจพนันและสแกมเมอร์ผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดน หรือมิฉะนั้น ก็ส่งต่อแรงกดดันไปให้ BGF
ส่วนชาวจีนในดาร์กโซเมีย ปิ่นแก้วอธิบายต่อมาว่า ยุทธวิธีหลักๆ ในการหลีกหนีการควบคุมของรัฐ ก็คือการมีหลายสัญชาติ นำมาซึ่งทรัพยากรในการเคลื่อนย้ายที่มากกว่า แทนที่จะภักดีต่อรัฐใดรัฐหนึ่งเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ดี ยุทธวิธีถือหลายสัญชาติก็อาจจะไม่ได้ผลเสมอไป ปิ่นแก้วยกตัวอย่างกรณีของ เฉอ จื้อเจียง (She Zhijiang) ประธานบริษัท Yatai International Holding Group ผู้ต้องหาจีนสัญชาติกัมพูชา ที่ถูกคุมขังในไทย และรัฐบาลจีนร้องขอให้ส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
เฉอเผยแพร่แถลงการณ์ลงใน Bangkok Post เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2023 ตั้งคำถามถึงการบังคับส่งกลับว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเขาถือสัญชาติกัมพูชาแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล
สภาวะรวมตัว (Assemblage) ของดาร์กโซเมีย
ลักษณะสำคัญของดาร์กโซเมียคือความสามารถในการเคลื่อนย้าย (mobility) และการสลายขอบเขตพื้นที่ (deterritorialize) และสร้างขอบเขตพื้นที่ขึ้นใหม่ (reterritorialize) ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการสะสมทุน และดังนั้น จึงนำมาสู่สภาวะรวมตัว (assemblage) ของดาร์กโซเมีย ที่มีการเคลื่อนย้ายและการเชื่อมต่อ (connectivity) เป็นหลักการสำคัญ
ปิ่นแก้วเสนอว่า การเคลื่อนที่ของเศรษฐกิจผิดกฎหมายตามแนวชายแดนในเมียนมา ไทย และลาว รวมถึงที่อื่นๆ ไม่เพียงแต่จะเป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายเพื่อหลบหลีกเจ้าหน้าที่รัฐ และหลบซ่อนอาชญากรรมต่างๆ ที่มาประกอบรวมกัน แต่ยังทำให้เกิดการสะสมทุนไปด้วย
เธอเสนอต่อมาว่า ในหลายๆ กรณี การเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานในการก่ออาชญากรรม จากพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่ง ถือว่าเป็นเรื่องปกติของเครือข่ายอุตสาหกรรมสแกมเมอร์ออนไลน์ ที่มักหมุนเวียนสินค้าและผู้คนซึ่งกันและกัน บางครั้ง เหยื่อสแกมเมอร์ออนไลน์ที่ไม่สร้างรายได้ ก็มักจะถูกส่งต่อไปอีกที่ เช่น จากสามเหลี่ยมทองคำของลาว สู่เคเคพาร์ก
อีกประการหนึ่งคือ ดาร์กโซเมียมีความเชื่อมโยงถึงกัน (interconnectedness) ระหว่างธุรกิจใต้ดินกับเศรษฐกิจถูกกฎหมายอีกฟากของชายแดน รวมถึงฝั่งไทยด้วย ทั้งชเวโก๊กโก่และเคเคพาร์ก “ไม่เคยปิดประตูหรือหยุดนิ่ง หากแต่เปิดกว้างและมีลักษณะชั่วคราว มีความสัมพันธ์กับหน่วยทางเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม” คือข้อสรุปจากงานวิจัยของปิ่นแก้ว
ปิ่นแก้วปิดท้ายด้วยเรื่องเล่าจากการสัมภาษณ์คนไทยวัยหนุ่มสาวคนหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ทำงานเป็นล่ามให้กับเจ้านายที่เปิดบริษัทสแกมเมอร์ออนไลน์ในเคเคพาร์ก ซึ่งเป็นคำตอบที่ดูจะตอกย้ำความเป็นดาร์กโซเมียได้ทั้งหมด
“ประชากรทั้งหมดอาจเป็นแสนคน จากหลากหลายชาติ เราทำงานให้เจ้านายที่มีบริษัทตั้งอยู่ในเคเคพาร์ก
“ส่วนใหญ่ เมื่อเจ้านายคนจีนได้เงินมากพอ พวกเขาก็จะปิดกิจการและส่งพนักงานคนจีนกลับบ้าน หรือไม่พวกเขาก็อาจจะไปทำ ‘ธุรกิจสีขาว’ ในไทย เปิดร้านสุกี้ ขายเสื้อผ้า ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทำธุรกิจบันเทิง และอื่นๆ
“พวกเขาจะใช้นอมินีคนไทยเปิดกิจการให้พวกเขา แน่นอนว่า พวกเขามีคอนเนคชั่นดี ไม่แน่ว่าต่อไปพวกเขาอาจจะกลับไปเคเคพาร์กหรือย้ายไปที่ดาร์กโซเมียอื่นๆ เพื่อเปิดกิจการอีกครั้ง”
ความ ‘ประหลาด’ ของดาร์กโซเมีย จึงไม่ใช่แค่ความสามารถในการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงเพื่อหลบหลีกอำนาจรัฐ แต่ปิ่นแก้วบอกว่า คือความสามารถในการประกอบร่างและเชื่อมต่อใหม่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ที่เคลื่อนเข้าหรือออกจากรัฐ และกับพื้นที่ที่ทั้งผิดกฎหมายและไม่ใช่รัฐ
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power relations) จึงแผ่ซ่านไม่รวมศูนย์ เส้นเขตแดนพร่ามัว และ ‘ดาร์กโซเมีย’ ขจรขจาย กว้างพ้นไปกว่าแค่แนวชายแดน