อารามเบียร์ ย้อนไปในยุคกลาง พระเคยเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่
ก่อนที่เหล้าหรือเบียร์จะกลายเป็นอุตสาหกรรมของโลก อันที่จริงเครื่องดื่มเหล่านี้และพื้นที่ทางศาสนาก็ดูจะเป็นพื้นที่ตรงข้ามกัน แต่ถ้าเราย้อนประวัติศาสตร์ไปในยุคที่เราเริ่มเป็นชุมชน การหมักบ่มเหล้าและเบียร์ที่เราอาจเรียกว่าเป็นระดับอุตสาหกรรมนั้น ไวน์และโดยเฉพาะการพัฒนาการบ่มเบียร์ในยุคกลาง มีมือของนักบวชเป็นผู้ร่วมในการหมักและพัฒนาวิทยาการการผลิตเบียร์ด้วย
ความน่าสนใจของการผลิตแอลกอฮอล์ในพื้นที่ทางศาสนา แน่นอนว่ามีความสำคัญ เช่น ศาสนาคริสต์มีไวน์เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมต่างๆ เป็นศูนย์กลางหนึ่งของศรัทธาในการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า แต่การที่อารามกลายเป็นส่วนสำคัญหนึ่งต่อการพัฒนา กระทั่งขายเบียร์ให้กับพื้นที่ชุมชนเองนั้น ก็มีปรัชญาน่าสนใจที่ทางโลกและทางธรรมจะบรรจบกันจนกลายเป็นรากฐานหนึ่งของวัฒนธรรมเบียร์
ถ้าเรามองย้อนกลับไป คริสต์ศาสนาที่กลายเป็นศาสนาสำคัญของทวีปยุโรป การหมักเบียร์ไปจนถึงการบริโภคเบียร์และแอลกอฮอล์อื่นๆ มีความสัมพันธ์ต่อพื้นฐานวัฒนธรรมและบริบทของทวีปด้วยการเป็นเมืองหนาว นอกจากนี้ รากฐานสำคัญของการหมักเบียร์ในอารามมักย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 7 หนึ่งในปรัชญาสำคัญใหม่ของนักบวชคริสต์บางนิกายในช่วงนั้น คือการยึดหลักการทำงานอันเป็นงานทางโลก เป็นการผลิตสิ่งของด้วยตัวเองที่ถือว่าเป็นการเข้าถึงพระเจ้าอย่างหนึ่ง และเบียร์ยังเป็นหนึ่งในอาหารสำคัญที่ค่อนข้างตอบโจทย์สภาพความเป็นอยู่ของยุคกลาง รวมถึงดำรงความเป็นอยู่ของอารามเองด้วย
กฎของเซนต์เบเนดิก และนิกาย La Trappe
ทุกวันนี้ถ้าใครเป็นสายเบียร์ อาจจะเคยเห็นเบียร์ที่เรียกว่าเป็นเบียร์แทรปปิสต์ (Trappist Beer) โดยชื่อของเบียร์มาจากกลุ่มนักบวชในนิกายกลุ่มลา ทราปป์ (La Trappe) อันเป็นนิกายซึ่งเกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส ปัจจุบันในนิกายนี้ก็ยังคงผลิตเบียร์จำหน่ายอยู่ และมีภาคีอารามอยู่ในประเทศใกล้เคียง เช่น อิตาลี อังกฤษ และสเปน นิกายลา ทราปป์เกิดขึ้นราวปี 1090 หลักๆ คือนิกายซึ่งเกิดขึ้นในช่วงยุคกลางอันเป็นยุคที่ศาสนจักรเป็นศูนย์กลางของทวีปยุโรปนี้ นิกายนี้มีความคิดว่าวัตรปฏิบัติของนักบวชหย่อนยานเกินไป จึงได้วางระเบียบขึ้นใหม่และสมาทานกฎสำคัญที่เรียกว่า ‘กฎของเซนต์เบเนดิก’ เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติ
เซนต์ เบเนดิก (Saint Benedict) เป็นชื่อนักบุญและเป็นแนวทางนิกายมาตั้งแต่โบราณ แกนสำคัญคำสอนของเซนต์เบเนดิกคือนอกจากการปฏิบัติวัตรทางธรรมแล้ว แนวทางนี้ยังเน้นให้นักบวชประกอบกิจทางโลก ซึ่งคือการทำงานและถือว่าการทำงานนั้นเป็นวัตรสำคัญหนึ่งในการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า แต่ก่อนอื่นต้องระบุก่อนว่ายุคกลางเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างนาน นับตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 5-15 เป็นภาพชีวิตคล้ายๆ ในหนังเกมออฟโทรน (Game of Thrones) บางส่วนที่สภาพความเป็นอยู่ ศรัทธา และความเชื่อยังทรงพลัง
กฎของเซนต์เบเนดิกค่อนข้างวางแนวทางการใช้ชีวิตที่เคร่งครัด ร่วมสวดวันละ 7 ครั้ง สวมใส่ชุดที่เหมือนกัน พูดคุยกันให้น้อยสุด และเมื่อว่างจากวัตรทั่วไปแล้วจะต้องไปทำงาน ดังนั้น เขตอารามของนักบวชในแนวทางนี้จึงมีลักษณะกึ่งการทำฟาร์ม นักบวชจะผลิตสิ่งที่ตัวเองต้องใช้และต้องกิน หนึ่งในนั้นก็คือการบ่มเบียร์ไว้ดื่มเองด้วย
โรงหมักเบียร์ในเขตอาราม นับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การแผ่ขยายของคริสต์ศาสนา และการจาริกภายในทวีปยุโรปจากประวัติศาสตร์เก่าแก่ ตั้งแต่ที่ศาสนจักรภายใต้อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ข้ามทะเลไปถึงเกาะอังกฤษ จนราวศตวรรษที่ 6 นักบวชชาวไอริสผู้รู้เรื่องการทำเบียร์ก็จาริกมายังทวีปยุโรป โดยกลุ่มจาริกนี้เป็นนักบวชในนิกายเบเนดิก เมื่อมาถึงยุโรปแล้วก็ตั้งอารามเล็กๆ ขึ้น เป็นนิกายที่เคร่งครัด ซึ่งสอดคล้องกับบรรยากาศของยุคกลาง แต่ว่าศาสนจักรและอาณาจักรก็มีการเมืองอยู่บ้าง ทำให้ในที่สุดนักบวช 2 รูปต้องถูกเนรเทศและลี้ภัยจากเขตแดนบางส่วนของเยอรมันและออสเตรีย จนหนีไปตั้งอารามเล็กๆ ที่สวิตเซอร์แลนด์ในเขตที่ปัจจุบันเรียกว่าเซนต์ กาลเลิน (St. Gallen) ตามหนึ่งในชื่อนักบวชที่อารามนั้น
ภาพการอพยพทำให้เห็นการตั้งอาราม และเห็นการอพยพจากการจาริกแสวงบุญ ความพิเศษของอารามนี้คือสุดท้ายอารามยังคงตั้งอยู่บนเส้นทางจาริกระหว่างโรมกับเยรูซาเล็ม ทำให้ตัวอารามเติบโตขึ้น โดยราวศตวรรษที่ 8 จากวัดลี้ภัยเล็กๆ ได้กลายเป็นอารามเต็มรูปแบบ ในศตวรรษที่ 9 ได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาวิหารหลวง และช่วงทศวรรษ 820 อารามแห่งนี้กลายเป็นศูนย์พักสำคัญของผู้จาริกแสวงบุญ มีที่พักแยกสำคัญต่อนักบวช ผู้แสวงบุญ พ่อค้า มีโรงอาหาร ห้องสมุด สวน และโรงนา รวมถึงที่เขียนมาอย่างยืดยาวคือพบว่า มีโรงหมักเบียร์ถึง 3 แห่งในเขตอาคารนี้
ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ยุโรปก็มีกลุ่มนักบวชจากไอริสที่อพยพไปยังตอนเหนือของมิวนิกในปัจจุบัน โดยช่วงปี 724 มีหลักฐานถึงการตั้งอารามบน Weihenstephan Mountain และกลายเป็นอารามใหญ่ของนิกายเบเนดิก ตัวอารามจะมีสวนฮอปส์ (Hops) และมีโรงหมักเบียร์เป็นของตัวเองเช่นกัน จนในปี 1040 อารามแห่งนี้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตเบียร์อย่างเป็นทางการและยินยอมให้ค้าขายเพื่อสร้างกำไรได้ โรงเบียร์แห่งนี้ยังได้ผลิตเบียร์ออกขายทั่วโลกในชื่อ Weihenstephan ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในโรงเบียร์เก่าแก่ที่สุดของโลก ปัจจุบันเป็นโรงเบียร์ภายใต้การดูแลของรัฐบาวาเรีย และในโรงเบียร์ก็ยังคงเป็นอาราม เป็นมหาวิทยาลัย และเป็นศูนย์วิจัยด้านการหมักเบียร์
รากฐานของเบียร์และศาสนจักรเป็นประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างยาวนาน การเกิดขึ้นของเบียร์ลา ทราปป์และแทรปปิสต์คือเป็นเบียร์ในอาราม จึงสัมพันธ์กับวัตรของอารามในยุคกลาง ที่ทั้งมีรากฐานจากแนวทางเคร่งครัดของเซนต์เบเนดิกอย่างการที่นักบวชจะทำฟาร์ม ผลิตอาหาร รวมถึงเป็นภาพของอารามที่มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและตอบสนองต่อบริบทของยุโรปด้วย ซึ่งในยุคกลางนั้นมีตัวเลขอารามที่ผลิตเบียร์ด้วยราว 500-600 แห่ง
โรงเบียร์ในเขตวัด
มีหลายเหตุผลที่ว่าทำไมพระถึงเป็นผู้หมักเบียร์ ไปจนถึงดื่มเบียร์เอง และเสิร์ฟเบียร์ให้สาธุชนที่มายังโบสถ์ของตน เบื้องต้นที่สุดคือเบียร์เป็นการถนอมอาหารที่สำคัญ มีคำกล่าวว่าเบียร์คือขนมปังแบบเหลว พระในยุคกลางจึงดื่มเบียร์เพื่อเพิ่มพลังงาน ทั้งนี้เบียร์ยังถือเป็นของเหลวซึ่งตามการถือศีลอดแล้ว จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่อนุญาตให้บริโภคได้ตามคำกล่าวที่ว่า “Liquida non frangunt ieunum – Liquids do not break the fast”
นอกจากนี้ เมื่ออารามส่วนใหญ่ผลิตอาหารและเครื่องใช้เองแล้ว การนำผลผลิตมาทำเบียร์จึงเป็นการเปลี่ยนพลังงานจากทั้งข้าวสาลีและผลิตผลต่างๆ ให้เป็นเครื่องดื่มแคลอรีสูงเพื่อจะดื่มได้ตลอดปี ประเด็นสำคัญเรื่องเครื่องดื่มนี้ก็ค่อนข้างสำคัญมาก เพราะน้ำสะอาดในยุคกลางยังมีไม่มากนัก น้ำส่วนใหญ่มักจะสกปรกหรือปนเปื้อน ดังนั้น การแปรรูปและดื่มในรูปแบบเบียร์หรือเครื่องดื่มอื่นๆ เลยเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัยกว่า
โดยทั่วไป การหมักเบียร์ในช่วงยุคกลางนั้นอาจจะทำกันในครัวเรือนแต่ไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราวนัก เพราะหมักจากของเหลือๆ ตามประสา ดังนั้น ด้วยมือของนักบวชในเขตอารามจึงทำให้ราวศตวรรษที่ 11-12 จึงค่อยๆ พัฒนาวิธีการหมักและการทำเบียร์ด้วยเทคนิคต่างๆ ความเข้าใจเรื่องความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ก็มาจากในอาราม ในยุคนั้นช่วงแรกก็แจกจ่ายให้คนจนดื่ม ดื่มกันเองบ้าง ใช้เข้าตำรับยา และเสิร์ฟให้นักเดินทาง ช่วงหลังก็เริ่มขายให้ผู้ดีและขุนนาง ในการนี้คณะสงฆ์เองก็ค้นพบระบบสำคัญ เช่น การควบคุมระดับแอลกอฮอล์ในการหมัก (Mashing) นำเบียร์ชุดแรกที่แอลกอฮอล์เข้มข้นที่สุด (ราว 5%) ไปขาย เก็บความเข้มข้นต่อมา (2%) ไว้ดื่มเอง และนำน้ำสุดท้ายที่กดคั้นไว้แจกจ่ายให้คนจน
พระในอารามเองก็ค่อยๆ พัฒนาระบบการเก็บรักษาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีความคิดสำคัญคือการลาเกอร์ (Lagering) เป็นการเก็บรักษาเบียร์ไว้ในอุณหภูมิต่ำในเวลาที่เหมาะสม ทำให้เบียร์มีสีอ่อนลง บางเบาและดื่มง่ายขึ้น (สาธุแก่ท่านจริงๆ)
ตรงนี้เลยเป็นมุกตลกว่า ในที่สุดจากการงานอันหนักหน่วงที่นักบวชกระทำจนกลายเป็นเบียร์ในถัง จากภาระที่ดูแลผู้คนและชุมชนด้วยอาหารและเครื่องดื่ม อารามเป็นเหมือนผับแรกของมนุษยชาติที่ผู้คนเข้าไปดื่มเบียร์ ในการพัฒนารสชาติ ในอาราม และกฎที่เคร่งขรึมหนาหนักของยุคกลางที่ดูหนักอึ้ง ความรู้เรื่องการทำเบียร์จึงเป็นผลผลิตหนึ่งที่เหมือนกับการสร้างสวรรค์ขึ้นในเขตศาสนจักร
ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยระบุว่าพระในยุคกลางดื่มเบียร์ราว 5 ลิตรต่อวัน และอาจมากกว่านั้นในช่วงถือศีลอดอาหาร ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมวัฒนธรรมเบียร์ค่อนข้างหยั่งรากในยุโรป โดยเฉพาะในแถบบาวาเรีย เบียร์เป็นส่วนหนึ่งของการกินดื่มเพื่อการใช้ชีวิต และเป็นผลผลิตจากการทำงานที่นับเป็นอีกวิธีของการเข้าถึงพระเจ้า
แน่นอนว่าสำหรับแฟนเบียร์ในทุกวันนี้ อ่านถึงตรงนี้ก็คงรู้สึกขอบคุณอารามต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเบียร์ในยุคก่อนอุตสาหกรรม
อ้างอิงจาก