มนุษย์เป็นสิ่งชีวิตที่มองโลกในแง่ร้าย อย่างในวรรณกรรมไซไฟที่มองว่า ในวันหนึ่ง โลกที่สงบสุข เขียวขจี และอยู่อาศัยได้อาจเกิดปัญหาขึ้น มีมนุษย์ต่างดาว หรือเกิดสงครามนิวเคลียร์ จนทำให้เราอยู่อาศัยไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งในทุกวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรืออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ก็อาจพาให้โลกสีน้ำเงินของเราไม่เอื้อกับการเป็นอยู่ของเราได้อีกต่อไป
นอกจากการดูแลแก้ไข เพื่อให้โลกของเรายังมีสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยได้แบบที่เคยเป็น ในหลายพื้นที่ของประเทศที่ตื่นตัวด้านความเปลี่ยนแปลง สถาปนิกและนักออกแบบ รวมถึงในอดีตเอง เราก็เคยมีความกังวลจนทำให้มนุษย์ต่างหาทางสร้างเมือง หรือเครื่องป้องกันที่ฟังดูสุดโต่ง อย่างการสร้างเมืองหรือการปรับตัวขนาดมหึมา เพื่อทำให้เราในฐานะมนุษยชาติสามารถมีชีวิตอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่สุดโต่งต่อไปได้
ที่เรากำลังจะพูดถึงในวันนี้คือ โปรเจ็กต์เมือง ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ยักษ์ที่ประเทศต่างๆ วางแผนไว้ หลายโครงการยังอยู่ในช่วงทดลองสร้าง เพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจินตนาการของเมือง และการอยู่อาศัยขึ้นใหม่ มีทั้งเมืองลอยน้ำขนาดยักษ์ การครอบเมืองด้วยโดมกระจกยักษ์ การสร้างสวนรับมือเฮอร์ริเคนที่มีขนาดใหญ่เท่าเกาะ เมืองที่เป็นทั้งเมืองและป่า ไปจนถึงการเปิดพื้นที่ดาดฟ้าให้เป็นผิวชั้นที่ 2 เพื่อทำให้เส้นขอบฟ้ากลายเป็นพื้นที่ในการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมแบบใหม่
เมืองลอยน้ำ Oceanix City – Busan, South Korea
สิ่งปลูกสร้างลอยน้ำ บ้าน ไปจนถึงหมู่บ้านที่ลอยอยู่บนน้ำ ในหลายวัฒนธรรม สิ่งนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความกังวลและความเป็นไปได้สำคัญคือการมาของน้ำ ซึ่งในที่สุด พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกอาจถูกปกคลุมไปด้วยน้ำ โปรเจ็กต์ Oceanix City ของเกาหลีใต้ เป็นเมืองล้ำยุคที่มีแผนจะสร้างขึ้นในบริเวณอ่าวนอกชายฝั่งของเมืองปูซาน โดยเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน เช่น UN-Habitat สถาบัน MIT การออกแบบและวางผังโครงการโดยสตูดิโอ Bjarke Ingels ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญในการสร้างฝันและการอยู่อาศัยใหม่ๆ
จุดเด่นของเมืองลอยน้ำคือ การออกแบบให้เมืองมีลักษณะเป็นเกาะหกเหลี่ยมที่มีความยืดหยุ่น เป็นโมดูลที่มีอิสระ และปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ เกาะเทียมนี้จะสร้างขึ้นด้วยวัสดุชีวภาพที่เรียกว่า Biorock หรือหินชีวภาพที่มีคุณสมบัติซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเองได้จากแร่ธาตุ ทั้งยังเป็นพื้นที่ของสิ่งมีชีวิต เช่น ปะการัง เพื่อให้ร่วมกันทำให้ตัวเกาะมีความแข็งแรงขึ้น เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์อาหารจากแหล่งปู หอย และปลา และเกาะนี้ยังถูกออกแบบให้สามารถผลิตอาหาร ไฟฟ้า รวมถึงสามารถทนต่อเฮอร์ริเคนระดับ 5 ได้
สวนยักษ์รับมือเฮอร์ริเคน The Galveston Bay Park Plan – Texas, US
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ พื้นที่ชายฝั่งถือเป็นพื้นที่เปราะบางที่สุด ด้วยปัญหาทั้งจากน้ำท่วมและพายุเฮอร์ริเคน อ่าวกัลเวสตันเป็นอ่าวสำคัญของเมืองฮูสตันในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ความสำคัญของอ่าวนี้คือ การเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของกลุ่มปิโตรเคมี ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติจึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอของเมืองคือการเสนอให้สร้างสวนขนาดยักษ์ด้วยพื้นที่ 10,000 เอเคอร์ เป็นเกาะสีเขียวขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นกำแพงสีเขียวที่จะช่วยป้องกันความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคนที่อาจเกิดขึ้นได้
สวนยักษ์นี้ยังสัมพันธ์กับบริบทการพัฒนาเมือง นั่นคือแผนการขุดปากอ่าวเพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าเข้ามาในพื้นที่อ่าวได้ ดินที่ขุดขึ้นจะมีจำนวนมากพอที่จะถมให้เกิดเป็นเกาะจำลอง สามารถลงทุนพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสวนลอยน้ำขนาดยักษ์ และเป็นพื้นที่หยุดพักของนกได้ โดยตัวโครงการนี้มีราคาประเมินราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอและระดมทุน
เมืองในโดมกระจก Mars Science City – Dubai, UAE
ฤดูฝุ่นกำลังจะมา เมื่ออากาศภายนอกเริ่มไม่สะอาด และไม่ดีกับการอยู่อาศัย ฤดูฝุ่นของเราจึงต้องอยู่ในพื้นที่กำบัง อยู่ในอาคารและมีระบบฟอกอากาศ เพื่อให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้ ในหลายเงื่อนไข เช่น การออกแบบที่อยู่อาศัยบนดาวอังคาร การครอบเมืองด้วยโดมขนาดยักษ์จึงเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เราคุ้นเคยจากหนังไซไฟต่างๆ
ทว่า แนวคิดการครอบเมืองด้วยโดม รวมถึงการออกแบบเมืองเพื่อภูมิอากาศที่รุนแรงมากของดาวดวงอื่น เป็นสิ่งที่เรากำลังทำการทดลองสร้างกันอยู่ ซึ่งโครงการครอบเมืองด้วยโดมกระจกเคยมีข้อเสนอในช่วงปี 1959 ในยุคสมัยที่สถาปัตยกรรมของเราเริ่มออกแบบโดมกระจกได้ ในปีนั้นที่นิวยอร์กมีข้อเสนอชื่อ โดมครอบแมนฮัตตัน โดยสถาปนิกคนสำคัญคือ บัคมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ (Buckminster Fuller) หนึ่งในผู้สร้างโดมทรงกลมได้สำเร็จ เขาเสนอให้สร้างโดมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 กิโลเมตร มาคลุมบริเวณกลางเมืองนิวยอร์กไว้ เพื่อลดการใช้พลังงานของเมืองลง
ปัจจุบันที่เมืองดูไบเองก็มีแผนสร้างเมืองทดลองสำหรับการสร้างเมืองบนดาวอังคารชื่อ Mars Science City ศูนย์วิจัยที่ใช้สภาวะทะเลทรายเป็นพื้นที่จำลองของดาวอาคาร เป็นเมืองวิทยาศาสตร์ที่จะผลิตอาหาร และเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ตัวเมืองนี้จะคลุมด้วยโดมกระจก เพื่อปกป้องพื้นที่อยู่อาศัยจากสภาพอากาศภายนอก และโปรเจ็กต์นี้ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองล้ำยุคในการดูแลของบีอาร์ก อินเกิลส์ (Bjarke Ingels)
เมืองที่กลายเป็นป่า Liuzhou Forest City – Guangxi, China
หรือการครอบโดมอาจไม่ใช่คำตอบ? จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผลักดันความเป็นเมืองให้เหนือจินตนาการ ภาพเมืองในแบบเดิมๆ ผนวกกับจีนที่เคยมีฝันร้ายจากมลพิษทางอากาศและปัญหาฝุ่นควัน ในแผนการพัฒนาสำคัญหนึ่งนี้ จึงเป็นความร่วมมือของจีนกับสเตฟาโน โบเอริ (Stefano Boeri) สถาปนิกอิตาเลียน เจ้าพ่อผู้นำต้นไม้ขึ้นไปเติบโตระบัดใบร่วมกับอาคารคอนกรีตสูงระฟ้า
โครงการเมืองป่านี้คือ Liuzhou Forest City เป็นการสร้างเมืองล้ำสมัยขึ้นในเมืองหลิวโจว โดยจะเป็นกลุ่มอาคารสูง ตัวอาคารจะมีต้นไม้รวมกันกว่า 40,000 ต้น อาคารสูงนี้จะมีหน้าตาเหมือนภูเขาลดหลั่นกัน เป็นทั้งที่อยู่อาศัยของมนุษย์และของต้นไม้ เมืองป่าไม้นี้เป็นอีกหนึ่งความฝันของการเป็นเมืองยั่งยืน มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสถาปนิกสเตฟาโน โบเอริเป็นผู้สร้างอาคารพักอาศัยที่ชื่อว่า ป่าแนวตั้ง (Bosco Verticale) อาคารพักอาศัยจะมีต้นไม้แซม จนกลายเป็นต้นแบบของการนำไม้ใหญ่ขึ้นไปโตบนอาคาร เมืองป่าแห่งนี้จึงเป็นสุดยอดการขยายผลไปสู่ระดับเมือง
เมืองที่หลังคาและขอบฟ้าเชื่อมหากัน Rotterdam Rooftop Walk – Rotterdam
เมืองร็อตเตอร์ดัมของเนเธอแลนด์ ถือเป็นเมืองแนวหน้าด้านสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมือง สตูดิโอออกแบบสำคัญประจำเมืองที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ MVRDV สตูดิโอดังกล่าวมักจะร่วมมือกับเมืองในการสร้างแนวคิด ใช้งานออกแบบใหม่ๆ และตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่เมืองและ MVRDV ร่วมมือกัน คือโครงการเกี่ยวกับการเปิดพื้นที่ดาดฟ้า โดยเป็นการขยายพื้นที่เมืองด้วยการทำให้ดาดฟ้ากลายเป็นเหมือนพื้นที่ชั้นที่ 2 ของพื้นที่เมือง
โปรเจ็กต์นี้มีหลายส่วนทำร่วมกัน เช่น The Stairs to Kriterion โปรเจ็กต์ที่สร้างบันไดขนาดยักษ์จากนั่งร้านเพื่อทอดขึ้นสู่อาคารสำคัญกลางเมือง ตัวโปรเจ็กต์ฉลองการสร้างเมืองขึ้นหลังถูกทำลายด้วยสงครามครบรอบ 75 ปี ทั้งนี้ โปรเจ็กต์นี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่เมืองอาจจะเปิดพื้นที่ดาดฟ้าด้วย และหลังจากนั้นก็เริ่มมีโปรเจ็กต์ต่างๆ เช่น Rooftop Walk หรือการสร้างบันไดและสะพานสีสดใสเพื่อเชื่อมดาดฟ้าต่างๆ ของเมืองเข้าหากัน ทำให้ผู้คนมีท้องฟ้าเป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ โดยทาง MVRDV ก็ได้มีแนวทางการออกแบบพื้นที่ดาดฟ้าสำหรับการใช้ประโยชน์ต่างๆ ให้เป็นพื้นที่หย่อนใจ สวน และเป็นพื้นที่ผลิตพลังงานและอาหาร
สำหรับการเปิดดาดฟ้าให้ผู้คนเดินหากันได้ ด้วยการใช้พื้นที่ดาดฟ้าและหลังคาที่เชื่อมต่อกัน อาจเป็นประโยชน์ในช่วงวิกฤติต่างๆ เช่น น้ำท่วม ทั้งยังเป็นการเปิดจินตนาการของเมืองขึ้นใหม่ด้วย
อ้างอิงจาก