เมืองมันเหงา แต่สุดท้ายวิถีชีวิตสมัยใหม่ก็ทำให้เรายังต้องอยู่ในเมืองเหงาๆ เมืองนี้กันต่อไป แต่เมืองเป็นสิ่งที่เราออกแบบได้
ดังนั้นสถาปนิก นักออกแบบ ไปจนถึงภาครัฐต่างเห็นตรงกันว่าเมืองที่เราสร้างขึ้นนี้กำลังทำให้ผู้อาศัยเหงา และเราคงต้องลงมือสร้างเมือง ใช้การออกแบบทั้งทางสถาปัตยกรรมและผังเมืองเพื่อทำให้คนเหงาน้อยลง เป็นเมืองที่น่าอยู่ กระตุ้นให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เดียวดายน้อยลง และเมื่อคุณภาพชีวิตดี อะไรๆ ก็น่าจะดีขึ้นได้
หลักๆ แล้ว นักออกแบบและนักสังคมวิทยามองว่าเมืองเคยถูกออกแบบให้แห้งแล้ง แยกส่วนและคับคั่งจนเกินไป ผู้คนในเมืองจึงใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ หลักการสำคัญที่นักออกแบบต้องการคือการออกแบบเมือง สร้างพื้นที่ที่กระตุ้นให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (social interaction) นักออกแบบบออกว่าเราควรสร้างเมืองที่กระตุ้นให้ผู้คนรู้สึกดี เมื่อผู้คนมีสุข มีโอกาสที่จะเดินสวนกัน เห็นหน้าเห็นตากัน สุดท้ายก็อาจนำไปสู่การพูดคุยและสานสัมพันธ์ใหม่ๆ เมืองที่เคยเหงามากก็ย่อมจะเหงาน้อยลงได้
ความเหงากลายเป็นวาระแห่งชาติในหลายประเทศ ความเหงาทำลายสุขภาพทั้งกายและใจของผู้คน ถ้าคนไม่มีสุข ประเทศจะมีสุขได้อย่างไร หลายประเทศและหลายเมืองใหญ่จึงเริ่มขยับตัวและแก้ไขปัญหาเรื่องความเหงาด้วยโครงการต่างๆ
ในปี 2012 สถาบัน Grattan Institute ของออสเตรเลียทำรายงานและโครงการ ‘The Social Cities’ รายงานว่าในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาผู้คนในออสเตรเลียมีเพื่อนและปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อยลง ดังนั้นทางโครงการจึงใช้การออกแบบเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนให้มากขึ้น รายงานบอกว่าการออกแบบไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โต อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ เช่นการใส่ม้านั่งหรือเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสวนก็กระตุ้นให้ผู้คนพบปะพร้อมกับทำให้คนใช้ชีวิตในเมืองอย่างมีสุขมากขึ้น นอกจากชาวออสซี่แล้วเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลกต่างก็เห็นพ้องและพยายามสร้างเมืองที่ไม่แห้งแล้ง เหงาหงอย และชืดชาจนเกินไป
Empathic Building
ย้อนไปช่วงศตวรรษที่ 20 พื้นที่เมืองและวิทยาการการก่อสร้างทำให้มนุษย์เรามีพื้นที่อยู่อาศัยแบบใหม่ แต่ด้วยความที่เมืองมันอึกทึก เป็นที่รวมของผู้คนมากมาย แนวคิดในการออกแบบก่อสร้างจึงให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว แต่ไอ้ความเป็นส่วนตัวนี้กลับนำมาซึ่งความแปลกแยก เราถูกแบ่งออกจากกันด้วยกำแพงคอนกรีต แนวคิดเรื่อง Empathic buildings คือแนวคิดการออกแบบอาคารนำโดย Van Der Ryn สถาปนิกและนักออกแบบผังเมือง ไอ้เจ้าตึกที่มีหัวใจ มีความเห็นอกเห็นใจที่ว่าคือตึกที่ออกแบบพื้นที่โดยคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานของผู้อยู่อาศัย ส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ และออกแบบโดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงผู้คนภายในพื้นที่เข้าด้วยกัน
การออกแบบอย่างเข้าใจนี้อาจประกอบด้วยพื้นที่ส่วนกลางที่เชื้อเชิญผู้คนในตึกเข้าไปใช้งานและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน การมีพื้นที่สีเขียวและตัวอาคารออกแบบเพื่อให้เชื่อมโยงทั้งกับภายในและภายนอกอาคาร จากตึกทึบๆ กลายเป็นตึกที่โปร่งโล่งและมองเห็นพื้นที่ด้านนอกได้ ผู้อยู่อาศัยก็จะรู้สึกเชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งกับเมือง กับท้องถนน และกับตึกอื่นๆ ไม่เดียวดายว้าเหว่เท่าตอนเจอแต่ผนัง
Co-housing Community
เมืองใหญ่ บ้านก็แพง แถมอยู่แยกๆ ก็เหงา โปรเจกต์ co-housing เป็นการรวมเอาความคิดเรื่องการแชร์พื้นที่พักอาศัยพร้อมกับสร้างชุมชนไปพร้อมๆ กัน หลักการของ co-housing ก็คล้ายๆ กับแนวคิดของ hostel คือการที่คนหลายๆ คนมาใช้อสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน นักออกแบบจะออกแบบพื้นที่ส่วนตัวให้กับแต่ละส่วน โดยที่คนทั้งหมดจะใช้พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ห้องอาหาร ครัว ไปจนถึงห้องพักผ่อนทำงานต่างๆ ร่วมกัน
จริงๆ แนวคิดเรื่อง co-housing community เป็นแนวคิดที่ริเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1970s ในเดนมาร์กก่อนจะค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มเติมในยุโรป และขยายมาสู่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นในระยะเวลาต่อมา ระยะหลังด้วยแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการเช่น co-working space ไปจนถึง sharing economy ต่างๆ กำลังมาแรง บวกกับปัญหาเรื่องความเหงา แนวคิด co-housing จึงกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง Grace Kim สถาปนิกที่เป็นหนึ่งในคนออกแบบและใช้ชีวิตในโครงการ co-housing บอกว่า การใช้ชีวิตร่วมกันนี้อาจเป็นทางออกสำหรับเมืองที่กำลังประสบวิกฤตการณ์ความเหงา จากประสบการณ์เธอบอกว่าชีวิตในบ้านที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน อย่างน้อยเรากินข้าวร่วมกันจะนำไปสู่ปฏิสัมพันธ์กันในด้านอื่นๆ มีการไปทำกิจกรรมร่วมกัน แชร์ของใช้บางอย่างและมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในโลกที่เรากังวลกับการอยู่ร่วมกับคนอื่นและให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและทรัพย์สินส่วนบุคคล แนวคิดนี้อาจจะน่ากลัวนิดหน่อย
Friendly and Desire Path
ถนนทางเดินเป็นส่วนประกอบสำคัญของเมือง เป็นทางที่เชื่อมพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน และเจ้าถนนที่เราเดินๆ นี่แหละก็มีผลกับความรู้สึก กับความเหงาของเราได้ด้วย มีงานศึกษาในปี 2008 จาก University of the West of England ที่บอกว่าเรา – คนเดินถนนหรือคนในย่าน ยิ่งอยู่ติดกับถนนที่มีการจราจรคับคั่งมากเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกเหงาและแปลกแยกจากพื้นที่จากชุมชนมากขึ้นเท่านั้น ถนนยิ่งสงบ รถยิ่งน้อย คนยิ่งสบายใจ ลองนึกภาพย่านที่เต็มไปด้วยรถพลุกพล่าน ทางเดินก็ไม่มี คนเดินถนนย่อมไม่รู้สึกปลอดภัยและต้องเร่งรีบ
นักออกแบบผังเมืองและผังอาคารจึงเริ่มให้ความสนใจกับทางเดินกันมากขึ้น ในแง่ของผังเมือง – การออกแบบพื้นที่เพื่อลดความเหงาและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน นักวางผังเมืองจะพยายามทำให้เมืองเหมาะกับการเดินมากที่สุด การออกแบบ เช่น ทางเท้าที่กว้าง การประดับด้วยต้นไม้ ม้านั่ง ไปจนถึงการออกแบบเพื่อชะลอการจราจรและเบี่ยงรถต่างๆ ออกไปจากพื้นที่ให้มากที่สุด ในหลายพื้นที่การออกแบบถนน นอกจากจะออกแบบที่ถนนน่าเดินเพื่อให้คนออกมาเดินแล้ว ถนนเหล่านั้นยังได้รับการออกแบบให้นำคนเข้าไปหากัน คือเดินๆ ไปแล้วมีโอกาสที่จะสวนกันมากขึ้น พบปะกันมากขึ้นซึ่งก็อาจนำไปสู่การพูดคุยปฏิสัมพันธ์กันภายใต้บรรยากาศดีๆ
Neighborhood Square
ปัญหาของพื้นที่เมืองคือการที่ทุกตารางนิ้วเป็นเงินเป็นทอง กลายเป็นพื้นที่ของตึกสูง พื้นที่เช่นจัตุรัสย่านการค้าเล็กๆ อันเป็นส่วนสำคัญของชุมชนกำลังจะหายไป การที่ถนนหนทางในเมืองคับคั่ง คับแคบ และอันตรายเกินกว่าที่เด็กๆ หรือคนชราจะสามารถออกมาเดินได้ ทั้งเด็กและคนแก่จึงต้องอยู่ในบ้านและประสบกับความเหงา ลุกลามไปจนถึงเริ่มเกิดปัญหาทางบุคลิกภาพและการเข้าสังคม
พื้นที่การค้าและจัตุรัสเล็กๆ จึงเป็นพื้นที่สำคัญที่คนในย่านสามารถมาใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่สาธารณะได้ มีการสำรวจและสังเกตการณ์ว่าเมื่อคนแก่เดินเข้าพื้นที่ดังกล่าว ปฏิสัมพันธ์ภายในพื้นที่ เช่น การพบปะพูดคุยเมาท์มอยเรื่องชาวบ้านกับคนอื่นๆ พาลูกหลานคนรู้จักเดินไปซื้อของ คนแก่จะมีความสุขขึ้น สำหรับเด็กๆ เองมีรายงานว่าเด็กๆ ที่ใช้เวลาอยู่บ้านตามลำพังแทนการออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน กับครอบครัวมีแนวโน้มประสบปัญหาเรื่องความมั่นใจในตัวเอง (self-esteem) มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำน้อยกว่าและไม่ค่อยกระฉับกระเฉง (active) ดังนั้นถ้าเรามีพื้นที่ให้คนเมืองได้ใช้ ได้พบปะ ได้เล่น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ย่อมส่งผลให้เราเหงาน้อยลง คุณภาพชีวิตดีขึ้นบ้าง
Pocket Park
ตามรายงานของออสเตรเลียที่พยายามปรับเมืองให้เหงาน้อยลงด้วยการออกแบบ ในรายงานของ Grattan Institute บอกว่าเราอาจไม่ต้องแก้ไขด้วยการลงทุนอะไรใหญ่โตมโหฬารแต่อาจทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ การสร้าง pocket park หรือสวนขนาดเล็กจากพื้นที่รกร้างเองก็เป็นวิธีการหนึ่ง แง่หนึ่งก็คล้ายๆ กับการมีพื้นที่จัตุรัสให้ชาวเมืองในย่านนั้น สวนต้นไม้เล็กๆ เป็นพื้นที่หย่อนใจที่ดึงดูดให้คนมาใช้เวลาในพื้นที่เดียวกัน นำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากขึ้น
มีหลายเมืองใหญ่ที่ใช้การแก้ปัญหาความเหงาและกระตุ้นให้คนมาปฏิสัมพันธ์กันผ่านการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสวนและพื้นที่ทำกิจกรรม ช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐฯ ในลอสแอนเจลิสเมืองใหญ่มีอสังหาริมทรัพย์มากมายที่ถูกปล่อยร้าง นักวางผังเมืองจึงจัดการเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้างเหล่านั้นให้กลายเป็นสวนเล็กๆ ผลคือกลายเป็นว่าจากสวนเล็กๆ นั้นทำให้พื้นที่น่ารื่นรมย์ ส่งผลกับราคาอสังหาริมทรัพย์รอบๆ ไปอีก ในย่านชานเมืองของลอนดอนเองก็มีการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ใช้งานเป็นสวนเพื่อชุมชน ในสวนมีบริการและกิจกรรมตั้งแต่ดูนกไปจนถึงการแลกเปลี่ยนสิ่งของ ในสวนนั้นมีชาวเมืองในย่านกว่า 4,000 คนเข้าเป็นสมาชิกและใช้งานพื้นที่ ซึ่งก็พอจะเดาได้เนอะว่าจากเมืองแล้งๆ ที่เต็มไปด้วยพื้นที่ปิดตาย กลายเป็นสวนเล็กๆ ให้เราได้เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกัน จะพบรักบ้างก็งานนี้แหละ
Triangulation
หลังจากมีตัวพื้นที่สาธารณะ (public space) แล้ว อะไรจะทำให้คนมามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน William Whyte เป็นนักออกแบบผังเมืองที่ผลิตผลงานและทำงานเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 แนวคิด Triangulation เป็นแนวคิดที่ไวท์ใช้ ‘ตัวกระตุ้น’ ในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงผู้คนหรือกระตุ้นให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน
ตัวกระตุ้นที่ว่าก็แสนจะง่าย การมีแนวม้านั่งเล็กๆ หรืออนุสาวรีย์ในลานหรือจัตุรัสก็อาจนำไปสู่การนั่งพักและเริ่มบทสนทนาทำความรู้จักระหว่างคนแปลกหน้า ที่จัตุรัส Lonsdale Quay Plaza ในแวนคูเวอร์ แคนาดา มีการตั้งเปียโนสีฟ้าไว้หลังหนึ่ง ปรากฏว่าเปียโนนี้เป็นจุดดึงดูดที่ผู้คนเข้าไปให้ความสนใจ กดเล่น และมีปฏิสัมพันธ์ทำความรู้จักพูดคุยกันในประเด็นรอบๆ ตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
ecourbanismworldwide.wordpress.com