ผมไม่เคยไปนิวยอร์ก ผมเลยนึกไม่ค่อยออกว่าสภาพท้องถนนของนิวยอร์กเป็นยังไง
โอเค ก็พอได้เห็นในภาพยนตร์ สารคดี หรือภาพถ่ายอยู่บ้าง แต่ถ้าจะบอกว่าการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ เหล่านั้นทำให้ผมพอเข้าใจถึงปัญหาการจราจรบนท้องถนนของนิวยอร์กขึ้นมาบ้าง ก็คงเป็นการขี้โม้ อวดอ้างในระดับที่ไม่น่าเป็นไปได้ เช่นนี้เลยทำให้การอ่าน Streetfight : Handbook For An Urban Revolution หนังสือที่ผมพูดถึงประจำสัปดาห์นี้เป็นไปอย่างทุลักทุเลอยู่สักหน่อย เพราะไม่เพียงแต่จะเห็นภาพการจราจรของนิวยอร์กแบบขมุกขมัวเท่านั้น ตัวผมเองก็ไม่ค่อยได้คลุกคลีกับหนังสือจำพวกการวางผังเมืองและแก้ปัญหาการจราจรสักเท่าไหร่ด้วย
disclaimer ไปเสียยืดยาว มาว่าที่ตัวเนื้อหากันดีกว่าครับ อย่างที่ได้เกริ่นไป Streetfight เป็นหนังสือที่พูดถึงถนนของมหานครนิวยอร์ก เขียนโดย Janette Sadik-Khan ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยปฏิบัติงานเป็น Transportation Commisioner ประจำนิวยอร์ก ระหว่างปี 2007 – 2013 ในสมัยของนายกเทศมนตรี Michael Bloomberg ครับ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นบันทึกต่อโครงการและความสำเร็จต่างๆ ของตัว Khan เอง ที่เข้ามาจัดระเบียบ และวางระบบให้กับการจราจรบนท้องถนนของนิวยอร์กนั่นเองครับ
โครงการเด่นๆ ที่ทำให้ Khan กลายเป็นที่รู้จักและสร้างคุณูปการสำคัญให้กับเมืองแห่งนี้ ก็เช่น การสร้างพลาซ่าให้คนเดินถนนกว่า 60 แห่งรอบๆ เมือง, การจัดให้มีเลนจักรยานในแมนฮัตตันและขยายเลนจักรยานในพื้นที่อื่นๆ ภายในเมืองที่มีระยะทางรวมกันหลายร้อยไมล์, การปรับโฉมไทม์สแควร์เสียใหม่ รวมถึงเพิ่มเส้นทางพิเศษให้กับรถเมล์เฉพาะสายเพื่อให้การคมนาคมเป็นไปอย่างราบรื่นและเฉพาะเจาะจงต่อการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มากขึ้น พูดอีกอย่างได้ว่า ความพยายามของ Khan ระหว่างการดำรงตำแหน่งของเธอนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความสะดวกสบาย และความสมเหตุสมผล ที่ทำให้ประชาชนนิวยอร์กหันมาใช้ขนส่งมวลชน หรือจักรยาน แทนการสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ โดยอาศัยรถยนต์ส่วนตัวนั่นเองครับ
เมื่อรู้สึกว่าการขับรถกลายเป็นเรื่องยุ่งยากประหนึ่งภาระ เมื่อระบบขนส่งสาธารณะตอบโจทย์ต่อการเดินทาง ให้ความคล่องแคล่วต่อการไปโน่นมานี่มากกว่าการคอยวนหาแต่ที่จอดรถ เมื่อประชาชนรับรู้และตระหนักว่าถนนไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรถยนต์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมียานพาหนะประเภทอื่นๆ รวมถึงการเดินที่มักถูกหมางเมินก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ถนนจึงได้กลายเป็นเส้นสายที่น่าอภิรมย์ เต็มไปด้วยมิติสังคมอันหลากหลาย และความเป็นไปได้ต่อการสร้างสรรค์อีกมากมายที่ผุดโผล่ขึ้นอย่างมีชีวิตชีวา
แต่อย่างที่เห็นจากชื่อหนังสือนั่นแหละครับ ว่าแม้ผลงานของ Khan จะน่าชื่นชมและควรปรบมือให้ดังๆ เพราะกว่าเธอจะผลักดันโครงการต่างๆ ไปจนถึงจุดนั้น การต่อสู้สารพัดสารพันย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา Streetfight ไม่ได้หมายถึงการต่อสู้ของ Khan ต่อความอลหม่านของท้องถนนนิวยอร์กเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการต้องงัดข้อและสร้างความเข้าใจต่อชุมชนต่างๆ ที่ก็ไม่ได้เห็นพ้องต่อแนวคิดจัดระเบียบ และการเข้ามาของแนวคิดใหม่ๆ ที่อาจส่งผลให้พื้นที่หนึ่งๆ ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่คนในพื้นที่ไม่คิดจะยินยอมง่ายๆ อย่างเช่น การไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องเลนจักรยาน (ที่ในช่วงปี 2007 ยังถือเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับชาวนิวยอร์กอยู่มากทีเดียว) ตัดผ่านหน้าบ้านของใครสักคน เดิมทีมันเคยเป็นถนนปกติ แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับต้องแบ่งเลนนั้นให้กับยานพาหนะชนิดอื่น กลายเป็นเรื่องที่คนในหลายพื้นที่รับไม่ได้ แถมเมื่อบวกกับความเชื่อที่ว่า พื้นที่บนถนนยิ่งน้อยลงเท่าไหร่ รถก็จะยิ่งติดมากขึ้นเท่านั้น ก็ส่งผลให้ช่วงหนึ่งมีชาวนิวยอร์คออกมาคัดค้านการสร้างเลนจักรยานกันอย่างดุเดือดเลยล่ะครับ
ปัญหาหนึ่งของการออกแบบเมืองที่ Khan ชี้ให้เห็นคือ จักรยานและการสัญจรเดินเท้าไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่ากับรถยนต์ กล่าวคือ จักรยานและการเดินถูกมองว่าเป็นพระรองของบนถนนมาตลอด มันจึงไม่แปลกที่สิ่งปลูกสร้างต่างๆ หรือกระทั่งถนนเองได้ถูกขยายแล้วขยายเล่าเพียงเพื่อจะรองรับรถยนต์ พระเอกของท้องถนนที่ในช่วงเวลาหนึ่งได้เพิ่มปริมาณขึ้นทุกวันจนคล้ายจะไม่สิ้นสุด
Khan พาเราย้อนกลับไปทบทวนถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของเมืองนิวยอร์ก นั่นคือการปะทะกันระหว่าง Robert Moses และ Jane Jacob ในช่วง 1960 ว่าด้วยการวางผังเมืองของมหานครแห่งนี้ โดยฝั่ง Moses นั้นเห็นภาพนิวยอร์กในอนาคตว่าเป็นเมืองแห่งรถยนต์อย่างแท้จริง และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ก็ควรเกิดขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการคมนาคมโดยรถยนต์เป็นสำคัญ
ต่างกับ Jacob ที่ต้องการจะเป็นพลังให้กับทางเลือกอื่นๆ (give voice to alternative) และมองเห็นนิวยอร์กในอนาคตว่าเป็นเมืองที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงมนุษย์เป็นหลัก ปลูกสร้างโดยคำนึงเรื่องคนมากกว่าเรื่องรถ ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ในหลายๆ โอกาส Moses มักถูกนำเสนอในภาพของผู้ร้าย โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาของเมืองที่เต็มไปด้วยรถยนต์คืออะไร แต่ Khan เอง กลับไม่ได้คิดจะชี้นำผู้อ่านให้คิดจะด่าทอ Moses และชื่นชมแต่ Jacob เสียฝ่ายเดียว เพราะ Khan ก็ยอมรับว่าตัว Moses เองก็มีคุณูปการในการสร้างนิวยอร์กให้เป็นอย่างทุกวันนี้ เป็นเมืองที่พลุกพล่าน เต็มไปด้วยผู้คนมากมายหลายชีวิต และเต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจที่แสนอลหม่านแต่ก็ตื่นตาตื่นใจ
การโทษอดีตหรือประวัติศาสตร์ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา แต่เป็นการเลือกเรียนรู้ และหยิบฉวยผลึกของกาลเวลาที่พ้นผ่านเพื่อเรียนรู้และปรับใช้กับปัจจุบัน พร้อมทั้งระแวดระวังต่ออนาคตต่างหากคือบทเรียนที่ Khan ได้เรียนรู้จากการการปะทะกันระหว่าง Jacob และ Moses
Streetfight ถือเป็นหนังสือที่เปิดหูเปิดตาและอ่านสนุกทีเดียวครับ โดยเฉพาะใครที่สนใจเรื่องการวางผังเมืองน่าจะไหลลื่นไปกับวีรกรรมต่างๆ ในจัดสรรการจราจรของ Khan และแม้ว่าพื้นที่ท้องเรื่องจะเป็นมหานครที่ตั้งอยู่อีกซีกโลก ภายใต้บริบทที่ย่อมจะแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะจุดประกายบางอย่างให้กับใครก็ตามที่หงุดหงิดกับการจราจรบนท้องถนนกรุงเทพฯ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันครับ