ที่พักก็เข้าไม่ได้ จะกลับบ้านก็ไม่มีรถ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา แม้จุดศูนย์กลางจะอยู่ที่พม่า แต่ไทยก็ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนไม่น้อย เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่หลายคนอาจไม่คาดคิดมาก่อน และไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ทำให้เราเห็นว่าการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเรื่องฉุกเฉินในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งพื้นที่สาธารณะที่ไม่เพียงพอต่อการหลบภัย หรือทางเท้าที่ไม่เหมาะกับการเดินทางในวันที่ระบบขนส่งในเมืองหยุดทำงาน
แล้วทำไมพื้นที่สาธารณะและทางเดินเท้าจึงสำคัญในยามวิกฤติกันนะ?
ก่อนจะไปถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เราอยากชวนทุกคนมารู้จักเมืองที่ยืดหยุ่น (Urban Resilience) กันก่อน โดยแนวคิดนี้หมายถึงเมืองที่ทำให้เราสามารถอยู่รอด ปรับตัว และเติบโตได้ ไม่ว่าจะต้องเจอกับแรงกดดัน หรือความเปลี่ยนแปลงแบบไหนก็ตาม หากอิงตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ประชากรหลายร้อยล้านคนกำลังเผชิญกับภัยธรรมชาตินั้น แนวคิดเมืองที่ยืดหยุ่นนี้จึงเป็นกลยุทธ์ที่หลายๆ เมืองนำไปใช้ เพื่อรับมือกับวิกฤติทางธรรมชาติ ป้องกันการสูญเสียของผู้คนและบ้านเรือนจากภัยพิบัติได้ดีขึ้น
อันที่จริงการสร้างเมืองที่ยืดหยุ่นให้จับต้องได้สามารถทำได้หลายวิธี แต่หัวใจหลักคือ เมืองทั้งเมืองเป็นระบบ ทุกพื้นที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ เพราะหลายครั้งภัยธรรมชาติก็ไม่ได้เกิดขึ้นแบบแยกส่วน แต่ยังมักส่งผลกระทบไปทั้งเมือง
ดังนั้น พื้นที่สาธารณะหรือทางเท้าที่ทุกคนเข้าถึงได้ จึงเป็นเรื่องที่ถูกหยิบมาพูดถึง พร้อมกับตั้งคำถามถึงการออกแบบเมืองหลวงว่า เราเป็นเมืองที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหนกัน?
พื้นที่สาธารณะจำเป็นกว่าที่คิด
พื้นที่สาธารณะ เป็นหนึ่งในวิธีการออกแบบเมืองที่ยืดหยุ่น ในยามปกติพื้นที่สีเขียวเหล่านี้มักถูกใช้ประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ การพบปะผู้คน การดูแลสุขภาพ ความสวยงามของเมือง หรือการลดมลภาวะ แต่อันที่จริงการมีพื้นที่แบบนี้อยู่ในเมืองยังมีความสำคัญมากกว่านั้น โดยเฉพาะช่วงเวลาเกิดภัยพิบัติซึ่งผู้คนต้องการที่หลบภัย
งานวิจัย ‘Integration of disaster management strategies with planning and designing public open spaces’ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่เปิดโล่งสาธารณะเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ อธิบายว่า การออกแบบเมืองที่ยั่งยืนไม่ได้มีพื้นที่สาธารณะที่เปิดโล่งสำหรับเพิ่มคุณภาพชีวิตเท่านั้น แต่ยังต้องมีพื้นที่เหล่านี้เพื่อรองรับกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงแค่สวนสาธารณะเท่านั้นนะ แต่รวมถึงจัตุรัสเล็กๆ ไปจนถึงสนามเด็กเล่นในเมืองด้วย
ที่ผ่านมาเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม พื้นที่เหล่านี้ก็แทบจะกลายร่างเป็นจุดอพยพทันที และเป็นเหมือน ‘เมืองแห่งที่ 2’ ซึ่งทดแทนความเสียหายของระบบเมืองปกติ ไม่ว่าจะเป็นการรวมพล จุดพักพิง จุดแจกจ่ายสินค้าและบริการ หรือที่อยู่อาศัยชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม ก็มีเมืองหลายเมืองที่ออกแบบสวนสาธารณะให้มีหลายฟังก์ชัน เช่น โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มักเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวและไฟไหม้บ่อยครั้ง สวนสาธารณะหลายแห่งเลยออกแบบให้รองรับภัยพิบัติไปด้วย อย่างสวนฮิคาริงาโอกะ (Hikarigaoka Park) ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1940 สวนแห่งนี้นอกจากจะออกแบบให้กลมกลืนกับชีวิตประจำวันของผู้คนให้เข้ามาเดินเล่น หรือพักผ่อนระหว่างวันแล้ว ยังถูกออกแบบให้รองรับภัยพิบัติด้วย
สวนฮิคาริงาโอกะในช่วงปกติ มีทั้งเขตรักษาพันธุ์นก พื้นที่ตั้งแคมป์ สนามยิงธนู แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติก็ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับผู้ประสบภัยได้ถึง 270,000 คน โดยมีแบตเตอรี่ อุปกรณ์ทำอาหาร และเสบียง แถมยังเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ถ่ายทอดคำสั่งจากสวนป้องกันภัยพิบัติ Tokyo Rinkai ไปยังประชาชน
ถัดไปไม่ไกลจากญี่ปุ่น ที่จีนเองก็มีสวนสาธารณะหยานเหวยโจว (Yanweizhou) ที่ถูกฟื้นฟูปรับปรุงพื้นที่ให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะในการรับน้ำยามฉุกเฉิน ขณะเดียวกันก็ดูแลระบบนิเวศและสุขภาพของผู้คนไปด้วย
ดังนั้น จะเห็นว่าพื้นที่สาธารณะไม่ได้มีหน้าที่แค่ให้ผู้คนเข้ามาพักผ่อนในยามปกติอย่างเดียว แต่การออกแบบที่เข้าใจบริบทของเมือง ก็สามารถปรับให้พื้นที่สาธารณะสามารถรองรับการใช้งานได้หลากหลายแบบ แม้จะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม
เมืองที่ทุกคนเดินได้แม้วันที่ฉุกเฉิน
นอกจากพื้นที่สาธารณะแล้ว ทางเดินเท้าก็สำคัญในยามฉุกเฉินไม่แพ้กัน
เมืองเดินได้ (walkable cities) เป็นแนวคิดของเจฟฟ์ สเปก (Jeff Speck) นักวางผังเมืองชาวอเมริกัน ที่อธิบายถึงเมืองที่ผู้คนสามารถเดินได้ (walkability) เน้นที่การสร้างเมืองให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัว เช่น เราสามารถเดินไปยังจุดสำคัญในเมืองได้ใน 15 นาที, การลดการแบ่งแยกพื้นที่, การรวมที่อยู่อาศัย ร้านค้า ความบันเทิงไว้ในที่เดียวกัน, การมีทางเท้ากว้างและปลอดภัย หรือมีจุดร่มเงาให้พัก ฯลฯ
ไม่ต่างจากการใช้พื้นที่สาธารณะ ที่ผ่านมาเมืองเดินได้ถูกมองว่ามีประโยชน์มีแง่ของตัวเงินและสิ่งแวดล้อม อย่างการลดค่าเดินทาง ช่วยให้ร้านรวงค้าขายดีขึ้น หรือช่วยให้เมืองมีชีวิตชีวา แต่ในยามฉุกเฉิน ทางเดินเท้าเองก็สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของเราไม่แพ้กัน เมื่อขนส่งในเมืองหยุดชะงักหรือไม่สามารถใช้รถยนต์ได้ ผู้คนจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเดินทางด้วยเท้าของตัวเอง
งานวิจัย ‘Walkability and Resilience: A Qualitative Approach to Design for Risk Reduction’ ศึกษาการออกแบบเมืองเดินได้ เพื่อลดความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยพิบัติ อธิบายว่า การทำให้ทุกคนสามารถเดินไปถึงสถานที่สำคัญๆ ในระยะทางใกล้ๆ บนทางเท้าที่ดี ถือเป็นสิทธิในการดำรงชีวิต เพราะเราอาจไม่สามารถมีชีวิตรอดได้เลย หากไม่สามารถเดินได้อย่างปลอดภัย และเพื่อให้ทุกคนสามารถอพยพในวันที่เจอภัยพิบัติได้อย่างปลอดภัย การออกแบบทางเดินที่เหมาะสมก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
หลายเมืองในปัจจุบันก็มีการใช้แนวคิดเมืองเดินได้ เช่น มิลาน ประเทศอิตาลี หรือโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ผู้คนสามารถเดินไปทำธุระได้ไม่ถึง 15 นาที นอกจากนี้ ประเทศอาร์เมเนีย ซึ่งอยู่ในเขตเสี่ยงแผ่นดินไหว ก็ยังใช้แนวคิดนี้ในการออกแบบเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหวด้วย อย่างการปรับปรุงที่อยู่อาศัยด้วยการให้พื้นที่แต่ละแห่งในเมืองเชื่อมต่อกัน รวมถึงปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้ปลอดภัย ครอบคลุมทั้งเมืองและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อใช้เป็นที่อพยพและมีส่วนร่วมของคนในเมืองในวันปกติ
ทั้งพื้นที่สาธารณะและทางเท้าที่ทุกคนเดินได้ ต่างก็เป็นสิ่งที่ใครหลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ แต่ที่ผ่านมาพื้นที่เหล่านี้อาจยังไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าไหร่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์การใช้งาน การดูแลรักษา หรือความสวยงาม
แต่ถึงอย่างนั้นจากงานวิจัยและตัวอย่างอีกหลายประเทศก็ทำให้เห็นว่า เราสามารถออกแบบเมืองให้รองรับกับความเป็นอยู่ของผู้คน รองรับกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ไปพร้อมๆ กับการดูแลคุณภาพชีวิตของทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องเลือกทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปได้
ยิ่งออกแบบเมืองให้มีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุไม่คาดฝันได้ดีเท่าไหร่ ก็หมายถึงเมืองของเราสามารถเติบโตต่อไปได้ และสุดท้ายก็ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองดีขึ้นตามเช่นกัน
อ้างอิงจาก