ครั้งหนึ่งพวกเราเชื่อกันว่าระบบนิเวศสามารถหวนกลับมางอกงามได้อีกครั้งไม่ว่าไฟป่าจะรุนแรงแค่ไหน แต่ในอนาคตป่าทั่วโลกอาจอยู่ในภาวะ ‘หมดแรง’ ไม่สามารถฟื้นคืนได้ จน ณ ตำแหน่งนั้นอาจไม่หลงเหลือป่าและไม่เหลือโอกาสให้เจริญเติบโตอีก
ไฟป่า (wildfires) เป็นปรากฏารณ์ทางธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเกิดขึ้นได้จากน้ำมือมนุษย์ กรณีไฟป่าในออสเตรเลียแสดงให้เห็นถึงพลังของไฟที่มีอำนาจคาดเดาได้ยาก เหนือการควบคุม คร่าชีวิตสรรพสิ่งภายในเวลาอันรวดเร็ว เปลี่ยนท้องฟ้าให้เป็นสีเลือดและเหลือร่องรอยเพียงเถ้าธุลี
แต่ภายใต้อำนาจของการเผาผลาญนั้น ธรรมชาติยังสามารถลุกฟื้นคืนได้ พืชหลายชนิดมักมีโอกาสเติบโตหลังจากไฟป่าได้จัดการซากพืชที่ทับถมออก การอพยพของสัตว์บางชนิดจะเป็นโอกาสให้สัตว์อีกชนิดเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ และเมื่อปัจจัยทางสภาพแวดล้อมสุกงอม ป่าจะกลับคืนมาอีกครั้ง สมดุลแห่งการทำลายและการสร้างชีวิตมีบทบาทสลับไปมาเป็นพลังแห่งการหมุนเวียนนับล้านๆ ปี
จนกระทั่งโลกเราแปรเปลี่ยนไป (หรือเราแปรเปลี่ยนโลก) จนสมดุลนี้สั่นคลอน
มีงานวิจัยเผยเทรนด์ที่น่ากังวลว่า กลไกทางธรรมชาตินี้อาจถึงจุดที่ ‘เสียสมดุลทางชีวภาพ’ ไม่มีใครกล้าการันตีว่าป่าจะกลับมา ณ จุดเดิมที่เคยมอดไหม้ ไฟป่าในอนาคตอาจทวีความร้ายกาจขึ้นเรื่อยๆ จนความสามารถในการฟื้นคืนของพืชลดน้อยลง ราวกับว่า ‘ป่าหมดเรี่ยวแรง’ ขาดพลังหมุนเวียนที่ก่อให้กำเนิดชีวิต
ไฟป่าเผาได้ ก็สร้างได้
โดยปกติแล้วไฟป่าเกิดขึ้นได้ทั่วทุกมุมโลก หากไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยมนุษย์มาบวกเพิ่ม ไฟป่าก็ยังเกิดขึ้นได้เองอันเป็นกลไกทางธรรมชาติที่แสนสามัญ ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป ความร้อนแรงของเปลวไฟจะช่วยเผาซากไม้ที่ทับถมบนผืนป่า เป็นการเคลียร์หน้าดินเพื่อให้แร่ธาตุในพืชกลับคืนสู่ผิวดินช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ไฟจะช่วยให้ลูกไม้ที่มีเปลือกหนาแข็งลอกผิวนอกออกให้เมล็ดพืชภายในมีโอกาสเติบโต แร่ธาตุต่างๆในดินเป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับต้นกล้าอ่อนและสัตว์ขนาดเล็กได้ใช้ประโยชน์ ไฟจึงมีอรรถประโยชน์ต่อชีวิตเมื่อปัจจัยทางธรรมชาติอยู่ในสมดุลและเอื้ออำนวยให้เกิดชีวิตใหม่
แต่หากไฟป่าลุกลามกินเวลายาวนานเกินไป จากที่ควรจะดับภายในไม่กี่วัน แต่ลากยาวนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ในขณะที่ดินเผชิญสภาวะแห้งแล้งติดต่อกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัด และอิทธิพลของภัยแล้งยาวนานสะสม จะยิ่งทำให้ไฟป่าสร้างความเสียหายจนยากที่หลงเหลือปัจจัยเอื้อให้พืชจะเติบโต นักวิจัยสงสัยว่า เมื่อโลกเผชิญสภาวะเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ป่าจะสามารถกลับคืนมาได้อย่างไร
โมเดลหนึ่งที่นักวิจัยใช้คือ การลงไปศึกษาเหตุการณ์ไฟป่าครั้งสำคัญและอัตราการเจริญเติบโตของพืชหลังไฟไหม้ มีงานที่น่าสนใจที่น่าจะกล่าวถึงปรากฏการณ์นี้คืองานของนักนิเวศวิทยา คามิลล์ สตีเฟ่น รูมันน์ (Camille Stevens-Rumann) จากมหาวิทยาลัย Colorado State University ทีมวิจัยเลือกพื้นที่ป่าในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นขอบเขตในการวิจัย โดยพื้นที่นี้ทีมวิจัยเลือกป่ามากถึง 1,500 จุด ครอบคลุมหลายสภาพทางระบบนิเวศ ไล่สำรวจเหตุการณ์ไฟป่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 – 2011 ซึ่งเกิดไฟป่าครั้งรุนแรงราว 52 ครั้งอันเป็นเหตุการณ์รุนแรงกินเวลานานหลายสัปดาห์และสร้างความเสียหายเป็นพื้นที่วงกว้าง
ทีมวิจัยเดินทางไปสำรวจเมล็ดพืช ต้นกล้าอ่อน และความหนาแน่นของต้นไม้ต่อตารางเมตร แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันว่า ป่ามีศักยภาพในการฟื้นตัวอย่างไร ช่วงปีหลังๆ ที่มีเหตุการณ์ไฟป่าทำให้ความอุดมสมบูรณ์ลดลงหรือไม่ จากนั้นนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับเทรนด์สภาพภูมิอากาศในแต่ละช่วง ค่าอุณหภูมิ ความชื้น ซึ่งพืชจำเป็นต้องอาศัย นอกเหนือจากแร่ธาตุเพื่อการเจริญเติบโต
ข้อมูลที่ได้ค่อนข้างน่าตกใจทีเดียว เพราะไฟป่าในช่วงปี ค.ศ.1988 นั้น เราสูญเสียพื้นที่ป่าราว 19% ที่แสดงว่าป่ายังสามารถฟื้นคืนจากเถ้าธุลีได้ แต่เมื่อเข้าช่วงปี ค.ศ.2000 เป็นต้นไป ป่าสูญเสียพื้นที่จากไฟป่าถึง 32% โดยไม่สามารถงอกเงยกลับคืน เพียงเวลาไม่กี่ปี เราเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้เด่นชัดขึ้นอย่างน่ากังวล ข้อมูลนี้เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยยะคือ อากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีช่วงหน้าแล้งที่ยาวนานขึ้น ความปั่นป่วนที่รุนแรงนี้ทำให้เมล็ดพืชไม่มีโอกาสเพียงพอในการเติบโต ในบางพื้นที่หลังไฟป่านั้นโอกาสที่พืชงอกจากเมล็ดอาจลดต่ำลงเหลือ 0% ดังนั้นโอกาสที่พืชจะกระจายตัวจนมีความหนาแน่นเป็นป่าได้จึงเหลือเพียง 0% พื้นที่สีเขียวจึงแห้งผากไม่ต่างจากเถ้าธุลี
ไฟป่าครั้งหลังๆ มีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น ยากที่จะคาดเดาทิศทาง กินเวลานานหลายสัปดาห์ ควันไฟจะยิ่งอัดคาร์บอนไปยังชั้นบรรยากาศ กระตุ้นให้เกิดภาวะเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ป่าที่เคยเป็นที่มั่นสำคัญในการดูดซับคาร์บอนจึงไม่สามารถทัดทานกับสมดุลนี้ได้ ไฟจึงลุกลามพื้นที่เขียวไปเรื่อยๆ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ต่อระบบนิเวศ
อย่างไรก็ตามแม้ความชุ่มชื่นของดินจะหายไปแล้วจนไม่สามารถปลูกพืชใดๆ ได้ งานวิจัยจึงแนะนำให้มีการปลูกพืชทดแทนด้วยชนิดพันธุ์ที่เหมาะกับความแห้งแล้ง เป็นการปรับปรุงป่าให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่การพยายามเปลี่ยนให้เป็นเหมือนในอดีตที่ยากและสิ้นเปลืองต่อการบริหารจัดการมากกว่า
แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะใช้เวลาศึกษาด้วย Timeline ของป่าที่ไม่ยาวนานนัก เป็นเพียงช่วงเวลา 30 ปี แต่จากข้อมูลแสดงให้เห็นถึงอัตราการสูญเสียป่าจากไฟอย่างรวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งอัตราการสูญเสียนั้นรวดเร็วกว่าอัตราการเกิดใหม่ของพืชถึง 70% ป่าจะเติบโตไม่ทัน กลับมามองที่ประเทศไทยที่ขณะนี้เรากำลังเผชิญความแห้งแล้วอย่างรุนแรงและคาดว่าจะกินเวลานานอีกหลายเดือน แม้จะยังไม่มีปรากฏการณ์ไฟป่าที่รุนแรงติดต่อกันแบบในออสเตรเลีย แต่หากเกิดขึ้นเราน่าจะสูญเสียพื้นที่ป่าไปไม่น้อย
ถึงแม้เรามักจะต่อว่ามนุษย์ที่เป็นผู้เร่งให้เกิดหายนะ แต่พลังของชุมชนเองยังมีส่วนช่วยในการป้องกันไฟป่าได้หลายครั้งและมีประสิทธิภาพมากเสียด้วย โดยงานวิจัยของ ผศ. ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโครงการการแบ่งปันสิทธิในป่าจากรัฐสู่ชุมชนกับการรักษาสิ่งแวดล้อม พบว่าการอนุรักษ์แบบสุดโต่งที่กีดกันคนออกจากป่า ไม่ได้ช่วยรักษาผืนป่าที่ยั่งยืนได้แท้จริง แต่เป็นการผลักไสคนออกจากพื้นที่ป่า ชาวบ้านจึงถูกมองเป็น ‘ผู้รุกล้ำ’ แต่จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ป่าที่มีชาวบ้านดูแลอยู่หรือที่เรียกว่า ‘ป่าชุมชน’ มีโอกาสเกิดไฟป่าน้อยกว่าเมื่อมองผ่านภาพรวม Heatmap ของประเทศ
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้มีอำนาจรัฐยังติดกรอบคิดว่า ป่าคือทรัพยากรของรัฐที่ต้องอนุรักษ์ มีแต่รัฐเท่านั้นที่มีหน้าที่อนุรักษ์ กรอบคิดเช่นนี้นำมาซึ่งวิธีการแก้ปัญหาแบบเดียว คือไล่คนออกจากป่าให้หมด อาจจะถึงเวลาที่เราควรมองป่าในมิติใหม่ ป่าไม่ใช่ทรัพยากรของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่รัฐเท่านั้นที่มีหน้าที่อนุรักษ์ป่า แต่ป่าเป็นทรัพย์สินร่วมกัน คนในพื้นที่สามารถอยู่ร่วมกับป่าและอนุรักษ์ป่าได้ด้วย
ถึงไฟป่าจะมีอำนาจร้ายกาจ แต่เมื่ออยู่ภายใต้การควบคุม ไฟป่าก็ยังสร้างชีวิต การนำมนุษย์กลับมาเข้าใจสมดุลนี้อาจทำให้เราอยู่กับธรรมชาติอย่างเข้าใจขึ้นแทนที่จะหวาดกลัวต่ออนาคตต่อไปอย่างไร้หวัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Evidence for declining forest resilience to wildfires under climate change