เราภูมิใจที่แค่ไหน เวลาตอบว่าเราทำอาชีพอะไร? สำหรับคนตอบเอง อาจจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องภูมิใจเป็นพิเศษ หรือเขินอายที่จะต้องตอบ เพราะเราเป็นคนเลือกเอง และอยู่กับมันแทบทุกวันต่อสัปดาห์ แต่ความคาดหวังนั้นมักจะมาคนถามเสียมากกว่า “อาชีพนี้หรอกหรอ ไปเต้นกินรำกินซะแล้ว” “คืออะไร? มันได้เงินมาพอใช้หรอ?” “ทำไมไม่ทำข้าราชการล่ะ?” อีกสารพัดคำถามต่อการหาเงินเลี้ยงชีพ มาดูกันว่าเราจะรับมืออย่างไร เมื่อต้องเจอคำถามที่ก้าวก่ายถึงอาชีพ
อาจเพราะหลายๆ อาชีพถูกนำไปยึดโยงอยู่กับคุณสมบัติบางอย่าง จนกลายเป็นการแปะป้ายให้กับคนที่ทำอาชีพนั้นไปในตัว บางอาชีพถูกมองว่า มีเกียรติ มีความน่าเชื่อถือ บางอาชีพอาจถูกมองว่าเป็นคนฉลาด หัวดี หรือบางอาชีพก็ถูกมองว่ามีบุญคุณ เป็นผู้มีพระคุณ แต่ในทางกลับกัน ก็มีอาชีพที่ถูกแปะป้ายในด้านลบอยู่ บางอาชีพถูกมองว่าเต้นกินรำกิน บางอาชีพก็ถูกมองว่าเพ้อฝัน รายได้ไม่เพียงพอ หรือบางอาชีพถูกมองว่าเป็นผู้ให้บริการ ไม่ได้มีเกียรติเท่าอาชีพอื่นๆ
เรามักจะเห็นข่าวที่แสดงความชื่นชม หรือตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อเห็นคนมีชื่อเสียงหยิบจับอาชีพอื่นๆ อย่างการค้าขาย ร้านอาหาร งานบริการ ไปด้วย จนกลายเป็นข่าวคลิกเบท ‘จะต้องอึ้งเมื่อรู้ว่าเขาทำสิ่งนี้’ ‘ไม่คิดว่าจะตกอับขนาดนี้’ พอได้อ่านเนื้อหาแล้ว ก็ต้องเอามือทาบอก แล้วถามอีกทีว่า มันเท่านี้เองหรอ? (แต่ช่วงหลังๆ นี้ใครๆ ก็หันมาหยิบจับค้าขายออนไลน์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป)
เราเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า ‘job shaming’ การแสดงออกในด้านลบที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า แต่ละอาชีพมีความไม่เท่ากันอยู่ในหลายๆ ด้าน ชื่อเสียง รายได้ ความมั่นคง แต่โดยรวมคือ ความภาคภูมิใจต่ออาชีพนั้นๆ มันเลยทำให้เกิดเส้นแบ่งระหว่างอาชีพที่ใครๆ ก็ยกย่อง ชื่นชม กับอาชีพธรรมดาๆ ไม่ดีและไม่แย่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้น่าภูมิใจเป็นพิเศษ ร้ายที่สุดคือ บางอาชีพถูกมองว่าไม่ใช่อาชีพที่น่าภูมิใจด้วยซ้ำ
ทำให้เห็นว่า หลายคนยังรู้สึกว่าดารา นักแสดง เป็นอาชีพที่มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม ไม่อาจมาหยิบจับอาชีพอื่นๆ ที่ถูกมองว่าไม่ได้มีพาวเวอร์เท่ากันได้ จึงกลายเป็นเรื่องน่าแปลกใจ หากวันหนึ่งนักแสดงเกิดต้องมาขายของ ทำงานบริการ
ซึ่งจริงๆ แล้วอาชีพอาชีพหนึ่ง มีคนหลากหลายแบบ หลากหลายความถนัด หรือบางทีอาจจะถนัดมากพอจนไปทำอาชีพอื่นก็ได้ แต่นี่คือสิ่งที่เราเลือกจะทำ นอกจากนี้แต่ละอาชีพต่างถูกขับเคลื่อนด้วยคนคนหนึ่ง หรือคนหลายคน ที่มีความเป็นมนุษย์เท่ากันทุกคน และหากจะมีอะไรที่ไม่เหมือนกันในแต่ละอาชีพ ก็คงเป็นความสามารถ ความเชี่ยวชาญ หรือคุณสมบัติอันเป็นฟันเฟืองแห่งความหลากหลาย ที่คอยขับเคลื่อนสังคมต่อไปในทุกวัน
คำถามที่กระทบถึงความภาคภูมิใจในอาชีพ จะยังคงมีต่อไป หากหลายคนยังไม่เลิกแปะป้ายคุณสมบัติไว้ที่แต่ละอาชีพว่า อาชีพนี้เพื่อคนฉลาดนะ อาชีพนี้เพื่อมีหน้ามีตาในสังคม อาชีพนี้เพื่อความมั่นคงที่มากกว่า…
เมื่อต้องเจอคำถามเหล่านี้จากสังคมรอบข้าง (อาจจะเน้นหนักไปที่สังคมรอบบ้านก็เป็นได้) เราจะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไรดี?
เราทำอะไร ลองอธิบายสั้นๆ
หากเกิดความไม่เข้าใจต่ออาชีพ ว่าอาชีพนี้ทำอะไรกันนะ ไม่เคยได้ยินเลย หรือถูกเข้าใจผิดว่าทำอย่างอื่น อย่างฟรีแลนซ์ ที่ไม่ใช่คนตกงาน กราฟิกดีไซน์เนอร์ ที่ไม่ใช่คนวาดรูป ลองนิยามอาชีพของตัวเองง่ายๆ ด้วยงานที่เรา แบบสั้นๆ ม้วนเดียวจบ หรือด้วยบริบทที่มันเข้าใจง่าย หรือถ้าหากเราอยู่ในอาชีพที่เฉพาะทางมาก ลองบอกเท่าที่จำเป็นก็ได้
โดนขิงเรื่องรายได้ ให้เอาความจริงเข้าสู้
อาชีพที่ทำอาจโดนดูแคลนว่าเป็นอาชีพที่ไม่ทำเงิน ไม่ได้มีรายได้มากพอจะเลี้ยงปากท้อง “ทำงานนี้ เงินพอใช้หรอ?” มันอาจจะทั้งจริงและไม่จริง การตอบแบบตัดปัญหาไปในเชิงว่า “ก็ไม่พอจริงๆ นั่นแหละ” อาจเป็นมุกตลกได้ไม่กี่นาที แต่เราอาจจะถูกมองว่าไม่ได้ยืนอยู่บนความมั่นคงอย่างที่ควร ลองตอบถึงรายได้โดยประมาณ หรือสวัสดิการอื่นๆ ที่เราได้
ความหลากหลาย มีในทุกอาชีพ
หากโดนรุกหนักขึ้น ถึงรายละเอียดในอาชีพ ลองอธิบายถึงความหลากหลายที่เจอมา แต่ละคนที่เราทำงานด้วย มีความถนัดที่แตกต่างกันไปอย่างไรบ้าง บางคนมีความถนัดเฉพาะทางในหน้าที่ บางคนมีความสามารถพิเศษอื่นๆ ไม่ใช่เพื่อเอามาขิงกลับว่า “นี่ไง! ฉันไม่เก่ง แต่เพื่อนฉันเก่งโว้ย!” แต่เพื่อแสดงถึงความหลากหลายในอาชีพ ว่ามีคนหลายแบบที่มาทำงานเดียวกัน และในอาชีพอื่นๆ ก็จะเป็นแบบนี้เช่นกัน ความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาด ความแข็งแรง ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง
ลองมองแต่ละอาชีพด้วยสายตาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หนึ่งอาชีพ หนึ่งคน ที่เท่าๆ กันกับเรา อาจจะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำของอาชีพลดลงไปบ้าง ตราบใดที่เป็นอาชีพสุจริต เราสามารถภูมิใจกับมันได้เสมอ ในฐานะความฝันวัยเด็ก งานเลี้ยงปากท้อง หรือสิ่งที่เราตั้งใจเลือกมันเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก