ศาลรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนมีอยู่จริงไหม?
คำถามนี้ชวนให้นึกถึงกรณีของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ (Constitutional Court of Korea) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1988 ท่ามกลางบรรยากาศแห่งประชาธิปไตย หลังจากที่สาธารณรัฐเกาหลีต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการมานานกว่า 3 ทศวรรษ
ในโอกาสการเยือนประเทศไทย ยู นัมซอก (Yoo Nam-seok) ประธานศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ได้ขึ้นบรรยายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” (“The Constitutional Court on the Protection of the People’s Rights and Liberties”) เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา โดยมี ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่ล่าม
The MATTER ร่วมฟัง และสรุปสัมมนาพิเศษดังกล่าวไว้ในบทความนี้ ในฐานะกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1988 ช่วงที่ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้กำลังเบ่งบาน
ยู นัมซอก เล่าว่า ที่ผ่านมา สิทธิมนุษยชนของประชาชนเกาหลีใต้ถูกละเลยมาเป็นเวลานานมาก ด้วยระบอบอำนาจนิยมที่เข้าไปบ่อนเซาะอำนาจในการปกครองของรัฐ ส่งผลให้สังคมเกาหลีอยู่ภายใต้ ‘เงาดำ’ มาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 1987 ผลที่ตามมาคือการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญในปีต่อมา
ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ฟังก์ชันของรัฐธรรมนูญก็คือ การประกันสิทธิมนุษยชน สิทธิของความเป็นมนุษย์ และควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ นี่คือสิ่งที่เป็นพื้นฐาน และเรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของระบอบประชาธิปไตย
สำหรับเกาหลีใต้เอง ศาลรัฐธรรมนูญก็ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งสำหรับระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีบทบาทหลักใหญ่คือ ประกันสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของประชาชน และควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษาความเป็นอิสระจากอำนาจทางการเมือง
แปลมาเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ ตรวจสอบกฎหมายของรัฐสภาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ การให้ความเห็นในการถอดถอนนักการเมือง (กรณีที่โด่งดังคือการถอดถอน พัก กึน-ฮเย [Park Geun-hye] จากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2017) การวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง วินิจฉัยข้อพิพาทของการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อประชาชน รวมถึงวินิจฉัยโดยการร้องเรียนอื่นๆ จากประชาชนโดยตรง
ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้กระทำการโดยอาศัยหลักการของประชาธิปไตย และหลักการแห่งนิติรัฐอย่างเคร่งครัด – ยู นัมซอก ย้ำ
เสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองที่ต้องเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน
และในระบอบประชาธิปไตย ยู นัมซอก อธิบายว่า สมมติฐานเบื้องต้นคือ ประชาชนทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน นั่นจึงเป็นเหตุเป็นผลที่เราจะสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง มีความสามารถ เสรีภาพและสิทธิในการแสดงออก เสรีภาพตรงนี้ย่อมหมายรวมถึงเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง
ประธานศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ยังมองว่า องค์กรของเขาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยเกาหลีใต้ เมื่อมองแบบนี้ บทบาทคือจะต้องยึดโยงกับเสียงของประชาชนเป็นหลัก และช่วยอำนวยความสะดวก (facilitate) กระบวนการตัดสินใจในการเมืองของประชาชน ให้สามารถแสดงออกได้อย่างสงบและสันติ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มใหญ่ในทางการเมือง เพื่อธำรงค่านิยมอันดีงามของสังคมเกาหลีใต้ในระยะยาว
สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องไม่ลืมว่า เราต้องขยายขอบเขตของเสรีภาพของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น ในทุกๆ วันที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม – หลักการของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้
เมื่อยึดมั่นในเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน การวินิจฉัยของศาลจึงเป็นไปในแนวทางของการขยายขอบเขตเสรีภาพให้เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างการวินิจฉัย เช่น วินิจฉัยว่า กฎหมายห้ามชุมนุมตอนกลางคืน ถือว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ (ปี 2009) กฎหมายห้ามหาเสียงผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ (ปี 2011) และ การจำกัดสิทธิเลือกตั้งของบุคคลที่รอลงอาญา หรือนักโทษในเรือนจำ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ (ปี 2014)
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ คำวินิจฉัยว่าด้วย กฎหมายข้าราชการของรัฐ (State Public Officials Act) ซึ่งห้ามข้าราชการเข้าร่วมพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมือง กรณีนี้ศาลตัดสินไปในปี 2020 โดยมองว่า การห้ามเข้าร่วมพรรคการเมือง (political party) ถือว่าเข้าใจได้ ซึ่งก็เพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางการเมือง แต่สำหรับการห้ามเข้าร่วมกลุ่มการเมือง (political organization) ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะจัดเป็นเสรีภาพการแสดงออก
และอีกตัวอย่างที่สะท้อนว่าศาลก็ต้องเท่าทันต่อบริบทความเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วย คือการวินิจฉัยว่าด้วย กฎหมายการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ (Public Official Election Act) เมื่อปี 2022 อนุญาตให้ผู้สมัครเลือกตั้งสามารถหาเสียงด้วยการสนทนาตัวต่อตัว (face-to-face) กับประชาชนได้ รวมถึงในแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น LINE หรือ Zoom เพราะมองว่าไม่ควรจำกัดเสรีภาพการแสดงออกมากเกินไป
ประกันสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเอง
มาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้บัญญัติเอาไว้ว่า “ประชาชนทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ และมีสิทธิที่จะแสวงหาความสุข”
การตีความบทบัญญัติของกฎหมายที่มีความเป็นนามธรรม (abstract) สูง อย่างเช่นมาตรา 10 ข้างต้น ให้เป็นรูปธรรม ก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญสามารถประยุกต์ใช้ได้กับสังคมและกิจกรรมของรัฐ
ผลของการตีความมาตรา 10 ก็คือ ประชาชนจะต้องมีสิทธิอย่างหนึ่งที่เรียกว่า สิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเอง (self-determination)
สิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเองยังหมายรวมถึงสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลด้วยตัวเอง เมื่อปี 2018 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าด้วย กฎหมายคุ้มครองการสื่อสาร (Protection of Communications Act) ซึ่งอนุญาตให้หน่วยงานสืบสวนสามารถขอข้อมูลตำแหน่งที่ตั้ง (location data) ของประชาชน จากผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้
การเปิดช่องในการให้ข้อมูลเช่นนี้ ศาลมองว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะข้อมูลส่วนตัวดังกล่าวถือว่าได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิกำหนดด้วยตัวเองว่าจะให้เปิดข้อมูลเมื่อไร ให้แก่ใคร ระดับไหน และใช้เพื่ออะไร ทางออกที่ศาลเสนอคือ ต้องมีการจัดลำดับความรุนแรงของอาชญากรรมสำหรับการขอข้อมูล ไม่ใช่ให้ข้อมูลในทุกกรณี และสามารถขอศาลเป็นรายกรณีได้หากจำเป็น หรือใช้วิธีอื่นๆ ในการสืบสวนไปเลย เพื่อไม่ให้กระทบกับข้อมูลส่วนบุคคล
อีกกรณีหนึ่งที่เป็นที่จับตาไปทั่วโลก ก็คือการวินิจฉัยกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งเมื่อปี 2019 ที่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาคือ เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศเอเชียอีกหนึ่งประเทศที่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ หากมีอายุครรภ์ไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด
ศาลมองว่า กฎหมายอาญาที่ห้ามทำแท้งนั้นมีอยู่เพื่อปกป้องชีวิตของเด็กก็จริง แต่หากมาดูว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงดูบุตรมากที่สุดคือใคร ก็พบว่า คือผู้หญิงหรือแม่ของเด็ก สิทธิในการเลือกว่าครรภ์จะดำรงอยู่หรือไม่ก็ต้องเป็นสิทธิของแม่ เพราะแม่แต่ละคนย่อมอยู่ในสถานการณ์ที่มีสภาวะทางกายภาพ จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน ยู นัมซอก อธิบายว่า ในบริบทแบบนี้ ต้องมองด้วยว่า แม่มีความทุกข์อะไรอยู่หรือไม่ และต้องมององค์รวมของความเป็นมนุษย์ ก่อนที่จะนำมาสู่กระบวนการตัดสินใจด้วยเจตจำนงของแม่เอง
ทั้งนี้ เกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มองว่าควรจะอนุญาตให้ทำแท้งได้ คือไม่เกิน 22 สัปดาห์ เพราะถ้าผ่าน 22 สัปดาห์ไปแล้ว ตามหลักการเด็กจะสามารถอยู่รอดได้โดยเป็นอิสระจากร่างกายของแม่ แต่ถ้าก่อน 22 สัปดาห์ การตัดสินใจว่าจะตั้งครรภ์ต่อไปหรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่แม่ของเด็ก
กรณีต่างๆ ที่ยกมาในหัวข้อนี้นั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้บอกว่า ไม่ได้มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องอาศัยการตีความ ซึ่งก็คือเครื่องมือเดียวที่ศาลมี แต่ก็เป็นเครื่องมือเดียวที่สามารถใช้ตอบโจทย์ที่หลากหลายของคนในสังคมได้ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร – หากวางอยู่บนหลักการสำคัญที่ว่า ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน
Harmony หรือ Balance?
อีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญคือการวินิจฉัยในกรณีที่มีข้อพิพาท (conflict) เรื่องผลประโยชน์ทางกฎหมาย ระหว่างฝ่ายหนึ่งกับอีกฝ่ายหนึ่ง จะตัดสินอย่างไรให้ยุติธรรมที่สุด? ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีหลักการที่ใช้อยู่ 2 หลักการคือ
- harmony ตัดสินโดยที่แต่ละฝ่ายได้ผลประโยชน์ไม่เท่ากัน แต่อยู่ร่วมกันได้
- balance สองฝ่ายต้องได้ผลประโยชน์เท่ากัน
ยู นัมซอก ในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญ มองว่า บางสถานการณ์ การ balance อาจจะไม่ใช่ทางที่ดีเท่ากับ harmony เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตร่วมกันได้ในสังคมเกาหลีใต้
ยกตัวอย่างเช่น คำวินิจฉัยว่าด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทเมื่อปี 2021 ที่โจทย์คือ การพูดให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง แม้ว่าจะเป็นข้อเท็จจริง สามารถทำได้หรือไม่? ในเรื่องนี้ ตุลาการ 5 ต่อ 4 มีความเห็นว่า ไม่สามารถทำได้ โดยมองว่า ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ตาม ตราบเท่าที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เหตุผลคือการให้น้ำหนักต่อกับปกป้องศักดิ์ศรีของบุคคล
หรืออีกกรณีคือ คำสั่งกรุงโซลว่าด้วยสิทธินักเรียน (Seoul Ordinance of Student Rights) ที่ห้ามคนในโรงเรียนเลือกปฏิบัติหรือแสดงออกด้วยความเกลียดชังต่อผู้อื่น ซึ่งมีการยื่นต่อศาลให้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลก็มีคำตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ในปี 2019 ว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนกลุ่มน้อยในโรงเรียน
ยู นัมซอก ชี้ว่า สังคมเกาหลีใต้ที่มีความเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันกำลังเดินหน้าไปสู่ความเป็นพหุวัฒนธรรม (pluralism) มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้เป็นสังคม ‘เลือดเดียว’ เหมือนในอดีต แต่นั่นย่อมหมายความว่า ความขัดแย้ง หรือการกระทบกระทั่งกันของสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ในประเด็นนี้ เขาบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญเชื่อว่าตนเป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญในการหาทางออกภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้สังคมที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย หรือกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อหลักของความเท่าเทียมหรือเสรีภาพ
นี่คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับประกันให้กับสมาชิกทุกคนในสังคม เพื่อปูทางไปสู่การเปิดกว้างให้สังคมนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ และพัฒนาสังคมเกาหลีใต้ต่อไป
ในระหว่างการบรรยาย ประธานศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ย้ำอยู่หลายครั้งว่า หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญคือการปกป้อง ‘สิทธิมนุษยชน’ และ ‘เสรีภาพ’ ของทุกๆ คนในสังคม
กลับมาสู่คำถามที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนมีอยู่จริงไหม? คำตอบก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย กรณีของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจและอาจนำมาปรับใช้ได้ (ซึ่งในวันที่บรรยาย ก็มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทยร่วมรับฟังอยู่ด้วยเหมือนกัน)