จะสังเกตได้ว่าธุรกิจร้านอาหารเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคของ O2O หรือ Offline to Online กันมากขึ้น เพราะต้องปรับตัวให้รับกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนั้น กิจกรรมหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร จึงต้องพึ่งพาอาศัยโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจ ‘เดลิเวอรี่’ ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นมีอัตราการเติบโตมากขึ้นตามไปด้วย
ในปี ค.ศ.2019 มีร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 70,000 ร้าน ซึ่งเยอะกว่าปี ค.ศ.2018 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น 35,000 ร้าน ทำให้สันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นเพราะสมัยนี้ธุรกิจร้านอาหารไม่จำเป็นจะต้องมีหน้าร้านเสมอไป
และการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารเช่นนี้เอง ก็ได้สอดคล้องเข้ากับโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งไม่ว่าจะทำอะไรก็มักจะทำบนหน้าจอมือถือ การสั่งอาหารออนไลน์หรือใช้บริการเดลิเวอรี่จึงได้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในด้านการอำนวยความสะดวกสบาย และตอบโจทย์ผู้ประกอบการในด้านการสร้างฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงช่วยลดจุดบอดในเรื่องของทำเลที่ตั้งร้านได้ เนื่องจากเป็นบริการจัดส่งอาหาร โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นจะต้องมาหาถึงหน้าร้าน
ด้วยการใช้งานระบบเดลิเวอรี่และการสั่งอาหารออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นนี้ จึงทำให้การเก็บข้อมูลของผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งหลายข้อมูลก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ และยังเป็นประโยชน์ต่อร้านอาหารหลายร้านที่จะนำไปต่อยอดทำกำไรให้กับธุรกิจของตัวเองได้
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเดลิเวอรี่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% แต่ในปี ค.ศ.2019 มีอัตราการเติบโตถึง 14% และเมื่อเทียบกับร้านอาหารปกติที่ไม่มีการเข้าระบบเดลิเวอรี่ ร้านเหล่านั้นมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2-3% ต่อปีเท่านั้น
ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคหันมาใช้บริการเดลิเวอรี่กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่อาหารอย่าง LINE MAN ก็ได้เผยว่า มีผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นในปี 2019 เพิ่มมากขึ้นจากปี ค.ศ.2018 ถึง 63%
นอกจากนี้ เกือบ 40% ของผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่นยังอยู่ในช่วงวัย 25-34 ปี รองลงมาก็คือวัย 18-24 ปี ทำให้เห็นว่าบริการนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มของวัยรุ่นและวัยทำงาน โดยย่านออฟฟิศคนทำงาน อย่างเขตวัฒนา เขตจตุจักร และเขตลาดพร้าว มียอดออเดอร์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 40-60% ซึ่งวันที่มีการสั่งอาหารมากที่สุดคือวัน อาทิตย์ รองลงมา ได้แก่ วันเสาร์ และวันศุกร์ ช่วงเวลาที่มีการสั่งอาหารมากที่สุดคือช่วง 11.00-13.00 น. ที่เป็นช่วงพักทานอาหารกลางวัน โดยผู้บริโภคมักจะนิยมสั่งอาหารตั้งแต่ 11 โมง เพื่อให้คนส่งมาถึงในเวลาเที่ยงพอดี รองลงมาคือช่วง 17.00-19.00 น. ที่เป็นช่วงเวลาหลังเลิกงาน และยังพบอีกว่า ‘ผู้หญิง’ มักจะสั่งอาหารในช่วงเวลากลางดึกมากที่สุด อาจจะเป็นเพราะเรื่องของ ‘ความปลอดภัย’ ที่พวกเขาไม่ต้องออกไปไหนดึกๆ ดื่นๆ ด้วยตัวเอง
ส่วนเมนูยอดฮิต แอพพลิเคชั่นรีวิวอาหาร Wongnai ได้เผยว่า ‘เมนูยำ’ เป็นอาหารที่คนเสิร์ชหามากที่สุด รองลงมาได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวต้ม/โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยวเรือ และเค้ก ส่วนเมนูยอดฮิตที่คนนิยมสั่งเดลิเวอรี่ คือ ส้มตำปูปลาร้า คอหมูย่าง และลาบหมู
แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมนูที่เราคิดว่าคนน่าจะสั่งมามากที่สุดอย่าง ‘ชานมไข่มุก’ ดันอยู่ที่อันดับที่ 6 ของร้านที่มียอดเดลิเวอรี่มากที่สุด นั่นเป็นเพราะว่า ร้านอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง อาหารอีสาน อาหารไทย และร้านขนมหวาน กลายมาเป็นที่นิยมในการสั่งผ่านเดลิเวอรี่มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงชานมไข่มุกจะตกอันดับลงมา แต่ก็ยังเป็นมียอดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบจากแต่ก่อน
ยิ่งไปกว่านั้น เมนูบางอย่างที่เราเคยทานกันในช่วงเวลาเช้า ก็ได้กลายมาเป็นเมนูที่เราทานกันในช่วงเวลาเย็น อย่าง ‘โจ๊ก’ อาหารที่ติดหนึ่งใน 3 อันดับเมนูที่คนนิยมสั่งหลังเลิกงาน ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคสมัยนี้มีนิสัย ‘อยากกินต้องได้กิน’ มากขึ้น ไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน หรือระยะทางจะไกลเท่าไหร่ก็ตาม แต่ในท้ายที่สุด กว่า 76% ของลูกค้าที่ใช้บริการเดลิเวอรี่ร้านนั้นๆ ก็มีแนวโน้มจะเดินทางไปร้านอาหารมากขึ้น
แม้ในยุคนี้การเปิดร้านจะเป็นเรื่องที่ง่าย แต่การจะประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ทุกคน หลายคนอาจจะมองว่าการปรับตัวเป็นความเสี่ยง แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นโอกาสที่จะสร้างกำไรให้กับตัวเองในโลกที่กำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนไปเรื่อยๆ ต่างหาก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Wongnai และ LINE MAN