ยอดผู้ติดเชื้อจากหลักร้อย ลดลงมาเหลือหลักสิบ จนกระทั่งมีวันที่ยอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์
สถานการณ์ COVID-19 ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทยเองดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการที่ผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลง ผู้เสียชีวิตที่น้อยลง ขณะที่มีจำนวนผู้ที่รักษาหายมากขึ้น จนในหลายๆ ประเทศก็เริ่มกลับสู่การใช้ชีวิตอย่างปกติ มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ มากขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีความกังวลที่มากับการคลายล็อกดาวน์ว่า เร็วไปไหมที่จะกลับไปใช้ชีวิตปกติ แน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ติดเชื้ออีก รวมไปถึงความเป็นไปได้ของการระบาดระลอก 2 ที่อาจจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วย
มีโอกาสแค่ไหนที่จะเกิดการระบาดระลอก 2 ทำไมบางประเทศถึงเจอการระบาดอีกครั้ง และพวกเขาจัดการอย่างไร ไทยมีโอกาสแค่ไหนที่จะมีการระบาดอีกครั้ง หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เป็นศูนย์ บทความนี้ชวนมาหาคำตอบเหล่านั้นกัน
การระบาดระลอกที่ 2 สู่การระบาดใหญ่ที่ยังควบคุมไม่ได้
ประเทศที่เรียกได้ว่า พบการระบาดระลอกที่ 2 ก่อนใคร และในตอนนี้ยังควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่ได้ คือสิงคโปร์ จากที่ในช่วงแรกเริ่มของการแพร่ระบาด ประเทศนี้มีการจัดการ และรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคได้ดี จนถูกยกย่อง ชื่นชม และนำวิธีการไปเป็นแบบอย่าง แต่สิงคโปร์ก็เจอกับระลอกที่ 2 หลังจากพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติ ที่มักอาศัยอยู่ในหอพักเดียวกันอย่างแออัด จนเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมา
การระบาดระลอกที่ 2 ของสิงคโปร์ แม้จะเริ่มระบาดมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นเมษายน แต่ก็เรียกได้ว่า ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอยู่ โดยในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้เอง ยังเจอยอดผู้ติดเชื้อต่อวันมากถึง 675 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมทั้งประเทศตอนนี้ ทะลุไปถึง 25,000 รายเลยด้วย ซึ่งในจำนวนนี้ กว่า 2 หมื่นรายคือแรงงานต่างชาติ
หลังจากพบการระบาดระลอกใหม่ ทางการสิงคโปร์เองก็ได้มีมาตรการล็อกดาวน์เมือง หรือ เซอร์กิตเบรกเกอร์ที่เข้มข้นมากขึ้น มีการปิดหอพักแรงงานที่ต่างๆ ไม่ให้คนเข้าหรือออก และมีการตรวจเชื้อในเชิงรุกมากขึ้น แต่ถึงจะยังมียอดติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม สิงคโปร์ก็เริ่มผ่อนคลายกิจการบางอย่าง และทางกัน กิม หยง รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ ก็ระบุว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติที่มีเชื้อไวรัส จะมีแนวโน้มที่สูงอยู่ในบางเวลา และจะมีการดำเนินการตรวจสอบเชิงรุก ทำความสะอาดหอพัก เพื่อให้แรงงานสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปลอดภัยเมื่อถึงเวลาด้วย
นอกจากสิงคโปร์ ประเทศที่กำลังมีการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ หลังจากที่เคยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไปแล้วก็คือ เกาหลีใต้ จากการแพร่เชื้อในคลับ และบาร์ย่านอิแทวอน ซึ่งหลังจากล็อกดาวน์แล้ว มีประชาชนมาที่คลับในย่านนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ในตอนนี้มีการพบผู้ติดเชื้อใหม่ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นี้ไปแล้ว 120 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี และตรวจเชื้อไปแล้ว 20,000 คน
ก่อนหน้านี้สถานการณ์ในเกาหลีใต้ดีขึ้น มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทั้ง Social Distancing ไปถึงให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง รวมถึงให้คลับ และบาร์ ซึ่งกลายเป็นจุดแพร่ระบาด หลังจากที่หนึ่งในผู้ที่เดินไปใช้บริการคลับและบาร์ในย่านอิแทวอนถึง 5 แห่ง พบว่าตนติดเชื้อ COVID-19 แบบไม่แสดงอาการ และเพื่อนๆ ที่ได้ไปด้วยกันก็ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อเช่นกัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ที่ประเมินว่า ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. – 6 พ.ค. น่าจะมีคนที่เสี่ยงติดเชื้ออยู่ที่ราว 6,000 – 7,000 ราย
“ความประมาทสามารถนำไปสู่การติดเชื้อครั้งใหญ่” ปาร์ก วอนซุน นายกเทศมนตรีของโซล กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงได้ออกคำสั่งปิดคลับ และบาร์อีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ มุน แจอิน ปธน.ของเกาหลีใต้ ก็ได้บอกกับประชาชนว่า มันยังไม่จบ และให้ “เตรียมพร้อมกับคลื่นลูกที่สองของการระบาดใหญ่” รวมถึงเตือนว่าประเทศกำลังเผชิญกับสงครามที่ยืดเยื้อจากไวรัสด้วย
โดยการระบาดรอบใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้เกาหลีใต้ชะลอแผนเปิดบางอย่าง เช่นโรงเรียนออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ แต่รัฐบาลก็ตัดสินใจเดินหน้าการคลายล็อกดาวน์ ผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง เช่นให้เปิดบริษัททำงาน และสนามกีฬา แต่ก็มีคำสั่งให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยบนขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะเวลาเร่งด่วนด้วย
แต่ละที่รับมืออย่างไรหากเกิดการระบาดระลอก 2 ?
ความกังวลเรื่องการระบาดใหญ่อีกระลอก มาพร้อมๆ กับการเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญในสหภาพยุโรปก็เริ่มเตือนว่า จากอัตราการติดเชื้อที่ต่ำลง บวกกับการเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนที่จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ประชาชนอาจเริ่มละเลยกับการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือรักษาความสะอาดและสุขอนามัย ทั้งจากการศึกษาการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ผู้เชี่ยวชาญก็กล่าวว่าคลื่นลูกที่สองน่าจะเกิดขึ้นในเวลานี้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องรับมือคือการสร้างความเข้าใจกับประชาชน
โดย สตีฟาน เดอ เคียร์สแมร์เคอร์ (Stefan de Keersmaecker) โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า “ประเทศสมาชิกควรเตรียมตัวรับมือกับการติดเชื้อครั้งที่สอง โดยควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุง และเฝ้าระวังระบบที่มีอยู่” ทั้งแม้ว่าอาจจะประสบความสำเร็จกับการจัดการในรอบแรก แต่ครั้งนี้ ก็เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นใจ ว่าประชาชนเข้าใจว่าการระบาดระลอกใหม่ยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกด้วย
ขณะที่ในเยอรมนีเอง หนึ่งในประเทศที่จัดการกับโรคระบาดได้ค่อนข้างเป็นระบบ ตอนนี้ก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่หลังเปิดเมืองกลับพบผู้ติดเชื้อใน 1 วันสูงขึ้นถึง 3 เท่ากว่าตอนล็อกดาวน์ ซึ่งเยอรมนีเองก็ได้มีแผนการเตรียมพร้อมที่จะล็อกดาวน์อีกครั้ง หากการระบาดระลอกใหม่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ราย ต่อประชากร 1 แสนคน
ด้านจีน ประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด โดยเฉพาะอู่ฮั่น ที่ตอนนี้กลับมาเปิดเมืองแล้ว และเคยพบผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ตอนนี้ก็มีความกังวลถึงการระบาดรอบใหม่อีกครั้งเช่นกัน หลังจากที่มีการพบผู้ป่วยขึ้นมาใหม่ เป็นหญิงวัย 89 ปี ที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งหลังจากวันนั้นก็พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีก 5 ราย ทำให้ตอนนี้ อู่ฮั่นเตรียมรับมือ ด้วยการเตรียมตรวจเชื้อประชากรทั้งหมด 11 ล้านคนแบบเชิงรุก ภายใน 10 วันนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำอีกด้วย
แต่ละประเทศเองต่างก็มีบทเรียน และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตือนคือ การคลายล็อกดาวน์ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง และไม่ประมาท ซึ่ง นพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ก็เตือนถึงแผนเปิดเมืองในสหรัฐฯ ด้วยว่า ถ้าหากรัฐทำทุกสิ่งเร็วเกินไปในการผ่อนคลายมาตรการ การระบาดระลอกใหม่ที่ไม่สามารถควบคุมได้อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้ประเทศย้อนกลับไปเป็นเหมือนช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา (ช่วงพีคของการระบาด) อีกได้
ประเทศไทยมีโอกาสเจอระลอก 2 หรือระลอก 3 อีกหรือไม่
ไม่เพียงแค่สถานการณ์การระบาดระลอก 2 จากทั่วโลก ที่เกิดขึ้นอย่างพร้อมๆ กัน หลังคลายล็อกดาวน์ สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในไทยจะแตะถึงศูนย์ราย แต่ก็มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาเตือนถึงโอกาส และความเป็นไปได้ที่ระลอกที่ 2 และ 3 หลังจากมาตรการผ่อนปรนเกิดขึ้น
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มองว่า หากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสระยะ 2 จะน่ากลัวกว่าระยะแรก เนื่องจากรอบแรกคนส่วนใหญ่เกิดความกลัว และให้ร่วมมือ แต่เมื่อเข้าสู่การผ่อนคลาย คนก็จะเริ่มมองว่าไม่ได้มีผู้เสียชีวิตมาก และจะเริ่มผ่อนปรนมากขึ้น อีกทั้งในการระบาดรอบแรก ไทยมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 น้อยอยู่ ดังนั้นระบบภูมิคุ้มกันของสังคมอาจจะไม่เยอะพอที่จะป้องกัน ซึ่งตอนนี้ไม่รู้ว่ามีคนที่ติดเชื้อ และพัฒนาจนเกิดภูมิคุ้มกันตัวเองไปมากเท่าไหร่ ซึ่งหากโรคระบาดอีก ก็มีโอกาสแพร่ต่อไปได้
ขณะที่ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานมูลนิธิสุขภาพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุขก็ได้โพสต์เตือนว่า เห็นประชาชนที่ประมาทมากขึ้น ไม่สวมหน้ากากอนามัย เริ่มออกจากบ้านจนใกล้กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งแม้ตอนนี้การระบาดจะอยู่ในวงจำกัด แต่ก็ยังไม่ได้แปลว่าโรคสงบ รวมทั้งยังขอให้ประชาชนร่วมมือในการระมัดระวังตนเองด้วย
แต่ถ้าเกิดระบาดระลอก 2 ขึ้นมาจริง ไทยพร้อมรับมือ หรือจัดการอย่างไร ?
ในประเด็นนี้ The MATTER ได้สอบถามไปยัง นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ถึงมาตรการการรับมือต่อจากนี้ ซึ่งคุณหมอก็ได้บอกเราว่า กรมควบคุมโรคเองได้มีแผนและมาตรการที่ยาวไปจนกว่าจะมีวัคซีน หรือเชื้อจะหมดไปเลยด้วย โดยมีทั้งแผนที่อาจจะปิดล็อกดาวน์หนักกว่าเดิม เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ในกรณีที่การระบาดร้ายแรง แต่ก็จะไม่ปิดทั้งประเทศแล้ว
“ก็อาจจะดูเป็นพื้นที่ ลงไปจัดการกับพื้นที่นั้นๆ ก่อน เราจัดการระบาดเป็น 3 ระดับ ถ้าระบาดหนักมากก็อาจจะมีมาตรการที่เข้มขึ้น เช่น ถ้าระบาดที่อำเภอ ก ในจังหวัด ข ไข่ ก็จะมีการเร่งจัดการในพื้นที่นั้นๆ ไม่ได้มาปิดถึงกรุงเทพฯ หรือปิดทั้งประเทศ แต่เป็นมาตรการเชิงรุกที่นั่น จัดการลงไปเลย”
เมื่อถามถึงเคส และกรณีของการระบาดระลอกที่ 2 ในหลายประเทศ คุณหมอก็มองว่า แต่ละแห่งพลาดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนกลายเป็นการระบาดวงกว้างขึ้นมา
“ต่างประเทศ พลาดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจริงๆ ถ้าไปดูของประเทศไทยเรามีคลัสเตอร์แค่ 3 คลัสเตอร์ ได้แก่ สนามมวย สถานบันเทิงที่ทองหล่อ และผู้ที่กลับจากประกอบทางพิธีกรรมทางศาสนา แต่ก็จะเห็นว่า 3 คลัสเตอร์นี้ก็ทำให้มีผู้ป่วยกว่า 3 พันได้ ถ้าเราพลาดอีก มีเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คลัสเตอร์ก็เป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นระบาดใหญ่ ดังนั้นอยู่ที่การระวังตัวของคนไทย ว่าจะป้องกันตัวเอง ไม่ประมาทแค่ไหน”
“การระบาดระลอก 2 อยู่ที่คนไทย เรามีบทเรียน มีวิธีการแล้ว ผู้ประกอบการ โรงงาน ร้านค้า เรามีบทเรียน มีการรับมือแล้ว อยู่ที่จะระมัดระวังตัวแค่ไหน เชื้อมันอยู่ของมันอยู่แล้ว เหมือนเปิดประตูให้โจรเข้าบ้าน ถ้าเราไม่ระวังมันก็เข้ามา และเชื้อนี้มันไปได้อย่างรวดเร็ว ต้องถามคนไทย ถ้าอยากให้ทุกอย่าง สถานการณ์ดีขึ้น อยู่ที่การระวังตัวของแต่ละคน ป้องกันตัวเองแค่ไหน ถ้าเรามีการป้องกันที่ดี การระบาดก็จะไม่กลับมาอีก”
แม้ว่าการป้องกันตัวเอง และไม่ประมาท จะเป็นสิ่งที่ทั้งเจ้าหน้าที่ในประเทศไทย และหลายๆ ประเทศมองเห็นตรงกัน และขอความร่วมมือจากประชาชน แต่ถึงอย่างนั้น ในขั้นตอนการคลายล็อกดาวน์ และกลับมาเปิดสถานที่ต่างๆ ประชาชนเองก็ต้องการความชัดเจนจากภาครัฐบาล
ในการจัดการให้ระยะห่างทางสังคมเกิดได้จริง มาตรการลดความแออัดในพื้นที่ หรือขนส่งสาธารณะ หรือการจัดเวลาการทำงานเหลื่อมเวลา เพื่อลดความหนาแน่นในการเดินทาง เพื่อให้การคลายล็อกดาวน์เป็นไปอย่างระมัดระวัง และจะสามารถหลีกเลี่ยงการระบาดที่อาจเกิดในระลอกใหม่นี้ ซึ่งล้วนแต่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หรือสถานการณ์แย่ลงอีกด้วย
อ้างอิงจาก