“ก็แค่อีโมจิแก้วกาแฟเอง ทริกเกอร์ง่ายโคตร”
เราคงจะเห็นความคิดเห็นรูปแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง เวลาเรามองการถกเถียงการเมืองในโซเชียลมีเดียของคนกลุ่มตรงข้ามกัน หากเราเป็นคนในโลกออนไลน์แล้วติดตามวิธีการที่ผู้คนพูดคุยในอินเทอร์เน็ต เราจะรู้ว่าอีโมจิง่ายๆ บางตัวสื่อสารอะไร ซึ่งนั่นเป็นเพียงตัวอย่างเดียว บ่อยครั้งกลุ่มชุมชนการเมืองในอินเทอร์เน็ตมีภาษาออนไลน์เฉพาะกลุ่มของตัวเองอยู่เสมอ และมันเป็นเช่นนั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต โดยอาจเถียงได้ว่าตั้งแต่ต้นของอารยธรรมมนุษย์เลย
มนุษย์และชุมชนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน เราในฐานะสัตว์สังคมต่างสร้างสายใยระหว่างกันเพื่อความอยู่รอด อย่างไรก็ตาม การสร้างกลุ่มก้อนนั้นๆ ไม่ได้จบลงที่ความอยู่รอด เราก่อตั้งหรือพยายามเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใดชุมชนหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ทั้งการเข้าร่วมสมาคมนักเรียนเก่าของโรงเรียนสักแห่ง เราเผยตัวว่าเคยเรียนคณะนี้ มหาวิทยาลัยนี้ เพื่อสื่อสารกับคนในที่ทำงานว่าเราเคยเป็นคนในชุมชนเดียวกันมาก่อน เช่นนั้นเราอาจเข้าใจในตัวตนของกันและกันมากกว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีประสบการณ์เหล่านั้น มนุษย์สร้างเผ่าและการสร้างเผ่าในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ภายในโลกจริงของเรา แต่กลับได้รับการเอื้ออำนวยจากโซเชียลมีเดียอย่างมาก
ตั้งแต่กลุ่มอินทูฯ ไปจนแมนมินิสต์ฯ หรือเพจต่างๆ ข้างเคียง เราอาจเห็นว่าในแต่ละชุมชนนั้น ผู้คนล้วนมีวิธีการพูดหรือใช้ภาษาเฉพาะกลุ่ม เช่นเดียวกันกับที่เรามีเรื่องราวส่วนตัวเป็นอินไซด์โจ๊กกับเพื่อนของเรา กลุ่มชุมชนออนไลน์ให้ความรู้สึกเหมือนกลุ่มเพื่อนกลุ่มใหญ่ๆ ที่มีเพียงคนในเท่านั้นจะรู้ คนที่ไม่รู้หรือคนที่มองว่าสิ่งที่เราทำคือเรื่องธรรมดา คือคนนอก และนี่คือชนเผ่าของโลกหลังอินเทอร์เน็ต
ทำไมต้องพูดเรื่องเผ่า ทำไมต้องพูดถึงภาษา และทำไมเราต้องรู้? เหตุที่เราต้องรู้ เพราะว่าหากใครติดตามจะรู้ว่าชนเผ่าไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในโลกจริง กลุ่มชุมชนออนไลน์เองก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในอินเทอร์เน็ต หากมองย้อนกลับไปในการเริ่มต้นของกลุ่มขวาทางเลือก หรือ Alt-right การเคลื่อนไหวออนไลน์ของกลุ่มฝ่ายขวาที่ค่อยๆ ก่อตัวอย่างลับๆ แล้วเริ่มตั้งไฟคุกรุ่นเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้นั่งในโอวอลออฟฟิศเมื่อปี 2016 จนปะทุเดือดเมื่อปี 2017 ที่เมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ เมื่อกลุ่มเหล่านั้นที่มีทั้งนาซี ชาตินิยมคนขาว สมาพันธรัฐอเมริกา ฯลฯ ร่วมเดินขบวน Unite the Right ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บและความตายของผู้ประท้วงฝั่งตรงข้าม
หลังจากการรวมตัวครั้งนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในโซเชียลมีเดีย การเปลี่ยนแปลงนโยบายของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อจำกัดการเผยแพร่แนวคิดฝ่ายขวา เนื่องจากมันสามารถนำไปสู่ความรุนแรงในชีวิตจริงได้ กลุ่มชุมชนออนไลน์จำนวนมากถูกแบน สมาชิกมากมายแตกรังเพื่อหลบหนีไปยังพื้นที่นอกสายตา
นั่นคือความตายของขวาทางเลือกใช่หรือไม่? ไม่ใกล้เคียงเลย เวลาผ่านไป 7 ปีจากวันนั้น ขวาทางเลือกเข้มแข็งไม่ต่างจากเดิม อย่างที่เราว่าไปแต่ต้น แนวคิดของพวกเขาหลุดลอยออกมาตามคลื่นความถี่อยู่บ่อยครั้ง ปัญหาไม่ได้หายไปเพียงเพราะชุมชนเหล่านี้หายไป หรือถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ที่คนนอกเข้าไปไม่ได้ ตรงกันข้ามกลุ่มเหล่านั้นคือบ่อบ่มเพาะและส่งออกแนวคิดพวกนั้นเสียมากกว่า และเมื่อเดือนเมษายน ปี 2024 ที่ผ่านมาก็มีคนศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
งานวิจัยดังกล่าวชื่อว่า r/The_Donald Had a Forum: How Socialization in Far-Right Social Media Communities Shapes Identity and Spreads Extreme Rhetoric โดยวิเวียน เฟอร์ริลโล (Vivian Ferillo) ผู้ช่วยนักวิจัยเยี่ยมเยียน รัฐศาสตร์การปกครอง มหาวิทยาลัย Williams & May ซึ่งวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงบนวารสาร American Politics Research 2024 โดย SAGE Publication เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2024
งานวิจัยนี้พาเราไปดูวิธีการที่คนในกลุ่มชุมชนออนไลน์ขวาจัดใช้ภาษาในการสื่อสาร และวิธีที่ภาษาเหล่านั้นก่อร่างตัวตนของพวกเขา รวมถึงการเผยแพร่ส่งต่อวาทกรรมสุดโต่งไปให้คนนอกกลุ่ม ซึ่งเมื่อมองปราดแรก ตัวเลือกหลายๆ อย่างของงานวิจัยนี้อาจก่อให้เกิดคำถาม แต่เมื่อมองไปในเนื้อหามันทำให้เราเห็นชัดเจนอย่างมากว่า ทำไมจึงต้องวิจัยคนกลุ่มนี้ ด้วยวิธีนี้ ผ่านการเลือกกลุ่มตัวอย่างอย่างนี้
คำถามแรกที่อาจเกิดขึ้นคือ ทำไมต้องกลุ่มชุมชนออนไลน์โดยเฉพาะ? สิ่งแรกๆ ที่งานวิจัยชิ้นนี้พาเราได้ไปดูคือ ความแตกต่างระหว่างชุมชนกับกลุ่มชุมชนออนไลน์ ซึ่งโดยหลักแล้วอยู่ที่การกรองคน กลุ่มชุมชนออนไลน์นั้นมีการกรองคนที่น้อยกว่า “การศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์บอกเราว่า ชุมชนดิจิทัลขาดบรรทัดฐานสังคมที่จะกันคนที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมออกเมื่อเทียบกับชุมชนในโลกจริง บรรทัดฐานที่อ่อนแอกว่า และการขาดซึ่งปฏิกิริยาตอบกลับ เช่น การอ่านสีหน้าและน้ำเสียงนี้ลดความจำเป็นต่อการเห็นอกเห็นใจ และส่งเสริมพฤติกรรมต่อต้านสังคม ซึ่งมักนำพากลุ่มคนที่มีแนวคิดตกขอบเข้ามาในกลุ่มเสมอๆ” เธอเขียน
ฟังโดยผิวเผินอาจไม่ได้หมายความถึงอะไรมากนัก แต่ผลพวงต่อความแตกต่างดังกล่าวนั้นใหญ่กว่าที่คิด แตกต่างจากกลุ่มชุมชนในชีวิตจริงที่เราเข้าไปอยู่ในชุมชนสักแห่ง เพราะเราอาจจะชอบคนที่อยู่ในนั้น ชอบความรู้สึก ชอบวัฒนธรรมกลุ่ม หรือชอบความเป็นมิตร งานวิจัยนี้ชี้ให้เราเห็นว่า เหตุผลหลักที่เราจะเข้าร่วมชุมชนออนไลน์นั้นมาจากอุดมการณ์ เนื่องจากมันคือส่วนที่เราเห็นได้ชัดที่สุดของผู้คนในนั้น และในปัจจุบันการเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองรูปแบบนี้คือวิธีหลักของคนรุ่นใหม่
การเรียนรู้การเมืองผ่านกลุ่มสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้วิจัยเล่าว่า เราต่างเรียนรู้การเมืองตามบริบทสังคมที่เราอยู่ ในอดีตลูกเรียนรู้การเมืองจากพ่อแม่ ลูกของชนชั้นกลางมองโลกต่างจากลูกของชนชั้นแรงงาน เช่นเดียวกันกับที่ผู้อพยพเจน 3 มองภาพการเมืองต่างจากเจนแรก การทำงานใกล้ชิดกับผู้ประสบปัญหาจากระบบระบอบจะทำให้เราเข้าใจความลำบากของพวกเขามากขึ้น ฯลฯ เช่นนั้นแล้วหากกลุ่มชุมชนของเราเปลี่ยนมุมมองการเมืองของเรา การที่เราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชุมชนออนไลน์เองทำให้เราเปลี่ยนได้เหมือนกันใช่หรือไม่?
แล้วทำไมต้องเป็นภาษา? อย่างที่เรายกตัวอย่างในย่อหน้าแรกที่สุด ผู้พูดหลายๆ คนพูดว่ามันเป็นเพียงอีโมจิเดียวเฉยๆ ไม่ได้มีอะไรลึกไปกว่านั้น ซึ่งในแง่หนึ่งเราก็อาจจะเห็นด้วย เราไม่ได้พูดอะไรตามที่เราคิดเสมอไป บางอย่างก็อาจเป็นมุก บางครั้งคนเราอ่านลึกลงไปในคำพูดของคนอีกคนมากไปหรือเปล่า? อย่างไรก็ตาม มุมมองของเฟอร์ริลโลแตกต่างออกไป และตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ
การพูด การฟัง การเถียง การสนับสนุน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะคืออะไรหากไม่ใช่การแสดงออก? นั่นเองคือใจกลางของการสื่อสารทางการเมือง และทั้งหมดนั้นพักพิงอยู่ใต้ร่มใหญ่ชื่อว่า ‘ภาษา’ แต่เฟอร์ริลโลไปไกลกว่านั้น โดยเธอเลือกภาษามาเป็นตัวชี้วัดไม่ใช่เพียงเพราะมันคือเรื่องของการสื่อสาร แต่เพราะภาษาเชื่อมโยงโดยตรงกับตัวตน
เธอเล่าว่างานของเธอนั้นวางตัวอยู่บนทฤษฎี Ethnolinguistic Identity Theory (EIT) ที่เชื่อว่าตัวตนทางสังคมของเรานั้นผูกแน่นอยู่กับภาษาที่เราใช้ “ภาษาไม่ใช่เพียงวิธีการที่เราแสดงออกตัวตนของเรา แต่มันคือสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากตัวตนได้เลยต่างหาก” เธออธิบาย “เราพาตัวเองให้ขึ้นตรงกับผู้กุมอำนาจโดยการพูดให้เหมือนพวกเขา หรือบางครั้งเราอาจต้องการขึ้นตรงกับกลุ่มคนที่อำนาจน้อยกว่าเรา เพื่อความรู้สึกเท่ ต่อต้านอำนาจ หรือเพื่อไม่ดูทะนงตัว” เธอเขียนต่อ หากเรามองไปยังเด็กน้อยที่พยายามพูดคำยากๆ เพื่อดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น หรือดาราที่เลือกพูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงภาษาและคำศัพท์ AAVE ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนดำ ก็ทำให้ทฤษฎีนั้นดูมีมูลมากขึ้น
ไม่ใช่แค่ตัวตนเท่านั้น ภาษายังเป็นส่วนหนึ่งของการบ่งชี้คนในและคนนอกของกลุ่มชุมชนอีกด้วย เฟอร์ริลโลเขียนว่า มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงวิธีการพูดและภาษาที่ใช้ตามสถานการณ์ทางสังคมที่เราเผชิญอยู่ เราเรียกมันว่า การสลับภาษา (Code-Switching) หากลองนึกถึงมีม “เผลอเอามุกกลุ่ม A ไปใช้กับกลุ่ม B” อาจทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ซึ่งในบางบริบทเกิดขึ้นจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของคนชายขอบ แต่จริงๆ แล้วการสลับภาษาสามารถพบได้ในทุกชนชั้นทางสังคม นั่นคือการแบ่งเผ่าทางภาษา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สมาชิกกลุ่มชุมชนออนไลน์ขวาจัดทำเช่นกัน
คำถามสุดท้ายคือทำไมต้องขวาจัด ทำไมเราจึงไม่ทำวิจัยนี้กับกลุ่มฝ่ายซ้าย? เราอาจต้องลองนึกถึงธรรมชาติแนวคิดของความเป็นขวาจัดหรือขวาทางเลือก ผู้วิจัยเขียนเกี่ยวกับคำสัญญาต่อสมาชิกเข้าร่วมใหม่ของฝ่ายขวาจัดเอาไว้ว่า “ใจกลางแนวคิดของกลุ่มขวาจัดออนไลน์ คือการสัญญาในความเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจก ชุมชนขวาจัดเน้นย้ำสมาชิกใหม่ของพวกเขาเสมอเกี่ยวกับการเปลี่ยนมุมมองที่จะเปลี่ยนชีวิตพวกเขา คล้ายกับการเกิดใหม่ทางศาสนา” เธอเขียน
มุมมองรูปแบบนั้นไปในทิศทางเดียวกันกับ “การกินยาเม็ดสีแดง” เพื่อเบิกเนตรสู่ความลับของโลกในกลุ่ม Incel หรือการเริ่มน้อมนำคำสอนของกลุ่ม Manosphere ที่เปลี่ยนมุมมองว่าทางเดียวที่จะเป็นชายนั้นมีอยู่ เพียงแค่ขอให้ตามมา ฯลฯ เมื่อเทียบกันกับแนวคิดฝั่งซ้ายที่อาศัยรายละเอียดยิบย่อย และการบอกว่าคำตอบของโลกนั้นซับซ้อน เราจะหาคำตอบได้ผ่านความเข้าใจในความหลากหลาย ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ความชัดเจนในสารของฝ่ายขวานั้นเยอะกว่าและอาศัยการชี้นำ นั่นเองก็นำไปสู่วิธีการสื่อสารที่แทบจะเป็นจากบนลงล่าง ซึ่งจะนำไปสู่การสื่อสารที่สุดโต่ง
เข้าสู่ประเด็นหลักที่เล่าปูพื้นมาทั้งหมดนี้จะออกมาเป็นการวิจัยอย่างไร? ก่อนอื่นคือเฟอร์ริลโลตั้งสมมติฐาน 4 ข้อ คือ
- ผู้ใช้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มชุมชนออนไลน์ขวาจัดจะใช้ภาษาเชิงขวาจัดบ่อยขึ้นกว่าที่จะเข้ามามีส่วนร่วม
- ผู้ใช้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มชุมชนออนไลน์ขวาจัดจะใช้ภาษาขวาจัดมากขึ้น หรือน้อยลงในทุกพื้นที่โลกออนไลน์ ขึ้นอยู่กับว่ามีส่วนร่วมกับกลุ่มนั้นๆ มากหรือน้อย
- ยิ่งมีส่วนร่วมกับกลุ่มชุมชนออนไลน์ขวาจัดมากจะมีความถี่ในการใช้ภาษาขวาจัดมากในกลุ่มขวาจัด
- ยิ่งมีส่วนร่วมกับกลุ่มชุมชนออนไลน์ขวาจัดมากจะมีความถี่ในการใช้ภาษาขวาจัดมากในกลุ่มคนทั่วไป นอกเหนือจากกลุ่มขวาจัด
กลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยเลือกใช้นั้นมีร่มใหญ่คือ r/The_Donald ฟอรั่มออนไลน์จาก Reddit หนึ่งในฟอรั่มที่ถูกปิดลงในปี 2020 ปูมหลังโดยคร่าวของ r/The_Donald คือที่ที่ผู้วิจัยเรียกว่าเคยเป็น “บ้านเบสแฟนคลับของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์” แต่เปลี่ยนแปลงเป็นแหล่งกำเนิดข่าวปลอม พื้นที่เผยแพร่มีมชาตินิยมผิวขาว ซึ่งฟอรั่มดังกล่าวเป็นหนึ่งในฟอรั่มขวาจัดที่ได้รับความนิยมสูงสุด นั่นคือเหตุที่ผู้วิจัยเลือกใช้ โดยข้อมูลที่ได้เก็บผ่าน Pushshift.io แหล่งเก็บข้อมูล Reddit ขนาดใหญ่ที่เก็บข้อมูลของห้องที่ถูกแบนและลบทำลายไปแล้วด้วย
กลุ่มตัวอย่างคือคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชุมชนออนไลน์ขวาจัดมาก่อน แล้วเข้าร่วมกับกลุ่มนั้นด้วยความตั้งใจ นั่นคือคนที่เข้าร่วมกลุ่มเช่น r/The_Donald หรือ r/altright ในเดือนมกราคมปี 2017 ก่อนที่ Reddit จะเปลี่ยนนโยบายไม่ให้ผู้ใช้ทั่วไปมองเห็นกลุ่มดังกล่าวได้ในหน้าหลัก ผู้วิจัยสุ่ม 100 กลุ่มตัวอย่างได้ในช่วงเวลาระหว่าง 1 มกราคม 2015 – 31 ธันวาคม 2017 จาก 1,600 ผู้ใช้ที่เข้าข่ายตัวกรองข้างต้น โดยผลการวิจัยพบว่า
- มีหลักฐานที่สนับสนุนสมมติฐานข้อที่ 1 ผู้ใช้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกลุ่มชุมชนออนไลน์ขวาจัด จะนำวาทกรรมของกลุ่มมาใช้ในเวลา 3 เดือนหลังจากมีส่วนร่วม
- มีหลักฐานที่สนับสนุนสมมติฐานข้อที่ 2 ยิ่งมีส่วนร่วมในกลุ่มชุมชนขวาจัดมากก็ยิ่งใช้ภาษาเหล่านั้นเยอะขึ้นในทุกพื้นที่โลกออนไลน์
- ไม่มีหลักฐานสนับสนุนในสมมติฐาน 3 และ 4
- ข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจวัดสมมติฐาน 3 และ 4 กลับเผยให้เห็นว่าผู้ใช้ไม่ได้พูดเรื่องขวาจัดเพียงในกลุ่มที่มองว่ามุมมองนี้เป็นเรื่องดี แต่นำไปพูดในทุกพื้นที่ทางสังคม
สรุปแล้วคือเมื่อเราก้าวเท้าไปอยู่ในกลุ่มสังคมออนไลน์ขวาจัดแล้วเริ่มมีส่วนร่วม พฤติกรรมและตัวตนทางการเมืองของเราอาจเปลี่ยนแปลงไปคล้ายคลึงกับสมาชิกกลุ่มเหล่านั้นภายในเวลา 3 เดือน คือยิ่งอินมากก็ยิ่งโดนดึงเข้าไปลึก และที่สำคัญตามคำของผู้วิจัย “พูดง่ายๆ คือผู้ใช้ที่อินกับกลุ่มเหล่านี้มาก ไม่ได้คุยโวเรื่องฮิตเลอร์กับนาซีที่รู้กัน แต่พวกเขาคุยโวเรื่องฮิตเลอร์ให้ทุกคนฟัง ไม่ว่าใครจะอยากได้ยินหรือไม่” คำพูดดังกล่าวนำมาสู่การอนุมานสำคัญว่า การแบนหรือการลบกลุ่มชุมชนเหล่านั้นไม่ช่วยลดการเผยแพร่ของวาทกรรมชุมชนออนไลน์ขวาจัดเลย
คำถามใหม่อาจผุดขึ้นมานั่นคือทำไมเราต้องใส่ใจ เรื่องนี้เมื่อมองผ่านเลนส์สหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องไกลตัวอย่างมาก เราเป็นคนไทยเราจะสนใจทำไม?
ความน่ากลัวของแนวคิดนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะนี่คือคนเสียงดังในอินเทอร์เน็ตไม่กี่คนมาพูดอะไรที่ดูกู่ไม่กลับอยู่ในโลกออนไลน์ แต่กลุ่มคนเหล่านี้มีอิทธิพลมากพอจะนำไปสู่การขับเคลื่อนทางการเมืองจริงๆ ได้ ซึ่งบ่อยครั้งมีแรงกระเพื่อมต่อนโยบายที่ส่งผลลบต่อการเคลื่อนไหวเชิงก้าวหน้ามากมาย มากไปกว่านั้นนักการเมืองหลายๆ รายยังเล็งเห็นประโยชน์จากการใช้คนเหล่านี้เป็นฐานเสียงแล้ว ‘เล่นด้วย’ ผ่านการเผยแพร่เนื้อหาของกลุ่มขวาจัดนี้ออกไปในวงกว้างมากขึ้น เรื่องเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่จำกัดอยู่แค่ในสหรัฐฯ แต่เป็นเทคนิคที่หลายๆ นักการเมืองทั่วโลกเริ่มใช้
มากไปกว่านั้น ประเทศไทยเองก็อยู่ในช่วงที่แนวคิดขวาทางเลือกของเราเองกำลังงอกเงยใช่หรือไม่? เรามีทั้งแมนมินิสต์ที่ต่อต้านสิทธิสตรี เพราะพวกเขาต้องปกป้องสิทธิอันน้อยนิดของผู้ชาย เรามีชาวแอนตี้โวคที่ป้องปากบอกว่าสิ่งที่เล่นไปคือมุกตลกโปกฮาเฉยๆ หรือเรามีกลุ่ม ‘ชายแทร่’ ที่ส่งต่อแนวคิดมองผู้หญิงเป็นวัตถุ แต่เมื่อถูกคอลเอาต์ก็บอกว่าเราเองเนี่ยแหละที่เข้าไปยุ่งในพื้นที่ปิดที่ไม่ได้สร้างไว้เพื่อเรา
เรื่องเหล่านี้อาจดูไม่เป็นอะไร แต่ปีไหนและที่ไหนจะเป็นชาร์ล็อตส์วิลล์ปี 2017 ของเรา เราจำเป็นต้องให้เกิดเรื่องเช่นนั้นก่อน จึงจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายได้จริงๆ หรือ?
อ้างอิงจาก