เราเริ่มนับว่าเราคบกับแฟนอย่างจริงจังเมื่อไหร่?
เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์อาจเป็นเรื่องยากที่เราจะพูดได้ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะบอกว่า “ฉันจริงจังกับคนคนนี้แล้วนะ” หรือ “คนคนนี้จริงจังกับฉันแล้วนะ” ความสัมพันธ์ไม่ใช่เลขที่มีสูตรตายตัว หรือเกมที่มีหลอดพลังบอกว่าเราอยู่ตรงไหนในความรู้สึกของเรา และเขาอยู่ตรงไหนในความจริงจังของเขา ความรู้สึกเป็นสิ่งซับซ้อน และบ่อยครั้งไม่มีคำตอบ
เราอาจเคยพูดอย่างนั้นได้ในเกือบทุกกรณี แต่เรามีฟังก์ชั่นการตั้งคบบนโซเชียลมีเดียที่เรายอมรับกันไปกลายๆ ว่านี่คือการเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้มากที่สุดรองลงมาจากการหมั้นหมายและแต่งงาน
ตั้งแต่เมื่อไหร่กันโซเชียลมีเดียถึงมีน้ำหนักต่อความจริงจังและความสัมพันธ์ของเราขนาดนี้? โซเชียลมีเดียส่งผลแบบไหนในความสัมพันธ์ระยะยาว?
เปิดตัวบนโซเชียล = ทุ่มเทมากกว่า?
ในขณะที่มิติของความสัมพันธ์เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่สำหรับแต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลายออกไป เราไม่อาจพูดได้ทุกกรณีว่าความสัมพันธ์แบบที่การตั้งคบหรือไม่ตั้งเป็นความสัมพันธ์ที่จริงจังกว่ากัน เพราะมันขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ไม่ว่าจะพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย นิสัยส่วนตัว มิติความสัมพันธ์ของคนรัก การเลี้ยงดู สังคม ฯลฯ แต่ว่านอกจากความแตกต่างระดับบุคคล มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเปล่า?
ในการสำรวจ ‘Making it Facebook official: The warranting value of online relationship status disclosures on relational characteristics’ โดย บริแอนนา เลน (Brianna L. Lane) มหาวิทยาลัยคริสโตเฟอร์นิวพอร์ต ที่ศึกษาว่าความสัมพันธ์แบบที่คนรักประกาศว่าพวกเขาคบกันบนโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการ ที่ผู้วิจัยเรียกว่า ‘ทางการบนเฟซบุ๊ก’ นั้นมีผลต่อความสัมพันธ์จริงๆ ของคู่รักหรือเปล่า
โดยการสำรวจนี้ใช้ทฤษฎีการรับประกัน (Warranting Theory) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความสัมพันธ์ของคู่รักในโลกออนไลน์ และในโลกออฟไลน์ โดยผลจากการวิจัยพบว่า คู่รักที่เปิดตัวบนโลกโซเชียลมีเดียนั้นมีโอกาสจะพึงพอใจในความสัมพันธ์มากกว่า ทุ่มเทมากกว่า เอาใจใส่มากกว่า แต่การจะเข้าใจเหตุผลที่มาถึงข้อสรุปนี้ เราต้องเข้าในทฤษฎีการรับประกันเสียก่อน
ทฤษฎีการรับประกัน เวอร์ชั่นใน 2002 ที่พัฒนาโดยศาสตราจารย์วิชาการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยอาริโซน่า โจแซฟ วอลเธอร์ (Joseph Walther) และมัลคอล์ม พากส์ (Malcolm Parks) ศาสตราจารย์การสื่อสาร มหาวิทยาลัยวอชิงตัน คือทฤษฎีที่ศึกษาเกี่ยวกับวิธีที่คนคนหนึ่งเลือกจะเชื่อในข้อมูลอะไรบางอย่าง หากข้อมูลนั้นๆ มีโอกาสถูกบิดเบือนจากผู้ที่ข้อมูลกำลังพูดถึงได้ ข้อมูลนั้นจะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าข้อมูลที่ไม่อาจโดนบิดเบือนจากผู้นั้นได้
พูดไปอาจไม่เห็นภาพ ฉะนั้นต้องมีการยกตัวอย่างผ่านคน 3 คน คนแรกชื่อนายประยุกต์ผู้เป็นนายกอบต. คนที่ 2 คือประชาชน และคนที่ 3 คือสื่อแห่งหนึ่ง สมมติว่า ระหว่างนายประยุกต์พูดว่าเขาไม่ได้เป็นคนโกงกินให้ประชาชนฟัง กับสื่อแห่งหนึ่งบอกว่านายประยุกต์เป็นคนโกงกิน เหตุการณ์ไหนประชาชนส่วนมากจะเชื่อมากกว่า? แน่นอนว่าเป็นเหตุการณ์ที่ 2 เพราะ (ในอุดมคติ) สื่อมีหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล
กล่าวคือความน่าเชื่อถือของข้อมูลใดๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงเนื้อความของข้อมูลนั้นๆ แต่ด้วยหลักประกัน โดยหลักประกันมีตัวชี้นำที่มีหลากหลายน้ำหนัก ทั้งตัวผู้ให้ข้อมูล ยศ การเลือกใช้ชื่อจริงหรือนามปากกา ฯลฯ
แต่ว่าเกี่ยวข้องยังไงกับความสัมพันธ์บนเฟซบุ๊ก? ทฤษฎีการรับประกันเวอร์ชั่นของโจแซฟและมัลคอล์มวิวัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่ 2002 มาจน 2011 ที่เกิดการถกเถียงเพิ่มเติมอีกครั้งโดยโจแซฟเอง เขาเชื่อว่าแม้ว่าข้อมูลที่เกิดจากผู้อื่นจะเป็นข้อมูลที่มีน้ำหนักมากที่สุด ข้อมูลนั้นสามารถถูกตรวจสอบได้จากเครือข่ายของเป้าหมาย และเป้าหมายจะมีโอกาสปรับแก้ข้อมูลส่วนตัวน้อยลงหากผู้รับข้อมูลมีทางที่จะเข้าถึงตัวเป้าหมายและสามารถตรวจสอบ รับรู้ และวิพากษ์ความบิดเบือนนั้นๆ ได้ ฉะนั้นเขาจึงเสนอให้เกิดการเพิ่มน้ำหนักของข้อมูลที่เกิดจากตัวเป้าหมายเองในกรณีของโซเชี่ยลมีเดีย
นั่นแปลว่าเช่นเดียวกันกับที่ นายประยุกต์จะมีโอกาสบิดเบือนข้อมูลน้อยลงหากองค์กรของเขาโปร่งใส และเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบโดยประชาชน นำไปสู่ผู้นำที่ประชาชนเชื่อถือมากขึ้น ในสายตาโจแซฟโซเชียลมีเดียยุคปัจจุบันมอบความโปร่งใสนั้น โดยเฉพาะกับคู่รักและการเข้าถึงกันและกันผ่านโซเชียลมีเดียของทั้งคู่ ซึ่งมันสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างตัวตนออนไลน์และออฟไลน์ของตัวบุคคล
และนั่นเชื่อมโยงไปสู่การที่ผู้วิจัยบริแอนนา เลน เขียนในบทสรุปว่า เช่นนั้นแล้วผ่านทฤษฎีการรับประกัน ก็สามารถหมายความได้ว่าการประกาศตั้งคบให้เป็นทางการบนเฟซบุ๊กนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโลกจริงด้วย ไม่ใช่เป็นจริงเพียงในโลกโซเชียลมีเดียเท่านั้น
เครื่องมือจับตาเพิ่ม ความหึงหวงอาจเพิ่มอีกด้วย
ในขณะเดียวกันกับที่โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่หยิบยื่นวิธีการตรวจสอบตัวตนออนไลน์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่รักได้ ความสามรถในการตรวจสอบนั้นสามารถนำไปสู่ผลตรงข้ามกับความพึงพอใจได้ในหลายๆ กรณี
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Facebook and Relationships: A Study of How Social Media Use is Affecting Long-Term Relationships โดยรีแอนน์ ฟาร์รูเจีย (Rianne Farrugia) ผู้วิจัยจากสาขาการสื่อสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีโรเชสเตอร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับผละกระทบของโซเชียลมีเดียต่อความสัมพันธ์ระยะยาว โดยเรื่องที่ผู้วิจัยต้องการศึกษาเป็นหลักคือความถี่ของการใช้โซเชียลมีเดีย ความหึงหวง และการพัฒนาความสัมพันธ์
ผู้วิจัยพยายามแบ่งระดับความสัมพันธ์ที่เติบโตของคู่รักผ่านทฤษฎีการแทรกซึมในสังคม (Social penetration theory) โดยทฤษฎีดังกล่าวเสนอว่า ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเติบโต การสื่อสารระหว่างพวกเขาย่อมโตตามและลึกซึ้งขึ้นจากความสัมพันธ์ผิวเผิน เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยหนึ่งในสมมติฐานที่ผู้วิจัยตั้งไว้คือเมื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของคู่รักเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ ความหึงหวงจะสูงขึ้นตามเนื่องจากโซเชียลมีเดียหยิบยื่นวิธีการที่ทำให้คู่รักรู้จักความหลังของกันและกันมากขึ้น มากกว่าที่จะพูดกันต่อหน้า ผู้วิจัยเรียกมันว่าการสอดส่อง
แต่สมมติฐานดังกล่าวไม่แปรผันออกมาตามที่คาด เพราะผลสรุปจากการวิจัยปรากฏออกมาว่าอัตราการสอดส่องไม่ได้ขึ้นอยู่กับลำดับขั้นของการแทรกซึมทางสังคม แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คู่รักใช้เฟซบุ๊กต่างหาก กล่าวคือยิ่งคู่รักคู่ไหนใช้เฟซบุ๊กมาก ก็ยิ่งมีโอกาสมากกว่าในการที่พวกเขาจะทำการสอดส่อง และการสอดส่องที่มากขึ้นนั้นก็นำไปสู่ความหึงหวงที่เพิ่มมากขึ้นตามกันไป
และในบทสรุป พบว่าความหึงหวงนั้นเองที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความสัมพันธ์จากการแทรกซึมทางสังคมให้ช้าลง กล่าวได้ว่าการคาดเดาพื้นฐานว่าธรรมชาติของมนุษย์และชีวิตในโลกออฟไลน์จะเป็นตัวกำหนดลักษณะการกระทำของพวกเขาในโลกออนไลน์นั้นกลับไม่เป็นจริง กลับกลายเป็นว่าผลของการทดลองกลับข้างกันกัน นั่นคือพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียต่างหากที่กระทบไปสู่ชีวิตโลกออฟไลน์ของเรา
คนรู้จักของเราอยู่ที่…
หากให้ลองนึกหน้าของคนที่เราเจอเป็นประจำอยู่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานึกออกไหม? อาจมีคนในครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท ในกรณีนี้คงมีคนรักของเรา เพื่อนร่วมงาน เหล่านี้คือคนที่เราเรียกเขาว่าเป็นคนรู้จักของเรา น่าจะนึกออกและนับคนได้ ลองนับจำนวนนั้นๆ ดู แล้วหันไปมองรายชื่อเพื่อนของเรา หรือไปมองคนที่ติดตามเราอยู่ในช่องทางใดๆ ของโซเชียลมีเดียใดๆ ก็ตาม ส่วนต่างของจำนวนเหล่านั้นมีอยู่เท่าไร?
ธรรมชาติของโซเชียลมีเดียและคนรู้จักในชีวิตจริงของเรามีข้อแตกต่างอยู่อย่างมาก แน่นอนเราอาจไม่เรียกคนจำนวนมากในร้อยในพันคนที่อยู่ในรายชื่อเพื่อนหรือรายชื่อผู้ติดตามว่าสนิทกัน หรือแม้แต่เราอาจไม่เรียกเขาทั้งหมดว่า ‘เพื่อน’ ด้วยซ้ำ แต่คุณสมบัติที่เป็นธรรมชาติของโซเชียลมีเดียคือมันทำให้เราเชื่อมต่อกับคนได้โดยไร้ข้อจำกัดทางระยะทาง เขตแดน และแม้แต่เวลา แม้จะด้วยสายใยที่บอบบางไม่เหนียวแน่น
เราอาจไม่ได้เจอหน้าเพื่อนมัธยมมานานครึ่งทศวรรษ ไม่ได้เจอเพื่อนประถมนานกว่านั้นมากๆ เช่นเดียวกันกับเด็กค่ายที่เคยแอดเก็บไว้ตอนเป็นพี่เลี้ยง รุ่นน้องที่เดินสวนกันในคณะหนึ่งครั้ง ครูที่สนิทกัน เพื่อนที่ได้ไปกินอยู่ด้วยกันตอนเวิร์คแอนทราเวล โฮสต์ซิสจากการไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ และความสัมพันธ์อีกนับไม่ถ้วน แต่คนรู้จัก หรือคนเคยรู้จักเกือบหมดทั้งชีวิตของเราอยู่บนโซเชียลมีเดีย และประโยคเมื่อครู่จะเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนเจนถัดๆ ไปเป็นเนทีฟของโลกดิจิทัลตั้งแต่กำเนิด
ด้วยเหตุผลดังกล่าวความสำคัญของมันต่อชีวิตและความสัมพันธ์จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไรเลย เมื่อเทียบกันแล้วหากเราบอกเพื่อนและสังคมของเรากับคนรักของเราว่าเราสองคนคบกันอย่างเป็นทางการแล้วนะ มันก็โอเคสำหรับการบอกคนที่สำคัญจริงๆ กับชีวิตของเรา แต่เวลาเราบอกมันผ่านโซเชียลมีเดียมันเหมือนการพูดในเสียงรอสายขนาดยักที่มีโอกาสไปถึงคนทั้งหมดในชีวิตของทั้งคู่ (ถ้าไม่โดนอัลกอริทึมขัดขาเสียก่อน)
และบางครั้งสำหรับเรื่องนี้ การป่าวประกาศในบางมุมมองก็อาจเป็นเรื่องของปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพ แน่ล่ะว่าการบอกให้คนใกล้ตัวของทั้งคู่รู้จะส่วนตัวมากกว่า แต่การบอกกว้างๆ ก็อาจเป็นการวางป้ายห้ามขนาดใหญ่ไว้ตรงหน้า ‘ตัวเลือก’ อื่นๆ ของเราและเขาได้เหมือนกัน และสำหรับหลายๆ คนนั่นเป็นความสบายใจที่การประกาศให้
ตัวตนออนไลน์และตัวตนในโลกจริงมีเส้นแบ่งหรือเปล่า?
กลับไปพูดถึงทฤษฎีอารรับประกันกันเสียหน่อย ทฤษฎีดังกล่าวไม่ใช่แรงงานของวอลเธอร์และพาร์กเพียงสองคน แต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่ 1996 โดย แซนดี้ สโตน (Sandy Stone) นักวิชาการด้านการสื่อสาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้งสนามการศึกษาด้านวิชาการเกี่ยวกับคนข้ามเพศ
ความแตกต่างของทฤษฎีเวอร์ชั่นของเธอ และเวอร์ชั่นของวอลเธอร์และพากส์คือบริบทของ 1995 และ 2002-2011 กล่าวคือในขณะที่เวอร์ชั่นของสโตนเกิดขึ้นมาในยุคของอีเมลและเว็บบอร์ด เวอร์ชั่นของวอลเธอร์และพากส์ถูกพัฒนาขึ้นในยุคที่โซเชี่ยลกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ความแตกต่างสำคัญคือในขณะที่สโตนเชื่อว่าตัวตนออฟไลน์และออนไลน์แยกจากกันโดยสิ้นเชิง วอลเธอร์และพาร์กเชื่อว่าทั้งสองเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความแตกต่างระหว่างทั้งสองเวอร์ชั่นสะท้อนโดยตรงมาจากสื่อออนไลน์ที่อยู่ในโลก ณ ขณะนั้น อย่างที่ว่าไป หนังสือของสโตนที่พูดถึงทฤษฎีนี้เริ่มเขียนขึ้นในค.สง 1993 ที่มีเพียงอีเมลและเว็บบอร์ด การถกเถียงและการการต่อสู้เรื่องคนข้ามเพศของเธอโดยมากไม่ได้เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ แต่บนหนังสือ
แต่เมื่อหันมองไปยังถึงระยะเวลาที่ทฤษฎีเวอร์ชั่นใหม่ของโจแซฟและมัลคอล์มพัฒนาต่อมาจากมันในปี 2002 เราจะเห็นว่าโลกออนไลน์ที่พวกเขาอาศัยอยู่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในห้วงเวลาราวๆ หนึ่งทศวรรษที่พวกเขาใช้พัฒนาทฤษฎี โซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบผุดกันขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ไม่ว่าจะ Reddit, 4Chan, Tumblr, MySpace, MSN, Facebook ฯลฯ ระยะเวลานั้นๆ อาจทำให้พวกเขาและเราเห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญของโซเชียลมีเดีย นั่นคือความเป็นส่วนตัว
จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าฐานของการออกแบบโซเชียลมีเดียต้นทศวรรษที่ 2000 นั้นมีเทรนด์อย่างหนึ่งร่วมกัน นั่นคือความเป็นนิรนามของพวกมัน ตัวตนของผู้ใช้งานตัดขาดโดยสิ้นเชิงจากตัวตนจริง บางบอร์ดผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีชื่อผู้ใช้ด้วยซ้ำ และเมื่อเทียบกับการมาถึงของเฟซบุ๊ก เราจะสามารถเห็นเส้นแบ่งชัดเจนว่าเมื่อไรที่ตัวตนออนไลน์ของเราไม่ใช่ INWZA555 อีกต่อไป แต่เป็นชื่อจริงของเรา
นั่นไม่ใช่เรื่องดีหรือแย่ การออกแบบทั้งสองอย่างมีข้อดีและข้อด้อยของมัน แต่การออกแบบนั้นๆ ส่งผลกับสังคมหมู่มากผ่านความนิยมของมัน นั่นคือตัวตนที่แท้จริงและตัวตนออนไลน์ของเราไม่ได้เพียงยืนข้างกัน หรือเป็นปากเพื่อใช้พูดแทน แต่เป็นสิ่งเดียวกัน ทั้งคู่ส่งผลต่อกันและกัน บ่อยครั้งตัวตนออนไลน์ก็ส่งผลกับตัวตนจริงมากกว่าที่คิด
และเช่นกัน นั่นไม่ใช่เรื่องดีหรือแย่ แต่มันคือความเปลี่ยนแปลงที่ที่เกิดขึ้นจริง และมันมาถึงโดยไม่รู้ตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก