สัปดาห์นี้ Avatar สุดยอดโลกจินตนาการกลับมาพร้อมกับคอนเซ็ปต์วิถีแห่งสายน้ำ อันที่จริงเวลาเราพูดถึงพื้นฐานวัฒนธรรม เรามักนึกถึงสายน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ เราตั้งถิ่นฐานตามลุ่มน้ำ ตามแม่น้ำ เมืองสำคัญๆ มักมีแม่น้ำเป็นหัวใจที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน
คงเป็นธรรมชาติของเราที่มีความรู้สึกเชื่อมโยงและโหยหาธรรมชาติ นึกถึงการได้นั่งมองสายน้ำไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำใหญ่หรือน้ำในสระที่กระเพื่อมอย่างเป็นจังหวะ การได้เอามือหรือเท้าแช่ลงไปในน้ำในวันอากาศดีๆ โลกสมัยใหม่เป็นโลกที่ตัดขาดเราออกจากน้ำ จากผืนน้ำ ปัจจุบันเราอาจจะเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ในขณะเดียวกัน กระแสเรื่อง ‘พื้นที่สีฟ้า’ ก็เป็นอีกหนึ่งกระแสการพัฒนาสำคัญ แม่น้ำ คูคลอง บ่อน้ำ สระน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งสุขภาพกายและใจให้กับผู้คนโดยเฉพาะคนเมืองได้
กระแสการพัฒนาทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย การฟื้นฟูพื้นที่สีฟ้ากำลังเป็นกระแสการพัฒนาสำคัญ เกาหลีรื้อถอนทางด่วนและเปลี่ยนเป็นคลองที่กลายเป็นต้นแบบการฟื้นฟูแม่น้ำของเมือง สิงคโปร์ก็มีโครงการสร้างพื้นที่บำบัดน้ำ ไต้หวันมีโปรเจ็กต์ฟื้นฟูท่าเรือและเปิดเป็นจัตุรัสน้ำพุ ในการฟื้นฟูพื้นที่สีฟ้าเหล่านี้ แง่มุมที่น่าสนใจคือการเปิดให้ผู้คนได้เข้าถึงพื้นที่สีฟ้า มีการออกแบบให้บางส่วนของคูคลอง—พื้นที่สาธารณะที่ชุ่มฉ่ำ—สามารถเข้าถึง คือเข้าไปเหยียบและสัมผัสน้ำได้จริงๆ
ผืนน้ำไม่ว่าจะเกลียวคลื่นของทะเล การได้จ้องมองผิวน้ำ กระทั่งเสียงหึ่งๆ ของฝนที่กระทบชายคา การได้เชื่อมต่อกับน้ำในฐานะส่วนหนึ่งของธรรมชาตินั้น นอกจากจะมีประโยชน์ในมิติทางกายภาพแล้ว เราเองต่างสัมผัสได้ว่าการได้สัมผัสกับพื้นที่สีฟ้า มีความหมายและมีพลังในการเยียวยาหัวใจได้อย่างประหลาด
ความสนใจและพลังการเยียวยาของพื้นที่สีฟ้า
เราพาใจไปยังทะเลเมื่อใจของเราเจ็บ น้ำตาหรือเหงื่อเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการฟื้นฟูร่างกาย ในยุคก่อนหน้าเรามักพูดถึงพื้นที่สีเขียว แน่นอนสวน ป่า ต้นไม้เป็นองค์ประกอบที่ขาดหายไป และเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยารักษาผู้คนโดยเฉพาะในเมืองที่ธรรมชาติขาดหายไป แต่นอกจากพื้นที่สีเขียวแล้ว พื้นที่สีฟ้า ผืนน้ำเองก็เป็นอีกพื้นที่และเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่นักพัฒนาและนักวิจัยเสนอว่ามีพลังและควรจะเพิ่มพื้นที่สีฟ้าเหล่านั้นให้มีและเข้าถึงได้
ตัวอย่างของความสนใจคืองานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของพื้นที่สีฟ้าทยอยมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรวมแล้ว งานศึกษาจะชี้ให้เห็นว่าพื้นที่สีฟ้านั้นสำคัญไม่แพ้พื้นที่สีเขียว ความสนใจเรื่องพื้นที่สีฟ้าเริ่มเป็นกระแสจากวิจัยที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2019-2020 งานวิจัยสำคัญเช่นงานศึกษาในอังกฤษในปี 2019 ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International
งานศึกษาดังกล่าวดูว่าในย่านที่มีพื้นที่สีฟ้าที่รวมทั้งชายฝั่ง แม่น้ำ และลำธารส่งผลกับสุขภาพกายใจอย่างไร ผลการศึกษาพบว่า ย่านชุมชนที่มีพื้นที่สีฟ้าอยู่ใกล้ๆ เข้าถึงได้ มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตดีกว่า และการเข้าถึงน้ำได้ก็เพิ่มโอกาสที่จะมีกิจกรรมทางกายภาพคือเล่นกีฬาทางน้ำได้ แต่ผลการสำรวจระบุว่ากลุ่มตัวอย่างอาจจะไม่ได้ประโยชน์คือไม่ได้เล่นกีฬาทางน้ำจริงจัง
การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สีฟ้าส่วนใหญ่ค่อนข้างเน้นและชี้ให้เห็นประโยชน์ของพื้นที่สีฟ้าว่ามีผลต่อสุขภาพใจและคุณภาพชีวิตโดยรวม เช่นงานศึกษาตีพิมพ์ในปี 2020 ศึกษาความสามารถในเยียวยาของพื้นที่สีฟ้าและพบว่าพื้นที่สีฟ้าส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพโดยเฉพาะสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี บางงานศึกษาเชื่อมโยงการเข้าถึงพื้นที่สีฟ้าในวัยเด็กและพบว่า การได้เติบโตขึ้นโดยเข้าถึงพื้นที่สีฟ้า—ใกล้ชิดกับสายน้ำ—มีโอกาสที่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะมีสุขภาพจิตที่ดีกว่า
เหมือนได้กลับบ้าน ผลกระทบพิเศษของผืนน้ำ
เราต่างสัมผัสได้ว่าน้ำมีพลังพิเศษบางอย่างต่อตัวตนและความรู้สึกของเรา ผืนน้ำมักเป็นพื้นที่ของการคิดทบทวน ของการกลับไปอยู่กับตัวเอง ความชุ่มฉ่ำของละอองน้ำที่ซัดกระจายขึ้น คลื่นที่สะท้อนออกซ้ำๆ ตรงนี้เองที่นักวิจัยบอกว่าพื้นที่สีฟ้าก็อาจจะเป็นพื้นที่ที่พิเศษ(กว่าพื้นที่สีเขียว)
ยกตัวอย่าง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ เคต แคมป์เบลล์ (Kate Campbell) ชี้ให้เห็นว่า เสียงของคลื่น กลิ่นของอากาศที่เจือไปด้วยน้ำเค็ม หรือสายน้ำที่ไหลผ่านเท้าของเรา ช่วยให้ทำให้ร่างกายของเราผ่อนคลาย และส่งสัญญาณให้เราได้เหมือน ‘ปิดสวิตช์’ พื้นที่สีฟ้าเป็นพื้นที่ที่ดึงความสนใจของเราจากชีวิตประจำวันอันหนักหนา และพาความรู้สึกของเราให้ล่องลอยไปไกล
ข้อสังเกตที่น่าสนใจของแคมป์เบลล์คือเธอระบุว่า พื้นที่สีฟ้านั้นเปิดโอกาสให้เรากลับไปสู่ความรู้สึกลึกซึ้งที่เชื่อมต่อกับความเป็นธรรมชาติ พาเรากลับไปยังห้วงเวลาที่เราวิวัฒนาการขึ้นมาและสำนึกรู้ว่าสายน้ำเป็นพื้นที่ที่สำคัญกับเราในการมีชีวิตและเติบโตขึ้น ดังนั้น พื้นที่สีฟ้าจึงให้ความรู้สึกอันล้ำลึก เป็นความรู้สึกที่เหมือนกับ ‘ได้กลับบ้าน’
ข้อสังเกตของนักวิชาการต่อความโรแมนติก และความรู้สึกดึกดำบรรพ์ของเราที่มีต่อธรรมชาติคือสายน้ำ นิยามของการกลับบ้านจึงมีความน่าสนใจยิ่ง น้ำสัมพันธ์กับความเป็นวงรอบ การหมุนเวียนของสรรพสิ่ง น้ำตาของเราในวันนี้อาจกลายเป็นห้วงน้ำในมหาสมุทร อาจเป็นแม่น้ำลำธาร ความทุกข์ทางกายและใจค่อยๆ ผลัดเปลี่ยนและเลือนหายไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ
ฟื้นฟูสายน้ำกับกระแสการพัฒนาของเมืองใหญ่
เราเองคงได้ยินการหวนหาอดีตว่าบ้านเราเคยเป็นเมืองของสายน้ำ ซึ่งเราเองอันที่จริงก็ไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ คือเมื่อการพัฒนาโลกสมัยใหม่เข้ามา ถนนและรถยนต์กลายเป็นหัวใจการพัฒนาหลัก แต่ในการโหยหาอดีตที่ไม่นำไปสู่อะไร สิ่งที่หลายประเทศเผชิญเหมือนๆ กัน คือการที่แม่น้ำและคลองของเมืองถูกทำลายไป เมืองใหญ่เหล่านั้นก็ค่อยๆ ฟื้นฟูจนพื้นที่สีฟ้าเหล่านั้นกลับมาใช้งานได้ หลายเมืองใหญ่ในยุโรปและอเมริกามีแผนฟื้นฟูแม่น้ำที่เต็มไปด้วยมลพิษให้สะอาดจนถึงขั้นลงว่ายได้อย่างปลอดภัย แม่น้ำใหญ่ๆ เช่นแม่น้ำเทมส์ในลอนดอนที่เคยถูกประกาศให้เป็นแม่น้ำที่ตายแล้วเมื่อศตวรรษก่อนหน้าก็ค่อยๆ มีสิ่งชีวิตกลับคืนมา และลอนดอนเองก็มีแผนจะทำให้แม่น้ำเทมส์ลงว่ายได้ พอๆ กับปารีสที่กำลังมีฝันไปสู่เมืองสีเขียวภายใต้การนำของผู้ว่าหญิง การจัดโอลิมปิกของปารีสก็เตรียมที่จะให้แม่น้ำแซนที่ขึ้นชื่อเรื่องความสกปรกกลายเป็นสนามแข่งขันหนึ่ง
นอกจากแม่น้ำใหญ่ๆ แล้ว ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียก็เป็นอีกต้นแบบการพัฒนา ที่โคเปนเฮเกน มีการปรับปรุงพื้นที่อ่าวที่เคยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหรือท่าเรือเก่าให้กลายเป็นพื้นที่ชุมชน เมืองหนาวนี้ชื่นชอบการอาบน้ำ ว่ายน้ำ และซาวน่า สิ่งที่โคเปนเฮเกนทำและเป็นกระแสคือการสร้าง Harbour Baths เป็นสระน้ำอุ่นที่ทอดลงไปในอ่าวหรือทะเลบริเวณพื้นที่ที่เคยถูกทิ้งร้างและปนเปื้อนจากอุตสาหกรรม
ถ้าพูดเรื่องการฟื้นแม่น้ำในระดับหัวใจของเมือง เราเองก็ไม่ต้องมองไปไหนไกล ต้นแบบสำคัญใกล้ๆ เราคือโซล เมืองที่คนไทยไปเที่ยวเหมือนบ้านหลังที่ 2 คลองชองกเยชอนเป็นตัวอย่างการฟื้นฟูแม่น้ำที่สำคัญ เดิมคลองกลางโซลนี้เคยเป็นทางด่วนและถูกถมด้วยคอนกรีต พอถึงยุคที่โซลเปลี่ยน การฟื้นฟูชองกเยชอนคือการลงทุนขนาดใหญ่ ความพิเศษของชองกเยชอนนอกจากจะเป็นการฟื้นฟูสัญลักษณ์ของความเป็นเกาหลี ฟื้นฟูความเป็นย่านเศรษฐกิจกลางเมืองและคุณภาพชีวิตแล้ว เราจะเห็นว่าตัวชองกเยชอนจะเน้นไปที่การทำให้น้ำสะอาด และบางส่วนของคลองจะออกแบบให้มีความปลอดภัยและให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสและเดินข้ามคลองได้อย่างใกล้ชิด
กระแสการฟื้นฟูน้ำและพาน้ำมาสู่ผู้คนผ่านพื้นที่สาธารณะนับเป็นกระแสการพัฒนาหลักที่เกิดขึ้นทั่วโลก สิงคโปร์มีแนวทางพัฒนาที่เรียกว่า ABC Waters Programme คือ Active, Beautiful, and Clean ตัวอย่างเช่นการฟื้นฟูแม่น้ำกัลลัง (Kallang River) บริเวณสวน Bishan-Ang Mo Kio Park เป็นแม่น้ำที่เคยเป็นแหล่งน้ำเสียที่อยู่ใกล้ๆ ย่านพักอาศัย การพัฒนาของสิงคโปร์เน้นการใช้ธรรมชาติบำบัด เปิดพื้นที่ธรรมชาติให้ทั้งสะอาด สวยงาม ถ้าเราดูภาพของสวนบิชานจะเห็นภาพของอพาร์ตเมนต์ สวนและแม่น้ำที่ออกแบบให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นลงไปตามโขดหินกลางลำธารได้
นอกจากการพัฒนาแม่น้ำแล้ว การออกแบบพื้นที่สีฟ้าให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ และเปิดให้เข้าถึงได้อย่างอิสระถือเป็นอีกหนึ่งวิธีคิดที่อาจจะไม่อยู่ในวิสัยการพัฒนาของบ้านเราเท่าไหร่ การออกแบบสวนที่เข้าถึงน้ำก็อาจจะมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ต้องคำนึงเพิ่มเติม เช่น ความปลอดภัย การจัดพื้นที่ทำความสะอาด แต่ด้วยความสำคัญของน้ำที่สำคัญกับผู้คน รวมถึงการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่หลากหลายขึ้นนั้น หลายเมืองก็กำลังพยายามทำให้น้ำกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่นที่ไต้หวันมีจัตุรัสใหม่ชื่อว่า Tainan Spring สวนที่ผสมระหว่างสระว่ายน้ำและสวนสาธารณะ ที่เป็นเหมือนบ่อน้ำพุกลางเมือง
อ้างอิงจาก