ยังจำวันที่จบใหม่วันแรกได้ไหม ตอนนั้นกังวลใจเรื่องอะไรบ้าง
แล้วถ้าจินตนาการว่าเราจบใหม่ในปีนี้ล่ะ จะรู้สึกอย่างไรบ้าง?
แต่ต่อให้นึกไม่ออก ก็มีเด็กไทยหลายแสนคนที่ปีนี้กำลังนั่งเรียนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ในห้องของตัวเอง และเตรียมตัวเรียนจบในปีนี้ พร้อมกับความหนักอึ้งในใจมากกว่าเด็กรุ่นไหนๆ
หลายงานรีเสิร์ช และหลายงานสรุปที่เราได้ไปอ่านมาเร็วๆ นี้ บอกตรงกันว่า ในช่วงขวบปีแห่งโรคระบาดที่แพร่กระจายต่อเนื่องทั่วโลก คนทำงานรุ่นเยาว์ โดยเฉพาะเด็กเพิ่งจบใหม่ กลายเป็นกลุ่มคนที่โดนแรงกระแทกของการ ‘ตกงาน’ มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกช่วงวัย
การสำรวจจาก International Labour Organization (ILO) หรือองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า คนอายุ 15-24 ปีทั่วโลก คือกลุ่มคนที่สูญเสียงานมากที่สุด
โดย 13.6% ของเด็กวัยรุ่นทั่วโลก 267 ล้านคน ไร้งานทำและไม่ได้เข้ารับการศึกษาหรือเทรนนิ่ง ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา – ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ค.ศ.2008 ค่อนข้างมาก มากจน ‘Guy Ryder’ ไดเร็กเตอร์ของ ILO แสดงความกังวลใจว่า สถานการณ์ต่อจากนี้จะแย่ลงไปกว่านี้อีก
ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายนที่ผ่านมา รีเสิร์ชของ Nikkei Asian Review บอกว่า แม้จำนวนผู้มีงานทำจะน้อยลงจากช่วงเดียวกันของปี ค.ศ.2019 อยู่ที่ 9.9% (ซึ่งดูเป็นตัวเลขที่สูงแต่เข้าใจได้)
แต่เมื่อเจาะดูตัวเลขของคนที่อายุต่ำกว่า 24 ปี จะพบว่า มากถึง 19.1% ของคนกลุ่มนี้ พวกเขาตกงาน ขณะที่ตัวเลขตกงานของคนที่จบการศึกษาไม่เกินระดับไฮสกูล อยู่ที่ 16.8%
โดยรีเสิร์ชของ Economic Policy Institute เสริมว่า เหตุที่คนอายุน้อยตกงานในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก เพราะ 1 ใน 4 ของพวกเขาทำงานด้านงานบริการ หรืองานแผนกต้อนรับ ซึ่งการจ้างงานลดลง 41% นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมเมื่อปีที่แล้ว
ในอังกฤษ รีเสิร์ชจาก London School of Economics and Political Science (LSE) และ Exeter University บอกว่า ‘1 ใน 10 ของคนอายุ 16-25’ ตกงาน และ 6 ใน 10 ของคนกลุ่มอายุนี้พบว่า เงินเดือนของพวกเขาลดลงเมื่อโรคระบาดเกิดขึ้น
และมากถึง 62% ของวัยรุ่นอังกฤษบอกว่า แผนอนาคตระยะยาวถูกกระทบ ขณะที่ 68% บอกว่า แผนการศึกษาระยะยาวของพวกเขาถูกทำให้ไร้ทิศทาง ซึ่งวัยรุ่นจากครอบครัวที่รายได้น้อย ได้รับการกระทบหนักที่สุด
ในเอเชีย-แปซิฟิก มาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศส่งผลให้จำนวนการจ้างงานลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ก็เช่นเดียวกัน เด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 16-24 กระทบหนัก และดูเหมือนจะได้รับผลกระทบการไร้งานแตกต่างจากผู้ใหญ่ตรงที่ว่า ผู้ใหญ่ถูกระงับงานชั่วคราว แต่กลุ่มวัยรุ่นถูกให้ออกจากงานถาวร
ผลสำรวจของเกาหลีใต้ จาก ILO พบว่าจำนวนวัยรุ่นที่ตกงานมีสัดส่วนถึง 10.7% ขณะที่ผู้ใหญ่ตกงานอยู่ที่ 3.8% ในไตรมาสแรกของ ค.ศ.2020
ขณะที่ประเทศไทย 8% ของวัยรุ่นพบกับชั่วโมงการทำงานและรายได้ที่ลดลง เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่ 5% และสัดส่วนตัวเลขตกงานของผู้ใหญ่อยู่ที่ 0.4% ขณะที่กลุ่มแรงงานวัยรุ่นพบกับสัดส่วนการตกงานมากกว่าที่ 3.9%
ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (econthai) บอกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า อีคอนไทยกังวลถึงตัวเลขนักศึกษาจบใหม่ ค.ศ.2020 ที่จำนวนมากถึง 500,000 คน ที่เสี่ยงเป็นผู้ว่างงานถาวร เพราะสถานการณ์ COVID-19 ทำให้นายจ้างไม่มีนโยบายรับคนเพิ่ม ขณะที่แรงงานไม่รวมเด็กจบใหม่ของปีค.ศ.2020 ยังว่างงานราว 3.6 ล้านคน
“ผมห่วงเด็กนักศึกษาที่จบการศึกษาในปีนี้หากปล่อยว่างงาน 1-2 ปี จะเข้าสู่วงจรตกงานถาวร โดยมองว่าในระดับที่โชคดีที่สุดคือ เด็กที่จบสาขาที่ตลาดแรงงานยังต้องการ อาจถูกดึงตัวไปทำงานได้ประมาณ 20% ทำให้ที่เหลืออีกเกือบ 400,000 คนจะตกงานถาวร…เศรษฐกิจของประเทศไทยและโลกที่ซบเซาและถดถอยต่อเนื่องเพราะไม่มีใครทราบว่า COVID-19 จะจบเมื่อไหร่ เมื่อมีเด็กจบใหม่ในปี ค.ศ.2021 เข้ามาเพิ่มอีก 500,000 คน ก็จะส่งผลให้นายจ้างไปเลือกรับเด็กที่จบใหม่ล่าสุดมากกว่า” ธนิต บอกกับไทยรัฐไว้แบบนั้น
ความเปราะบางของแรงงาน Lockdown Generation
เพราะอะไรแรงงานเด็กวัยรุ่นจึงเปราะบางในหน้าที่การงานมากกว่าคนวัยอื่นๆ?
คำตอบที่หลายรีเสิร์ชให้ตรงกันก็คือ หลายปีก่อนหน้านี้ที่เศรษฐกิจโลกถดถอยต่อเนื่อง ก็ทำให้การหางานยากพอตัวอยู่แล้ว ก่อนที่จะถูกซ้ำเติมด้วยโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก ทำให้เด็กจบใหม่ หรือเด็กวัยรุ่นที่มีการศึกษาแค่ระดับมอปลาย ซึ่งมี ‘ประสบการณ์การทำงานน้อยกว่า’ ถูกคัดออกจากสนามแรงงานเป็นกลุ่มแรก
ไม่น่าแปลกใจหากคิดในมุมนายจ้าง ซึ่งก็ไม่มั่นใจการอยู่รอดของธุรกิจตัวเอง เมื่อต้องลดจำนวนคนงานเพื่อลดต้นทุน พวกเขาก็เลือกคนที่อยู่มานานกว่า คนที่มีประสบการณ์และรู้งานมากกว่า ขณะเดียวกัน แรงงานวัยรุ่นหลายคน โดยเฉพาะแรงงานรายได้น้อย ก็ทำงานที่เป็นงานชั่วคราว หรือได้รับการจ้างงานอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกรมแรงงานอย่างเป็นทางการ
ILO บอกว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่แรงงานวัยรุ่นจะถูกกีดกันจากอุตสาหกรรมอย่างถาวร เพราะในช่วงปีหรือสองปีนี้ พวกเขาขาดโอกาสในการฝึกฝนและพัฒนาสกิลตัวเองในการทำงานจริง จากการที่โรคระบาดเกิดขึ้น
‘Guy Ryder’ ไดเร็กเตอร์ของ ILO บอกว่า แรงงานวัยรุ่นในยุคโรคระบาด หรือที่เรียกว่าแรงงาน Lockdown Generation เสี่ยงจะได้รับผลกระทบหน้าที่การงานยาวนานถึง 10 ปีหลังจากนี้ ขณะเดียวกัน กว่าครึ่งต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าจากพิษเศรษฐกิจ
“ภาวะของโรคระบาด มันจะกระทบต่อชีวิตการทำงานคนหนุ่มสาวอีกยาวนาน และทิ้งแผลเป็นในชีวิตของพวกเขาเป็นปีๆ”
ทางแก้ไขที่ทำได้ตอนนี้ Ryder เรียกร้องว่ารัฐบาลทั่วโลกต้องออกนโยบายที่เจาะเฉพาะกลุ่ม สนับสนุนแรงงานวัยรุ่น ลงทุนกับอนาคตของพวกเขาเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา หรือเทรนนิ่งโปรแกรม และอื่นๆ
การตกงานของแรงงายอายุน้อย ไม่ได้จะกระทบแต่กลุ่มหรือเจเนอเรชันของพวกเขาเองเท่านั้น แต่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม หลังฟื้นตัวจากโรคระบาด เพราะวัยรุ่นคือแรงงานที่จะก้าวเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีกไปกี่ปีต่อจากนี้
“แรงงานอายุน้อยที่ขาดโอกาสและสกิล จะทำให้การสร้างเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแรงหรือดีกว่าเดิม ในยุคหลัง COVID-19 ยากกว่าเดิมอย่างมหาศาล”
อ้างอิงข้อมูลจาก