เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เมื่อเรามองว่าการล่วงละเมิดทางเพศและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันไปแล้ว
คนหลากหลายตำแหน่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังล้วนตกเป็นเหยื่อของคนที่มีอำนาจกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเหล่าโมเดลในวงการแฟชั่น ที่ต้องทนกับการกระทำอันไม่เหมาะสมของดีไซเนอร์เพราะใครๆ ก็ทำกัน ตากล้อง ที่ใช้อาชีพตัวเองเป็นอุปกรณ์บังหน้าในการละเมิด หรือในกรณีล่าสุดคือ บรรณาธิการชายกระทำอนาจารและพยายามล่วงละเมิดทางเพศคนใกล้ตัวที่ไว้ใจ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเขาบ้างประปราย แต่เสียงที่ดังยิ่งกว่ากลับเป็น ‘ความเงียบ’ ที่สะท้อนไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นี้
เมื่อเรานำตัวอย่างการกระทำที่กล่าวไปในข้างต้น มาจับคู่กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เราจะสามารถนึกไปถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ตั้งแต่แวดวงศิลปะไปจนวรรณกรรม แวดวงดนตรีไปจนการแสดง ฯลฯ แล้วอะไรกันเป็นเหตุผลให้พื้นที่ของอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นที่เพาะตัวของพฤติกรรมการกดขี่เหล่านี้ได้? และมากไปกว่านั้น อะไรกันทำให้การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นซ้ำๆ เรื่อยไปในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์?
หนึ่งในหนทางที่อาจนำไปสู่คำตอบคือ งานวิจัย Sexual Harassment in the Creative Industries: Tolerance, Culture and the Need for Change โดยโซฟี เฮนน์คัม (Sophie Hennekam) จากสถาบันเฉพาะทางบริหารธุรกิจ Audencia ประเทศฝรั่งเศส และดอน เบนเน็ต (Dawn Bennett) จากมหาวิทยาลัยบอนด์ ประเทศออสเตรเลีย งานวิจัยนี้ได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลจำนวน 32 คน ในหลากหลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมทั้งเชื่อมโยงและสนับสนุนคำตอบเหล่านั้นเข้ากับงานวิจัยในประเด็นข้างเคียงที่เคยเก็บข้อมูลมาแล้วในอดีตมากมาย
วัฒนธรรมที่ทำให้เป็นเรื่องปกติ
จากคำตอบของกลุ่มตัวอย่างและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องข้างต้น ทำให้เราเห็นเหตุผลหลักที่ยอมรับได้ ซึ่งนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด 4 เหตุผล นั่นคือ การแข่งขันสูงที่สูงในวงการ วัฒนธรรมของอุตสาหกรรม อำนาจผูกกับเพศ และคอนเนกชั่น แม้ว่าทุกปัจจัยจะมีความสำคัญเท่ากัน แต่การจะทำให้ภาพใหญ่ชัดเจนได้อาจต้องมองไปยัง ‘วัฒนธรรม’ เป็นอย่างแรก
วัฒนธรรมของอุตสาหกรรมในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่มีอยู่มานานจนเป็นธรรมชาติของอุตสาหกรรมเหล่านั้น เช่น วิธีการเข้าสังคม ประเด็นในบทสนทนา กิจกรรมที่เกิดขึ้น มารยาทในการทำงาน ความคาดหวังในอุตสาหกรรม หรือกฎที่ไม่ได้มีลายลักษณ์อักษร ฯลฯ ซึ่งหากมองแบบผิวเผินทั้งหมดนี้อาจดูไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่หากมองไปยังรายละเอียดแล้วอาจพบว่า ในโลกความเป็นจริงมันดำมืดมากกว่านั้น
“โรงเรียนการแสดงไม่มีเส้นกั้นที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นที่ยอมรับหรือเหมาะควร และอะไรที่ไม่ใช่” คำกล่าวจากหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างที่ให้สัมภาษณ์ โดยเธอเป็นนักแสดงที่ยกตัวอย่างว่า มีการถึงเนื้อถึงตัวนักเรียนการแสดง ซึ่งคำตอบนี้ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในเหตุผลที่เรื่องเหล่านี้ถูกยอมรับอย่างกว้างขวางก็คือ ระบบการศึกษานั้นสอนให้นักแสดงเชื่อว่า การล่วงละเมิดทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพ ที่เส้นแบ่งระหว่างเนื้องานกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมถูกเบลอเข้าหากัน
ตัวอย่างชัดเจนที่สุดสำหรับเส้นแบ่งอันบางเบานี้คือ เบื้องหลังหนังที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของเลสเบี้ยนอย่าง Blue Is The Warmest Colour โดยเฉพาะฉากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวละครหลัก ซึ่งนักแสดงลีอา เซดู (Lea Seydoux) ให้สัมภาษณ์ว่าเธอทำงานราว 6 ชั่วโมง และถ่ายทำไปถึง 100 ครั้งสำหรับฉากนั้นฉากเดียวว่า “มันเป็นการลดทอนสำหรับฉัน ฉันรู้สึกเหมือนเป็นโสเภณี…เขามีกล้องสามตัว และเราต้องแกล้งไปถึงจุดสุดยอดอยู่ร้อยครั้งได้”
ในขณะเดียวกัน คำตอบของคู่แสดงและผู้กำกับก็วาดภาพวัฒนธรรมของอุตสาหกรรมนี้ชัดเสียยิ่งกว่าอะไร โดยอเดล เอคซาคุพุลุส (Adèle Exarchopoulos) นักแสดงผู้เล่นเป็นตัวละครเอกอีกหนึ่งคนกล่าวว่า “เขาไม่ได้ต้องการเห็นคุณแสดง เขาต้องการเห็นจิตวิญญาณของคุณ” ซึ่งเป็นมุมมองที่เป็นไปในทิศทางเดียวผู้กำกับอับดุลลาทิฟ เคอเชเชอ (Abdullatif Kechiche) ว่ามันคือการแสดงออกที่มาจาก “แพชชั่น”
การถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่สบายใจ แทนที่การทำด้วยสปิริตและความทุ่มเทในหน้าที่การงาน นำไปสู่ความคาดหวังของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่หวังให้ใครหลายคนต้องยิ้มรับ เมื่อถูกพูดจาแทะโลม “พวกเขาว่ามันเป็นแค่เรื่องขำๆ หรือมันจะไม่ ‘คูล’ หากคุณไม่รับคำพูดเหล่านั้นไว้” นางแบบคนหนึ่งพูดเกี่ยวกับวัฒนธรรมของโลกแฟชั่น ที่บอกแบบกลายๆ ว่าหากยอมรับการล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้ ก็จะไม่มีที่ยืนในวงการ อย่างนั้นแล้วการได้รับความยินยอมให้ถูกคุกคาม จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสังคมและเป็นก้าวแรกในการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างนั้นหรือ?
ระบบเครือข่ายที่ปิดปาก
อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มักตั้งตัวอยู่บนระบบเครือข่ายและระบบอุปถัมภ์ การฝากงานแบบปากต่อปาก น้องคนนี้เคยทำงานกับพี่คนนั้น พี่คนนั้นเคยทำงานกับบริษัทนี้ ฯลฯ แน่นอนว่าใครก็ตามที่มีเครือข่ายกว้างขวาง ย่อมมีอำนาจติดสอยห้อยตามไปด้วย ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนั้นก็จะมาพร้อมกับเกราะกำบังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือการส่งเสียงใดๆ เมื่อพวกเขากระทำผิดตั้งแต่ต้น
สำหรับการเก็บข้อมูลของงานวิจัยข้างต้นนั้น ยังพบอีกว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวน 28 คน เห็นตรงกันว่า แค่เพียงผลงานอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ระบบเครือข่ายมีความสำคัญมาก “คุณต้องดึงสายตาให้ได้ หากอยากจะเป็นใครสักคน คุณก็ต้องไปปรากฏตัวในอีเวนต์ หรือในตอนเย็นๆ ของบาร์นี้ จะมีพวกโปรดิวเซอร์คนสำคัญๆ มานั่งดื่ม ถ้าเราไปที่นั่นก็จะมีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขา” นักทัศนศิลป์กล่าว ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการไปพบคนที่ถูกต้องในสถานที่และเวลาที่ถูกต้อง มีความสำคัญพอๆ กับงานของตัวเองเลยทีเดียว
ในการพบปะเหล่านั้น ทำให้เราเห็นรูปแบบเครือข่ายซึ่งพบในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยผู้วิจัยเรียกว่า “เครือข่ายไม่ทางการ” (Informal Network) เป็นเครือข่ายที่ไร้เส้นแบ่งระหว่างมืออาชีพ พี่น้อง และเพื่อนฝูง ความสัมพันธ์ทั้งหมดจะไหลรวมเป็นกันเป็นหนึ่ง หากเป็นเพื่อนร่วมงานก็ต้องเป็นเพื่อนใกล้ชิด ต้องไปเที่ยว ต้องไปดื่ม ไม่งั้นเราจะเป็นเพื่อนร่วมงานกันได้จริงๆ เหรอ? เราเป็นพวกเดียวกันหรือเปล่า? ซึ่งการดื่มนี้เองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่มักก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
“เราดื่มกันหลังคอนเสิร์ตประจำ คนในกลุ่มก็ปกติดี แต่บางครั้งคนนอก เช่น พวกนักตัดต่อ หรือโปรดิวเซอร์ก็มักเข้ามาร่วมวงดื่มกัน โดยมันเป็นโอกาสที่จะมีโมเมนต์แบบไม่เป็นทางการและได้ตัดสินใจอะไรสำคัญๆ ไปด้วยบ้าง แต่พออยู่ไปสักพัก บางทีพวกเขาก็ชอบฉันในฐานะผู้หญิงไม่ใช่มืออาชีพ ซึ่งมันน่าอึดอัด” นักดนตรีกล่าว
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าขนลุกคือ การมี ‘อำนาจ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง “มีครั้งหนึ่งในปาร์ตี้ ฉันเมามากแล้วดันไปจูบกับหัวหน้า ซึ่งเขาถ่ายวิดีโอเก็บไว้ แล้วหลังจากนั้นไม่กี่วันเขาก็เรียกฉันไปพบและนำวิดีโอให้ดู พร้อมบอกว่าวันนั้นเราสนุกกันทั้งคู่ คืนนี้ฉันอยากไปบ้านเขาหรือเปล่า? เหตุการณ์นั้นทำให้ฉันอับอายมาก และลาออกในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา” นักออกแบบมัลติมีเดียกล่าว จึงยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นไปอีกว่ามีคนที่พร้อมจะใช้เครือข่าย อำนาจ และความสุ่มเสี่ยงมากดขี่ผู้อื่นอยู่เสมอ และน้อยครั้งนักที่คนมีอำนาจจะได้รับผลกระทบใดๆ
ใครจะไปรู้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นกับคนแรกที่กล้าจะเปิดปากพูด? ถ้าคนในเครือข่ายยักษ์ใหญ่ของเขาไม่เชื่อจะทำยังไงต่อไป? แล้วที่ยืนของฉันในวงการจะอยู่ที่ไหน? แล้วคนอื่นๆ จะกล้ายุ่งกับฉันหรือเปล่า?
อำนาจและเพศ
เมื่อเราพูดถึงผู้กำกับชื่อดัง นักเขียนใหญ่ นักดนตรี หรือกระทั่งศิลปินระดับโลก ภาพแบบไหนที่เข้ามาในหัวของคุณโดยอัตโนมัติ? ส่วนใหญ่แล้ว ‘ผู้ชาย’ น่าจะเป็นภาพแรกๆ ที่โผล่เข้ามาในความคิด ไม่ใช่ผู้ชายที่มีอำนาจทุกคนจะกดขี่ผู้อื่น แต่เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเองก็ไม่ใช่ปัจเจกเช่นกัน เพราะมันมีระบบและอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บ่อยครั้งอำนาจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้มักถูกวางอยู่กับผู้ชาย
“ไม่เล่นด้วยก็ได้ แต่ด้วยมุมของการดำเนินไปในสายอาชีพนี้แล้วมันคือการฆ่าตัวตายชัดๆ เราไม่มีตัวเลือก โดยเฉพาะนักเต้นใหม่” กลุ่มตัวอย่างผู้เป็นนักเต้นกล่าว และมีนักแสดงอีกหนึ่งคนที่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ “เราเหมือนเป็นหุ่นเชิด เขาจะให้เราเต้นยังไงก็ได้ แล้วก็เขวี้ยงเราทิ้งเมื่อไม่ต้องการแล้ว” เป็นคำกล่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งผู้วิจัยก็เขียนระบุว่า นี่เป็นหนึ่งในรูปแบบของการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมักได้รับการยินยอมมากที่สุด เพราะมันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกับรูปแบบก่อนหน้า และในสายงานบริการเองก็พบเจอเหตุการณ์ทำนองนี้เช่นกัน
ผู้วิจัยยังเขียนเพิ่มเติมอีกว่า ธรรมชาติงานของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั้นไม่มั่นคงและไม่มีมาตรฐาน น้อยครั้งที่จะมีตำแหน่งถาวร เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง และมักหาคนมาทำงานผ่านการ “ดึงคน” เป็นหลัก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าปัจจัยเหล่านี้ นำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ต่างคนต่างต้องเอาตัวรอด มากกว่าการเรียกร้องความถูกต้อง
มากไปกว่านั้น ในเรื่องของสัดส่วนและจำนวนก็มีผล เช่น อาชีพนักออกแบบเว็บไซต์ ผู้ชายมีสัดส่วนในหน้าที่การงานสูงกว่า ก็มีโอกาสสูงที่ผู้หญิงซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยเข้าไปแล้วจะพบกับพฤติกรรมเลือกปฏิบัติอยู่แล้วแต่ต้น แต่หากในบางกรณีก็รวมไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศได้ด้วย
การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสายงานสร้างสรรค์ เป็นวัฒนธรรมและอำนาจที่ตกอยู่ในมือของคนในอุตสาหกรรม โดยไม่มีการตั้งคำถามหรือถูกท้าทาย นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เรื่องราวรูปแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำเสมอ ทั้งจากคนคนเดิม หรือจากคนใหม่ๆ ที่อุตสาหกรรมอนุญาตให้เกิดและผุดขึ้นมา
และบางอย่างจำเป็นต้องเปลี่ยนเสียที
อ้างอิงจาก