เรียนวรรณคดีเพื่ออะไร?
เรียนวรรณคดีจบไปแล้วทำงานอะไร?
เรียนวรรณคดีมีงานไหม?
ข้อความเหล่านี้มักปรากฏขึ้นเป็นอันดับแรกๆ หากเราลองพิมพ์คำว่า ‘เรียนวรรณคดี’ ลงในช่องการค้นหาของ Google แต่ท่ามกลางความสงสัยและการตั้งคำถาม ประกอบกับความแปรปรวนของเศรษฐกิจและสังคมในประเทศและต่างประเทศ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ กลับได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ยืนยันได้จากสถิติผู้ยื่นสมัครเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีมากถึงหลักพันคน โดยปี 2565 มีจำนวนผู้สมัคร 3,011 คน ปี 2566 มีจำนวน 2,905 คน และปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,014 คน
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? คงเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของทุกคนทันที เพราะคงจะทราบกันดีว่า ตลาดแรงงานมีพื้นที่รองรับให้กับผู้ที่จบการศึกษาจากสาขาในลักษณะนี้ไม่มากนัก (สังเกตได้จากเว็บไซต์หางาน หรือข้อมูลจากเทรนด์อาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ)
เพื่อคลี่คลายข้อสงสัย The MATTER จึงพูดคุยกับ มิ่ง ปัญหา อาจารย์สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ความสำคัญและการปรับตัวของสาขาวิชา ไปจนถึงคำถามยอดนิยมอย่างคำว่า “เรียนวรรณคดีจบไปแล้วทำงานอะไร”
ที่มาและความสำคัญของสาขาวรรณคดีอังกฤษมีที่มาที่ไปอย่างไร
ที่มาความสำคัญของสาขาดังกล่าว มันสืบเนื่องมาจากความชั่วร้ายของจักรวรรดิอังกฤษที่เผยแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก จนขนาดที่ว่าการสอนภาษาอังกฤษ ก็ต้องเอาหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับอังกฤษมาสอน ฉะนั้นแล้วเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเรียน ต้องเจอ เพราะภาษาอังกฤษมันกระจายไปทั่วโลก
เพราะฉะนั้นการที่เห็นวรรณกรรมชาติอื่นอ้างถึงจักรวรรดิอังกฤษ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะ ‘ผี’ ของจักรวรรดิอังกฤษหลอกหลอนแทบจะทุกวัฒนธรรมของโลก
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณมองว่ามันเป็นสิ่งสำคัญก็สำคัญ ในแง่ของการศึกษาวัฒนธรรม แต่ไม่ใช่ทุกวัฒนธรรม และขอย้ำว่าวรรณคดีอังกฤษไม่ใช่ศาสตร์ที่ดีที่สุด ไม่ใช่สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ขนาดที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียน ต้องเคารพ ไม่ใช่สิ่งสำคัญขนาดที่ถ้าไม่รู้แล้วจะตาย และการที่มันสำคัญไม่ได้แปลว่ามันศักดิ์สิทธิ์ ที่ทุกคนจะต้องเรียนให้ได้ ดังนั้นความสำคัญสำหรับเราในการเรียนวรรณคดีอังกฤษคือ มันช่วยให้เรา ‘เข้าใจวัฒนธรรมทางโลกมากขึ้น’
แปลว่าวรรณคดีอังกฤษค่อนข้างมีอิทธิพลต่อโลก?
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การที่หลายๆ วัฒนธรรมอ้างอิงถึงวรรณคดีอังกฤษ ยกตัวอย่างถ้าเราไปหาอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่น ก็อาจจะพบการอ้างถึง โรมิโอกับจูเลียต (Romeo and Juliet) ในเวอร์ชั่นการ์ตูนเป็นสิบๆ เวอร์ชั่น ทั้งในรูปแบบหญิงชาย หญิงหญิง ชายชาย เยอะแยะไปหมด
ถ้าเดินทางไปโรมาเนีย จุดขายของเขาคือ ทัวร์ ‘แดร็กคูลา’ (Dracula) ทั้งที่เดิมทีคนที่เขียนเรื่องราวนี้มาจากเกาะอังกฤษ แต่ถ้าถามว่าการไปที่ไหนก็เจอความเป็นอังกฤษ เราจำเป็นต้องเชิดชูอังกฤษไหม คำตอบคือก็ไม่ใช่
เพราะหากมองลึกลงไปถึงความสำคัญและการกระจายตัวไปทั่วของมัน เรารู้สึกค่อนข้างเศร้ามากกว่า ในแง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่าทุกคนสนับสนุนให้ทุกชาตินำเสนอวัฒนธรรมตัวเอง แต่ขณะเดียวกันอังกฤษและอเมริกันกลับมีอิทธิพลกับโลกมากขนาดแทรกซึมอยู่ทุกพื้นที่
“ดังนั้น เราหนีวรรณคดีอังกฤษไม่พ้น เพราะมันเหมือนผีที่คอยติดตามเรา แม้แต่คนอังกฤษยังมาตระหนัก (realize) ปัญหาที่เกิดจากจักรวรรดินิยม จนบางคนก็รู้สึกผิดและละอายใจ”
สรุปแล้ววรรณคดีอังกฤษสำคัญในแง่ที่มันได้แทรกซึมตัวเองอยู่ในวรรณกรรมทุกชาติ แม้ว่าวรรณกรรมนั้นๆ จะได้รับอิทธิพลมาหรือจะตอบโต้สิ่งที่วรรณคดีอังกฤษเขียนก็ตาม ดังนั้นแล้วมันไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจหรือสำคัญที่สุด แต่มันคือสิ่งที่อยู่แกนกลาง ใจกลางของโลก ความสำคัญของมันจึงอยู่ที่กลไกของตัวมันเอง ซึ่งคือการเผยแพร่วัฒนธรรมกึ่งบังคับที่มากับจักรวรรดินิยม
อาจารย์มองว่าวรรณคดีอังกฤษมีความพิเศษกว่าวรรณคดีชาติอื่นอย่างไรบ้าง
เราเชียร์การเรียนวรรณคดีศึกษามากกว่าวรรณคดีอังกฤษ เพราะเราเคยถามคนที่เรียนวรรณกรรมสาขาอื่นๆ แล้วพบความประหลาดอย่างหนึ่งนั้นคือ คนจากหลากหลายสาขามักรู้สึกชอบเรียนวรรณาคดีอังกฤษ
เช่น รุ่นน้องบางคนของเราเรียนเอกฝรั่งเศส แต่มานั่งเรียนวิชาวรรณคดีอังกฤษ เราก็ถามเขาไปว่า “ทำไมไม่เรียนวรรณคดีฝรั่งเศส” ซึ่งเขาก็ให้คำตอบว่า การเรียนวรรณคดีอังกฤษให้ความรู้สึกเปิดโลกมากกว่า เพราะนักเขียนที่เขาได้เจอนั้นหลากหลายกว่า
เราขอขยายความคำว่า ‘วรรณคดีอังกฤษ’ ว่า ตอนนี้ทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทยเองด้วย เริ่มเกิดการตั้งคำถามว่า ‘แท้จริงแล้วอังกฤษแปลว่าอะไร’ ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายคือ คนไนจิเรียก็พูดภาษาอังกฤษ ดังนั้น วรรณคดีไนจีเรียนก็ต้องรวมอยู่ในวรรณคดีอังกฤษด้วยหรือไม่
“ซึ่ง ณ ตอนนี้ สาขาวรรณกรรมในทั่วโลกที่เมื่อก่อนเคยมีชื่อว่า วรรณกรรมอังกฤษ (English Literature) ก็เปลี่ยนตัวเองเป็น วรรณกรรมที่ใช้ภาษาอังกฤษ (Anglophone Literature) แทน เพราะเกิดการตั้งคำถามกับมรดกของจักรวรรดินิยม พร้อมทั้งยังไปดึงนักเขียนจากชาติอื่นๆ เข้ามาในหลักสูตรด้วย”
ไม่ว่าจะเขียนหรือตอบโต้วัฒนธรรมและวรรณกรรมอังกฤษก็ตาม หรือเพื่อท้าทายความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นศูนย์กลางของตัวเอง (ความเป็นอังกฤษ) เพราะฉะนั้นพอเป็นแบบนี้ ทำให้ผู้เรียนสาขาวรรณคดีอื่นๆ เช่น วรรณคดีไทย วรรณคดีฝรั่งเศส จึงตัดสินใจมาเรียนวรรณคดีอังกฤษ เพราะรู้สึกว่าเปิดโลกมากว่าการเรียนวรรณคดีสาขาตัวเอง
ด้วยเหตุผลที่ว่า วรรณคดีของสาขาตัวเองมักจะไม่ตั้งคำถามขนาดนี้ แต่ถ้าถามว่าความพยายามในการตั้งคำถามของสาขาอังกฤษเองสำเร็จขนาดนั้นไหม เรายังมองว่าไม่ขนาดนั้น ไม่งั้นพรรคการเมืองขวาจัดคงไม่ถือกำเนิดขึ้น
แต่อย่างน้อยวรรณคดีอังกฤษก็ยังมีจุดที่ชนะอยู่บ้าง เนื่องจากหลักสูตรมีความหลากหลายและมีมิติมากขึ้น เพราะมีทั้งผลงานขอคนผิวสี ผิวขาว ผู้หญิง และกลุ่มคนเพศหลากหลาย (LGBTQIAN+) ในขณะที่เท่าที่สอบถามผู้เรียนวรรณคดีสาขาอื่นพบว่า ยังไม่มีการดึงเอานักเขียนผู้หญิง หรือคนผิวสีเข้ามาขนาดนั้น ขณะที่วรรณคดีอังกฤษลงลึกไปมากกว่านั้นมาสักพักแล้ว
อาจารย์คิดว่าวิชาวรรณคดีอังกฤษควรถูกบรรจุในโรงเรียน เพื่อพัฒนาทักษะภาษาและการคิดวิเคราะห์หรือไม่
คิดว่าส่วนหนึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่การอ่านวรรณกรรมก็มีข้อดีอยู่พอสมควร ที่หลักการเรียนของมันไม่จำเป็นต้องให้ผู้เรียนอ่านเรื่องยาก หรือต้องเป็นเรื่องคลาสสิกเท่านั้น แต่ผู้สอนสามารถให้อ่านเรื่องสั้นไม่กี่ย่อหน้าก็ได้
การเรียนการสอนลักษณะนี้บางครั้งก็ปรากฏในวิชาการอ่าน (reading) แต่เราอยากให้มองไปไกลกว่านั้นคือ การอ่านเพื่อจับใจความ การถกเถียงกัน และการอภิปราย เช่น พูดคุยกันว่าตัวละครตัดสินใจถูกไหม เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การตั้งคำถามกับสังคม หรือคุณค่าที่เราได้รับการปลูกฝังมา ไม่อยากให้โฟกัสแค่การท่องหรือหาความหมายของคำศัพท์ว่าแปลว่าอะไรอย่างเดียว
“เพราะสำหรับเราแล้วการได้อ่านอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องราว เราจะเห็นการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันและในบริบทจริงๆ เราจึงมองว่าไม่ว่าจะเป็นการเรียนวรรณคดีชาติไหนก็ตาม ก็ควรจะเรียนในรูปแบบนี้ (เพื่อถกเถียง)”
เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวที่อ่านมากขึ้น นอกจากนี้ยังมองว่าการเรียนวรรณคดีช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความตั้งใจเรียนภาษาอย่างจริงจัง การอ่านวรรณคดีของภาษานั้นๆ จะช่วยให้เห็นการใช้ภาษาที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่เป็นตัวอย่างการใช้ภาษาที่ถูกดัดแปลง (innovative) จากนักเขียนและกวี ที่อาจมีความแปลกใหม่ และยังเปิดโอกาสให้เราได้คิดตามและตีความอีกด้วย
ทั้งนี้ ภาษาจากวรรณคดีบางทีอาจจะเก่าไป อย่างงานของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ที่ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครพูดด้วยภาษาเหมือนกับเขาแล้ว แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เราเรียนรู้วัฒนธรรมในห้วงเวลานั้น
รู้สึกอย่างไรที่คนสนใจเรียนวรรณคดีอังกฤษมากขึ้น
ยอมรับว่าค่อนข้างตกใจ ซึ่งอาจารย์ เมธาวี โหละสุต อาจารย์สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ม.ธรรมศาสตร์ เคยพูดกับเราว่า สาเหตุน่าจะมาจากที่การเรียนเอกภาษาวรรณอังกฤษดู cool factor คือแบบเรียนแล้วเท่ ดูขบถ
นอกจากนี้ เรามองว่าเกิดจากบรรยากาศทางการเมืองของไทยและโลกด้วย ที่ทำให้ผู้ที่สนใจเรียนมองว่าสาขาดังกล่าวสามารถช่วยให้เกิดการตั้งคำถาม (critical thinking) กับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ หรือแม้กระทั่งว่าเด็กบางคนตัดสินใจมาเรียน เพราะอยากฝึกการถกเถียง เพื่อเพิ่มสกิลการวิพากษ์วิจารณ์ให้เฉียบแหลมมากขึ้น
แต่ในระหว่างเดียวกัน ก็มีเด็กบางส่วนรู้สึกว่าตัวเองตั้งคำถามจนเหนื่อยแล้ว ตอนนี้ไม่รู้แล้วว่าเรื่องราวต่างๆ จะไปถึงไหน เพราะสุดท้ายทุกอย่างดูพังหมดเลย อันนี้ก็ไม่จริง อันนั้นก็ไม่ดี เราจะทำอย่างไรต่อไปดี
เราคิดว่าสาเหตุส่วนนี้ วรรณคดีอังกฤษหรือวรรณคดีอื่นๆ ค่อนข้างตอบโจทย์ในแง่ของการเสนอวิธีที่ว่า เราจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ต่อไปอย่างไร เนื่องด้วยหลักๆ แล้ว วรรณคดีเป็นเรื่องสมมติ บางครั้งก็เสนอสถานการณ์มา เช่น เหตุการณ์โลกแตก ชุมชนที่อยู่อย่างแร้นแค้นในแอฟริกาใต้
สุดท้ายแล้วเรื่องราวมันจบลงอย่างไร ถ้าสมมติจบลงแบบแฮปปี้ อย่างอยู่ดีๆ มีเงินโปรยลงมาจากท้องฟ้าก็เกิดการตั้งคำถามว่า “อ่าวเป็นแบบนี้ได้อย่างไร ทั้งที่อยู่กันอย่างยากลำบากมาโดยตลอด” หรืออาจจบลงด้วยที่ชุมชนนี้ก็ยังยากจนอยู่เหมือนเดิม แต่พวกเขาเลือกจะสู้ต่อไปและพยายามหาความสุขให้ได้
ดังนั้น เรื่องราวก็เหมือนให้ทางออกอื่นๆ กับเรา หรือมีช้อยส์มาเสนอว่าเราสามารถเดินไปทางอื่นได้ไหม เราเดินไปทางไหนได้บ้าง ไม่ใช่แค่เพื่อให้เราวิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว
“ความต้องการ ‘ตั้งคำถามกับสังคม’ หรือ ‘ต้องการหาทางออกกับเรื่องต่างๆ’ อาจทำให้เอกภาษาวรรณคดีกลายเป็น cool factor และได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผู้ที่เรียนไม่สนใจด้วยว่าจะทำเงินหรือหางานได้หรือไม่ เพราะท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยและโลกอาจทำให้ผู้คนต้องการจะขบถมากกว่า ซึ่งสาขาก็อาจตอบโจทย์ในทางสภาพจิตใจ”
สาขาอังกฤษทั่วโลกเริ่มสั่นคลอน อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้
คิดว่าความเป็น English เฉยๆ มันไม่เวิร์กแล้ว สมมติว่าหลักสูตรยังเน้นการสอนด้วยนักเขียนที่เป็นคนขาว คนอังกฤษ และยังสอนว่าวรรณกรรมมันไร้กาลเวลา (timeless) คลาสสิก จะส่งผลให้ผู้เรียนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สังคมไม่ค่อยพูดถึงในสื่อ (underrepresented people) อาจรู้สึกว่า “แล้วเราอยู่ตรงไหนในเรื่องราวเหล่านั้น”
เช่น ผู้เรียนมีเชื้อสายจีนที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ ได้อ่านเรื่องราวของโรมิโอกับจูเลียตแล้วอาจเกิดความรู้สึกร่วมที่ว่า เป็นเรื่องราวความรักของวัยรุ่น แต่ในขณะเดียวกันเขาอาจจะรู้สึกว่า ไม่เห็นยึดโยงวัฒนธรรมตัวเองตรงไหนเลย เราคิดว่า English study ก็เลยตายในหลายๆ ครั้ง ที่ไม่ใช่ว่าตายเลย จึงเกิดความพยายามในการปรับตัวเป็น Anglophone Literature หรือ เข้าหาวัฒนธรรมป๊อบ (pop culture) มากขึ้น
อธิบายเพิ่มเติมได้ไหมว่าทั่วโลกมีการปรับตัวเข้าหาวัฒนธรรมป๊อบมากขึ้นอย่างไร?
เช่น บางสถานศึกษาในต่างประเทศเปิดคอร์สเกี่ยวกับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องมาจากการเรียนบทกวี (poetry) เพราะเพลงกับกลอนก็ถือเป็นญาติกัน สมัยก่อนคนจะนำกลอนมาขับร้อง วัฒนธรรมการอ่านมาหลังกว่าด้วยซ้ำ
หรือวรรณคดีเข้าไปโยงกับวัฒนธรรมที่ร่วมสมัยมากขึ้น เช่น สาขาของเราตอนนี้มีคอร์สวรรณกรรมกับสิ่งแวดล้อม ที่มีการเสนอทางออกและทางเลือก ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดที่ว่าจะเล่าเรื่องธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า สรรพสัตว์ ที่กำลังตายหรือเกิดใหม่อย่างไร แต่ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเรื่องราวเก่าๆ ไม่จำเป็นแล้ว
ปัญหาของคนโบราณอาจเป็นที่มาของปัญหาของคนในปัจจุบันก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น กรุงลอนดอนในศตวรรษที่ 19 มีหมอกพิษ หมอกฝุ่น ที่เกิดมาจากการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม และการใช้ถ่านหินในครัวเรือน แต่สภาพอากาศที่ลมไม่พัดทำให้เกิดหมอกติดค้างอยู่ในเมือง ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวสามารถนำมาเปรียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5
ดังนั้นสำหรับเราวรรณคดีอังกฤษที่กำลังจะตายคือ ‘วรรณคดีขนบ’ ที่ตั้งตัวเองไว้สูงเกินไป หรือทำให้บริสุทธิ์เกินไป การสอนที่มีประสิทธิภาพไม่ควรเชิดชูตัวบุคคล หรือเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง เช่น เชกสเปียร์ดีที่สุดในจักรวาล แต่ต้องสอนในมุมอื่นด้วย อย่างผลงานของเชกสเปียร์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ เพราะมีจุดมุ่งหมายต้องการขายความเป็นอังกฤษ จนทำให้เชกสเปียร์เลยกลายเป็นกวีและนักเขียนที่มีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์คิดอย่างไร กับคำถามที่ว่า เรียนวรรณคดีอังกฤษจบมาแล้วไม่มีงานทำ
ผู้เรียนด้านนี้ในอังกฤษก็ประสบปัญหาการตกงาน แต่ท้ายที่สุดพวกเขายังมีพื้นที่มากมายที่รองรับให้มีงานทำ ดังนั้น ปัญหาการตกงานไม่ใช่ปัญหาของสาขานี้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของสังคมด้วย
อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าว่าวรรณคดีฯ ไม่ใช่ศาสตร์ในการทำเงินขนาดนั้น หรือสามารถหางานได้ทันที เพราะอาจต้องมีการนำความรู้มาพลิกแพลงตามเนื้องานที่เราต้องการทำ แต่อย่างน้อยรัฐบาลควรมีพื้นที่ที่รองรับคนเรียนด้านนี้มากขึ้น อาทิ พิพิธภัณฑ์ ทำให้เรามองว่า การเรียนสายนี้ แล้วไม่มีงานทำขึ้นอยู่กับบริบทประเทศนั้นๆ อย่างในกรณีอังกฤษที่ก็มีคนตกงานด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมืองที่เคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมเพราะไม่สามารถแข่งกับประเทศอื่นได้ ก็หาทางรอดด้วยการจัดเทศกาลศิลปะและวรรณกรรม
เช่น เมืองเชฟฟีลด์ที่เราไปอยู่เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหล็กที่สำคัญตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ก็ไม่สามารถประคับประคองต่อไปได้ เมืองจึงปรับตัวด้วยการให้จัดเทศกาลต่างๆ ขึ้นมาแทน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลพอดแคสต์ เทศกาลหนังสือ หรือเทศกาลภาพยนตร์ ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการร่วมมือร่วมใจของผู้เรียนด้านวรรณคดีหรือภาษานั่นเอง
คำแนะนำสำหรับผู้ต้องการเริ่มต้นศึกษาวรรณคดี
ทุกคนอยู่ร่วมกับวรรณกรรมมาโดยตลอด เช่น การอ่านหนังสือการ์ตูน การชมภาพยนตร์ การทำคลิป TikTok ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นวรรณกรรม เป็นเรื่องเล่า (narrative) อีกแบบหนึ่งที่แนวคิดแบบวรรณคดีวิจารณ์สามารถเข้าไปตีความได้ เท่ากับว่ามันถือเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน
เมื่อก่อนเรามองว่า การจะเรียนวรรณคดีจำเป็นต้องอ่านก่อน ไม่ใช่แค่ฟังจากที่คนอื่นเล่าเท่านั้น แต่เรามาพบความจริงที่ว่ามีคนจำนวนมากไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะส่วนใหญ่ไม่ใช่ความผิดพวกเขาด้วย แต่เกิดจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
จึงเป็นที่มาของรายการพอดแคสต์ ‘นินทา นิทาน’ ที่เราต้องการเสนอวิธีการอ่านเนื้อหา (text) ของเรื่องที่พูดคุยในหลากหลายรูปแบบ พร้อมกับโยงเข้ากับความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้เกิดพื้นที่ของการตั้งคำถาม
ใครที่สนใจวรรรณคดีอังกฤษ แต่มองว่ามันยาก สามารถไปฟังพอดแคสต์หรือดูภาพยนตร์แทนได้ แต่อย่าไปเชื่อทั้งหมด พยายามตั้งคำถามด้วยความคิดของตัวเองด้วย นอกจากนี้ อยากให้หยิบหนังสือมาลองอ่านก่อน อย่าเพิ่งกลัว ไม่ว่าจะเป็นวรรณคดีของชาติหรือภาษาไหนก็ตาม และที่สำคัญอย่าไปยึดติดว่านักเขียนคนนี้หรือหนังสือเล่มนี้ดังหรือเปล่า เลือกอ่านเรื่องที่เราสนใจและรู้สึกชอบก่อน
เช่น หากชอบอ่านหนังสือแนวเดียวกับ Red, White & Royal Blue ก็ไปเสิร์ชหาว่า gay romance ก็จะพบหนังสือแนวเดียวกัน เช่น Maurice หรือ Heartstopper หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ไล่อ่านไปทีละเรื่อง และสำหรับผู้สนใจวรรณกรรมเล่มเก่าๆ ในปัจจุบันมีเครื่องมือ อาทิ คำอธิบาย คู่มือ หรือเชิงอรรถ ที่ช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งที่อ่านมากขึ้นอีกด้วย
“พยายามให้คุณค่าวรรณกรรมมาจากตัวเรา อย่าไปทนอ่านอะไรที่เราไม่ชอบ เพียงเพราะว่ามันคลาสสิก” อาจารย์มิ่ง กล่าวปิดท้าย