บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง
1. ในทางหนึ่ง A Silent Voice ดูคล้ายจะเล่าเรื่องราวความรักในวัยมัธยมของหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งเคยรู้จักกันในวัยเยาว์ แต่พ้นไปจากความหวานของเรื่องและภาพซึ่งฉาบเคลือบมันเอาไว้ อนิเมชั่นเรื่องนี้เล่นกับประเด็นที่มืดมิดและหนักหนากว่าฉากหน้าของมันทีเดียวครับ และด้วยระยะเวลากว่าสองชั่วโมง A Silent Voice ก็ได้พาเราไปสำรวจสภาวะจิตใจอันเปราะบาง และร่ำๆ จะแหลกสลายของวัยรุ่นคู่หนึ่งได้อย่างถึงแก่น บาดลึก และทรงพลัง
2. A Silent Voice บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างโชยะ อิชิดะ และโชโกะ นิชิมิยะ ซึ่งเกี่ยวกระหวัดเข้าด้วยกันจากความรู้สึกผิดบาปต่ออีกฝ่าย ข้างอิชิดะนั้น ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นหัวโจกประจำห้อง ที่ใครๆ ก็อยากรายล้อม เรียกว่าเป็นคนดังของโรงเรียนก็คงไม่ผิด จนกระทั่งวันหนึ่ง นิชิมิยะ เด็กสาวหน้าตาน่ารักย้ายเข้ามาร่วมห้องเรียนอย่างกระทันหัน ด้วยสถานะของเด็กใหม่จึงไม่แปลกที่เธอจะได้รับความสนใจ แต่นอกเหนือไปจากการเป็นเด็กใหม่แล้ว นิชิมิยะนั้นหูหนวก จำต้องใช้เครื่องช่วยฟัง และต้องอาศัยสมุดโน้ตเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างกันของเพื่อนในห้อง จุดนี้เองที่ทำให้อิชิดะสนใจนิชิมิยะ แต่ด้วยนิสัยของเขาซึ่งชอบก็ชอบการกลั่นแกล้ง ก็อดไม่ได้ที่จะตะโกนใส่หูเธอดังๆ บ้าง แอบดึงเครื่องช่วยฟังจากหูของเธอบ้าง หรือโยนสมุดสื่อสารเล่มนั้นทิ้งลงในบ่อน้ำบ้าง แต่ถึงอย่างนั้น แม้อิชิดะจะทำตัวหยำเปแค่ไหน หากนิชิมิยะดูไม่เคยจะโกรธเคืองเขา แม้กระทั่งวันที่อิชิดะถูกคุณครูประจำชั้นเรียกไปต่อว่าที่เขาไปแกล้งนิชิมิยะ เธอก็ยังขอโทษเขาซ้ำๆ ที่เป็นต้นเหตุให้ต้องถูกต่อว่า อิชิดะเกลียดเธอเพราะเหตุนี้ เกลียดที่เธอเอาแต่ขอโทษ และไม่เคยแสดงว่าเธอโกรธเขา
แต่แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์ก็กลับพลิกตาลปัตร เมื่อจู่ๆ นิชิมิยะก็ย้ายโรงเรียนอีกครั้ง และอิชิดะก็ถูกแบนจากทุกคนในห้องด้วยนิสัยอันธพาลของเขา เป็นเหตุให้หลังจากนั้น นับแต่ประถมปลายจนถึงมัธยมปลาย อิชิดะถูกตัดขาดจากสังคมเพราะไม่มีใครยอมคบกับเขา จากหัวโจกในอดีตกลายมาเป็นชายหนุ่มผู้โดดเดี่ยวและไม่มีเพื่อนเลยสักคน อิชิดะเองรู้สึกผิดต่อนิชิมิยะเสมอมา บ่อยครั้งที่เขามองกลับไปยังอดีตและมองภาพตัวเองกลั่นแกล้งเด็กสาวคนหนึ่งอย่างรู้สึกผิดบาปและไม่อาจให้อภัยตัวเองได้ เขารู้สึกผิดต่อเธอมาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่เขาได้มาพบกับนิชิมิยะอีกครั้ง และมันนำความสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงมาสู่จิตใจและตัวตนของอิชิดะ
3. ‘สำนึกผิดบาป’ และ ‘การไม่อาจก้าวพ้นความผิด’ ที่ครั้งหนึ่งตัวเองเคยกระทำไว้ เห็นจะเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ด้วยตัวอิชิดะนั้นดำเนินชีวิตในแต่ละวันคล้ายว่าเขาเป็นภาชนะอันกลวงเปล่า ไร้วิญญาณ และรอวันแตกสลาย ตั้งแต่เขาได้กลายเป็นคนที่ไม่มีใครต้องการ ก็ราวกับว่าอิชิดะได้เข้าใจถึงความชั่วร้ายที่ได้เคยทำไว้เมื่อวันที่เขายังถือสถานะของผู้กระทำ มีอำนาจชี้มือชี้ไม้ ชี้ผิดชี้ถูก และใครๆ ก็พากันคล้อยตาม แต่พอถึงวันที่สถานะนี้อันตรธานหายไป และอิชิดะก็ร่วงไถลลงสู่ความว่างเปล่า จากที่เคยมีแต่ผู้คนรายล้อม เขากลายเป็นตัวประหลาดของสังคมที่ไม่มีใครอยากสุงสิงเสวนา และมีแต่คำนินทาต่อตัวเขาเองสารพัดที่อิชิดะได้ยินจากคนเหล่านั้น เสียงรอบข้างนั้นดังเกินไป เขาจึงพยายามจะปิดหูตัวเองเอาไว้เพราะทุกสิ่งที่ผ่านมาสู่เขานั้นมีแต่จะทำร้ายเขาให้บอบช้ำมากขึ้นเรื่อยๆ
‘แต่หรือว่านั่นคือผลกรรมที่เขาสมควรจะได้รับแล้ว?’ อิชิดะมักถามตัวเองเช่นนี้ ด้วยความเหลวแหลกและหยิ่งผยองในอดีตในที่สุดมันก็กลับมาแว้งกัด และถ่มทำลายจนเขาไม่เหลือที่ยืนใดๆ บนโลกใบนี้ หันไปทางไหนก็มองเห็นภาพอันอัปลักษณ์ของตัวเองในอดีต และเพราะเหตุนี้หรือเปล่า เขาจึงไม่สมควรจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ต่อ ในโลกที่เขาไม่อาจรักตัวเองได้อีกต่อไปแล้ว จะว่าไปแล้ว ตัวอิชิดะก็พาให้นึกไปถึง ลี แชนด์เลอร์ ตัวเอกของ Manchester by the Sea ในแง่ที่ว่า ทั้งคู่ต่างเป็นตัวละครแบบ self destructive นั่นคือ ยินดีที่จะยอมรับความเจ็บปวดและการถูกโบยตี เพราะคิดว่ามันควรค่ากับพวกเขามากกว่า ชีวิตของพวกเขาไม่อาจมีได้ซึ่งความสุข หรือเมื่อไหร่ที่คล้ายว่าจะสัมผัสได้ถึงมัน พวกเขาก็เลือกจะดีดตัวออกห่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นิชิมิยะเองก็แบกรับบาดแผลอันเหวอะหวะไม่ต่างอะไรจากอิชิดะนัก ด้วยเกิดมาพร้อมความพิการทำให้เด็กสาวคนหนึ่งต้องตื่นขึ้นมาทุกๆ เช้า เพื่อเผชิญกับความจริงที่ว่า เธอเป็นคนนอกของสังคม ทั้งการสื่อสารกับเธอ ไม่ว่าจะด้วยการเขียนคำลงสมุด หรือภาษามือก็เป็นเรื่องของการใช้จ่ายเวลามากกว่าปกติ นิชิมิยะรู้สึกผิดว่าเธอนั้นมีแต่จะสร้างอุปสรรคให้กับคนรอบข้าง อาจเพราะเหตุนี้ที่เธอจึงไม่เคยจะโกรธใคร เอาแต่ขอโทษซ้ำๆ แม้กับเรื่องที่เธอไม่ได้เป็นฝ่ายต้องขอโทษด้วยซ้ำ แต่นิชิมิยะกลับคิดว่าความผิดพลาดทุกอย่างเกิดจากตัวเธอเอง ทั้งๆ ที่เธอเพียงอยากจะหัวเราะเฉกเช่นคนอื่นๆ แลกเปลี่ยนบทสนทนาอย่างไหลลื่น ไม่ตะกุกตะกัก และนิชิมิยะเองก็อยากมีความรัก มีความรักอย่างที่เด็กสาววัยรุ่นควรจะได้สัมผัส เพียงแต่ความปรารถนาเหล่านี้ก็คล้ายจะเป็นเพียงฝันสำหรับเธอเท่านั้น
4. ความน่าชื่นชมอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ คือมันใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ไม่ได้จงใจบอกสารหรือเหตุการณ์สำคัญอย่างตรงไปตรงมา แต่อาศัยเลือกใช้สัญลักษณ์ และการบิดผันความจริงของภาพตรงหน้าซึ่งได้นำไปสู่การตีความต่อเหตุการณ์นั้นๆ ในมิติที่หลากหลายขึ้น มีหลายฉากด้วยกันที่หนังเลือกจะพาเราไปรับรู้ความเจ็บปวดตรงนี้ด้วยการนำเสนอความจริงนั้นๆ ด้วยการเปรียบเปรยประหนึ่งงานวรรณกรรม หรือบางครั้งมันก็เลือกจะพาเรากระโดดเข้าไปในหัวของตัวละคร ใช้ภาพแทนสายตา หรือมันก็เลือกจะสลับลำดับเวลาตามใจ ไม่เลือกเล่าไปตามระนาบเส้นตรง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชั้นเชิง และการคิดคำนวณมาแล้วอย่างละเอียดของผู้กำกับ
อย่างที่ได้กล่าวไป A Silent Voice เป็นอนิเมชั่นที่เล่นกับประเด็นซึ่งหนักหนาทีเดียวครับ ด้วยเรื่องการถูกกลั่นแกล้ง การต้องตกเป็นเชลยของสังคมอย่างจำยอมและไม่อาจแหงนหน้าขัดขืน บทลงโทษที่ตัวละครในเรื่องต้องแบกไว้บนบ่านั้นโหดร้ายอำมหิต เช่นกันที่มันสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะอันเล็กจ้อยของตัวบุคคล ในระดับที่ไม่อาจโต้แย้งใดๆ ต่อสิ่งที่เขาเหล่านั้นเห็นว่ามันไม่ถูกต้องนัก เมื่อสังคมภาคทัณฑ์ต่อมนุษย์สักคนหนึ่ง และเขาก็ไร้อำนาจที่จะขัดขืน ตอบโต้กลับ และได้แต่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม